ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
อุปาลีเถราปทานที่ ๘ (๖)
ว่าด้วยผลแห่งการสร้างสังฆาราม
[๘] ในพระนครหงสวดี มีพราหมณ์ชื่อว่าสุชาต สั่งสมทรัพย์ไว้ประมาณ ๘๐ โกฏิ มีทรัพย์และข้าวเปลือกมากมาย เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ ผู้จบไตรเพท ถึงที่สุดในตำราทำนายลักษณะคัมภีร์อิติหาสะ และในคัมภีร์พราหมณ์ ใน กาลนั้น ปริพาชกผู้มุ่นผมรวมกัน สาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ พระอาทิตย์ และดาบสผู้สืบข่าว เที่ยวไปในพื้นแผ่นดิน แม้พวกเขาก็ ห้อมล้อมข้าพระองค์ ด้วยคิดว่า เป็นพราหมณ์มีชื่อเสียง ชนเป็นอันมาก บูชาข้าพระองค์ แต่ข้าพระองค์ไม่บูชาใครๆ เพราะข้าพระองค์ไม่เห็นใคร ที่ควรบูชา เวลานั้น ข้าพระองค์มีมานะจัด คำว่าพุทโธ ยังไม่มี ตลอดเวลา ที่พระชินเจ้ายังไม่อุบัติโดยกาลล่วงวันและคืนไป พระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตระผู้เป็นนายกทรงบรรเทาความมืดทั้งปวงแล้ว เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในศาสนาของพระองค์ มีหมู่ชนแพร่หลายมากมาย แน่นหนา เวลานั้น พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปสู่พระนครหงสวดี พระพุทธเจ้าผู้มีจักษุ ทรงแสดง ธรรมเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธธิดา ในกาลนั้น บริษัทโดยรอบประมาณ โยชน์หนึ่ง ในกาลนั้น ดาบสชื่อสุนันทะอันหมู่มนุษย์สมมติแล้ว (ว่าเลิศ) ได้เอาดอกไม้ทำร่มบังแดดให้ทั่วพุทธบริษัท พระพุทธเจ้าทรงประกาศสัจจะ ๔ ภายใต้มณฑปดอกไม้อันประเสริฐ ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ประมาณแสน โกฏิ พระพุทธเจ้าทรงยังเมล็ดฝน คือ ธรรมให้ตกตลอด ๗ คืน ๗ วัน เมื่อถึงวันที่ ๘ พระชินเจ้าทรงพยากรณ์สุนันทะดาบสว่า ท่านผู้นี้เมื่อท่อง เที่ยวอยู่ในเทวโลกหรือในมนุษย์ จักเป็นคนประเสริฐกว่าเขาทั้งหมด ท่องเที่ยวไปในภพ ในแสนกัลป พระศาสดามีพระนามว่าโคดม มีสมภพ ในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นี้เป็นบุตรของนาง มันตานีชื่อปุณณะ จักเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นโอรส ผู้รับมรดกในธรรมทั้งหลาย อันธรรมนิรมิตแล้ว เวลานั้น พระสัมพุทธเจ้า ทรงยังชนทั้งปวงให้ร่าเริง ทรงแสดงพระกำลังของพระองค์ พยากรณ์สุนันท- ดาบสด้วยประการอย่างนี้ ชนทั้งหลายประนมอัญชลีนมัสการสุนันทดาบส ในการนั้น ครั้นสุนันทดาบสทำสักการะในพระพุทธเจ้าแล้ว จึงชำระคติ ของตน เพราะข้าพระองค์ได้ฟังดำรัสของพระมุนี จึงได้มีความดำริ ณ ที่ นั้นว่า เราจักก่อสร้างบุญสมภาร ขณะที่กำลังเห็นพระโคดมอยู่ ครั้นข้า พระองค์คิดอย่างนี้แล้ว จึงคิดถึงบุญกิริยาว่า เราจะพึงก่อสร้างอย่างไร จะ ประพฤติกรรมอะไร ในบุญเขตอันยอดเยี่ยม ก็ภิกษุนี้ชำนาญบาลีทั้งปวง ในศาสนา พระศาสดาทรงตั้งไว้เป็นเลิศฝ่ายวินัย เราพึงปรารถนาฐานะ นั้นเถิด โภคสมบัติของข้าพระองค์ประมาณมิได้ เปรียบดังสาครอันอะไร ให้กระเพื่อมไม่ได้ ข้าพระองค์ได้สร้างอารามถวายแก่พระพุทธเจ้า ด้วย โภคสมบัตินั้น ได้ซื้ออารามนามว่าโสภณ ณ เบื้องหน้าพระนคร ด้วยทรัพย์ แสนหนึ่ง ถวายให้เป็นสังฆาราม ข้าพระองค์ได้สร้างเรือนยอด ปราสาท มณฑป เรือนโล้น และถ้ำอย่างสวยงาม ไว้ในที่จงกรม ใกล้สังฆาราม ได้สร้างเรือนไฟ โรงไฟ หม้อน้ำ และห้องอาบน้ำแล้ว ได้ถวายแก่ ภิกษุสงฆ์ ได้ถวายเก้าอี้นอน ตั่ง ภาชนะเครื่องใช้สอย คนเฝ้าอาราม และเภสัชนั้นทุกๆ อย่าง ได้ตั้งอารักขาไว้แล้ว ให้สร้างกำแพงอย่างมั่นคง ด้วยหวังว่า ใครๆ อย่าเบียดเบียนสังฆารามของท่านผู้มีจิตระงับ ผู้คงที่เลย ได้ให้สร้างกุฏีที่อยู่ ๑๐๐ หลังไว้ในสังฆาราม ครั้นให้สร้างสำเร็จไพบูลย์ แล้ว น้อมถวายกะพระสัมพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระมุนี ข้าพระองค์สร้างอาราม สำเร็จแล้ว ขอพระองค์โปรดทรงรับเถิด ข้าแต่พระธีรเจ้า ข้าพระองค์ มอบถวายพระองค์ ขอได้โปรดทรงรับเถิดพระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าพระนาม ว่าปทุมุตระผู้ทรงรู้แจ้งโลก เป็นนายกของโลก ทรงควรรับเครื่องบูชา ทรง ทราบความดำริของข้าพระองค์แล้ว ได้ทรงรับสังฆาราม ข้าพระองค์ทราบว่า พระสัพพัญญูผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงรับแล้ว ให้ตระเตรียมโภชนะ เสร็จแล้ว จึงกราบทูลเวลาเสวย เมื่อข้าพระองค์กราบทูลเวลาเสวยแล้ว พระปทุมุตระผู้นายกของโลก เสด็จมาสู่อารามของข้าพระองค์ พร้อมด้วย พระขีณาสพพันหนึ่ง ข้าพระองค์ทราบเวลาว่าพระองค์ประทับนั่งแล้ว ได้ เลี้ยงดูให้อิ่มหนำด้วยข้าวน้ำ ครั้นได้ทราบเวลาเสวยเสร็จแล้ว ได้กราบทูล ดังนี้ว่า ข้าพระองค์ซื้ออารามชื่อ โสภณ ด้วยทรัพย์แสนหนึ่ง ได้สร้างจน เสร็จด้วยทรัพย์เท่านั้นเหมือนกัน ขอได้โปรดทรงรับเถิดพระมุนี ด้วยการ ถวายอารามนี้ และด้วยการตั้งเจตนาไว้ เมื่อข้าพระองค์เกิดอยู่ในภพ ย่อม ได้สิ่งที่ปรารถนา พระสัมพุทธเจ้าทรงรับสังฆารามที่ข้าพระองค์สร้างเสร็จ แล้ว ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า ผู้ใดได้ถวาย สังฆารามที่สร้างสำเร็จแล้วแด่พระพุทธเจ้า เราจะพยากรณ์ผู้นั้น ท่าน ทั้งหลายจงฟังเรากล่าว จตุรงคเสนา คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลราบ จะแวดล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิจ นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม ดนตรีหกหมื่น และเภรีอันประดับประดาสวยงาม จะแวดล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิจ นี้เป็นผล แห่งการถวายสังฆาราม นางนารีแปดหมื่นหกพัน อันตกแต่งงดงาม มีผ้า และอาภรณ์อันวิจิตร สวมสอดแก้วมณีและกุณฑล มีหน้าแฉล้ม ยิ้มแย้ม ตะโพกผึ่งผาย เอวเล็กเอวบาง จะแวดล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิจ นี้เป็นผลแห่ง การถวายสังฆาราม ผู้นี้จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลก ตลอดสามหมื่นกัลป จักเป็นจอมเทวดาเสวยราชสมบัติในเทวโลกพันครั้ง จักได้ของทุกอย่างที่ ท้าวเทวราชจะพึงได้ จักเป็นผู้มีโภคสมบัติไม่รู้จักพร่อง เสวยเทวราชสมบัติ อยู่ จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอยู่ในแว่นแคว้นพันครั้ง จักเป็นพระราชาอัน ไพบูลย์ในแผ่นดินโดยจะคณานับไม่ถ้วน ในแสนกัลป พระศาสดาพระนาม ว่า โคดมโดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จ อุบัติในโลก ผู้นี้จักเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นโอรสผู้รับ มรดกในธรรม อันธรรมนิรมิต มีนามชื่อว่า อุบาลี จักถึงที่สุดในพระวินัย ฉลาดในฐานะและมิใช่ฐานะ ดำรงพระศาสนาของพระชินเจ้า ไม่มีอาสวะอยู่ พระโคดมศากยบุตรผู้ประเสริฐ ได้ทรงทราบข้อนี้ทั้งสิ้นแล้วประทับนั่งใน ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ จักทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะสถาน ข้าพระองค์อาศัยบุญกุศล อันประมาณมิได้ ย่อมปรารถนา (ว่าพึงเป็นภิกษุผู้เลิศกว่าบรรดาภิกษุผู้ทรง พระวินัย) ในศาสนาของพระองค์ ประโยชน์ คือ ความสิ้นสังโยชน์ ทั้งปวงนั้น ข้าพระองค์บรรลุแล้วเปรียบเหมือนคนอันพระราชอาญาคุกคาม ถูกเสียบด้วยหลาว ไม่ได้ความสุขที่หลาวปรารถนาจะพ้นไปอย่างเดียว ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น อันอาญา คือ ภพคุกคามแล้ว ถูกเสียบด้วยหลาว คือ กรรม ถูกเวทนา คือ ความกระหายบีบคั้น ไม่ได้ ความสุขในภพ ถูกไฟ ๓ กองแผดเผาอยู่ ย่อมแสวงหาอุบายเครื่องพ้น ดังคนแสวงหาอุบายเพื่อฆ่ายาพิษ พึงแสวงหายา เมื่อแสวงหาอยู่ พึงพบ ยาเครื่องฆ่ายาพิษ ดื่มยานั้นแล้วพึงมีสุข เพราะพ้นจากพิษฉันใด ข้าแต่ พระมหาวีรเจ้า ข้าพระองค์ก็เหมือนคนอันยาพิษบีบคั้น ฉันนั้น ถูกอวิชชา บีบคั้นแล้ว ก็พึงแสวงหายา คือ สัทธรรม เมื่อแสวงหายา คือธรรมอยู่ ได้พบศาสนาของพระองค์ผู้ศากยบุตร อันเป็นของจริงอย่างเลิศสุดยอด โอสถ เป็นเครื่องบรรเทาลูกศรทั้งปวง ข้าพระองค์ดื่มยา คือ ธรรมแล้ว ถอนยาพิษ คือ สังสารทุกข์ได้หมดแล้ว ข้าพระองค์ได้พบนิพพานอัน ไม่แก่ไม่ตาย เป็นธรรมชาติเย็นสนิท เปรียบเหมือนคนถูกผีคุกคาม ได้รับ ทุกข์เพราะผีสิง พึงแสวงหาหมอผีเพื่อจะพ้นจากผี เมื่อแสวงหาไป ก็พึง พบหมอฉลาดในวิชาไล่ผี หมอนั้นพึงขับผีให้แก่คนนั้น และพึงให้พินาศ (ขับไล่ไป) พร้อมทั้งราก ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น ได้ รับทุกข์เพราะความมืดเข้าจับ จึงต้องแสวงหาแสงสว่าง คือ ญาณเพื่อจะ พ้นจากความมืด ที่นั้นจึงได้พบพระศากยมุนี ผู้ชำระความมืด คือ กิเลส ให้หมดจด (สว่าง) ได้ พระองค์ทรงบรรเทาความมืดให้ข้าพระองค์แล้ว ดังหมอผีขับไล่ผีไปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์ตัดกระแสสงสารได้แล้ว ห้าม กระแสตัณหาได้แล้ว ถอนภพได้สิ้นเชิงเหมือนหมอผีขับไล่ผีพร้อมทั้งถอน ราก ฉะนั้น เปรียบเหมือนพระยาครุฑ โฉบลงเพื่อจับนาคอันเป็นเหยื่อ ของตน ย่อมยังน้ำในสระใหญ่ให้กระเพื่อมตลอดร้อยโยชน์โดยรอบ ครั้น มันจับนาคได้แล้ว ห้อยหัวนาคไว้เบื้องต่ำทำให้ลำบาก ครุฑนั้นพาเอานาค ไปได้ตามความปรารถนา ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า ข้าพระองค์แสวง หาอสังขตธรรม เหมือนครุฑมีกำลังบินแสวงหานาค ฉะนั้น ข้าพระองค์ ได้คายโทษทั้งหลายแล้ว ข้าพระองค์เห็นธรรมอันประเสริฐ เป็นสันติบท ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ข้าพระองค์ถือเอาธรรมนี้อยู่ เหมือนครุฑจับนาคบินไป ฉะนั้น เถาวัลย์ชื่ออาสาวดี เกิดในสวนจิตรลดา โดยล่วงไปพันปี จึงเผล็ด ผลๆ หนึ่ง เทวดาทั้งหลายได้ใช้สอยผลอาสวดีนั้น ซึ่งมีผลคราวหนึ่ง นานเพียงนั้น เถาวัลย์อาสวดีนั้นมีผลอุดม เป็นที่รักของเทวดาทั้งหลาย อย่างนี้ ข้าพระองค์อาศัยแสนปี จึงได้เที่ยวมาใกล้พระองค์ผู้เป็นมุนี ได้ นมัสการทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า เหมือนเทวดาเชยชมผลอาสวดี ฉะนั้น การ ได้มาใกล้ไม่เป็นหมัน และการนมัสการไม่เป็นโมฆะ แม้ข้าพระองค์จะมา แต่ที่ไกล ขณะก็ไม่ล่วงเลยข้าพระองค์ไป ข้าพระองค์ค้นคว้าหาปฏิสนธิ ในภพก็ไม่พบ ฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่มีอุปธิ พ้นวิเศษแล้ว สงบระงับ เที่ยวไป เปรียบเหมือนดอกปทุม ย่อมบานเพราะรัศมีพระอาทิตย์ถูกต้อง ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น บานแล้วเพราะรัศมี พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนนกยางตัวผู้ ย่อมไม่มีในกำเนิดนกยางทุกเมื่อ เมื่อเมฆร้องกระหึ่ม นกยางมันย่อมมีครรภ์ทุกเมื่อ พวกมันย่อมทรงครรภ์ อยู่แม้นาน ตลอดเวลาที่สายฝนยังไม่ตก พวกมันย่อมพ้นจากการทรงครรภ์ เมื่อเวลาที่สายฝนตก ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรง พระนามว่าปทุมุตระ ทรงประกาศกึกก้องด้วยเมฆ คือ ธรรม ได้ถือเอา ครรภ์ คือ ธรรม ด้วยเสียงแห่งเมฆ คือ ธรรม ข้าพระองค์อาศัยแสนกัลป ทรงครรภ์ คือ บุญอยู่ ยังไม่พ้นจากภาระ คือ สงสาร ตลอดเวลาที่สายฝน คือ ธรรมยังไม่ตก ข้าแต่พระศากยมุนี เมื่อเวลาที่พระองค์ทรงประกาศ กึกก้องด้วยสายฝน คือ ธรรม ในพระนครกบิลพัศดุ์ อันน่ารื่นรมย์ ข้า- พระองค์จึงได้พ้นจากภาระ คือ สงสาร ข้าพระองค์สะสาง (ชำระ) ธรรม คือสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และผล ๔ ทั้งหมด แม้นั้น (สะอาด) ได้แล้ว.
จบทุติยภาณวาร.
ข้าพระองค์ปรารถนาศาสนาของพระองค์ ตั้งต้นแต่กัลปอันประมาณมิได้ ประโยชน์นั้น ข้าพระองค์ถึงแล้ว สันติบทอันยอดเยี่ยมข้าพระองค์บรรลุ แล้ว ข้าพระองค์เป็นผู้เลิศ เหมือนภิกษุผู้ชำนาญพระบาลีถึงที่สุดใน พระวินัย ฉะนั้น ไม่มีใครเสมอด้วยข้าพระองค์ ข้าพระองค์ย่อมทรง พระศาสนาไว้ ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในวินัยขันธกะ คัมภีร์บริวาร ในอักขระหรือพยัญชนะ ในวินัยปิฎกนี้เลย ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในการข่ม ในการแก้ไขในฐานะและมิใช่ฐานะในการชักเข้าหมู่และในการให้ออกจาก อาบัติ ถึงที่สุดในวินัยกรรมทั้งปวง ข้าพระองค์ตั้งบทไว้ในวินัยขันธกะ และในอุภโตวิภังค์แล้ว พึงชักเข้าหมู่ (ประชุม) จากกิจ ข้าพระองค์ เป็นผู้ฉลาดในนิรุติ และเฉียบแหลมในประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ ข้าพระองค์จะไม่รู้นั้นไม่มี ข้าพระองค์เป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เดียวในพุทธ ศาสนา วันนี้ ข้าพระองค์บรรเทาความเคลือบแคลงได้ทั้งสิ้น ตัดความ สงสัยได้ทั้งหมด ในคราวตัดสินวินัย ในศาสนาของพระผู้มีพระภาค ศากยบุตร ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในฐานะทั้งปวง คือ บัญญัติ อนุบัญญัติ อักขระ พยัญชนะ นิทาน และปริโยสาน เปรียบเหมือนพระราชาผู้ทรง พระกำลัง ทรงกำจัดเสนาของพระราชาอื่นแล้ว ทำให้เดือดร้อนชนะ สงครามแล้ว สร้างนครไว้ ณ ที่นั้นรับสั่งให้สร้างกำแพง คู เสาระเนียด ซุ้มประตู และป้อมต่างๆ ไว้ในนครเป็นอันมาก พึงรับสั่งให้สร้างถนน วงเวียน ร้านตลาดอันจัดไว้เรียบร้อย และสภาไว้ในนครนั้น เพื่อวินิจฉัย คดีและมิใช่คดี เพื่อจะป้องกันพวกศัตรู เพื่อจะรู้จักโทษและมิใช่โทษ และเพื่อจะรักษาพลกาย พระองค์จึงโปรดตั้งเสนาบดีไว้ เพื่อประสงค์จะ ทรงรักษาสิ่งของ พระองค์จึงโปรดตั้งขุนคลังไว้ในหน้าที่รักษาสิ่งของ โดย ทรงหวังว่า สิ่งของของเราอย่าฉิบหายเสียเลย เขาเป็นผู้สามัคคีกับพระราชา ปรารถนาความเจริญแก่ผู้ใด ย่อมให้อธิกรณ์แก่ผู้นั้น เพื่อปฏิบัติต่อมิตร (โดยไม่มีวิวาท) พระองค์โปรดตั้งคนผู้ฉลาดในลางดีลางร้ายในนิมิต และ ตำราทำนายลักษณะ ผู้เล่าเรียนทรงจำมนต์ ไว้ในตำแหน่งปุโรหิต พระราชานั้นทรงสมบูรณ์ด้วยองค์เหล่านี้ มหาชนย่อมเรียกว่า กษัตริย์ เสนาบดีเป็นต้นเหล่านี้ย่อมรักษาพระราชาทุกเมื่อ ดังนกจักพรากรักษานก ผู้เป็นญาติของตนที่ได้ทุกข์ ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า พระองค์ก็ฉันนั้น มหาชนย่อมกล่าวว่า พระธรรมราชาของโลกพร้อมทั้งเทวโลก เช่นพระราชา ทรงกำจัดศัตรูได้แล้ว มหาชนเรียกว่า กษัตริย์ ฉะนั้น พระองค์ทรง ปราบพวกเดียรถีย์ ทรงกำจัดมารพร้อมทั้งเสนาและความมืดมนอนธการ แล้ว ได้ทรงสร้างนครธรรมไว้ ข้าแต่พระธีรเจ้า ในนครธรรมนั้น มีศีล เป็นกำแพง พระญาณของพระองค์เป็นซุ้มประตู ศรัทธาของพระองค์เป็น เสาระเนียด และสังวรของพระองค์เป็นนายประตู ข้าแต่พระมุนี สติ ปัฏฐานของพระองค์เป็นป้อม ปัญญาของพระองค์เป็นทางสี่แพร่ง อิทธิบาท เป็นทางสามแพร่ง ธรรมวิถีพระองค์ทรงสร้างไว้สวยงาม พระวินัย พระ- สูตร พระอภิธรรม และพระพุทธพจน์อันมีองค์ ๙ ทั้งสิ้นนี้ เป็นธรรม สภาในนครธรรมของพระองค์ วิหารธรรม คือ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตต- วิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ อเนญชสมาบัติ และนิโรธนี้เป็นธรรมกุฎีใน นครธรรมของพระองค์ ธรรมเสนาบดีของพระองค์ มีนามชื่อว่าพระสารี- บุตร ทรงตั้งไว้ว่า เป็นผู้เลิศด้วยปัญญาและว่าฉลาดในปฏิภาณ ข้าแต่ พระมุนี ปุโรหิตของพระองค์มีนามชื่อว่าพระโกลิตะ ผู้ฉลาดในจุติและ อุปบัติ ถึงที่สุดแห่งฤทธิ์, ข้าแต่พระมุนี พระมหากัสสปเถระผู้ดำรง วงศ์โบราณ มีเดชรุ่งเรือง หาผู้เสมอได้ยาก เลิศในธุดงคคุณ เป็นผู้พิพากษา ของพระองค์ ข้าแต่พระมุนี พระเถระขุนคลังธรรมของพระองค์ มีนามชื่อ ว่าพระอานนท์ เป็นพหูสูต ทรงธรรม และชำนาญในพระบาลีทั้งหมดใน ศาสนา พระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันมากแก่ข้าพระองค์ ทรงตั้ง พระเถระทั้งหมดนี้แล้ว ทรงประทานการวินิจฉัยในพระวินัย อันภิกษุผู้รู้ แจ้งแสดงแล้ว แก่ข้าพระองค์ ภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้าบางรูป ถาม ปัญหาในวินัย ในปัญหานั้นข้าพระองค์ไม่ต้องคิด ย่อมแก้เนื้อความนั้นได้ ทันที ตลอดในพระพุทธเขต เว้นพระมหามุนีเสีย ไม่มีใครเสมอกับข้า พระองค์ในวินัย ที่ไหนจะมียิ่งกว่า พระโคดมประทับนั่งในท่ามกลางสงฆ์ แล้ว ทรงประกาศอย่างนี้ว่า ไม่มีใครจะเสมอกับพระอุบาลี ในวินัยและ ในขันธกะ เรากล่าวสัตถุศาสน์มีองค์ ๙ ตลอดถึงที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้ว ทั้งหมด ไว้ในวินัยแก่บุคคลผู้เห็นมูลพระวินัย พระโคดมศากยบุตรผู้ ประเสริฐ ทรงระลึกถึงกรรมของเรา ประทับนั่งในท่ามกลางสงฆ์ ทรงตั้ง เราไว้ในเอตทัคคะสถาน เราได้ปรารถนาตำแหน่งนี้ไว้ ตั้งต้นแต่แสนกัลป ประโยชน์นั้นเราได้ถึงแล้ว เราถึงที่สุดในพระวินัย เมื่อก่อนเราเป็นช่าง กัลบกผู้ยังความยินดีให้เกิดแก่เจ้าศากยะทั้งหลาย เราละชาตินั้นแล้ว เกิด เป็นบุตรของพระมเหสีในกัลปที่สองแต่ภัทรกัปนี้ พระมหากษัตริย์เจ้า- แผ่นดินพระนามว่าอัญชสะ มีพระเดชานุภาพสูงสุด มีบริวารประมาณมิได้ มีทรัพย์มากมาย เราเป็นกษัตริย์พระนามว่าจันทนะ เป็นโอรสของพระราชา พระองค์นั้น เป็นคนกระด้างเพราะความเมาด้วยชาติ และเพราะความเมา ด้วยยศและโภคะ ช้างแสนหนึ่ง อันประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง เป็นช้างตกมันโดยฐานะสาม เกิดในตระกูลมาตังคะ ห้อมล้อมเราอยู่ทุก เมื่อ เราห้อมล้อมด้วยพลของตน ประสงค์จะประพาสอุทยาน จึงขึ้นช้าง ชื่อศิริแล้ว ออกจากนครในกาลนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าเทวละ สมบูรณ์ด้วยจรณะ คุ้มครองทวาร และสำรวมเป็นอันดี เดินมาข้างหน้า เรา เวลานั้นเราได้ไสช้างศิรินาคไปให้จับพระปัจเจกพุทธเจ้า ลำดับนั้น ช้างทำเหมือนเกิดความโกรธ แต่ไม่ยกเท้าขึ้น เราเห็นช้างร้องไห้ ได้ทำ ความโกรธในพระปัจเจกพุทธเจ้า เราเบียดเบียนพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ได้ไปสู่อุทยาน ณ ที่นั้นเรา ไม่ได้ความสุขเสียเลย เหมือนไฟโพลงอยู่บน ศีรษะ และย่อมเดือดร้อนด้วยความเร้าร้อนดังปลาติดเบ็ด แผ่นดินมีสมุทร สาครเป็นที่สุด ปรากฏเหมือนไฟติดทั่วแก่เรา เราเข้าไปเฝ้าพระชนกแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า หม่อมฉันได้ไสช้างอันซับมัน ดังอสรพิษโกรธ ดัง กองไฟไหม้ลามมา ผู้ฝึกแล้ว ไปให้จับพระปัจเจกพุทธเจ้า หม่อมฉัน รุกรานพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นพระชินเจ้า มีเดชรุ่งเรืองพึงกลัว (พระ ชนกตรัสว่า) พวกเราชาวบุรีทั้งหมดจักพินาศ เราจะขอขมาพระมุนีนั้น ถ้าเราจะไม่ขมาท่านผู้มีตนอันฝึกแล้ว มีจิตตั้งมั่น ภายในวันที่ ๗ แว่น- แคว้นของเราจักพินาศ สุเมขลราชา โกสิยราชา สิคควราชา และสัตตก- ราชา ได้รุกรานฤาษีทั้งหลาย ท่านเหล่านั้นพร้อมทั้งเสนาตกยาก (ถึง ความพินาศ) ฤาษีทั้งหลายผู้สำรวมแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ โกรธเคือง เมื่อใด เมื่อนั้น ท่านย่อมยังมนุษย์โลกพร้อมทั้งเทวโลก สาครและภูเขา ให้พินาศ เราจึงสั่งให้ประชุมบุรุษทั้งหลายในประเทศ ประมาณสามพัน โยชน์ เพื่อต้องการจะแสดงโทษ จึงได้เข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้า เรา ทั้งหมดมีผ้าเปียก มีศีรษะเปียก ประนมอัญชลี พากันหมอบลงแทบเท้า ของพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วได้เรียนท่านดังนี้ว่า ข้าแต่พระมหาวีระ ขอ เจ้าประคุณได้โปรดอดโทษเถิด มหาชนอ้อนวอนเจ้าประคุณ ขอเจ้า ประคุณได้โปรดบรรเทาความเร่าร้อน และขออย่าให้แว่นแคว้นพินาศ เสียเลย มนุษย์พร้อมทั้งเทวดา อสูร และผีเสื้อทั้งหมด พึงต่อยศีรษะ ของกระผมด้วยค้อนเหล็กทุกเมื่อ (พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า) ไฟไม่ตั้ง อยู่ในน้ำ พืชไม่งอกบนหินล้วน กิมิชาติไม่ดำรงอยู่ในยาพิษฉันใด ความ โกรธย่อมไม่เกิดในพระพุทธะฉันนั้น อนึ่ง พื้นดินไม่หวั่นไหว สมุทร สาครประมาณไม่ได้ และอากาศไม่มีที่สุด ฉันใด พระพุทธะใครๆ ให้ กำเริบไม่ได้ ฉันนั้น พระมหาวีรเจ้าทั้งหลายมีตนฝึกแล้ว อดทน และ มีตบะ เจ้าประคุณทั้งหลายผู้อดทน ประกอบด้วยความอดทน จะไม่มีการ ไป พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวดังนี้แล้ว ได้บรรเทาความเร่าร้อนให้หมดไป เวลานั้น เราได้เหาะขึ้นสู่อากาศข้างหน้าของมหาชน กล่าวว่า ข้าแต่ พระวีรเจ้า เพราะกรรมนั้น ข้าพระองค์ได้เข้าถึงความเลวทราม ล่วงชาติ นั้นแล้ว จึงได้เข้าสู่บุรีอันไม่มีภัย ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า แม้ในกาลนั้น พระองค์ก็ได้บรรเทาความเร่าร้อนอันตั้งอยู่ด้วยดี ให้แก่ข้าพระองค์ผู้เดือด ร้อนอยู่ และข้าพระองค์ก็ได้ขมาพระสยัมภูแล้ว ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า แม้วันนี้ พระองค์ได้ดับไฟ ๓ กองให้ข้าพระองค์ผู้ถูกไฟ ๓ กองเผาอยู่ และข้าพระองค์ได้ถึงความเย็นแล้ว ท่านเหล่าใดมีการเงี่ยโสตลงฟัง ขอ ท่านเหล่านั้นจงฟังเรากล่าว เราจักบอกเนื้อความแก่ท่านตามบทที่เราเห็น แล้ว เราดูหมิ่นพระสยัมภู (พระปัจเจกพุทธเจ้า) ผู้มีจิตสงบระงับ มีใจมั่นคงนั้นแล้ว เพราะกรรมนั้น วันนี้ จึงได้เกิดในกำเนิดต่ำทราม ขณะอย่าพลาด (ล่วงเลย) ท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะผู้ที่ล่วงขณะย่อม เศร้าโศก ท่านทั้งหลายพึงพยายามในประโยชน์ของตน ท่านทั้งหลายจง จงเก็บขณะไว้ ยาสำรอกของบุคคลบางพวก เป็นยาถ่ายของบุคคลบางพวก, ยาพิษแข็งกล้าร้ายของคนบางพวก เป็นยาถ่ายของคนบางพวก, ยาพิษ กล้าร้ายแรงของคนบางพวก เป็นยารักษาโรคของคนบางพวก, (พระผู้มี พระภาคทรงทราบแล้วโดยลำดับ) ได้ตรัสบอกอาการเปลื้องสงสารแก่ผู้ ปฏิบัติการถอนออกจากสงสารแก่ผู้ตั้งอยู่ในผล ตรัสบอกโอสถแก่ผู้ได้ผล ตรัสบอกบุญเขตแก่ผู้แสวงหา ตรัสบอกยาพิษอันกล้าแข็งแก่บุคคลผู้เป็น ปฏิปักข์ต่อพระศาสนา อบายสี่ย่อมเผานระนั้น เหมือนอสรพิษมีพิษร้าย ฉะนั้น ยาพิษอันกล้าแข็งที่บุคคลดื่มแล้วย่อมยังชีวิตให้พินาศครั้งเดียว คนผิดในพระศาสนาแล้ว ย่อมถูกไฟเผาในโกฏิกัป พระพุทธะนั้นย่อม ข้ามโลกพร้อมทั้งเทวโลกได้เพราะขันติ อวิหิงสา และเพราะมีจิตเมตตา ฉะนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ใครๆ ให้พิโรธไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้า ทั้งหลายเช่นกับแผ่นดินไม่ข้องอยู่ในลาภและความเสื่อมลาภ ในความ สรรเสริญและดูหมิ่น ฉะนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ใครๆ ให้พิโรธไม่ได้ พระมุนีมีจิตเสมอในสรรพสัตว์ คือ ในพระเทวทัต นายขมังธนู องคุลิมาลโจร พระราหุล และในช้างธนบาล พระพุทธเจ้าเหล่านี้ย่อม ไม่มีความโกรธ ไม่มีความกำหนัด พระพุทธเจ้ามีจิตเสมอในชนทั้งปวง คือในผู้ฆ่าและโอรส ใครๆ เห็นผ้ากาสาวะอันเขาทิ้งไว้ที่หนทางเปื้อน ของไม่สะอาด อันเป็นธงชัยของฤาษี พึงยกกรอัญชลีเหนือเศียรเกล้า ไหว้พระพุทธเจ้าในอดีตก็ดี ปัจจุบันก็ดี อนาคตก็ดี ย่อมบริสุทธิ์ด้วย ธงชัยนั้น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านี้ควรนมัสการ เราย่อมทรง พระวินัยอันงามเช่นกับพระศาสดาไว้ด้วยหทัย เราจักนมัสการพระวินัยใน กาลทุกเมื่อ พระวินัยเป็นที่อาศัยของเรา พระวินัยเป็นที่ยืนเดินของเรา เราจะสำเร็จการอยู่ในพระวินัย พระวินัยเป็นโคจรของเรา ข้าแต่พระมหา วีรเจ้า เพราะฉะนั้น พระอุบาลีผู้ถึงที่สุดในพระวินัย และฉลาดในสมถะ ถวายบังคมพระบาทของพระศาสดา ข้าพระองค์นั้น จะไปจากบ้านนี้สู่ บ้านโน้น จากบุรีนี้สู่บุรีโน้น เที่ยวนมัสการพระสัมพุทธเจ้าและพระ ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงดีแล้ว ข้าพระองค์เผากิเลสทั้งหลายแล้ว ถอนภพขึ้นได้ทั้งหมดแล้ว อาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี ข้าพระองค์ได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดดีแล้วหนอ วิชชา ๓ ข้าพระองค์บรรลุแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพระองค์ได้ทำให้แจ้งแล้ว พระพุทธศาสนาข้าพระองค์ ได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล. ทราบว่า ท่านพระอุบาลีเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ อุปาลีเถราปทาน
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ บรรทัดที่ ๘๐๑-๑๐๗๔ หน้าที่ ๓๔-๔๔. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=801&Z=1074&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=32&siri=8              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=8              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [8] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=32&item=8&items=1              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=49&A=8280              The Pali Tipitaka in Roman :- [8] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=32&item=8&items=1              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=49&A=8280              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap8/en/walters

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :