ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
คิลานสูตรที่ ๒
[๙๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปหนึ่งในวิหารโน้น เป็นผู้ใหม่ ไม่ปรากฏชื่อและโคตร เป็นผู้อาพาธ ถึงความทุกข์ เป็นไข้หนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทาน- *โอกาส ขอพระผู้มีพระภาค ทรงอาศัยความอนุเคราะห์เสด็จไปหาภิกษุนั้นเถิด พระเจ้าข้า ฯ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงสดับคำว่าภิกษุใหม่ เป็นไข้ทรงทราบชัด ว่า เป็นภิกษุไม่ปรากฏชื่อและโคตร จึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุนั้น ภิกษุนั้นได้เห็น พระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นแล้วปูอาสนะไว้ที่เตียง ครั้งนั้นแล พระผู้มี พระภาคได้ตรัสกะภิกษุนั้นว่า อย่าเลย ภิกษุ เธออย่าปูอาสนะที่เตียงเลย อาสนะ ที่เขาจัดไว้เหล่านี้มีอยู่ เราจักนั่งบนอาสนะนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบน อาสนะซึ่งเขาจัดไว้ ครั้นแล้วได้ตรัสกะภิกษุนั้นว่า ดูกรภิกษุ เธอพอทนได้หรือ เธอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาลดน้อยลง ไม่เจริญแก่กล้าหรือ ความทุเลาย่อมปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏหรือ ฯ ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ ได้ ฯลฯ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ติเตียนตนโดยศีลเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุ ถ้าเธอไม่ติเตียนตนโดยศีลไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะ มีความรังเกียจ มีความเดือดร้อนเพราะเรื่องอะไรเล่า ฯ ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงเพื่อสีลวิสุทธิเลย พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุ ถ้าเธอยังไม่รู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วเพื่อสีลวิสุทธิไซร้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วประพฤติเพื่ออะไรเล่า ฯ ภิ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์รู้ทั่วถึงธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรง แสดงแล้วเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน พระเจ้าข้า ฯ พ. ดีแล้วๆ ภิกษุ เป็นการถูกต้องดีแล้ว ที่เธอรู้ทั่วถึงธรรมอันเรา แสดงแล้วเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน เพราะว่าธรรมที่เราแสดงแล้ว ล้วนมีอนุปาทา- *ปรินิพพานเป็นความมุ่งหมาย ฯ [๙๑] พ. ดูกรภิกษุ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยง หรือไม่เที่ยง ฯ ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯลฯ พ. หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เที่ยง หรือไม่เที่ยง ฯ ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ฯ ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือ หนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ฯ ภิ. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในจักษุ ฯลฯ แม้ในสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิด เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีวิญญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความ เป็นอย่างนี้มิได้มีฉะนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว ภิกษุนั้นชื่นชม ยินดี ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็แลเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิต ของภิกษุนั้นหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๒
ราธสูตรที่ ๑
[๙๒] ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานโอกาส ขอพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ซึ่งข้าพระองค์ได้สดับแล้ว พึงเป็นผู้ๆ เดียว หลีกออกจากหมู่ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วอยู่เถิด พระเจ้าข้า ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราธะ สิ่งใดไม่เที่ยง เธอพึงละความพอใจ ในสิ่งนั้นเสีย ดูกรราธะ อะไรเล่าไม่เที่ยง จักษุแลไม่เที่ยง เธอพึงละความ พอใจในจักษุนั้นเสีย รูปไม่เที่ยง จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่เที่ยง เธอพึงละความพอใจในเวทนานั้นเสีย ฯลฯ ใจไม่เที่ยง เธอพึงละความพอใจ ในสิ่งนั้นๆ เสีย ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่เที่ยง เธอพึงละ- *ความพอใจในเวทนานั้นเสีย ดูกรราธะ สิ่งใดแลไม่เที่ยง เธอพึงละความพอใจ ในสิ่งนั้นเสีย ฯ
จบสูตรที่ ๓
ราธสูตรที่ ๒
[๙๓] ดูกรราธะ สิ่งใดเป็นทุกข์ เธอพึงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย อะไรเล่าเป็นทุกข์ จักษุแลเป็นทุกข์ เธอพึงละความพอใจในจักษุนั้นเสีย รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิด ขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นทุกข์ เธอพึงละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย ฯลฯ ใจเป็นทุกข์ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย เป็นทุกข์ เธอพึง ละความพอใจในสิ่งนั้นเสีย ดูกรราธะ สิ่งใดแลเป็นทุกข์ เธอพึงละความพอใจ ในสิ่งนั้นเสีย ฯ
จบสูตรที่ ๔
ราธสูตรที่ ๓
[๙๔] ดูกรราธะ สภาพใดแลไม่ใช่ตัวตน เธอพึงละความพอใจใน สภาพนั้นเสีย อะไรเล่าไม่ใช่ตัวตน จักษุแลไม่ใช่ตัวตน เธอพึงละความพอใจ ในจักษุนั้นเสีย รูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส ฯลฯ ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิด ขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน เธอพึงละความพอใจในสภาพนั้นเสีย ดูกรราธะ สภาพใดแลไม่ใช่ตัวตน เธอพึงละความพอใจในสภาพนั้นเสีย ฯ
จบสูตรที่ ๕

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๑๐๘๒-๑๑๖๔ หน้าที่ ๔๘-๕๑. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=1082&Z=1164&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=18&siri=55              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=90              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [90-94] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=18&item=90&items=5              The Pali Tipitaka in Roman :- [90-94] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=18&item=90&items=5              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_18              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i088-e.php#sutta2 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn35/sn35.075.than.html https://suttacentral.net/sn35.75/en/sujato https://suttacentral.net/sn35.75/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :