ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๓. หลิททิกานิสูตรที่ ๑
ว่าด้วยลักษณะมุนี
[๑๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:- สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ ณ ภูเขาชันข้างหนึ่ง ใกล้กุรรฆรนครแคว้นอวันตีรัฐ ครั้งนั้นแล คฤหบดีชื่อว่าหลิททิกานิ เข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวกะท่านมหากัจจานะว่า ข้าแต่ท่านพระผู้เจริญ พระผู้มีพระภาค ตรัสพระภาษิตนี้ในมาคัณฑิยปัญหา อันมีในอัฏฐกวรรคว่า มุนีละที่อยู่แล้ว ไม่มีที่พักเที่ยวไป ไม่ทำความสนิทสนมในบ้าน เป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้า ไม่ทำถ้อยคำ แก่งแย่งกับชนอื่น ดังนี้. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เนื้อความแห่งพระพุทธวจนะที่พระผู้มีพระภาคตรัสโดยย่อนี้ จะพึง เห็นได้โดยพิสดารอย่างไร? [๑๒] พระมหากัจจานะได้กล่าวว่า ดูกรคฤหบดี รูปธาตุเป็นที่อยู่อาศัยของวิญญาณ ก็แหละมุนีใด มีวิญญาณพัวพันด้วยราคะในรูปธาตุ มุนีนั้น ท่านกล่าวว่า มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป ดูกรคฤหบดี เวทนา ... สัญญา ... สังขารธาตุเป็นที่อยู่อาศัยของวิญญาณ ก็แหละมุนีใด มีวิญญาณ พัวพันด้วยราคะในสังขารธาตุ มุนีนั้น ท่านกล่าวว่า มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป. ดูกรคฤหบดี มุนี ชื่อว่าเป็นผู้มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป ด้วยประการฉะนี้แล. [๑๓] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไปอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ความ พอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อัน เป็นที่ตั้งที่อยู่อาศัยแห่งจิตเหล่าใด ในรูปธาตุ ความพอใจเป็นต้นเหล่านั้น อันพระตถาคต ทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่ เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคต บัณฑิตจึงกล่าวว่า เป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัย เที่ยวไป. ดูกรคฤหบดี ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก ความเข้าถึง ความยึดมั่น อันเป็นที่ตั้งที่อยู่อาศัยแห่งจิตเหล่าใดในเวทนาธาตุ ... ในสัญญาธาตุ ... ในสังขารธาตุ ... ในวิญญาณธาตุ ความพอใจเป็นต้นเหล่านั้น อันพระตถาคต ทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทรงทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็น ธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคต บัณฑิตจึงกล่าวว่า เป็นผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไป. ดูกร คฤหบดี มุนีชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเที่ยวไปอย่างนี้แล. [๑๔] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้มีที่พักเที่ยวไปอย่างไร? ดูกรคฤหบดี มุนีท่านกล่าวว่า เป็นผู้มีที่พักเที่ยวไป เพราะซ่านไปและพัวพันในรูป อันเป็นนิมิตและเป็นที่พัก. ดูกรคฤหบดี มุนีท่านกล่าวว่าเป็นผู้มีที่พักเที่ยวไป เพราะซ่านไปและพัวพันในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรส ... ใน โผฏฐัพพะ ... ในธรรมารมณ์อันเป็นนิมิตและเป็นที่พัก. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้มีที่พักเที่ยวไป อย่างนี้แล. [๑๕] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไปอย่างไร? ดูกรคฤหบดี กิเลสเป็น เหตุซ่านไปและพัวพันในรูปอันเป็นนิมิตและที่พัก อันพระตถาคต ทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาด แล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทรงกระทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะ ฉะนั้น พระตถาคต บัณฑิตจึงกล่าวว่าเป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไป. ดูกรคฤหบดี กิเลสเป็นเหตุ ซ่านไปและพัวพันในเสียง ... ในกลิ่น ... ในรส ... ในโผฏฐัพพะ ... ในธรรมารมณ์อันเป็นนิมิตและเป็น ที่พักอันพระตถาคต ทรงละเสียแล้ว ทรงตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดังตาลยอดด้วน ทรงกระ ทำให้ไม่มี มีอันไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น พระตถาคต บัณฑิตจึงกล่าวว่า เป็นผู้ ไม่มีที่พักเที่ยวไป. ดูกรคฤหบดี มุนีชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีที่พักเที่ยวไปอย่างนี้แล. [๑๖] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้สนิทสนมในบ้านอย่างไร? ดูกรคฤหบดีมุนีบางคนใน โลกนี้ เป็นผู้คลุกคลีกับพวกคฤหัสถ์อยู่ คือเป็นผู้พลอยชื่นชมกับเขา พลอยโศกกับเขา เมื่อ พวกคฤหัสถ์มีสุขก็สุขด้วย มีทุกข์ ก็ทุกข์ด้วย เมื่อพวกคฤหัสถ์มีกรณียกิจที่ควรทำเกิดขึ้น ก็ขวนขวายในกรณียกิจเหล่านั้นด้วยตนเอง. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้สนิทสนมในบ้าน อย่างนี้แล. [๑๗] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีไม่เป็นผู้สนิทสนมในบ้านอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้ ไม่เป็นผู้คลุกคลีกับพวกคฤหัสถ์ คือ ไม่พลอยชื่นชมกับเขา ไม่พลอยโศกกับเขา เมื่อพวกคฤหัสถ์มีสุข ก็ไม่สุขด้วย มีทุกข์ ก็ไม่ทุกข์ด้วย เมื่อคฤหัสถ์มีกรณียกิจที่ควรทำเกิดขึ้นก็ ไม่ขวนขวายในกรณียกิจเหล่านั้นด้วยตนเอง. ดูกรคฤหบดีมุนีไม่เป็นผู้สนิทสนมในบ้าน อย่างนี้แล. [๑๘] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่ว่างจากกามทั้งหลายอย่างไร? ดูกรคฤหบดี มุนีบาง คนในโลกนี้ ยังเป็นผู้ไม่ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความ กระวนกระวาย ความทะยานอยากในกามทั้งหลาย. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้ไม่ว่างจากกามทั้ง หลาย อย่างนี้แล. [๑๙] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลายอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ภิกษุบางรูป ในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ความพอใจ ความรัก ความกระหาย ความ กระวนกระวาย ความทะยานอยากในกามทั้งหลาย. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลาย อย่างนี้แล. [๒๐] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้มุ่งถึงกาลข้างหน้าอย่างไร? ดูกรคฤหบดี มุนีบางคน ในโลกนี้ มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในกาลข้างหน้า ขอเราพึงเป็นผู้มีรูปอย่างนี้ มีเวทนาอย่าง นี้ มีสัญญาอย่างนี้ มีสังขารอย่างนี้ มีวิญญาณอย่างนี้. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้มุ่งถึงกาลข้าง หน้า อย่างนี้แล. [๒๑] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้าอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ภิกษุบาง รูปในธรรมวินัยนี้ ไม่มีความปรารถนาอย่างนี้ว่า ในกาลข้างหน้า ขอเราพึงเป็นผู้มีรูปอย่างนี้ มี เวทนาอย่างนี้ มีสัญญาอย่างนี้ มีสังขารอย่างนี้ มีวิญญาณอย่างนี้. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้ไม่มุ่ง ถึงกาลข้างหน้า อย่างนี้แล. [๒๒] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีเป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่นอย่างไร? ดูกรคฤหบดี มุนี บางคนในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้ทำถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึงธรรม วินัยนี้ ไฉนท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้ ท่านเป็นผู้ปฏิบัติผิด เราเป็นผู้ปฏิบัติชอบ คำที่ควร กล่าวก่อน ท่านกล่าวทีหลัง คำที่ควรกล่าวทีหลัง ท่านกล่าวก่อน คำของเรามีประโยชน์ คำ ของท่านไม่มีประโยชน์ ข้อที่ท่านเคยประพฤติมาผิดเสียแล้ว เรายกวาทะแก่ท่านแล้ว ท่าน จงประพฤติเพื่อปลดเปลื้องวาทะเสีย ท่านเป็นผู้อันเราข่มได้แล้ว หรือจงปลดเปลื้องเสียเองถ้า ท่านสามารถ. ดูกรคฤหบดี มุนีเป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่น อย่างนี้แล. [๒๓] ดูกรคฤหบดี ก็มุนีไม่เป็นผู้ทำคำแก่งแย่งกับชนอื่นอย่างไร? ดูกรคฤหบดี ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นผู้ไม่ทำถ้อยคำเห็นปานนี้ว่า ท่านย่อมไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ เรารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ไฉนท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้ ท่านเป็นผู้ปฏิบัติผิด เราเป็นผู้ปฏิบัติ ชอบ คำที่ควรกล่าวก่อน ท่านกล่าวทีหลัง คำที่ควรกล่าวทีหลัง ท่านกล่าวก่อน คำของเรามี ประโยชน์ คำของท่านไม่มีประโยชน์ ข้อที่ท่านเคยปฏิบัติมาผิดเสียแล้ว เรายกวาทะแก่ท่านแล้ว ท่านจงประพฤติเพื่อปลดเปลื้องวาทะเสีย ท่านเป็นผู้อันเราข่มได้แล้ว หรือจงปลดเปลื้องเสียเอง ถ้าท่านสามารถ. ดูกรคฤหบดี มุนีไม่เป็นผู้ทำถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่น อย่างนี้แล. [๒๔] ดูกรคฤหบดี พระพุทธวจนะ ที่พระผู้มีพระภาค ตรัสแล้วในมาคัณฑิยปัญหา อันมีในอัฏฐกวรรคว่า มุนีละที่อยู่แล้ว ไม่มีที่พักเที่ยวไป ไม่ทำความสนิทสนมใน บ้าน เป็นผู้ว่างจากกามทั้งหลาย ไม่มุ่งถึงกาลข้างหน้า ไม่ทำ ถ้อยคำแก่งแย่งกับชนอื่น ดังนี้. ดูกรคฤหบดี เนื้อความแห่งพระพุทธพจน์ ที่พระผู้มีพระภาคตรัส โดยย่อนี้แล พึง เห็นโดยพิสดารอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
จบ สูตรที่ ๓

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๑๘๑-๒๖๗ หน้าที่ ๘-๑๑. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=17&A=181&Z=267&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=17&siri=3              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=11              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [11-24] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=17&item=11&items=14              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=6265              The Pali Tipitaka in Roman :- [11-24] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=17&item=11&items=14              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=6265              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_17              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/17i001-e.php#sutta3 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn22/sn22.003.than.html https://suttacentral.net/sn22.3/en/sujato https://suttacentral.net/sn22.3/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :