ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
จิตตคหปติปุจฉาสังยุตต์
สังโยชนสูตร
[๕๓๗] สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เถระมากด้วยกันอยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่า มัจฉิกาสณฑ์ ก็สมัยนั้นแล ภิกษุผู้เถระมากด้วยกันกลับจากบิณฑบาตภายหลังภัต นั่งประชุมสนทนากันที่โรงกลมได้สนทนากันว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรม เหล่านี้ คือสังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกัน หรือว่ามีอรรถเหมือนกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน บรรดาภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ภิกษุผู้เถระบางพวกพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกันและมีพยัญชนะต่างกัน บางพวก พยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถเหมือนกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน ฯ [๕๓๘] ก็สมัยนั้นแล จิตตคฤหบดีได้ไปยังบ้านส่วยชื่อมิคปถกะด้วย กรณียกิจบางอย่าง ได้สดับข่าวว่า ภิกษุผู้เถระมากด้วยกันกลับจากบิณฑบาตภายหลัง ภัตแล้ว นั่งประชุมกันที่โรงกลม ได้สนทนากันว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะ ต่างกัน หรือว่ามีอรรถเหมือนกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน บรรดาภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ภิกษุผู้เถระบางพวกพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกันและมีพยัญชนะต่างกัน บางพวก พยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถเหมือนกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน ฯ [๕๓๙] ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลายถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามภิกษุผู้เถระทั้งหลายว่า ข้าแต่ ท่านทั้งหลายผู้เจริญ กระผมได้สดับข่าวว่า ภิกษุผู้เถระมากด้วยกันกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตแล้ว นั่งประชุมกันที่โรงกลม ได้สนทนากันว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกัน หรือว่ามีอรรถเหมือนกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน ภิกษุผู้เถระ บางพวกพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกันและมีพยัญชนะต่างกัน บางพวกพยากรณ์ อย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี สังโยชนีย ธรรมก็ดี มีอรรถเหมือนกัน พยัญชนะเท่านั้นต่างกัน ดังนี้หรือ ภิกษุเหล่านั้น ตอบว่า อย่างนั้นคฤหบดี จิตตคฤหบดีได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ คือ สังโยชน์ก็ดี สังโยชนียธรรมก็ดี มีอรรถต่างกัน และมี พยัญชนะต่างกัน ถ้ากระนั้นกระผมจักอุปมาให้ฟัง เพราะวิญญูชนบางพวกในโลกนี้ ย่อมเข้าใจเนื้อความแห่งภาษิตแม้ด้วยข้ออุปมา ฯ [๕๔๐] ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เปรียบเหมือนโคดำตัวหนึ่งโคขาว ตัวหนึ่ง เขาผูกด้วยทามหรือเชือกเส้นเดียวกัน ผู้ใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า โคดำ ติดกับโคขาว โคขาวติดกับโคดำ ดังนี้ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวถูกละหรือ ฯ ภิ. ไม่ถูก คฤหบดี เพราะโคดำไม่ติดกับโคขาว แม้โคขาวก็ไม่ติดกับ โคดำ ทามหรือเชือกที่ผูกโคทั้งสองนั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องผูก ฯ จิตต. ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล จักษุไม่ติดกับรูป รูปไม่ติดกับจักษุ ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักษุและรูปทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าเป็น เครื่องติด หูไม่ติดกับเสียง เสียงไม่ติดกับหู ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยหู และเสียงทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องติด จมูกไม่ติดกับกลิ่น กลิ่นไม่ติดกับจมูก ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจมูกและกลิ่นทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องติด ลิ้นไม่ ติดกับรส รสไม่ติดกับลิ้น ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยลิ้นและรสทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องติด กายไม่ติดกับโผฏฐัพพะ โผฏฐัพพะไม่ติดกับกาย ฉันทราคะ ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องติด ใจไม่ติด กับธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์ไม่ติดกับใจ ฉันทราคะที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยใจและ ธรรมารมณ์ทั้ง ๒ นั้น ชื่อว่าเป็นเครื่องติด ภิ. ดูกรคฤหบดี การที่ปัญญาจักษุของท่านหยั่งทราบในพระพุทธพจน์ที่ ลึกซึ้ง ชื่อว่าเป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๑
อิสิทัตตสูตรที่ ๑
[๕๔๑] สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เถระมากด้วยกันอยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่า มัจฉิกาสณฑ์ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้อาราธนาว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ทั้งหลาย ขอพระเถระทั้งหลาย โปรดรับภัตตาหารของกระผมในวันพรุ่งนี้ ภิกษุผู้ เถระทั้งหลายได้รับอาราธนาโดยดุษณีภาพ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีทราบการรับ อาราธนาของภิกษุผู้เถระทั้งหลายแล้ว ลุกจากที่นั่ง กราบไหว้ กระทำประทักษิณ แล้วจากไป ฯ [๕๔๒] ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไป เป็นเวลาเช้า ภิกษุผู้เถระ ทั้งหลายนุ่งแล้วถือบาตรและจีวร พากันเข้าไปยังนิเวสน์ของจิตตคฤหบดี แล้วนั่ง บนอาสนะที่ตบแต่งไว้ถวาย ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีเข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามพระเถระผู้เป็นประธานว่า ข้าแต่พระเถระผู้เจริญ คำที่กล่าวกันว่า ความต่างแห่งธาตุๆ ดังนี้ ความต่างแห่ง ธาตุ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยเหตุเท่าไรหนอแล ฯ [๕๔๓] เมื่อจิตตคฤหบดีถามอย่างนี้แล้ว พระเถระผู้เป็นประธานได้ นิ่งอยู่ แม้ครั้งที่ ๒ จิตตคฤหบดีได้ถามพระเถระผู้เป็นประธานว่า ข้าแต่พระเถระ ผู้เจริญ คำที่กล่าวกันว่า ความต่างแห่งธาตุๆ ดังนี้ ความต่างแห่งธาตุ พระผู้มี- *พระภาคตรัสไว้ด้วยเหตุเท่าไรหนอแล แม้ครั้งที่ ๒ พระเถระผู้เป็นประธานก็ได้ นิ่งอยู่ แม้ครั้งที่ ๓ จิตตคฤหบดีก็ได้ถามพระเถระผู้เป็นประธานว่า ข้าแต่พระเถระ ผู้เจริญ คำที่กล่าวกันว่า ความต่างแห่งธาตุๆ ดังนี้ ความต่างแห่งธาตุ พระผู้มี- *พระภาคตรัสไว้ด้วยเหตุเท่าไรหนอแล แม้ครั้งที่ ๓ พระเถระผู้เป็นประธานก็ได้ นิ่งอยู่ ฯ [๕๔๔] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านอิสิทัตตะเป็นผู้ใหม่กว่าทุกองค์ในภิกษุ สงฆ์หมู่นั้น ครั้งนั้นแล ท่านอิสิทัตตะได้ขอโอกาสกะพระเถระผู้เป็นประธานว่า ข้าแต่พระเถระผู้เจริญ กระผมขอพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นของจิตตคฤหบดี พระเถระกล่าวว่า ดูกรท่านอิสิทัตตะ เชิญท่านพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นของ จิตตคฤหบดีเถิด ฯ อิ. ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระเถระผู้เจริญ คำที่ กล่าวกันว่า ความต่างแห่งธาตุๆ ดังนี้ ความต่างแห่งธาตุ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ด้วยเหตุเท่าไรหนอแล ดังนี้หรือ จิตต. อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ ฯ อิ. ดูกรคฤหบดี ความต่างแห่งธาตุ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดังนี้ คือ จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธัมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ดูกร คฤหบดี ความต่างแห่งธาตุ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ด้วยเหตุเท่านี้แล ฯ [๕๔๕] ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของท่านอิสิทัตตะ แล้วได้อังคาสภิกษุผู้เถระทั้งหลายให้อิ่มหนำเพียงพอ ด้วยขาทนียโภชนียาหารอัน ประณีต ด้วยมือของตน ครั้งนั้นแล ภิกษุผู้เถระทั้งหลายฉันเสร็จแล้ว ลดมือ จากบาตรแล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะหลีกไป ครั้งนั้นแล พระเถระผู้เป็นประธานได้ กล่าวกะท่านอิสิทัตตะว่า ดีแล้ว ท่านอิสิทัตตะ ปัญหาข้อนั้นแจ่มแจ้งแก่ท่าน มิได้แจ่มแจ้งแก่เรา ดูกรท่านอิสิทัตตะ ต่อไป ถ้าปัญหาเช่นนี้พึงมีมาแม้โดย ประการอื่นในกาลใด ท่านนั่นแหละพึงกล่าวตอบปัญหาเช่นนั้นในกาลนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๒
อิสิทัตตสูตรที่ ๒
[๕๔๖] สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เถระมากด้วยกันอยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่า มัจฉิกาสณฑ์ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลายถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้อาราธนาว่า ข้าแต่ท่านทั้งหลาย ผู้เจริญ ขอพระเถระทั้งหลายโปรดรับภัตตาหารของกระผมในวันพรุ่งนี้ ภิกษุผู้เถระ ทั้งหลายรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีทราบการรับอาราธนา ของภิกษุผู้เถระทั้งหลายแล้ว ลุกจากอาสนะ ไหว้กระทำประทักษิณแล้วจากไป ฯ [๕๔๗] ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไปเป็นเวลาเช้า ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย นุ่งแล้วถือบาตรและจีวรพากันเข้าไปยังนิเวสน์ของจิตตคฤหบดีแล้วนั่งบนอาสนะที่ ตบแต่งไว้ถวาย ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีเข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ไหว้แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามพระเถระผู้เป็นประธานว่า ข้าแต่ พระเถระผู้เจริญ ทิฐิหลายอย่างย่อมเกิดขึ้นในโลกดังนี้ว่า โลกเที่ยงบ้าง โลกไม่เที่ยง บ้าง โลกมีที่สุดบ้าง โลกไม่มีที่สุดบ้าง ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้นบ้าง ชีพเป็น อื่น สรีระก็เป็นอื่นบ้าง สัตว์ตายแล้วย่อมเป็นอีกบ้าง สัตว์ตายแล้วย่อมไม่เป็น อีกบ้าง สัตว์ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มีบ้าง สัตว์ตายแล้วย่อม เป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้บ้าง (ก็ทิฐิ ๖๒ อย่างเหล่านี้ ได้กล่าว ไว้ในพรหมชาลสูตร) ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่ออะไรมี ทิฐิเหล่านี้จึงมี เมื่ออะไร ไม่มี ทิฐิเหล่านี้จึงไม่มี ฯ [๕๔๘] เมื่อจิตตคฤหบดีได้ถามอย่างนี้แล้ว พระเถระผู้เป็นประธานได้ นิ่งอยู่ แม้ครั้งที่ ๒ ฯลฯ แม้ครั้งที่ ๓ จิตตคฤหบดีได้ถามพระเถระผู้เป็นประธาน ว่า ข้าแต่พระเถระผู้เจริญ ทิฐิหลายอย่างย่อมเกิดขึ้นในโลกดังนี้ว่า โลกเที่ยงบ้าง โลกไม่เที่ยงบ้าง โลกมีที่สุดบ้าง โลกไม่มีที่สุดบ้าง ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้นบ้าง ชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่นบ้าง สัตว์ตายแล้วย่อมเป็นอีกบ้าง สัตว์ตายแล้วย่อม ไม่เป็นอีกบ้าง สัตว์ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มีบ้าง สัตว์ตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้บ้าง แม้ครั้งที่ ๓ พระเถระผู้เป็น ประธานก็ได้นิ่งอยู่ ฯ [๕๔๙] ก็สมัยนั้นแล ท่านพระอิสิทัตตะเป็นผู้ใหม่กว่าทุกองค์ในภิกษุ สงฆ์หมู่นั้น ครั้งนั้นแล ท่านพระอิสิทัตตะได้ขอโอกาสกะพระเถระผู้เป็นประธานว่า ข้าแต่พระเถระผู้เจริญ กระผมขอพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นของจิตตคฤหบดี พระเถระ กล่าวว่า ดูกรท่านอิสิทัตตะ ท่านจงพยากรณ์ปัญหาข้อนั้นของจิตตคฤหบดีเถิด ท่านอิสิทัตตะได้ถามว่า ดูกรคฤหบดี ก็ท่านถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระเถระผู้เจริญ ทิฐิหลายอย่างย่อมเกิดขึ้นในโลกดังนี้ว่า โลกเที่ยงบ้าง โลกไม่เที่ยงบ้าง โลกมี ที่สุดบ้าง โลกไม่มีที่สุดบ้าง ฯลฯ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่ออะไรมี ทิฐิเหล่านี้จึงมี เมื่ออะไรไม่มี ทิฐิเหล่านี้จึงไม่มี ดังนี้หรือ จิตตคฤหบดีกล่าวว่า อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ ฯ อิ. ดูกรคฤหบดี ทิฐิหลายอย่างย่อมเกิดขึ้นในโลกดังนี้ว่า โลกเที่ยงบ้าง โลกไม่เที่ยงบ้าง... สัตว์ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้บ้าง (ทิฐิ ๖๒ เหล่านี้ ได้กล่าวไว้แล้วในพรหมชาลสูตร) ดูกรคฤหบดี เมื่อสักกายทิฐิ มี ทิฐิเหล่านี้ก็มี เมื่อสักกายทิฐิไม่มี ทิฐิเหล่านี้ก็ไม่มี ฯ [๕๕๐] จิตต. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็สักกายทิฐิย่อมเกิดมีได้อย่างไร ฯ อิ. ดูกรคฤหบดี ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ไม่ได้สดับ ไม่เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้ เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ เห็นตนมีรูป ๑ เห็นรูปในตน ๑ เห็นตนในรูป ๑ เห็นเวทนาโดยความเป็นตน ๑ เห็นตนมีเวทนา ๑ เห็นเวทนาในตน ๑ เห็นตน ในเวทนา ๑ เห็นสัญญาโดยความเป็นตน ๑ เห็นตนมีสัญญา ๑ เห็นสัญญาใน ตน ๑ เห็นตนในสัญญา ๑ เห็นสังขารโดยความเป็นตน ๑ เห็นตนมีสังขาร ๑ เห็นสังขารในตน ๑ เห็นตนในสังขาร ๑ เห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ เห็น ตนมีวิญญาณ ๑ เห็นวิญญาณในตน ๑ เห็นตนในวิญญาณ ๑ ดูกรคฤหบดี สักกายทิฐิย่อมเกิดมีได้อย่างนี้แล ฯ [๕๕๑] จิตต. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็สักกายทิฐิย่อมไม่เกิดมีได้อย่างไร ฯ อิ. ดูกรคฤหบดี อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ ผู้ได้สดับแล้ว ได้เห็น พระอริยเจ้า ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ได้รับแนะนำในธรรมของพระอริยเจ้า ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นตน ๑ ไม่เห็นตนมีรูป ๑ ไม่เห็นรูปในตน ๑ ไม่ เห็นตนในรูป ๑ ไม่เห็นเวทนาโดยความเป็นตน ๑ ไม่เห็นตนมีเวทนา ๑ ไม่เห็น เวทนาในตน ๑ ไม่เห็นตนในเวทนา ๑ ไม่เห็นสัญญาโดยความเป็นตน ๑ ไม่ เห็นตนมีสัญญา ๑ ไม่เห็นสัญญาในตน ๑ ไม่เห็นตนในสัญญา ๑ ไม่เห็นสังขาร โดยความเป็นตน ๑ ไม่เห็นตนมีสังขาร ๑ ไม่เห็นสังขารในตน ๑ ไม่เห็นตน ในสังขาร ๑ ไม่เห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑ ไม่เห็นตนมีวิญญาณ ๑ ไม่เห็น วิญญาณในตน ๑ ไม่เห็นตนในวิญญาณ ๑ ดูกรคฤหบดี สักกายทิฐิย่อมไม่เกิด มีได้อย่างนี้แล ฯ จิตต. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้าอิสิทัตตะมาจากไหน ฯ อิ. ดูกรคฤหบดี อาตมภาพมาจากอวันตีชนบท ฯ จิตต. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กุลบุตรมีนามว่าอิสิทัตตะในอวันตีชนบท เป็น สหายที่ไม่เคยเห็นกันของข้าพเจ้า ได้ออกบรรพชามีอยู่ พระคุณเจ้าได้เห็นท่าน หรือไม่ ฯ อิ. ได้เห็น คฤหบดี ฯ จิตต. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ ท่านผู้มีอายุรูปนั้นอยู่ที่ไหนหนอ ฯ [๕๕๒] เมื่อจิตตคฤหบดีได้ถามอย่างนี้ ท่านอิสิทัตตะได้นิ่งอยู่ ฯ จิตต. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านอิสิทัตตะของข้าพเจ้า คือพระคุณเจ้าหรือ ฯ อิ. ใช่ละ คฤหบดี ฯ จิตต. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอให้พระคุณเจ้าอิสิทัตตะจงชอบใจอัมพาฏก วันอันเป็นที่น่ารื่นรมย์ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์เถิด ข้าพเจ้าจักบำรุงด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัชบริขาร อิ. ดูกรคฤหบดี ท่านกล่าวดีแล้ว ฯ [๕๕๓] ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของท่านพระอิสิ- *ทัตตะแล้ว ได้อังคาสภิกษุผู้เถระทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยขาทนียะ- *โภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตน ครั้งนั้นแล ภิกษุผู้เถระทั้งหลายฉัน เสร็จแล้ว ลดมือจากบาตร ลุกขึ้นจากอาสนะกลับไป ลำดับนั้นแล พระเถระ ผู้เป็นประธานได้ให้โอกาสท่านพระอิสิทัตตะว่า ดีแล้ว ท่านอิสิทัตตะ ปัญหา ข้อนั้นแจ่มแจ้งแก่ท่าน มิได้แจ่มแจ้งแก่ผม ต่อไป ถ้าปัญหาเช่นนี้พึงมีมาแม้ โดยประการอื่นในกาลใด ท่านนั่นแหละพึงกล่าวตอบปัญหาเช่นนั้นในกาลนั้น ครั้งนั้นแล ท่านอิสิทัตตะได้เก็บเสนาสนะ ถือเอาบาตรและจีวร เดินทางออกจาก ราวป่าชื่อมัจฉิกาสณฑ์ไม่ได้กลับมาอีก เหมือนกับภิกษุรูปอื่นที่ได้ออกเดินทาง จากไป ฯ
จบสูตรที่ ๓
มหกสูตร
[๕๕๔] สมัยหนึ่ง ภิกษุผู้เถระมากรูปอยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่า มัจฉิกาสณฑ์ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้อาราธนาว่า ข้าแต่ท่านทั้งหลายผู้เจริญ ขอพระเถระทั้งหลายจงรับภัตตาหารที่โรงโคของข้าพเจ้าในวันพรุ่งนี้ ภิกษุผู้เถระ ทั้งหลายได้รับอาราธนาโดยดุษณีภาพ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีทราบการรับอาราธนา ของภิกษุผู้เถระทั้งหลายแล้ว ลุกจากที่นั่งไหว้ทำประทักษิณแล้วจากไป ฯ [๕๕๕] ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไป เป็นเวลาเช้า ภิกษุผู้เถระ ทั้งหลายนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังโรงโคของจิตตคฤหบดี ได้นั่ง ณ อาสนะที่ได้ตบแต่งไว้ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดี ได้อังคาสภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ให้อิ่มหนำสำราญเพียงพอ ด้วยข้าวปายาสเจือด้วยเนยใสอย่างประณีต ด้วยมือ ของตนเอง ครั้งนั้นแล ภิกษุผู้เถระทั้งหลายฉันเสร็จแล้ว ลดมือจากบาตร ลุก จากอาสนะแล้วจากไป แม้จิตตคฤหบดีได้สั่งทาสกรรมกรว่า พวกท่านจงทิ้งส่วน ที่เหลือเสีย แล้วจึงได้ตามไปส่งภิกษุผู้เถระทั้งหลายข้างหลังๆ ก็โดยสมัยนั้นแล ได้เกิดร้อนจัด ภิกษุผู้เถระทั้งหลายได้เดินไปด้วยกายที่คล้ายกับจะหดเข้าฉะนั้น (จะเปื่อย) ทั้งที่ได้ฉันโภชนะอิ่มแล้ว ฯ [๕๕๖] ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหกะเป็นผู้อ่อนกว่าทุกองค์ในภิกษุ สงฆ์หมู่นั้น ครั้งนั้นแล ท่านพระมหกะได้พูดกะพระเถระผู้เป็นประธานว่า ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ เป็นการดีทีเดียวที่พึงมีลมเย็นพัดมา และพึงมีแดดอ่อน ทั้งฝนพึง โปรยลงมาทีละเม็ดๆ พระเถระกล่าวว่า ท่านมหกะ เป็นการดีทีเดียวที่พึงมี ลมเย็นพัดมา และพึงมีแดดอ่อน ทั้งฝนพึงโปรยลงมาทีละเม็ดๆ ครั้งนั้นแล ท่านพระมหกะได้บันดาลอิทธาภิสังขารให้มีลมเย็นพัดมา และมีแดดอ่อน ทั้งให้ มีฝนโปรยลงมาทีละเม็ดๆ ฯ [๕๕๗] ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้คิดว่า ภิกษุผู้อ่อนกว่าทุกองค์ใน ภิกษุสงฆ์หมู่นี้ เป็นผู้มีฤทธานุภาพเห็นปานนี้ทีเดียว ครั้งนั้นแล ท่านพระมหกะ ไปถึงอารามแล้ว ได้ถามพระเถระผู้เป็นประธานว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ การบันดาล อิทธาภิสังขารเท่านี้เป็นการเพียงพอหรือ พระเถระผู้เป็นประธานได้กล่าวว่า ท่าน มหกะ การบันดาลอิทธาภิสังขารเท่านี้เป็นการเพียงพอ ท่านมหกะ การบันดาล อิทธาภิสังขารเพียงเท่านี้เป็นอันเราทำแล้ว เป็นอันเราบูชาแล้ว ครั้นนั้นแล ภิกษุ ผู้เถระทั้งหลายได้ไปตามที่อยู่ แม้ท่านมหกะก็ได้ไปยังที่อยู่ของตน ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีเข้าไปหาท่านพระมหกะถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ขอร้องว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้ามหกะจงแสดงอิทธิ ปาฏิหาริย์ที่เป็นอุตริมนุสธรรมแก่ข้าพเจ้าเถิด ท่านพระมหกะพูดว่า ดูกรคฤหบดี ถ้าเช่นนั้น ท่านจงปูผ้าห่มที่ระเบียง แล้วจงเอาฟ่อนหญ้ามาโปรยลงที่ผ้านั้น จิตตคฤหบดีได้รับคำท่านพระมหกะแล้วจึงปูผ้าห่มที่ระเบียง แล้วเอาฟ่อนหญ้ามา โปรยลงที่ผ้านั้น ครั้งนั้นแล ท่านพระมหกะได้เข้าไปสู่วิหารใส่ลูกดานแล้ว ได้บันดาลอิทธาภิสังขารให้เปลวไฟแลบออกมาโดยช่องลูกดานและระหว่างลูกดาน ไหม้หญ้า ไม่ไหม้ผ้าห่ม ครั้งนั้น จิตตคฤหบดีได้สลัดผ้าห่มแล้ว สลดใจ (ตกใจ) ขนลุกชัน ได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้นแล ท่านพระมหกะได้ ออกจากวิหาร (ห้องใน) ได้ถามจิตตคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี การบันดาลอิทธาภิ สังขารเท่านี้ เป็นการเพียงพอหรือ จิตตคฤหบดีได้กล่าวว่า ท่านมหกะผู้เจริญ การบันดาลอิทธาภิสังขารเท่านี้เป็นการเพียงพอ ท่านมหกะผู้เจริญ การบันดาล อิทธาภิสังขารเพียงเท่านี้ เป็นอันท่านกระทำแล้ว เป็นอันท่านบูชาแล้ว ขอ พระคุณเจ้ามหกะจงชอบใจอัมพาฏกวนารามที่น่ารื่นรมย์ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์เถิด ข้าพเจ้าจักบำรุงด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัชบริขาร ท่าน พระมหกะได้กล่าวว่า ดูกรคฤหบดี นั่นท่านกล่าวดีแล้ว ครั้งนั้นแล ท่านพระมหกะ ได้เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรเดินทางออกจากราวป่าชื่อมัจฉิกาสณฑ์ ไม่ได้ กลับมาอีก เหมือนกับภิกษุรูปอื่นๆ ที่เดินทางจากไป ฉะนั้น ฯ
จบสูตรที่ ๔
กามภูสูตรที่ ๑
[๕๕๘] สมัยหนึ่ง ท่านพระกามภูอยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่า มัจฉิกาสณฑ์ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาท่านพระกามภูถึงที่อยู่ ไหว้ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วท่านพระกามภูได้กล่าวกะจิตตคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคได้ตรัสประพันธ์คาถาไว้ดังนี้ว่า เธอจงดูรถอันไม่มีโทษ มีหลังคาขาว มีเพลาเดียว ไม่มีทุกข์ แล่นไปถึงที่หมาย ตัดกระแสตัณหาขาด ไม่มีกิเลสเครื่อง ผูกพัน ฯ [๕๕๙] ดูกรคฤหบดี ท่านพึงเห็นเนื้อความแห่งคาถาประพันธ์นี้ ที่ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อโดยพิสดารอย่างไรหนอ ฯ จิ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คาถาประพันธ์นี้ พระผู้มีพระภาคตรัสหรือ ฯ กา. อย่างนั้น คฤหบดี ฯ จิ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้น ขอท่านโปรดรอคอยอยู่ครู่หนึ่ง จนกว่า กระผมจักเพ่งเนื้อความแห่งคาถาประพันธ์นั้นได้ ฯ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง จึงได้ตอบท่านกามภูว่าข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ คำว่า ไม่มีโทษนั้น เป็นชื่อของศีล คำว่า มีหลังคาขาวนั้น เป็น ชื่อของวิมุตติ คำว่า มีเพลาเดียวนั้น เป็นชื่อของสติ คำว่า ย่อมแล่นไป นั้น เป็นชื่อของการก้าวไปและการถอยกลับ คำว่า รถนั้น เป็นชื่อของร่างกายนี้ ซึ่งประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและ ขนมสด มีความไม่เที่ยง ต้องลูบไล้ นวดเฟ้น มีการแตกทำลายและกระจัด กระจายเป็นธรรมดา ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ราคะ โทสะ โมหะ ชื่อว่าทุกข์ ทุกข์ เหล่านั้นอันภิกษุผู้ขีณาสพละได้แล้ว ตัดมูลรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาล ยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น ภิกษุ ผู้ขีณาสพพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ไม่มีทุกข์ คำว่า แล่นไปถึงที่หมาย นั้น เป็นชื่อของพระอรหันต์ คำว่า กระแสนั้น เป็นชื่อของตัณหา ตัณหานั้น อัน ภิกษุผู้ขีณาสพละได้แล้ว ตัดมูลรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้ขีณาสพ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ตัดกระแสตัณหาขาด ราคะ โทสะ โมหะ ชื่อว่ากิเลส เครื่องผูกพัน กิเลสเครื่องผูกพันเหล่านั้น อันภิกษุผู้ขีณาสพละได้แล้ว ตัดมูล รากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไป เป็นธรรมดา เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้ขีณาสพพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้ไม่มีกิเลส เครื่องผูกพัน ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คาถาประพันธ์ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า เธอจงดูรถอันไม่มีโทษ มีหลังคาขาว มีเพลาเดียว ไม่มี ทุกข์ แล่นไปถึงที่หมาย ตัดกระแสตัณหาขาด ไม่มีกิเลส เครื่องผูกพัน ดังนี้ กระผมย่อมรู้ทั่วถึงเนื้อความแห่งคาถาประพันธ์นี้ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ โดยย่อได้โดยพิสดารอย่างนี้ ฯ กา. ดูกรคฤหบดี การที่ปัญญาจักษุของท่านหยั่งทราบในพระพุทธพจน์ ที่ลึกซึ้งนี้ ชื่อว่าเป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๕
กามภูสูตรที่ ๒
[๕๖๐] สมัยหนึ่ง ท่านพระกามภูอยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่ามัจฉิกาสณฑ์ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาท่านพระกามภูถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระกามภูว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สังขารมี เท่าไรหนอแล ท่านพระกามภูตอบว่า ดูกรคฤหบดี สังขารมี ๓ คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร [๕๖๑] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของท่านพระกามภู แล้วได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ ก็กายสังขารเป็นไฉน วจีสังขารเป็นไฉน จิตตสังขารเป็นไฉน ฯ กา. ดูกรคฤหบดี ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกแลชื่อว่ากายสังขาร วิตกวิจารชื่อว่าวจีสังขาร สัญญาและเวทนาชื่อว่าจิตตสังขาร ฯ [๕๖๒] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็เพราะเหตุไร ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก จึงชื่อว่ากายสังขาร วิตกวิจารจึงชื่อว่าวจีสังขาร สัญญาและเวทนาจึงชื่อว่าจิตต- *สังขาร ฯ กา. ดูกรคฤหบดี ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเป็นของเกิดที่กาย ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยกาย ฉะนั้น ลมหายใจเข้าและลมหายใจออกจึงชื่อว่ากาย สังขาร บุคคลย่อมตรึกตรองก่อนแล้ว จึงเปล่งวาจาภายหลัง ฉะนั้น วิตกวิจาร จึงชื่อว่าวจีสังขาร สัญญาและเวทนาเป็นของเกิดที่จิต ธรรมเหล่านี้เนื่องด้วยจิต ฉะนั้น สัญญาและเวทนาจึงชื่อว่าจิตตสังขาร ฯ [๕๖๓] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติเกิดมีได้อย่างไร ฯ กา. ดูกรคฤหบดี ภิกษุเมื่อจะเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ไม่ได้คิด อย่างนี้ว่า เราจักเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง เรากำลังเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง เราเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธแล้วบ้าง โดยที่ถูกก่อนแต่จะเข้า ท่านได้อบรมจิตที่ จะน้อมไปเพื่อความเป็นจิตแท้ (จิตดั้งเดิม) ฯ [๕๖๔] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ธรรม เหล่าไหนดับก่อน คือ กายสังขาร วจีสังขาร หรือจิตตสังขารดับก่อน ฯ กา. ดูกรคฤหบดี เมื่อภิกษุเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ วจีสังขารดับก่อน ต่อจากนั้นกายสังขารดับ ต่อจากนั้นจิตตสังขารจึงดับ ฯ [๕๖๕] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ คนที่ตายแล้ว ทำกาละแล้ว กับภิกษุผู้เข้า สัญญาเวทยิตนิโรธ ทั้งสองนี้มีความต่างกันอย่างไร ฯ กา. ดูกรคฤหบดี คนที่ตายแล้ว ทำกาละแล้ว มีกายสังขารดับสงบ มีวจีสังขารดับสงบ มีจิตตสังขารดับสงบ มีอายุสิ้นไป ไออุ่นสงบ อินทรีย์ แตกกระจาย ส่วนภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ กายสังขารดับสงบ วจีสังขาร ดับสงบ จิตตสังขารดับสงบ (แต่) ยังไม่สิ้นอายุ ไออุ่นยังไม่สงบ อินทรีย์ ผ่องใส ดูกรคฤหบดี คนตายแล้ว ทำกาละแล้ว กับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ มีความต่างกันอย่างนี้ ฯ [๕๖๖] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้วได้ ถามปัญหา ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็การออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ย่อมมี อย่างไร ฯ กา. ดูกรคฤหบดี ภิกษุเมื่อจะออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ไม่ได้ คิดอย่างนี้ว่า เราจักออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติบ้าง เรากำลังออกจาก สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติบ้าง เราออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้วบ้าง โดยที่แท้ ก่อนแต่จะออก ท่านได้อบรมจิตที่น้อมเข้าไปเพื่อความเป็นจิตแท้ ฯ [๕๖๗] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ธรรมเหล่าไหนเกิดก่อน คือกายสังขาร วจีสังขาร หรือจิตตสังขารเกิดก่อน ฯ กา. ดูกรคฤหบดี เมื่อภิกษุออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ จิตตสังขาร เกิดก่อน ต่อจากนั้นกายสังขารจึงเกิด ต่อจากนั้นวจีสังขารจึงเกิด ฯ [๕๖๘] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถามปัญหา ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็ผัสสะเท่าไร ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกจากสัญญา เวทยิตนิโรธสมาบัติ ฯ กา. ดูกรคฤหบดี ผัสสะ ๓ อย่าง คือ ๑ สุญญผัสสะ อนิมิตตผัสสะ อัปปณิหิตผัสสะ ย่อมถูกต้องภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ฯ [๕๖๙] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ได้ถาม ปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็จิตของภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ สมาบัติ ย่อมเป็นธรรมชาติน้อมไปสู่อะไร โน้มไปสู่อะไร เงื้อมไปสู่อะไร ฯ กา. ดูกรคฤหบดี จิตของภิกษุผู้ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ย่อมเป็นธรรมชาติน้อมไปสู่วิเวก โน้มไปสู่วิเวก เงื้อมไปสู่วิเวก ฯ [๕๗๐] จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ดีละ ท่านผู้เจริญ ดังนี้แล้ว ชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของท่านพระกามภูแล้ว ได้ถามปัญหายิ่งขึ้นไปอีกว่า ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ ก็ธรรมเท่าไร ย่อมมีอุปการะมากแก่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ฯ กา. ดูกรคฤหบดี ท่านถามปัญหาที่ควรจะถามก่อนล่าช้าไปหน่อย แต่ว่า อาตมาจักพยากรณ์ปัญหาแก่ท่าน ดูกรคฤหบดี ธรรม ๒ อย่าง คือ สมถะ ๑ วิปัสสนา ๑ ย่อมมีอุปการะมากแก่สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ฯ
จบสูตรที่ ๖
โคทัตตสูตร
[๕๗๑] สมัยหนึ่ง ท่านพระโคทัตตะอยู่ที่อัมพาฏกวัน ใกล้ราวป่ามัจฉิ กาสณฑ์ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาท่านพระโคทัตตะถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วท่านพระโคทัตตะได้ถามจิตตคฤหบดีว่า ดูกร คฤหบดี ธรรมเหล่านี้ คือ อัปปมาณาเจโตวิมุติ อากิญจัญญาเจโตวิมุติ สูญญตาเจโตวิมุติ และอนิมิตตาเจโตวิมุติ มีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกัน หรือว่ามีอรรถเหมือนกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น จิตตคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ ปริยายที่เป็นเหตุให้ธรรมเหล่านี้อาศัยแล้ว เป็นธรรมมีอรรถต่างกัน มีพยัญชนะต่างกัน มีอยู่ และปริยายที่เป็นเหตุให้ธรรมเหล่านี้อาศัยแล้ว เป็น ธรรมมีอรรถเหมือนกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น มีอยู่ ฯ [๕๗๒] ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็ปริยายที่เป็นเหตุให้ธรรมเหล่านี้อาศัยแล้ว เป็นธรรมมีอรรถต่างกัน และมีพยัญชนะต่างกันเป็นไฉน ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุ ในพระธรรมวินัยนี้ มีจิตประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศ ที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอัน ไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา...ประกอบด้วยมุทิตา...ประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศ หนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน โดยนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจ อันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นี้เรียกว่า อัปปมาณาเจโตวิมุติ ฯ [๕๗๓] ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็อากิญจัญญาเจโตวิมุติเป็นไฉน ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง แล้ว เข้าอากิญจัญญายตนฌานด้วยมนสิการว่า อะไรๆ หน่อยหนึ่งไม่มีดังนี้อยู่ นี้เรียกว่า อากิญจัญญาเจโตวิมุติ ฯ [๕๗๔] ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็สูญญตาเจโตวิมุติเป็นไฉน ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ตาม อยู่โคนต้นไม้ก็ตาม อยู่ในเรือนว่างเปล่า ก็ตาม ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า นี้ว่างเปล่าจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่องในตน นี้ เรียกว่า สูญญตาเจโตวิมุติ ฯ [๕๗๕] ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็อนิมิตตาเจโตวิมุติเป็นไฉน ข้าแต่ท่าน ผู้เจริญ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเข้าถึงอนิมิตตาเจโตสมาธิเพราะไม่มนสิการถึง นิมิตทั้งปวงอยู่ นี้เรียกว่าอนิมิตตาเจโตวิมุติ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ นี้คือปริยายที่เป็น เหตุให้ธรรมเหล่านี้อาศัยแล้ว มีอรรถต่างกันและมีพยัญชนะต่างกัน ฯ [๕๗๖] ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็ปริยายที่เป็นเหตุให้ธรรมเหล่านี้อาศัยแล้ว มีอรรถเป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้นเป็นไฉน ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ราคะ โทสะ โมหะ ชื่อว่ากิเลสกระทำประมาณ กิเลสเหล่านั้นอันภิกษุผู้ขีณาสพ ละได้แล้ว ตัดมูลรากขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้น อีกต่อไปเป็นธรรมดา อัปปมาณาเจโตวิมุติมีประมาณเท่าใด เจโตวิมุติอันไม่กำเริบ บัณฑิตกล่าวว่าเป็นเลิศกว่าอัปปมาณาเจโตวิมุติเหล่านั้น ก็เจโตวิมุติอันไม่กำเริบ นั้นว่างเปล่าจากราคะ โทสะ โมหะ ราคะ โทสะ โมหะ ชื่อว่าเป็นกิเลสเครื่อง กังวล กิเลสเหล่านั้นอันภิกษุผู้ขีณาสพ ละได้แล้ว ตัดมูลรากขาดแล้ว ทำให้เป็น เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา อากิญจัญญา- *เจโตวิมุติมีประมาณเท่าใด เจโตวิมุติอันไม่กำเริบบัณฑิตกล่าวว่า เป็นเลิศกว่า อากิญจัญญาเจโตวิมุติเหล่านั้น ก็เจโตวิมุติอันไม่กำเริบนั้นว่างเปล่าจากราคะ โทสะ โมหะ ราคะ โทสะ โมหะ ชื่อว่าเป็นกิเลสเครื่องกระทำนิมิต (เครื่อง หมาย) กิเลสเหล่านั้นอันภิกษุผู้ขีณาสพ ละได้แล้ว ตัดมูลรากขาดแล้ว ทำให้เป็น เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดอีกต่อไปเป็นธรรมดา อนิมิตตาเจโต วิมุติมีประมาณเท่าใด เจโตวิมุติอันไม่กำเริบบัณฑิตกล่าวว่า เป็นเลิศกว่าอนิมิตตา เจโตวิมุติเหล่านั้น ก็เจโตวิมุติอันไม่กำเริบนั้นว่างเปล่าจากราคะ โทสะ โมหะ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ปริยายนี้เป็นเหตุให้ธรรมเหล่านี้อาศัยแล้ว มีอรรถเป็นอันเดียว กัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น ท่านพระโคทัตตะกล่าวว่า ดูกรคฤหบดี การที่ ปัญญาจักษุของท่านหยั่งทราบในพระพุทธพจน์ที่ลึกซึ้ง ชื่อว่าเป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว ฯ
จบสูตรที่ ๗
นิคัณฐสูตร
[๕๗๗] ก็สมัยนั้นแล นิครณฐ์นาฏบุตรได้ไปถึงราวป่าชื่อว่ามัจฉิกาสณฑ์ พร้อมด้วยนิครณฐ์บริษัทเป็นอันมาก จิตตคฤหบดีได้สดับข่าวว่า นิครณฐ์นาฏบุตร ได้มาถึงราวป่าชื่อว่ามัจฉิกาสณฑ์พร้อมด้วยนิครณฐ์บริษัทเป็นอันมาก ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีพร้อมด้วยอุบาสกหลายคนเข้าไปหานิครณฐ์นาฏบุตรแล้ว ได้ปราศรัย กับนิครณฐ์นาฏบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วนิครณฐ์นาฏบุตรได้ถามจิตตคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี ท่านย่อมเชื่อต่อพระสมณโคดมว่า สมาธิที่ไม่มีวิตกวิจารมีอยู่ ความดับวิตกวิจารมี อยู่หรือ จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่ได้เชื่อต่อพระผู้มีพระภาค ในข้อนี้ว่า สมาธิอันไม่มีวิตกวิจารมีอยู่ ความดับแห่งวิตกวิจารมีอยู่ ฯ [๕๗๘] เมื่อจิตตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครณฐ์นาฏบุตรแลดูบริษัท ของตนแล้วจึงประกาศว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงดูเรื่องนี้ จิตตคฤหบดีนี้เป็นคนตรง ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยาจริงเพียงใด จิตตคฤหบดีผู้เข้าใจว่า พึงมีการดับวิตกวิจาร นั้น ก็เท่ากับว่าเข้าใจว่า พึงกั้นกางลมได้ด้วยข่าย หรือจิตตคฤหบดีผู้เข้าใจว่า พึงมีการดับวิตกวิจารนั้น ก็เท่ากับว่าเข้าใจว่า พึงกั้นกางกระแสน้ำคงคาได้ด้วย ฝ่ามือของตน จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ท่านย่อมเข้าใจเป็นไฉน คือ ญาณกับศรัทธาอะไรประณีตกว่ากัน ฯ นิครณฐ์. ดูกรคฤหบดี ญาณนั่นแหละประณีตกว่าศรัทธา ฯ จิตต. ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌานอันมีวิตกวิจารมีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราเข้าทุติยฌาน ฯลฯ เพราะวิตกวิจารสงบไป ข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เพราะปีติสิ้นไป ฯลฯ เข้าตติยฌาน ข้าพเจ้าย่อม จำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราเข้าจตุตถฌาน ฯลฯ เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ารู้เห็นอยู่อย่างนี้ จักไม่เชื่อสมณะหรือ พราหมณ์ใดๆ ว่าสมาธิอันไม่มีวิตกวิจารมีอยู่ ความดับแห่งวิตกวิจารมีอยู่ ฯ [๕๗๙] เมื่อจิตตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครณฐ์นาฏบุตรได้แลดู บริษัทของตนแล้วจึงประกาศว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงดูเรื่องนี้ จิตตคฤหบดีนี้ เป็นคนไม่ตรง โอ้อวด มีมารยาจริงเพียงใด จิตตคฤหบดีกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าทราบคำที่ท่านพูดเมื่อสักครู่นี้แหละว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงดูเรื่องนี้ จิตตคฤหบดีนี้เป็นคนตรง ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยาจริงเพียงใด และทราบคำที่ท่าน พูดเดี๋ยวนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายจงดูเรื่องนี้ จิตตคฤหบดีนี้เป็นคนไม่ตรง โอ้อวด มีมารยาจริงเพียงใด ถ้าคำพูดครั้งก่อนของท่านเป็นจริง คำพูดครั้งหลังของท่าน ก็ผิด ถ้าคำพูดครั้งหลังของท่านเป็นจริง คำพูดครั้งก่อนของท่านก็ผิด ก็ปัญหาที่มี เหตุผล ๑๐ ข้อนี้ย่อมมาถึงแก่ท่าน เมื่อท่านเข้าใจเนื้อความแห่งปัญหาเหล่านั้น ก็เชิญบอกกับนิครณฐ์บริษัท ปัญหา ๑๐ ข้อนี้ คือ ปัญหา ๑ อุเทศ ๑ ไวยากรณ์ ๑ ปัญหา ๒ อุเทศ ๒ ไวยากรณ์ ๒ ปัญหา ๓ อุเทศ ๓ ไวยากรณ์ ๓ ปัญหา ๔ อุเทศ ๔ ไวยากรณ์ ๔ ปัญหา ๕ อุเทศ ๕ ไวยากรณ์ ๕ ปัญหา ๖ อุเทศ ๖ ไวยากรณ์ ๖ ปัญหา ๗ อุเทศ ๗ ไวยากรณ์ ๗ ปัญหา ๘ อุเทศ ๘ ไวยากรณ์ ๘ ปัญหา ๙ อุเทศ ๙ ไวยากรณ์ ๙ ปัญหา ๑๐ อุเทศ ๑๐ ไวยากรณ์ ๑๐ ครั้น- *จิตตคฤหบดีได้ถามปัญหาที่มีเหตุผล ๑๐ ข้อนี้กะนิครณฐ์นาฏบุตรเสร็จแล้ว ลุกจาก- *อาสนะหลีกไป ฯ
จบสูตรที่ ๘
อเจลสูตร
[๕๘๐] ก็สมัยนั้นแล อเจลกัสสปได้เคยเป็นสหายของจิตตคฤหบดี เมื่อครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ ได้ไปถึงราวป่ามัจฉิกาสณฑ์ จิตตคฤหบดีได้สดับข่าวว่า อเจลกัสสปผู้เคยเป็นสหายของเราเมื่อครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ ได้มาถึงราวป่าชื่อมัจฉิ- *กาสณฑ์ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้เข้าไปหาอเจลกัสสปแล้ว ได้ปราศรัยกับ อเจลกัสสป ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามอเจลกัสสปว่า ท่านกัสสปผู้เจริญ ท่านบวชมานาน เท่าไร อเจลกัสสปตอบว่า ดูกรคฤหบดี เราบวชมาได้ประมาณ ๓๐ ปี ฯ จิตต. ท่านผู้เจริญ ก็ตลอดเวลา ๓๐ ปีมานี้ อุตตริมนุสสธรรมอะไรๆ ที่เป็นญาณทัสสนะวิเศษชั้นเยี่ยมอย่างบริบูรณ์ อันท่านบรรลุแล้ว เป็นธรรมเครื่อง อยู่ผาสุก มีอยู่หรือ ฯ อ. ดูกรคฤหบดี ตลอดเวลา ๓๐ ปีมานี้ อุตตริมนุสสธรรมอะไรๆ ที่ เป็นญาณทัสสนะวิเศษชั้นเยี่ยมอย่างบริบูรณ์ อันเราบรรลุแล้ว เป็นธรรมเครื่อง อยู่ผาสุก ไม่มี นอกจากการประพฤติเปลือย การเป็นคนโล้น และการสลัด ฝุ่น ฯ [๕๘๑] เมื่ออเจลกัสสปกล่าวอย่างนี้ จิตตคฤหบดีได้กล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ความเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีมาแล้วหนอ เพราะในอเจลบรรพชาตลอดเวลา ๓๐ ปี อุตตริมนุสธรรมอะไรๆ ที่เป็นญาณ- *ทัสสนะวิเศษชั้นเยี่ยมอย่างบริบูรณ์ เป็นธรรมอันท่านบรรลุแล้ว เป็นธรรมเครื่อง อยู่ผาสุก ไม่มี นอกจากการประพฤติเปลือย การเป็นคนโล้น และการสลัด ฝุ่น ฯ อ. ดูกรคฤหบดี ก็ท่านได้เข้าถึงความเป็นอุบาสกมาแล้วนานเท่าไร ฯ จิตต. ท่านผู้เจริญ สำหรับข้าพเจ้าได้เข้าถึงความเป็นอุบาสกมาแล้ว ๓๐ ปี ฯ อ. ดูกรคฤหบดี ก็ตลอดเวลา ๓๐ ปีมานี้ อุตตริมนุสสธรรมอะไรๆ ที่เป็นญาณทัสสนะวิเศษชั้นเยี่ยมอย่างบริบูรณ์ อันท่านบรรลุแล้ว เป็นธรรม เครื่องอยู่ผาสุก มีอยู่หรือ ฯ จิตต. ท่านผู้เจริญ แม้คฤหัสถ์ก็พึงมีธรรมเช่นนั้นได้ เพราะข้าพเจ้า ย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราเข้าทุติยฌาน ... ข้าพเจ้าย่อมจำนงหวังได้ทีเดียวว่า มีอุเบกขา มีสติสัมป- *ชัญญะ และเสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าตติยฌาน ... ข้าพเจ้าย่อม จำนงหวังได้ทีเดียวว่า เราเข้าจตุตถฌาน ... ก็แหละข้าพเจ้าพึงพยากรณ์ก่อนพระ ผู้มีพระภาคไซร้ ก็จะไม่เป็นการน่าอัศจรรย์ สำหรับข้อที่พระผู้มีพระภาคจะพึง ทรงพยากรณ์ ข้าพเจ้าว่า ไม่มีสังโยชน์ที่จิตตคฤหบดีประกอบแล้ว (มีแล้ว) จะพึงเป็นเหตุให้กลับมาสู่โลกนี้อีก ฯ [๕๘๒] เมื่อจิตตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้ อเจลกัสสปได้กล่าวว่า ท่านผู้- *เจริญ ความเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีมา แล้วหนอ เพราะในพระธรรมวินัย มีคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มขาว จักบรรลุอุตตริมนุสส- *ธรรมที่เป็นญาณทัสสนะวิเศษชั้นเยี่ยมอย่างบริบูรณ์ เป็นเครื่องอยู่ผาสุกเช่นนั้น ดูกรคฤหบดี ข้าพเจ้าพึงได้บรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ ฯ ครั้งนั้นแล จิตตคฤหบดีได้พาเอาอเจลกัสสปเข้าไปหาภิกษุผู้เถระถึงที่อยู่ แล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย อเจลกัสสปผู้นี้เคยเป็นสหายของข้าพเจ้า เมื่อครั้งยังเป็นคฤหัสถ์ ขอพระเถระทั้งหลายจงให้อเจลกัสสปผู้นี้บรรพชาอุปสม- *บทเถิด ข้าพเจ้าจักบำรุงเธอด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัช บริขาร อเจลกัสสปได้บรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยแล้ว ท่านพระกัสสป อุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่ อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจแน่วแน่ กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลาย ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึง อยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แลท่านพระกัสสปได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งใน จำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ฯ
จบสูตรที่ ๙
คิลานสูตร
[๕๘๓] ก็สมัยนั้นแล จิตตคฤหบดีป่วย เป็นทุกข์ มีไข้หนัก ครั้งนั้น แล อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา (และ) เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ เป็นยา หญ้าและพญาไม้ มาร่วมประชุมกันแล้วกล่าวกับจิตตคฤหบดีว่า ดูกร- *คฤหบดี ท่านจงปรารถนาว่า ขอให้เราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในอนาคตเถิด เมื่อพวกเทวดากล่าวอย่างนี้แล้ว จิตตคฤหบดีจึงได้กล่าวกะเทวดาเหล่านั้นว่า แม้ การเป็นเช่นนั้นก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จำจะต้องละไป ฯ [๕๘๔] เมื่อจิตตคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกมิตรสหายญาติสาโลหิต ของจิตตคฤหบดีได้กล่าวกะจิตตคฤหบดีว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ท่านจงตั้ง สติไว้ อย่าเพ้อไป ฯ จิตต. ฉันได้พูดอะไรออกไปบ้างหรือ ที่เป็นเหตุให้พวกท่านทั้งหลาย กล่าวกะฉันอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ท่านจงตั้งสติไว้ อย่าเพ้อไป ฯ มิตร. ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ท่านได้พูดอย่างนี้ว่า แม้การเป็นเช่นนั้น ก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จำจะต้องละไป ฯ จิตต. จริงอย่างนั้น อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา (และ) เทวดา ที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้เป็นยา หญ้าและพญาไม้ได้กล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี ท่านจงตั้งปรารถนาว่า ขอให้เราได้เป็นพระเจ้าจักรวรรดิราชในอนาคตกาล ฉันจึง ได้กล่าวกะเทวดาเหล่านั้นว่า แม้การเป็นเช่นนั้นก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จำจะ ต้องละไป ฯ มิตร. ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ก็อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา (และ) เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้เป็นยา หญ้าและพญาไม้เหล่านั้น เห็น อำนาจประโยชน์อะไร จึงได้กล่าวว่า ดูกรคฤหบดี ท่านจงปรารถนาว่า ขอให้ เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในอนาคตเถิด ฯ จิตต. อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา (และ) เทวดาที่สิงสถิต อยู่ที่ต้นไม้เป็นยา หญ้าและพญาไม้เหล่านั้น มีความคิดอย่างนี้ว่า จิตตคฤหบดี ผู้นี้เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม ถ้าเธอจักปรารถนาว่า ขอให้เราได้เป็นพระเจ้า- *จักรพรรดิราชในอนาคตไซร้ การปรารถนาด้วยใจของเธอผู้มีศีลนี้จักสำเร็จได้ เพราะศีลบริสุทธิ์ ผู้ประกอบด้วยธรรมย่อมเพิ่มกำลังให้ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม อารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา (และ) เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้เป็นยา หญ้าและพญาไม้เหล่านั้น เห็นอำนาจประโยชน์ดังกล่าวมานี้ จึงได้กล่าวว่า ดูกรคฤหบดี ท่านจงปรารถนาว่า ขอให้เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในอนาคต เถิด ฉันจึงได้กล่าวกะเทวดาเหล่านั้นว่า แม้การเป็นเช่นนั้นก็เป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน จำจะต้องละไป ฯ มิตร. ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุตรนาย ถ้าเช่นนั้น ขอท่านจงกล่าวสอนพวก ข้าพเจ้าบ้าง ฯ [๕๘๕] จิตต. ฉะนั้น พวกท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า พวกเราจักประกอบ ด้วยศรัทธาอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็น ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม พวกเราจักประกอบด้วยศรัทธาอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระ- *ผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียก ให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน พวกเราจักประกอบด้วย ศรัทธาอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบ นี่คือคู่แห่งบุรุษ ๔ ได้แก่บุรุษบุคคล ๘ นี้คือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญ ของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งไปกว่า อนึ่ง ไทยธรรมทุกชนิดในตระกูล จักเป็น ของควรแบ่งกับท่านผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม พวกท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล ครั้งนั้น แล จิตตคฤหบดี ครั้นแนะนำมิตรสหายญาติสาโลหิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ และจาคะแล้ว ได้กระทำกาละ (ตาย) ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบจิตตคหปติปุจฉา ฯ
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สังโยชนสูตร ๒. อิสิทัตตสูตรที่ ๑ ๓. อิสิทัตตสูตรที่ ๒ ๔. มหกสูตร ๕. กามภูสูตรที่ ๑ ๖. กามภูสูตรที่ ๒ ๗. โคทัตตสูตร ๘. นิคัณฐสูตร ๙. อเจลสูตร ๑๐. คิลานสูตร ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘ บรรทัดที่ ๗๑๘๔-๗๗๓๒ หน้าที่ ๓๑๒-๓๓๔. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=18&A=7184&Z=7732&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=18&siri=257              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=537              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [537-585] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=18&item=537&items=49              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=3325              The Pali Tipitaka in Roman :- [537-585] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=18&item=537&items=49              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=3325              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ https://84000.org/tipitaka/read/?index_18              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i537-e.php# https://suttacentral.net/sn41.1/en/sujato

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :