ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
๕. อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๔
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๕๓๙] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ- *บิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรไปสู่เรือนของสหายแล้ว สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือในอาสนะกำบังกับภรรยาของเขา จึงบุรุษสหายนั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระคุณเจ้าอุปนันทะจึงได้สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังกับภรรยา ของเราเล่า. ภิกษุทั้งหลายได้ยินเขาเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็ เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระอุปนันทศากยบุตร จึงได้สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังกับมาตุคามเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระอุปนันทะว่า ดูกรอุปนันทะ ข่าวว่า เธอสำเร็จการนั่ง ในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังกับมาตุคาม จริงหรือ? ท่านพระอุปนันทะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉน เธอจึงได้สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือในอาสนะกำบังกับมาตุคามเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๙๓.๔. อนึ่ง ภิกษุใด สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบัง กับ มาตุคาม เป็นปาจิตตีย์.
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๕๔๐] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรง ประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่หญิงมนุษย์ ไม่ใช่หญิงยักษ์ ไม่ใช่หญิงเปรต ไม่ใช่สัตว์- *ดิรัจฉานตัวเมีย โดยที่สุดแม้เด็กหญิงที่เกิดในวันนั้น ไม่ต้องพูดถึงหญิงผู้ใหญ่. บทว่า กับ คือ ร่วมกัน. ที่ชื่อว่า ในที่ลับ ได้แก่ ที่ลับตา ๑ ที่ลับหู ๑ ที่ชื่อว่า ที่ลับตา ได้แก่ ที่ซึ่งเมื่อภิกษุหรือมาตุคามขยิบตา ยักคิ้ว หรือชะเง้อศีรษะ ไม่มีใครสามารถจะแลเห็นได้. ที่ชื่อว่า ที่ลับหู ได้แก่ ที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่สนทนากันตามปกติได้. อาสนะที่ชื่อว่า กำบัง คือ เป็นอาสนะที่เขากำบังด้วยฝา บานประตู ลำแพน ม่านบัง ต้นไม้ เสา หรือฉางข้าว อย่างใดอย่างหนึ่ง. คำว่า สำเร็จการนั่ง ความว่า เมื่อมาตุคามนั่งแล้ว ภิกษุนั่งใกล้ หรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. เมื่อภิกษุนั่งแล้ว มาตุคามนั่งใกล้ หรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ทั้ง ๒ นั่งก็ดี ทั้ง ๒ นอนก็ดี ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์.
บทภาชนีย์
ติกะปาจิตตีย์
[๕๔๑] มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่ามาตุคาม สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือในอาสนะกำบัง ต้องอาบัติปาจิตตีย์. มาตุคาม ภิกษุสงสัย สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบัง ต้องอาบัติปาจิตตีย์. มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม สำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบัง ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
ติกะทุกกฏ
ภิกษุสำเร็จการนั่งในที่ลับ คือ ในอาสนะกำบังกับหญิงยักษ์ หญิงเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียมีกายดังมนุษย์ ต้องอาบัติทุกกฏ. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่ามาตุคาม ... ต้องอาบัติทุกกฏ. ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม ... ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๕๔๒] ภิกษุมีบุรุษผู้รู้เดียงสาคนใดคนหนึ่งอยู่เป็นเพื่อน ๑ ภิกษุยืนมิได้นั่ง ๑ ภิกษุ มิได้มุ่งที่ลับ ๑ ภิกษุนั่งส่งใจไปในอารมณ์อื่น ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้อง อาบัติแล.
อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๔ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๑๑๓๖๓-๑๑๔๒๒ หน้าที่ ๔๗๙-๔๘๑. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=2&A=11363&Z=11422&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=2&siri=80              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=539              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [539-542] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=2&item=539&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=9426              The Pali Tipitaka in Roman :- [539-542] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=2&item=539&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=9426              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-pc44/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :