ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
๙. เวสสันตรจริยา
ว่าด้วยพระจริยาของพระเวสสันดร
[๖๗] นางกษัตริย์พระนามว่าผุสดีพระชนนีของเรา เป็นพระมเหสีที่รักของท้าวสักกะ ในอดีตชาติ [๖๘] ท้าวสักกะจอมเทพทรงทราบว่าพระนางจะสิ้นอายุ จึงตรัสดังนี้ว่า ‘นางผู้เจริญ เราจะให้พร ๑๐ ประการ๑- ที่เธอปรารถนาแก่เธอ’ [๖๙] พอท้าวสักกะตรัสอย่างนั้นแล้ว พระเทวีนั้นได้ทูลท้าวสักกะดังนี้ว่า หม่อมฉันมีความผิดอะไรหนอ หม่อมฉันเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับพระองค์หรือหนอ พระองค์จึงจะให้หม่อมฉันเคลื่อนจากสถานอันน่ารื่นรมย์ เหมือนลมพัดต้นไม้ให้หวั่นไหว @เชิงอรรถ : @ พร ๑๐ ประการ คือ (๑) ขอให้ได้เป็นพระมเหสีของพระองค์ทุกชาติ (๒) ขอให้มีพระเนตรสีเขียว (๓) ขอ @ให้มีพระโขนงสีเขียว (๔) ขอให้มีนามว่าผุสดี (๕) ขอให้ได้บุตรที่ประกอบด้วยคุณ (๖) ตั้งครรภ์มีอุทรไม่นูนขึ้น @(๗) มีถันไม่ยาน (๘) ผมไม่หงอก (๙) มีผิวละเอียด (๑๐) ไม่เป็นหมัน (ขุ.จริยา.อ. ๗๒/๙๓) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๓๖}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค]

๙. เวสสันตรจริยา

[๗๐] ท้าวสักกะนั้นเมื่อพระนางผุสดีตรัสอย่างนี้ ก็ได้ตรัสกะพระนางดังนี้อีกว่า ‘เธอไม่ได้ทำความชั่วเลย และเธอจะไม่เป็นที่รักของเราก็หาไม่ [๗๑] แต่อายุของเธอมีประมาณเท่านี้เอง เวลานี้จักเป็นเวลาที่เธอต้องจุติ เธอจงรับพร ๑๐ ประการอันประเสริฐสุดที่เราจะให้’ [๗๒] พระนางผุสดีนั้น รับพรที่ท้าวสักกะประทานแล้ว ร่าเริงยินดีปราโมทย์เลือกพร ๑๐ ประการ รวมเราไว้ด้วย [๗๓] พระนางผุสดีนั้น จุติจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นแล้ว มาบังเกิดในตระกูลกษัตริย์ ได้สมาคมกับพระเจ้ากรุงสญชัย(เป็นมเหสีของพระเจ้ากรุงสญชัย) ในกรุงเชตุดร [๗๔] ในกาลที่เราลงสู่พระครรภ์ของพระนางผุสดีพระมารดาที่รัก ด้วยเดชของเรา พระมารดาของเราเป็นผู้ยินดีในทานทุกเมื่อ [๗๕] คนไม่มีทรัพย์ คนป่วยไข้(กระสับกระส่าย) คนแก่ ยาจก คนเดินทาง สมณะ พราหมณ์ คนสิ้นเนื้อประดาตัว คนไม่มีอะไรเลย พระนางก็ให้ทาน [๗๖] พระนางผุสดีทรงพระครรภ์ครบ ๑๐ เดือน เมื่อพระเจ้าสัญชัยทรงทำประทักษิณพระนคร พระนางก็ประสูติเราที่ท่ามกลางถนนของคนค้าขาย [๗๗] ชื่อของเราจึงไม่เนื่องข้างฝ่ายพระมารดา และไม่เนื่องข้างฝ่ายพระบิดา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๓๗}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค]

๙. เวสสันตรจริยา

เพราะเราเกิดที่ถนนของคนค้าขายนี้ เพราะฉะนั้น เราจึงมีนามว่าพระเวสสันดร [๗๘] ในกาลที่เราเป็นทารกอายุได้ ๘ ขวบแต่กำเนิด นั่งอยู่ในปราสาทคิดจะให้ทานว่า [๗๙] เราพึงประกาศให้หัวใจ นัยน์ตา แม้กระทั่งเนื้อและเลือด พึงให้ทั้งกาย ถ้าใครจะพึงขอกับเรา [๘๐] เมื่อเราคิดถึงความเป็นจริง จิตของเราก็ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ในขณะนั้น แผ่นดิน ภูเขาสิเนรุราช และราวป่าก็ไหว [๘๑] ในเดือนเต็มวันอุโบสถที่ ๑๕ ทุกกึ่งเดือน เราขึ้นคอมงคลหัตถีปัจจัยนาค เข้าไปยังศาลาเพื่อจะให้ทาน [๘๒] พราหมณ์ทั้งหลายชาวแคว้นกาลิงคะได้เข้ามาหาเรา ได้ขอพญาคชสารซึ่งประกอบด้วยธัญลักษณะ สมบูรณ์ด้วยมงคลกับเราว่า [๘๓] “ชนบทฝนไม่ตกเลย เกิดทุพภิกขภัยอดอยากมาก ขอพระองค์โปรดพระราชทานพญาคชสาร ตัวประเสริฐเผือกผ่อง ซึ่งเป็นช้างอุดมมงคลด้วยเถิด” [๘๔] พราหมณ์ทั้งหลายขอสิ่งใดกับเรา เราจะให้สิ่งนั้นไม่หวั่นไหวเลย เราไม่ซ่อนเร้นของที่มีอยู่ ใจของเรายินดีในทาน [๘๕] เมื่อยาจกมาถึงแล้ว การห้าม(การไม่ให้) ไม่สมควรแก่เรา กุศลสมาทานของเราอย่าได้เสียหายเลย เราจักให้คชสารตัวประเสริฐ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๓๘}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค]

๙. เวสสันตรจริยา

[๘๖] เราได้จับงวงพญาคชสารวางบนมือพราหมณ์แล้ว จึงหลั่งน้ำในเต้าทองลงบนมือ ได้ให้พญาคชสารแก่พวกพราหมณ์ [๘๗] อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเราให้พญาคชสารที่อุดมเผือกผ่อง แม้ในกาลนั้น แผ่นดิน ภูเขาสิเนรุราช และราวป่าก็ไหวอีก [๘๘] เพราะเราให้พญาคชสารนั้น ชาวกรุงสีพีจึงพากันโกรธเคือง มาประชุมกันแล้ว ขับไล่เราจากแว่นแคว้นของตนว่า จงไปยังภูเขาวงกต [๘๙] เมื่อชาวนครเหล่านั้นกลับไป จิตของเราตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เราได้ขอพรอย่างหนึ่งเพื่อจะบำเพ็ญมหาทาน [๙๐] เราขอแล้ว ชาวกรุงสีพีทั้งหมดได้ให้พรอย่างหนึ่งแก่เรา เราจึงให้นำกลองคู่หนึ่งไปตีประกาศว่า เราจะบริจาคมหาทาน [๙๑] เสียงดังกึกก้องอึงมี่น่าหวาดกลัวย่อมเป็นไปในโรงทานนั้นว่า ชาวกรุงสีพีขับไล่พระเวสสันดรนี้เพราะทาน เรายังจะให้ทานอีกหรือ [๙๒] เราได้ให้ช้าง ม้า รถ ทาสี ทาสา แม่โค ทรัพย์ ครั้นให้มหาทานแล้ว ก็ออกจากนครไปในกาลนั้น [๙๓] เมื่อเราครั้นออกจากนครแล้ว เหลียวกลับมาดู แม้ในกาลนั้น แผ่นดิน ภูเขาสิเนรุราช และราวป่าก็ไหวแล้ว [๙๔] เราให้ม้าสินธพ ๔ ตัวและรถแล้วยืนอยู่ที่ทางใหญ่ ๔ แยก ผู้เดียวไม่มีเพื่อน ได้กล่าวกับพระนางมัทรีเทวีดังนี้ว่า [๙๕] “แม่มัทรี เธอจงอุ้มกัณหากุมารีเถิด เพราะเธอเป็นน้องคงเบากว่า พี่จะอุ้มพ่อชาลี เพราะเขาเป็นพี่คงจะหนัก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๓๙}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค]

๙. เวสสันตรจริยา

[๙๖] พระนางมัทรีทรงอุ้มแม่กัณหาผู้อ่อนนุ่มดังดอกปทุมและบัวขาว เราได้อุ้มพ่อชาลีหน่อกษัตริย์ เปรียบดังแท่งทองคำ [๙๗] ชนทั้ง ๔ เป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ ผู้อภิชาตบุตร ได้เสด็จดำเนินไปตามทางที่ขรุขระและราบเรียบไปยังภูเขาวงกต [๙๘] มนุษย์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง เดินตามมาในหนทางก็ดี สวนทางก็ดี เราทั้งหลายได้ไต่ถามเขาถึงหนทางว่า เขาวงกตอยู่ที่ไหน [๙๙] เขาเห็นเราทั้งหลาย ณ ที่นั้นแล้ว ได้เปล่งเสียงอันประกอบด้วยกรุณา กษัตริย์เหล่านี้คงจะต้องเสวยทุกข์อย่างยิ่ง เพราะภูเขาวงกตไกล [๑๐๐] ถ้าพระกุมารและกุมารีเห็นต้นไม้ที่มีผลในป่าใหญ่ พระกุมารกุมารีก็จะทรงกันแสง เพราะเหตุแห่งผลไม้เหล่านั้น [๑๐๑] ต้นไม้ทั้งหลายอันสูงใหญ่ไพศาล เห็นพระกุมารและกุมารีทรงกันแสง ก็จะโน้มยอดลงมาหาพระกุมารและกุมารีเอง [๑๐๒] พระนางมัทรีผู้ทรงความงามทั่วสรรพางค์กาย ทรงเห็นความอัศจรรย์นี้ซึ่งไม่เคยมีมา น่าขนพองสยองเกล้า จึงให้สาธุการเป็นไปว่า [๑๐๓] ความอัศจรรย์ไม่เคยมีในโลก บังเกิดขนชูชันหนอ หมู่ไม้น้อมยอดลงมาเองด้วยเดชแห่งพระเวสสันดร [๑๐๔] ยักษ์(เทวดา)ทั้งหลายได้ย่นทางให้ ด้วยความเอ็นดูพระกุมารและกุมารี ในวันที่เสด็จออกจากกรุงสีพีนั้นเอง เราทั้ง ๔ ได้ไปถึงเจตราษฎร์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๔๐}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค]

๙. เวสสันตรจริยา

[๑๐๕] ครั้งนั้น พวกเจ้า ๑๖,๐๐๐ องค์อยู่ในกรุงมาตุละ ทั้งหมดก็ประนมมือร้องไห้มาหา [๑๐๖] เราเจรจาปราศรัยกับโอรสของพระเจ้าเจตราชเหล่านี้อยู่ ณ ที่นั้น ให้พระโอรสของพระเจ้าเจตราชเหล่านั้นกลับที่ประตูนั้นแล้ว ได้ไปยังภูเขาวงกต [๑๐๗] ท้าวสักกะจอมเทพ ตรัสเรียกวิสสุกรรมเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก แล้วรับสั่งให้เนรมิตบรรณศาลาอย่างสวยงาม น่ารื่นรมย์สำหรับเป็นอาศรมอย่างดี [๑๐๘] วิสสุกรรมเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก รับพระบัญชาของท้าวสักกะแล้ว เนรมิตบรรณศาลาอย่างสวยงาม น่ารื่นรมย์สำหรับเป็นอาศรมอย่างดี [๑๐๙] เราทั้ง ๔ คน มาถึงป่าใหญ่อันสงัดเงียบไม่พลุกพล่าน อยู่ในบรรณศาลานั้น ณ ระหว่างภูเขา [๑๑๐] ครั้งนั้น เรา พระนางมัทรีเทวี และโอรสทั้ง ๒ คือ ชาลีและกัณหาชินา บรรเทาความเศร้าโศกของกันและกันอยู่ในอาศรม [๑๑๑] เรารักษาสองกุมารเป็นผู้ไม่ว่างอยู่ในอาศรม พระนางมัทรีนำผลไม้มาเลี้ยงคนทั้ง ๓ [๑๑๒] เมื่อเราอยู่ในป่าใหญ่ พราหมณ์ (ชูชก) ผู้มีความต้องการ เดินเข้ามาหาเรา ได้ขอพระโอรสทั้ง ๒ ของเรา คือ ชาลีและกัณหาชินา [๑๑๓] เพราะได้เห็นผู้ขอเข้ามาหา ความร่าเริงจึงเกิดขึ้นแก่เรา ครั้งนั้น เราได้พาบุตรและธิดาทั้ง ๒ มาให้พราหมณ์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๔๑}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค]

๙. เวสสันตรจริยา

[๑๑๔] เมื่อเราสละบุตรและธิดาทั้ง ๒ ของตน ให้พราหมณ์ชูชกไป ในกาลใด แม้ในกาลนั้น แผ่นดิน ภูเขาสิเนรุราช และราวป่าก็ไหวแล้ว [๑๑๕] ท้าวสักกะทรงแปลงร่างเป็นพราหมณ์เสด็จลงจากเทวโลก มาขอพระนางมัทรีเทวีผู้มีศีลจริยาวัตรงดงามกับเราอีก [๑๑๖] เรามีความดำริแห่งใจผ่องใส จับพระหัตถ์พระนางมัทรีแล้วมอบให้ด้วยการหลั่งน้ำ(ทักขิโณทก) ได้ให้พระนางมัทรีแก่พราหมณ์นั้น [๑๑๗] เมื่อเราให้พระนางมัทรี หมู่เทวดาในท้องฟ้าพากันเบิกบาน(พลอยยินดี) แม้ในกาลนั้น แผ่นดิน ภูเขาสิเนรุราช และราวป่าก็ไหวแล้ว [๑๑๘] เราสละพ่อชาลีและแม่กัณหาชินาผู้เป็นบุตรธิดา และพระนางมัทรีเทวี ผู้มีจริยาวัตรงดงาม ไม่คิดถึงเลยเพราะเหตุแห่งพระโพธิญาณนั่นเอง [๑๑๙] บุตรทั้ง ๒ จะเป็นที่น่ารังเกียจสำหรับเราก็หาไม่ พระเทวีมัทรีเป็นที่น่ารังเกียจก็หาไม่ แต่พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของเรา เพราะฉะนั้น เราจึงให้บุตรธิดาและภรรยาผู้เป็นที่รัก [๑๒๐] อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อพระมารดาและพระบิดาเสด็จมาพร้อมกัน ณ ป่าใหญ่ ทรงกันแสงสะอึกสะอื้นน่าเวทนา ตรัสถามถึงสุขทุกข์กันอยู่ [๑๒๑] เราได้เข้าเฝ้าพระมารดาและพระบิดาทั้ง ๒ ด้วยหิริและโอตตัปปะด้วยความเคารพ แม้ในกาลนั้น แผ่นดิน ภูเขาสิเนรุราช และราวป่าก็หวั่นไหว {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๓๓ หน้า : ๗๔๒}

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก [๑. อกิตติวรรค]

๑๐. สสปัณฑิตจริยา

[๑๒๒] อีกเรื่องหนึ่ง เรากับบรรดาพระญาติของเราออกจากป่าใหญ่ เข้าสู่กรุงเชตุดร ซึ่งเป็นนครที่น่ารื่นรมย์ [๑๒๓] แก้ว ๗ ประการตกลงมา มหาเมฆทำฝนให้ตก แม้ในกาลนั้น แผ่นดิน ภูเขาสิเนรุราช และราวป่าก็ไหวแล้ว [๑๒๔] แม้แผ่นดินนี้ไม่มีจิตใจ ไม่รู้สุขและทุกข์ ก็ไหวถึง ๗ ครั้ง เพราะกำลังแห่งทานของเรา ฉะนี้แล
เวสสันตรจริยาที่ ๙ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๓ หน้าที่ ๗๓๖-๗๔๓. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=33&siri=228              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=8795&Z=8905                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=217              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=33&item=217&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=52&A=1989              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=33&item=217&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=52&A=1989                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu33



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :