ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] จุลวรรค ภาค ๒
นาฬาคิริเปสนะ
ว่าด้วยพระเทวทัตปล่อยช้างนาฬาคิรี
[๓๔๒] สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์มีช้างชื่อนาฬาคิรีดุร้าย ชอบฆ่าคน ครั้งนั้น พระเทวทัตเข้าไปในกรุงราชคฤห์แล้วไปที่โรงช้าง ได้กล่าวกับพวกนายควาญช้างดังนี้ ว่า “พวกเราเป็นพระญาติของพระราชา สามารถจะแต่งตั้งผู้อยู่ในตำแหน่งต่ำไว้ใน ตำแหน่งสูง สามารถเพิ่มเบี้ยเลี้ยงบ้าง เงินเดือนบ้าง ท่านทั้งหลาย เอาอย่างนี้ เวลาพระสมณโคดมเสด็จมาทางตรอกนี้ พวกท่านจงปล่อยช้างนาฬาคิรีนี้เข้าไป” พวกนายควาญช้างรับคำพระเทวทัตแล้ว ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จ เข้าไปในกรุงราชคฤห์พร้อมภิกษุหลายรูป เสด็จดำเนินถึงตรอกนั้น พวกควาญช้าง แลเห็นพระผู้มีพระภาคทรงดำเนินถึงตรอกนั้น ครั้นแล้วจึงปล่อยช้างนาฬาคิรีเข้าไป ช้างนาฬาคิรีมองเห็นพระผู้มีพระภาคทรงดำเนินมาแต่ไกล ครั้นแล้วจึงชูงวง หูชัน หางชี้ วิ่งตรงไปที่พระผู้มีพระภาค ภิกษุเหล่านั้นเห็นช้างนาฬาคิรีวิ่งมาแต่ไกล จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ช้างนาฬาคิรีนี้ดุร้ายหยาบคายนัก ชอบฆ่าคน กำลังตรงมาทางตรอกนี้ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดเสด็จกลับเถิด พระพุทธเจ้าข้า ขอพระสุคตโปรดเสด็จกลับเถิด” พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย มาเถิด พวกเธออย่ากลัวไปเลย ภิกษุ ทั้งหลาย ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสที่จะปลงชีวิตตถาคตด้วยความพยายามของผู้อื่น ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตทั้งหลายจะไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๙๕}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภทขันธกะ]

๒. ทุติยภาณวาร

แม้ครั้งที่ ๒ ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุเหล่านั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ช้างนาฬาคิรีนี้ ดุร้ายหยาบคายนัก ชอบฆ่าคน กำลังตรงมาทางตรอกนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเสด็จ กลับเถิด พระพุทธเจ้าข้า ขอพระสุคตโปรดเสด็จกลับเถิด” พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย มาเถิด พวกเธออย่ากลัวไปเลย ภิกษุ ทั้งหลาย ไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสที่จะปลงชีวิตตถาคตด้วยความพยายามของผู้อื่น ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตทั้งหลายจะไม่ปรินิพพานด้วยความพยายามของผู้อื่น” เวลานั้น คนทั้งหลายหนีขึ้นไปบนปราสาทบ้าง เรือนโล้นบ้าง บนหลังคาบ้าง ในกลุ่มคนพวกนั้น บรรดาคนที่ไม่ศรัทธา ไม่เลื่อมใส มีความรู้ไม่ดี กล่าวอย่างนี้ว่า “พวกเราเอ๋ย พระมหาสมณโคดมรูปงามจะถูกช้างฆ่า” ส่วนบรรดาคนที่มีศรัทธา เลื่อมใส เป็นบัณฑิต มีความรู้ กล่าวอย่างนี้ว่า “พวกเราเอ๋ย ประเดี๋ยวคอยดูสงครามระหว่าง พระพุทธเจ้ากับช้าง” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแผ่เมตตาจิตไปที่ช้างนาฬาคิรี ลำดับนั้น ช้าง นาฬาคิรีได้สัมผัสกระแสเมตตาจิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงลดงวงลงแล้วเข้าไปหา พระผู้มีพระภาค ยืนอยู่ตรงพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบ กระพองช้างนาฬาคิรี พลางตรัสสอนช้างนาฬาคิรีด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า กุญชรเอ๋ย เจ้าอย่าคิดเข้ามาทำร้ายพระพุทธเจ้า กุญชรเอ๋ย การคิดเข้ามาทำร้ายพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นเหตุแห่งความทุกข์ กุญชรเอ๋ย ผู้ฆ่าพระพุทธเจ้า จากชาตินี้ไปสู่ชาติหน้าจะไม่มีสุคติภูมิเลย เจ้าอย่ามัวเมา อย่าประมาท เพราะคนผู้ประมาทแล้วย่อมไม่ไปสุคติ เจ้านี่แหละจักกระทำเหตุให้เจ้าเดินทางไปสุคติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๙๖}

พระวินัยปิฎก จูฬวรรค [๗. สังฆเภทขันธกะ]

๒. ทุติยภาณวาร

ทันใดนั้น ช้างนาฬาคิรีเอางวงสูบละอองธุลีที่ใกล้พระบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วพ่นลงบนกระหม่อม(ของตน) ย่อตัวถอยออกไปชั่วระยะเห็นพระองค์ ลำดับนั้น ช้างนาฬาคิรีได้กลับไปที่โรงช้างยืนอยู่ที่เดิม ก็ช้างนาฬาคิรีได้รับการฝึกแล้วอย่างนั้น สมัยนั้น คนทั้งหลายพากันขับร้องคาถานี้ว่า คนฝึกช้างและคนฝึกม้าบางพวก มีท่อนไม้ ขอและแส้จึงจะฝึกได้ พระพุทธเจ้าผู้ประสบพระคุณยิ่งใหญ่ ไม่ต้องใช้ท่อนไม้ ไม่ต้องใช้ศัสตราทรงฝึกช้างได้เลย๑- คนทั้งหลายพากันตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “พระเทวทัตนี้เป็นคนบาป เป็นคนไม่มีบุญ เพราะได้พยายามปลงพระชนม์พระสมณโคดมผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้” ลาภสักการะของพระเทวทัตจึงเสื่อมสิ้นไป ส่วนลาภสักการะ ของพระผู้มีพระภาคกลับเจริญยิ่งขึ้น
ปัญจวัตถุยาจนกา๒-
ว่าด้วยพระเทวทัตกราบทูลขอวัตถุ ๕ ประการ
[๓๔๓] สมัยนั้น พระเทวทัตพร้อมกับบริษัทเสื่อมลาภสักการะ จึงพากันออก ปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉัน คนทั้งหลายจึงตำหนิ ประณาม โพนทะนาว่า “ไฉนพวกพระสมณะเชื้อสาย ศากยบุตรจึงเที่ยวออกปากขอภัตตาหารในตระกูลทั้งหลายมาฉันเล่า ภัตตาหารที่ดี ใครจะไม่พอใจ ภัตตาหารอร่อยใครจะไม่ชอบเล่า” ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนทั้งหลายตำหนิ ประณาม โพนทะนา @เชิงอรรถ : @ ม.ม. (แปล) ๑๓/๓๕๒/๔๓๑, ขุ.เถร. (แปล) ๒๖/๘๗๘/๔๘๔ @ วิ.มหา. (แปล) ๑/๔๐๙/๔๔๑-๔๔๔ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๗ หน้า : ๑๙๗}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๑๙๕-๑๙๗. http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=7&siri=51              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=7&A=3697&Z=3769                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=377              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=7&item=377&items=6              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=7&item=377&items=6                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd17/en/brahmali#pli-tv-kd17:3.11.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd17/en/horner-brahmali#Kd.17.3.11



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :