ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒
สัตตสติกขันธกะ
เรื่องพระวัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการ
[๖๓๐] ก็โดยสมัยนั้นแล เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานล่วงได้ ๑๐๐ ปี พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี แสดงวัตถุ ๑๐ ประการในเมืองเวสาลี ว่าดังนี้:- ๑. เก็บเกลือไว้ในเขนงฉัน ควร ๒. ฉันอาหารในเวลาบ่าย ล่วงสององคุลี ควร ๓. เข้าบ้านฉันอาหารเป็นอนติริตตะ ควร ๔. อาวาสมีสีมาเดียวกัน ทำอุโบสถต่างๆ กัน ควร ๕. เวลาทำสังฆกรรม ภิกษุมาไม่พร้อมกันทำก่อนได้ ภิกษุมาทีหลังจึง บอกขออนุมัติ ควร ๖. การประพฤติตามอย่าง ที่อุปัชฌาย์และอาจารย์ประพฤติมาแล้ว ควร ๗. ฉันนมสดที่แปรแล้ว แต่ยังไม่เป็นนมส้ม ควร ๘. ดื่มสุราอ่อน ควร ๙. ใช้ผ้านิสีทนะไม่มีชาย ควร ๑๐. รับทองและเงิน ควร ฯ
เรื่องพระยสกากัณฑกบุตร
[๖๓๑] สมัยนั้น ท่านพระยสกากัณฑกบุตรเที่ยวจาริกในวัชชีชนบทถึง พระนครเวสาลี ข่าวว่า ท่านพระยสกากัณฑกบุตรพักอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลีนั้น ฯ [๖๓๒] สมัยนั้น พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี ถึงวันอุโบสถ เอาถาดทองสัมฤทธิ์ตักน้ำเต็มตั้งไว้ ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ กล่าวแนะนำอุบาสกอุบา- *สิกาชาวเมืองเวสาลี ที่มาประชุมกันอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงถวายรูปิยะแก่สงฆ์ กหาปณะหนึ่งก็ได้ กึ่งกหาปณะก็ได้ บาทหนึ่งก็ได้ มาสกหนึ่งก็ได้ สงฆ์จักมี กรณียะด้วยบริขาร เมื่อพระวัชชีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระยสกากัณฑบุตรจึง กล่าวกะอุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีว่า ท่านทั้งหลาย พวกท่านอย่าได้ถวาย รูปิยะแก่สงฆ์ กหาปณะหนึ่งก็ตาม กึ่งกหาปณะก็ตาม บาทหนึ่งก็ตาม มาสกหนึ่ง ก็ตาม ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะเชื้อสายพระศากยบุตร พระสมณะเชื้อสาย พระศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่รับทองและ เงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร มีแก้วและทองวางเสียแล้ว ปราศจาก ทองและเงิน อุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลี แม้อันท่านพระยสกากัณฑกบุตร กล่าวอยู่อย่างนี้ ก็ยังขืนถวายรูปิยะแก่สงฆ์ กหาปณะหนึ่งบ้าง กึ่งกหาปณะบ้าง บาทหนึ่งบ้าง มาสกหนึ่งบ้าง ครั้นล่วงราตรีนั้นแล้ว พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี ได้จัดส่วนแบ่ง เงินนั้นตามจำนวนภิกษุแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระยสกากัณฑกบุตรว่า ท่านพระยส เงินจำนวนนี้เป็นส่วนของท่าน ท่านพระยสกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย ฉันไม่มีส่วนเงิน ฉันไม่ยินดีเงิน ฯ [๖๓๓] ครั้งนั้น พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลีกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย พระยสกากัณฑกบุตรนี้ ด่า บริภาษ อุบาสกอุบาสิกา ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทำให้ เขาไม่เลื่อมใส เอาละ พวกเราจะลงปฏิสารณียกรรมแก่ท่าน แล้วได้ลงปฏิสารณีย- *กรรมแก่พระยสกากัณฑกบุตรนั้น ครั้งนั้น ท่านพระยสกากัณฑกบุตร ได้กล่าวกะพวกพระวัชชีบุตรชาวเมือง เวสาลีว่า ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้ว่า สงฆ์พึงให้พระอนุทูต แก่ภิกษุผู้ถูกลงปฏิสารณียกรรม ขอพวกเธอจงให้พระอนุทูตแก่ฉัน จึงพวกพระ- *วัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลีได้สมมติภิกษุรูปหนึ่งให้เป็นอนุทูต แก่ท่านพระยสกา- *กัณฑกบุตร ต่อมา ท่านพระยสกากัณฑกบุตร พร้อมด้วยพระอนุทูตพากันเข้าไป สู่พระนครเวสาลี แล้วชี้แจงแก่อุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีว่า อาตมาผู้กล่าว สิ่งไม่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม สิ่งเป็นธรรม ว่าเป็นธรรม สิ่งไม่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย สิ่งเป็นวินัย ว่าเป็นวินัย เขาหาว่าด่า บริภาษท่านอุบาสกอุบาสิกา ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทำให้ไม่เลื่อมใส ฯ
เครื่องเศร้าหมองของพระจันทร์พระอาทิตย์ ๔ อย่าง
[๖๓๔] พระยสกากัณฑกบุตรกล่าวต่อไปว่า ท่านทั้งหลาย สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขต พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย พระจันทร์พระอาทิตย์เศร้าหมอง เพราะเครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการนี้ จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง เครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการเป็นไฉน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ๑. พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง คือ หมอก จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง ๒. พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง คือ น้ำค้าง จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง ๓. พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง คือ ละอองควัน จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง ๔. พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง คืออสุริน- *ทราหู จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้า- *หมอง ๔ ประการนี้แล จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง ฉันใด
เครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ ๔ อย่าง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้า หมอง ๔ ประการนี้ จึงไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์ เครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการ เป็นไฉน ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ดื่มสุรา ดื่มเมรัย ไม่งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ข้อที่หนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์ ๒. อนึ่ง สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเสพเมถุนธรรม ไม่งดเว้นจากเมถุน- *ธรรม นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ข้อที่สอง ซึ่งเป็นเหตุให้สมณ- *พราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์ ๓. อนึ่ง สมณพราหมณ์พวกหนึ่งยินดีทองและเงิน ไม่งดเว้นจากการ รับทองและเงิน นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ข้อที่สาม ซึ่งเป็นเหตุ ให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์ ๔. อนึ่ง สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพ ไม่งดเว้นจาก มิจฉาชีพ นี้เป็นเครื่องเศร้าหมองของสมณพราหมณ์ข้อที่สี่ ซึ่งเป็นเหตุให้สมณ- *พราหมณ์พวกหนึ่ง เศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้า หมอง ๔ ประการนี้แล จึงไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์ ฉันนั้น ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำนี้ ครั้นแล้วพระสุคตผู้ศาสดาได้ตรัสประพันธคาถา มีเนื้อความ ว่าดังนี้:- [๖๓๕] สมณพราหมณ์เศร้าหมอง เพราะราคะและโทสะ เป็นคนอัน อวิชชาหุ้มห่อ เพลิดเพลิน รูปที่น่ารัก เป็นคนไม่รู้ พวกหนึ่ง ดื่มสุราเมรัย พวกหนึ่งเสพเมถุน พวกหนึ่งยินดีเงินและทอง พวกหนึ่งเป็นอยู่โดยมิจฉาชีพ เครื่องเศร้าหมองเหล่านี้ พระ พุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ แห่งพระราชาผู้สูงศักดิ์ตรัสว่า เป็นเหตุ ให้สมณพราหมณ์พวกหนึ่งเศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่บริสุทธิ์ มีกิเลสธุลีดุจมฤค ถูกความมืดรัดรึง เป็นทาส ตัณหา พร้อมด้วยกิเลส เครื่องนำไปสู่ภพ ย่อมเพิ่มพูนสถาน ทิ้งซากศพให้มาก ย่อมถือเอาภพใหม่ต่อไป ฯ [๖๓๖] ข้าพเจ้าผู้มีวาทะอย่างนี้กล่าวสิ่งไม่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม สิ่งเป็นธรรม ว่าเป็นธรรม สิ่งไม่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย สิ่งเป็นวินัย ว่าเป็น วินัย เขาหาว่า ด่า บริภาษ อุบาสกอุบาสิกา ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทำให้ไม่ เลื่อมใส ฯ
เรื่องนายบ้านชื่อมณีจูฬกะ
[๖๓๗] ท่านทั้งหลาย สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่เวฬุวัน วิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น ชนทั้งหลายนั่งประชุมกันในราชบริษัท ภายในราชสำนัก ได้ยกถ้อยคำนี้ขึ้นสนทนา ในระหว่างว่า ทองและเงินย่อมควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร พระสมณะ เชื้อสายพระศากยบุตรย่อมยินดีทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ย่อมรับทองและเงิน ก็คราวนั้น นายบ้านชื่อมณีจูฬกะ นั่งอยู่ในบริษัทนั้นด้วย เขาได้กล่าวกะบริษัทนั้นว่า นาย พวกท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ทองและเงินไม่ควร แก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่ยินดี ทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่รับทองและเงิน พระสมณะเชื้อ สายพระศากยบุตรมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน นายบ้าน ชื่อมณีจูฬกะสามารถชี้แจงให้บริษัทนั้นเข้าใจ ครั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธ- *เจ้าข้า ชนทั้งหลายนั่งประชุมกันในราชบริษัทภายในราชสำนัก ได้ยกถ้อยคำนี้ ขึ้นสนทนาในระหว่างว่า ทองและเงินควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรยินดีทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากย- *บุตรรับทองและเงิน เมื่อชนทั้งหลายพูดอย่างนี้แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้พูดกะบริษัท นั้นว่า นาย พวกท่านอย่าได้พูดเช่นนี้ ทองและเงินไม่ควรแก่พระสมณะเชื้อสาย พระศากยบุตร พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน พระสมณะ เชื้อสายพระศากยบุตรไม่รับทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรมีแก้ว และทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน ข้าพระพุทธเจ้าสามารถชี้แจงให้ บริษัทนั้นเข้าใจได้ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าพยากรณ์อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวคล้อยตามพระ- *ผู้มีพระภาค ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จ ชื่อว่าพยากรณ์ธรรมอัน สมควรแก่ธรรม และสหธรรมิกบางรูป ผู้กล่าวตามวาทะ ย่อมไม่ถึงฐานะที่ควร ติเตียนหรือ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เอาละ นายบ้าน เธอพยากรณ์อย่างนี้ชื่อว่า กล่าวคล้อยตามเรา ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ ชื่อว่า พยากรณ์ธรรมสมควรแก่ ธรรม และสหธรรมิกบางรูปผู้กล่าวตามวาทะย่อมไม่ถึงฐานะที่ควรติเตียน ดูกร นายบ้าน ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรโดยแท้ สมณะ เชื้อสายพระศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่รับทอง และเงิน สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจาก ทองและเงิน ทองและเงินควรแก่ผู้ใด แม้กามคุณทั้งห้าก็ควรแก่ผู้นั้น กามคุณ ทั้งห้าควรแก่ผู้ใด เธอพึงจำผู้นั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า มีปกติมิใช่สมณะ มีปกติมิใช่ เชื้อสายพระศากยบุตร เราจะกล่าวอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้า พึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้ พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียน พึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษ พึงแสวงหาบุรุษ แต่เราไม่กล่าวโดยปริยายไรๆ ว่า สมณะพึงยินดี พึงแสวงหา ทองและเงิน ข้าพเจ้าผู้มีวาทะอย่างนี้ กล่าวสิ่งไม่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม สิ่งเป็นธรรม ว่าเป็นธรรม สิ่งไม่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย สิ่งเป็นวินัย ว่าเป็นวินัย เขาหาว่า ด่า บริภาษอุบาสกอุบาสิกา ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสทำให้ไม่เลื่อมใส
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร
[๖๓๘] ท่านทั้งหลาย สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงปรารภท่านพระ- *อุปนันทศากยบุตร ทรงห้ามทองและเงิน และทรงบัญญัติสิกขาบทในพระนคร ราชคฤห์นั้นแล ข้าพเจ้ามีวาทะอย่างนี้ กล่าวสิ่งไม่เป็นธรรม ว่าไม่เป็นธรรม สิ่งเป็นธรรม ว่าเป็นธรรม สิ่งไม่เป็นวินัย ว่าไม่เป็นวินัย สิ่งเป็นวินัย ว่าเป็น วินัย เขาหาว่า ด่า บริภาษ อุบาสกอุบาสิกา ผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทำให้ไม่เลื่อมใส เมื่อท่านพระยสกากัณฑกบุตร กล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาสกอุบาสิกาชาวเมือง เวสาลีได้กล่าวกะท่านพระยสกากัณฑกบุตรว่า ท่านเจ้าข้า พระคุณเจ้ายสกากัณฑก- *บุตรรูปเดียวเท่านั้น เป็นพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ภิกษุพวกนี้ทั้งหมดไม่ ใช่สมณะ ไม่ใช่เชื้อสายพระศากยบุตร ท่านเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้ายสกากัณฑกบุตร จงอยู่ในเมืองเวสาลี พวกข้าพเจ้าจักทำการขวนขวายเพื่อจีวรบิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร แก่พระคุณเจ้ายสกากัณฑกบุตร ครั้งนั้น ท่านพระยสกากัณฑกบุตร ได้ชี้แจงให้อุบาสกอุบาสิกาชาวเมือง เวสาลีเข้าใจแล้ว ได้ไปอารามพร้อมกับพระอนุทูต ฯ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ บรรทัดที่ ๗๖๕๙-๗๘๑๓ หน้าที่ ๓๑๘-๓๒๔. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=7&A=7659&Z=7813&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=7&siri=109              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=7&i=630              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [630-638] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=7&item=630&items=9              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=9352              The Pali Tipitaka in Roman :- [630-638] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=7&item=630&items=9              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=9352              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_7              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-kd22/en/brahmali# https://suttacentral.net/pli-tv-kd22/en/horner-brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :