ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
สังโยชนสูตร
[๑๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็นเหตุแห่งสังโยชน์และ สังโยชน์ เธอทั้งหลายจงฟัง ก็ธรรมที่เป็นเหตุแห่งสังโยชน์และสังโยชน์เป็นไฉน ธรรมที่เป็นเหตุแห่งสังโยชน์และสังโยชน์นั้น คือ จักษุเป็นธรรมอันเป็นเหตุแห่ง สังโยชน์ ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในจักษุนั้น เป็นสังโยชน์ในจักษุ นั้น ฯลฯ ใจเป็นธรรมอันเป็นเหตุแห่งสังโยชน์ ความกำหนัดด้วยอำนาจความ พอใจในใจนั้น เป็นสังโยชน์ในใจนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ธรรม เป็นเหตุแห่งสังโยชน์และสังโยชน์ ฯ
จบสูตรที่ ๖
อุปาทานสูตร
[๑๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมเป็นเหตุแห่งอุปาทานและ อุปาทาน เธอทั้งหลายจงฟัง ก็ธรรมที่เป็นเหตุแห่งอุปาทานและอุปาทานเป็นไฉน ธรรมที่เป็นเหตุแห่งอุปาทานและอุปาทานนั้น คือ จักษุเป็นธรรมอันเป็นเหตุแห่ง อุปาทาน ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในจักษุนั้น เป็นอุปาทานในจักษุ นั้น ฯลฯ ใจเป็นธรรมอันเป็นเหตุแห่งอุปาทาน ความกำหนัดด้วยอำนาจความ พอใจในใจนั้น เป็นอุปาทานในใจนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า ธรรม เป็นเหตุแห่งอุปาทานและอุปาทาน ฯ
จบสูตรที่ ๗
อปริชานสูตรที่ ๑
[๑๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้ ไม่หน่าย ไม่ละ จักษุ ย่อมไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์ ฯลฯ บุคคลไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้ ไม่หน่าย ไม่ละใจ ย่อมไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนบุคคลรู้ยิ่ง กำหนดรู้ หน่าย ละจักษุ ย่อมควรเพื่อความสิ้นทุกข์ ฯลฯ บุคคลรู้ยิ่ง กำหนดรู้ หน่าย ละใจ ย่อมควรเพื่อความสิ้นทุกข์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่รู้ยิ่ง ไม่ กำหนดรู้ ไม่หน่าย ไม่ละรูป ย่อมไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์ บุคคลไม่รู้ยิ่ง ไม่ กำหนดรู้ ไม่หน่าย ไม่ละเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ย่อมไม่ควร เพื่อความสิ้นทุกข์ บุคคลรู้ยิ่ง กำหนดรู้ หน่าย ละรูป ย่อมควรเพื่อความสิ้นทุกข์ บุคคลรู้ยิ่ง กำหนดรู้ หน่าย ละเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ย่อม ควรเพื่อความสิ้นทุกข์ ฯ
จบสูตรที่ ๘
อปริชานสูตรที่ ๒
[๑๖๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้ ไม่หน่าย ไม่ละรูป ย่อมไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์ บุคคลไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้ ไม่ หน่าย ไม่ละเสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ...ธรรมารมณ์ ย่อมไม่ควรเพื่อ ความสิ้นทุกข์ บุคคลรู้ยิ่ง กำหนดรู้ หน่าย ละรูป ย่อมควรเพื่อความ สิ้นทุกข์ บุคคลรู้ยิ่ง กำหนดรู้ หน่าย ละเสียง...กลิ่น...รส...โผฏฐัพพะ... ธรรมารมณ์ ย่อมควรเพื่อความสิ้นทุกข์
อุปัสสุติสูตร
[๑๖๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระตำหนัก ซึ่งมุง ด้วยกระเบื้อง ของหมู่พระประยูรญาติ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับพักผ่อน อยู่ในที่สงัด ได้ทรงภาษิตธรรมปริยายนี้ว่า อาศัยจักษุและรูป เกิดจักขุวิญญาณ รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะ เวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน เพราะ อุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็น ปัจจัย จึงเกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ฯลฯ อาศัยใจและ ธรรมารมณ์ เกิดมโนวิญญาณ รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็น ปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็น ปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการ อย่างนี้ ฯ [๑๖๔] อาศัยจักษุและรูป เกิดจักขุวิญญาณ รวมธรรม ๓ ประการเป็น ผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิด ตัณหา เพราะตัณหานั้นแลดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ เพราะ อุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ฯลฯ อาศัยใจและธรรมารมณ์ เกิดมโนวิญญาณ รวมธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะ เวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา เพราะตัณหานั้นแลดับเพราะสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะ ชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ฯ ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งยืนแอบฟังพระผู้มีพระภาคอยู่ พระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้นแล้ว ตรัสถามเธอว่า ดูกรภิกษุ เธอ ได้ฟังธรรมปริยายนี้แล้วหรือ ภิกษุนั้นกราบทูลว่า ได้ฟังแล้ว พระเจ้าข้า ฯ พ. ดูกรภิกษุ เธอจงเรียน จงทรงจำธรรมปริยายนี้ไว้เถิด เพราะว่าธรรมปริยายนี้ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบโยคักเขมิวรรรคที่ ๑
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. โยคักเขมิสูตร ๒. อุปาทายสูตร ๓. ทุกขสูตร ๔.โลกสูตร ๕. เสยยสูตร ๖. สังโยชนสูตร ๗. อุปาทานสูตร ๘. อปริชานสูตรที่ ๑ ๙. อปริชานสูตรที่ ๒ ๑๐. อุปัสสุติสูตร ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๒๒๙๔-๒๓๖๙ หน้าที่ ๙๙-๑๐๒. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=2294&Z=2369&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=18&siri=89              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=159              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [159-164] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=18&item=159&items=6              The Pali Tipitaka in Roman :- [159-164] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=18&item=159&items=6              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_18              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i152-e.php#sutta6 https://suttacentral.net/sn35.109/en/sujato https://suttacentral.net/sn35.109/en/bodhi

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :