ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๗. เขมกสูตร
ว่าด้วยไม่มีตนในขันธ์ ๕
[๒๒๕] สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นพระเถระหลายรูป อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้พระนครโกสัมพี. ก็สมัยนั้นแล ท่านพระเขมกะอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา พักอยู่ที่พทริการาม. ครั้งนั้น เป็นเวลาเย็น ภิกษุผู้เป็นพระเถระทั้งหลาย ออกจากที่พักผ่อนแล้ว เรียกท่านพระทาสกะมากล่าว ว่า มาเถิด ท่านทาสกะ จงเข้าไปหาเขมกภิกษุถึงที่อยู่ จงบอกกะเขมกภิกษุอย่างนี้ว่า ดูกรท่าน เขมกะ พระเถระทั้งหลายได้ถามท่านอย่างนี้ว่า อาวุโส ท่านพออดทนได้หรือ ยังพอเยียวยา อัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้น ทุกขเวทนานั้น ปรากฏว่า ทุเลา ไม่ กำเริบขึ้นหรือ? ท่านพระทาสกะรับคำภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายแล้ว เข้าไปหาท่านพระเขมกะถึงที่ อยู่ ได้กล่าวกะท่านพระเขมกะว่า ดูกรท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายถามถึงท่านอย่างนี้ว่า อาวุโส ท่านพออดทนได้หรือ ยังพอเยียวยาอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ฯลฯ ท่านพระเขมกะตอบ ว่า ผมอดทนไม่ไหว เยียวยาอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาอันกล้าของผมกำเริบขึ้น ไม่ ทุเลาลงเลย ปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่ทุเลาเลย. [๒๒๖] ครั้งนั้น ท่านพระทาสกะเข้าไปหาภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายถึงที่อยู่แล้ว ได้กล่าว กะภิกษุผู้เป็นเถระว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เขมกภิกษุกล่าวอย่างนี้ว่า อาวุโส ผมทนไม่ไหว เยียวยาอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ฯลฯ ถ. มาเถิด ท่านทาสกะ ท่านจงเข้าไปหาเขมกภิกษุถึงที่อยู่ จงกล่าวกะเขมกภิกษุอย่าง นี้ว่า ท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า อาวุโส อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มี พระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทาน ขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์. ท่านเขมกะพิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้ว่า เป็นตน หรือว่ามีในตนหรือ? ท่านพระทาสกะรับคำภิกษุผู้เป็นเถระทั้งหลายแล้ว เข้าไปหาพระเขมกะ ถึงที่อยู่แล้ว กล่าวว่า ดูกรท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า อาวุโส อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์. ท่านเขมกะพิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้ว่า เป็นตน หรือว่ามีในตนหรือ? ข. อาวุโส อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์ ผมไม่พิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้ว่า เป็นตน หรือว่ามี ในตน. [๒๒๗] ครั้งนั้นแล ท่านพระทาสกะเข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลายถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเขมกะกล่าวอย่างนี้ว่า อุปาทาน ขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์. ดูกรผู้มีอายุ ผมไม่ได้เห็นสิ่งอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ว่า เป็นตน หรือว่า มีในตนเลย. ถ. มาเถิด ท่านทาสกะ ท่านจงเข้าไปหาภิกษุเขมกะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จงกล่าวกะ ภิกษุเขมกะอย่างนี้ว่า อาวุโส พระเถระทั้งหลายกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส อุปาทาน ขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์. ได้ทราบว่า ถ้าท่านเขมกะไม่พิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ว่า เป็นตน หรือว่ามี ในตน ถ้าเช่นนั้น ท่านเขมกะก็เป็นพระอรหันตขีณาสพ. ท่านพระทาสกะรับคำภิกษุผู้เถระ ทั้งหลายแล้ว เข้าไปหาท่านพระเขมกะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ดูกรท่านเขมกะ พระเถระ ทั้งหลายกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทาน ขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์. ได้ทราบว่า ถ้าท่านเขมกะไม่พิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทาน ขันธ์ ๕ เหล่านี้ว่า เป็นตน หรือว่ามีในตน ถ้าเช่นนั้น ท่านเขมกะก็เป็นพระอรหันตขีณาสพ. ข. ดูกรอาวุโส อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทาน ขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์. ผมไม่ได้พิจารณาเห็นสิ่งอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ว่า เป็นตน หรือว่ามีในตน และผมก็ไม่ได้เป็นพระอรหันตขีณาสพ แต่ผมเข้าใจว่า เรามีในอุปาทาน ขันธ์ ๕ และผมไม่ได้พิจารณาเห็นว่า นี้เป็นเรา. [๒๒๘] ครั้นนั้นแล ท่านพระทาสกะเข้าไปหาภิกษุผู้เถระถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าว กะภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุเขมกะกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรอาวุโส อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทาน ขันธ์. ผมไม่ได้พิจารณาเห็นอะไรๆ ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ว่า เป็นตน หรือว่ามีในตน และ ผมก็ไม่ได้เป็นพระอรหันตขีณาสพ แต่ผมเข้าใจว่า เรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ และผมไม่ได้พิจารณา เห็นว่า นี้เป็นเรา. ถ. มาเถิด ท่านทาสกะ ท่านจงเข้าไปหาภิกษุเขมกะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จงกล่าวกะภิกษุ เขมกะอย่างนี้ว่า ท่านเขมกะ พระเถระทั้งหลายถามท่านอย่างนี้ว่า ดูกรท่านเขมกะ ที่ท่านกล่าว ว่า เรามี นี้คืออย่างไร? ท่านกล่าวรูปว่า เรามี หรือกล่าวว่า เรามีนอกจากรูป ท่านกล่าว เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า เรามี หรือกล่าวว่า เรามีนอกจากวิญญาณ. ดูกรท่าน เขมกะ ที่ท่านกล่าวว่า เรามีนั้น คืออย่างไร? ท่านพระทาสกะรับคำภิกษุผู้เถระทั้งหลายแล้ว เข้าไปหาท่านพระเขมกะถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระเขมกะ ว่าท่านเขมกะ พระเถระ ทั้งหลายกล่าวกะท่านอย่างนี้ว่า ดูกรท่านเขมกะ ที่ท่านกล่าวว่า เรามี นั้น คืออย่างไร? ท่าน กล่าวรูปว่า เรามี หรือกล่าวว่า เรามีนอกจากรูป ท่านกล่าวเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า เรามี หรือกล่าวว่า เรามีนอกจากวิญญาณ. ดูกรท่านเขมกะ คำที่ท่านกล่าวว่า เรามี นั้น คืออย่างไร? ข. พอทีเถิด ท่านทาสกะ การเดินไปเดินมาบ่อยๆ อย่างนี้ จะมีประโยชน์อะไร อาวุโส จงไปหยิบเอาไม้เท้ามาเถิด ผมจักไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลายเอง. [๒๒๙] ครั้งนั้น ท่านพระเขมกะยันไม้เท้าเข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลายถึงที่อยู่ ได้ สนทนาปราศรัยกับภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ครั้นผ่านการสนทนาปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ได้กล่าวกะท่านพระเขมกะว่า ดูกรท่าน เขมกะ ที่ท่านกล่าวว่า เรามี นั้นคืออย่างไร ฯลฯ ข. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ผมไม่กล่าวรูปว่า เรามี ทั้งไม่กล่าวว่า เรามีนอกจากรูป ไม่ กล่าวเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า เรามี ทั้งไม่กล่าวว่า เรามีนอกจากวิญญาณ แต่ผม เข้าใจว่า เรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ และผมไม่ได้พิจารณาเห็นว่า นี้เป็นเรา เปรียบเหมือนกลิ่น ดอกอุบลก็ดี กลิ่นดอกปทุมก็ดี กลิ่นดอกบุณฑริก (บัวขาว) ก็ดี ผู้ใดหนอ จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า กลิ่นใบ กลิ่นสีหรือว่ากลิ่นเกสร ผู้นั้นเมื่อกล่าวอย่างนี้ จะพึงกล่าวชอบละหรือ? ถ. ไม่เป็นอย่างนั้น อาวุโส. ข. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็โดยที่ถูก เมื่อจะกล่าวแก้ ควรกล่าวแก้อย่างไร? ถ. ดูกรอาวุโส โดยที่ถูก เมื่อจะกล่าวแก้ ควรกล่าวแก้ว่า กลิ่นดอก. ข. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ผมไม่กล่าวรูปว่า เรามี ทั้งไม่กล่าวว่า เรามีนอกจากรูป ไม่กล่าวเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า เรามี ทั้งไม่กล่าวว่า เรามีนอก จากวิญญาณ แต่ผมเข้าใจว่า เรามีในอุปาทานขันธ์ ๕ และผมไม่พิจารณาเห็นว่า นี้เป็นเรา. สังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำ ๕ พระอริยสาวกละได้แล้วก็จริง แต่ท่านก็ยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัย อย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามีไม่ได้. สมัยต่อมา ท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและ ความเสื่อมไป ในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า รูปดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปดังนี้ ความดับแห่งรูปดังนี้ เวทนาดังนี้ สัญญาดังนี้ สังขารดังนี้ วิญญาณดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณดังนี้ ความดับ แห่งวิญญาณดังนี้. เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่า นี้อยู่ แม้ท่านยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามี ไม่ได้ แต่ มานะ ฉันทะ และอนุสัยนั้น ก็ถึงการเพิกถอนได้. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย เปรียบเหมือนผ้า เปื้อนเปรอะด้วยมลทิน เจ้าของทั้งหลายมอบผ้านั้นให้แก่ช่างซักฟอก ช่างซักฟอกขยี้ผ้านั้นในน้ำ ด่างขี้เถ้า ในน้ำด่างเกลือ หรือในโคมัยแล้ว เอาซักในน้ำใสสะอาด ผ้านั้นเป็นของสะอาดขาว ผ่องก็จริง แต่ผ้านั้นยังไม่หมดกลิ่นน้ำด่างขี้เถ้า กลิ่นน้ำด่างเกลือ หรือกลิ่นโคมัยที่ละเอียด ช่าง ซักฟอกมอบผ้านั้นให้แก่เจ้าของทั้งหลาย เจ้าของทั้งหลายเก็บผ้านั้น ใส่ไว้ในหีบอบกลิ่น แม้ผ้า นั้นยังไม่หมดกลิ่นน้ำด่างขี้เถ้า กลิ่นน้ำด่างเกลือ หรือกลิ่นโคมัยที่ละเอียด แม้กลิ่นนั้นก็หายไป ฉันใด. ดูกรอาวุโสทั้งหลาย สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ พระอริยสาวกละได้แล้วก็จริง แต่ท่านก็ยัง ถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามี ไม่ได้ สมัยต่อมา ท่าน พิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่า รูปดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่ง รูปดังนี้ ความดับแห่งรูปดังนี้ เวทนาดังนี้ สัญญาดังนี้ สังขารดังนี้ วิญญาณดังนี้ ความเกิด ขึ้นแห่งวิญญาณดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณดังนี้. เมื่อท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความ เสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้อยู่ แม้ท่านยังถอนมานะ ฉันทะ อนุสัยอย่างละเอียดใน อุปาทานขันธ์ ๕ ว่า เรามี ไม่ได้ แต่มานะ ฉันทะ และอนุสัยนั้น ก็ถึงการเพิกถอนได้ ฉันนั้น. [๒๓๐] เมื่อท่านพระเขมกะกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ได้กล่าวกะท่านพระ เขมกะว่า ผมทั้งหลายไม่ได้ถามมุ่งหมายเบียดเบียนท่านเขมกะเลย แต่ว่า ท่านเขมกะสามารถพอ จะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น ซึ่งคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาค นั้นโดยพิสดาร ตามที่ท่านเขมกะบอกแล้ว แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แต่งตั้งแล้ว เปิดเผยแล้ว จำแนกแล้ว ทำให้ตื้นแล้ว โดยพิสดาร. ท่านพระเขมกะได้กล่าวคำนี้แล้ว. ภิกษุผู้เถระทั้งหลายชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระ เขมกะ. ก็เมื่อท่านพระเขมกะกล่าวคำไวยากรณภาษิตอยู่ จิตของภิกษุผู้เถระประมาณ ๖๐ รูป และ ของท่านพระเขมกะ พ้นแล้วจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น.
จบ สูตรที่ ๗.

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๒๘๕๘-๒๙๖๒ หน้าที่ ๑๒๓-๑๒๗. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=17&A=2858&Z=2962&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=17&siri=89              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=225              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [225-230] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=17&item=225&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=7610              The Pali Tipitaka in Roman :- [225-230] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=17&item=225&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=7610              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ https://84000.org/tipitaka/read/?index_17              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/17i193-e.php#sutta7 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn22/sn22.089.than.html https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn22/sn22.089x.wlsh.html https://suttacentral.net/sn22.89/en/sujato https://suttacentral.net/sn22.89/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :