ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
สติปัฏฐานวรรคที่ ๒
สิกขาสูตร
[๒๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเครื่องให้สิกขาทุรพล ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ มุสาวาท ๑ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเครื่องให้สิกขา- *ทุรพล ๕ ประการนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละเหตุเครื่อง ให้สิกขาทุรพล ๕ ประการนี้แล สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ทั้งหลายอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นธรรมในธรรม ทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสใน โลกเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละเหตุ เครื่องให้สิกขาทุรพล ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑
นิวรณสูตร
[๒๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ กามฉันทนิวรณ์ ๑ พยาปาทนิวรณ์ ๑ ถีนมิทธนิวรณ์ ๑ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ๑ วิจิกิจฉานิวรณ์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์ ๕ ประการนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละนิวรณ์ ๕ ประการนี้แล สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึง เจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละนิวรณ์ ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๒
กามคุณสูตร
[๒๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู ฯลฯ กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วย จมูก ฯลฯ รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น ฯลฯ โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่า ปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ยั่วยวน ชวนให้กำหนัด ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ ประการนี้แล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละ กามคุณ ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๓
อุปาทานขันธสูตร
[๒๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการ เป็นไฉน คือ รูปูปาทานักขันธ์ ๑ เวทนูปาทานักขันธ์ ๑ สัญญูปาทานัก- *ขันธ์ ๑ สังขารูปาทานักขันธ์ ๑ วิญญาณูปาทานักขันธ์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้แล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละ อุปาทานักขันธ์ ๕ ประการนี้และ ฯ
จบสูตรที่ ๔
โอรัมภาคิยสูตร
[๒๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการนี้แล ๕ ประการเป็นไฉน คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ กามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ นี้แล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๕
คติสูตร
[๒๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย คติ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ นรก ๑ กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ๑ เปรตวิสัย ๑ มนุษย์ ๑ เทวดา ๑ ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย คติ ๕ ประการนี้แล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละคติ ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๖
มัจฉริยสูตร
[๒๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มัจฉริยะ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ อาวาสมัจฉริยะ (ตระหนี่ที่อยู่) ๑ กุลมัจฉริยะ (ตระหนี่ตระกูล) ๑ ลาภ- *มัจฉริยะ (ตระหนี่ลาภ) ๑ วรรณมัจฉริยะ (ตระหนี่วรรณะ) ๑ ธรรมมัจฉริยะ (ตระหนี่ธรรม) ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มัจฉริยะ ๕ ประการนี้แล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละ มัจฉริยะ ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๗
อุทธัมภาคิยสูตร
[๒๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปราคะ ๑ อรูปราคะ ๑ มานะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อวิชชา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการนี้แล ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละอุทธัม- *ภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๘
เจโตขีลสูตร
[๒๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตะปูตรึงใจ ๕ ประการนี้ ๕ ประการ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเคลือบแคลงสงสัย ไม่ น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดย่อมเคลือบ แคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใสในพระศาสดา จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่ น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบ เพื่อความสืบต่อ เพื่อความพยายาม จิตของภิกษุไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบ เพื่อความสืบต่อ เพื่อ ความพยายาม นี้เป็นตะปูตรึงใจประการที่ ๑ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุเคลือบแคลงสงสัย ไม่น้อมใจเชื่อ ไม่เลื่อมใส ในพระธรรม ฯลฯ นี้เป็นตะปูตรึงใจประการที่ ๒ ฯลฯ ในพระสงฆ์ ฯลฯ นี้เป็น ตะปูตรึงใจประการที่ ๓ ฯลฯ ในสิกขา ฯลฯ นี้เป็นตะปูตรึงใจประการที่ ๔ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุโกรธ ไม่พอใจ มีจิตขัดเคือง ผูกใจเจ็บ ใน เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุโกรธ ไม่พอใจ มีจิตขัดเคือง ผูกใจเจ็บในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย จิตของภิกษุนั้น ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความ เพียร เพื่อความประกอบ เพื่อความสืบต่อ เพื่อความพยายาม จิตของภิกษุไม่ น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบ เพื่อความสืบต่อ เพื่อความพยายาม นี้เป็นตะปูตรึงใจประการที่ ๕ ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละตะปู ตรึงใจ ๕ ประการนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๙
วินิพันธสูตร
[๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องผูกมัดจิต ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังไม่ปราศจากความ กำหนัด ยังไม่ปราศจากความพอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความ กระหาย ยังไม่ปราศจากความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากตัณหา ในกามทั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใด ยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความ พอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจาก ความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากตัณหา ในกามทั้งหลาย จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่ น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบ เพื่อความสืบต่อ เพื่อความพยายาม จิตของภิกษุย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบ เพื่อความสืบต่อ เพื่อความพยายาม นี้เป็นธรรมเครื่องผูกจิตประการที่ ๑ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความ พอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจากความ เร่าร้อน ยังไม่ปราศจากตัณหาในกาย ... นี้เป็นธรรมเครื่องผูกจิตประการที่ ๒ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุยังไม่ปราศจากความกำหนัด ยังไม่ปราศจากความ พอใจ ยังไม่ปราศจากความรัก ยังไม่ปราศจากความกระหาย ยังไม่ปราศจาก ความเร่าร้อน ยังไม่ปราศจากตัณหาในรูป ... นี้เป็นธรรมเครื่องผูกมัดจิตประการ ที่ ๓ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุฉันอาหารเต็มท้องพอแก่ความต้องการแล้ว ประกอบ ความสุขในการนอน ในการเอน ในการหลับอยู่ ... นี้เป็นธรรมเครื่องผูกมัดจิต ประการที่ ๔ ฯ อีกประการหนึ่ง ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ด้วยตั้งความปรารถนาเป็น เทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งว่า ด้วยศีล วัตร ตบะ หรือพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็น เทพเจ้าหรือเทวดาองค์ใดองค์หนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยตั้งความปรารถนาเป็นเทพเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งว่า ด้วยศีล วัตร ตบะ หรือ พรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทพเจ้าหรือเทวดาองค์ใดองค์หนึ่ง จิตของภิกษุนั้นย่อม ไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความประกอบ เพื่อความสืบต่อ เพื่อความพยายาม นี้เป็นธรรมเครื่องผูกมัดจิตประการที่ ๕ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเครื่องผูกมัดจิต ๕ ประการนี้แล ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละธรรม เครื่องผูกมัดจิต ๕ ประการนี้แล สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา อยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความ เพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละธรรมเครื่องผูกมัดจิต ๕ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบสติปัฏฐานวรรคที่ ๒
-----------------------------------------------------
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สิกขาสูตร ๒. นิวรณสูตร ๓. กามคุณสูตร ๔. อุปาทานขันธสูตร ๕. โอรัมภาคิยสูตร ๖. คติสูตร ๗. มัจฉริยสูตร ๘. อุทธัมภาคิยสูตร ๙. เจโต- *ขีลสูตร ๑๐. วินิพันธสูตร ฯ
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๙๗๗๓-๙๙๐๘ หน้าที่ ๔๒๒-๔๒๗. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=23&A=9773&Z=9908&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=23&siri=226              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=267              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [267-276] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=23&item=267&items=10              The Pali Tipitaka in Roman :- [267-276] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=23&item=267&items=10              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_23              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/23i267-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/an/an09/an09.063.than.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/anguttara/09/an09-063.html https://suttacentral.net/an9.63/en/sujato https://suttacentral.net/an9.63/en/thanissaro

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :