ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๒๔
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พุทธวรรคที่ ๑
พุทธาปทานที่ ๑
ว่าด้วยเหตุให้สำเร็จเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า
[๑] พระอานนท์เวเทหมุนี มีอินทรีย์สำรวมแล้วได้ทูลถามพระตถาคตผู้ประทับ อยู่ ณ พระวิหารเชตวันว่า ได้ทราบว่า พระสัพพัญญูพุทธเจ้ามีจริงหรือ เพราะเหตุไรจึงได้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าผู้เป็นนักปราชญ์? ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ เป็นพระสัพพัญญูผู้ประเสริฐ ได้ตรัสกะท่านพระอานนท์ ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะว่า ชนเหล่าใด สร้างสมกุศลสมภารในพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ยังไม่ได้โมกขธรรมใน ศาสนาของพระชินเจ้า ชนเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์โดยมุข คือ การ ตรัสรู้นั้นแล แม้มีอัธยาศัย มีกำลังมาก มีปัญญาแก่กล้า ย่อมได้บรรลุ ความเป็นพระสัพพัญญูด้วยเหตุแห่งปัญญา แม้เราเป็นธรรมราชาผู้สมบูรณ์ ด้วยบารมี ๓๐ ทัศ ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ นับไม่ถ้วน นมัสการพระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลกพร้อมด้วยสงฆ์ด้วย นิ้วทั้ง ๑๐ แล้วกราบไหว้สัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสุด ทั้งหลายด้วยเศียรเกล้า รัตนะทั้งที่มีในอากาศและอยู่ที่พื้นดิน ในพุทธ- เขต มีประมาณเท่าใด เราจักนำรัตนะทั้งหมดนั้นมาด้วยใจ ณ พื้นที่เป็น รูปิยะนั้น เราได้นิรมิตปราสาทหลายชั้น อันสำเร็จด้วยรัตนะ สูง ตระหง่านจรดฟ้า มีเสาอันวิจิตร ได้สัดส่วน จัดไว้ดี ควรค่ามาก มี คันทวยทำด้วยทองคำ ประดับด้วยนกกระเรียนและฉัตร พื้นชั้นแรกเป็น แก้วไพฑูรย์ งามปราศจากมลทิน ไม่มีฝ้า เกลื่อนกลาดด้วยดอกบัวหลวง มีพื้นทองคำอย่างดี พื้นบางชั้นมีสีดังแก้วประพาฬ เป็นกิ่งน่ารื่นเริง บาง ชั้นแดงงาม บางชั้นเปล่งรัศมี ดังสีแมลงค่อมทอง บางชั้นสว่างทั่วทิศ ในปราสาทนั้น มีศาลาสี่หน้ามุข มีประตูหน้าต่างจัดไว้เรียบร้อย มีชุกชี และหลุมตาข่ายสี่แห่ง มีพวงมาลัยหอมน่ารื่นรมย์ใจห้อยอยู่ ยอด ปราสาทนั้นประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ มีสีเขียว เหลือง แดง ขาว ดำล้วน ประกอบด้วยยอดเรือนชั้นเยี่ยม มีสระประทุมชูดอกบานสะพรั่ง งามด้วยฝูงเนื้อและนก บางชั้นดาดาษด้วยดาวนักษัตร ประดับด้วยรูป ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ปกคลุมด้วยพวงดอกไม้ทอง ดาดาษด้วยตาข่าย ทองน่ารื่นรมย์ ห้อยย้อยด้วยกระดิ่งทอง เปล่งเสียงด้วยกำลังลม ปรา- สาทนั้นวิจิตรด้วยธงสีต่างๆ คือ ธงสีชมพู สีแดง สีเหลือง สีเขียว และสีทอง ปักไว้เป็นระเบียบ แผ่นกระดานต่างๆ มากหลายร้อย ทำ ด้วยเงิน ทำด้วยแก้วมณี ทับทิม ทำด้วยแก้วมรกต วิจิตรด้วยที่นอน ต่างๆ ลาดด้วยผ้าเมืองกาสีละเอียดอ่อน เราปูลาดเครื่องลาดต่างๆ ด้วยผ้ากัมพล ผ้าทุกุลพัสตร์ ผ้าเมืองจีน ผ้าเมืองแขก และผ้าห่มเหลือง ทุกแห่ง ด้วยใจ ที่พื้นนั้นๆ ประดับด้วยยอดแก้ว คนหลายร้อยยืน ถือประทีปแก้วมณีอันส่งแสงเรืองอยู่ เสาระเนียด เสาซุ้มประตู ทำด้วย ทองชมพูนุท ไม้แก่นและเงินบ้าง มีที่ต่อหลายแห่ง จัดไว้เรียบดี วิจิตร ด้วยบานประตูและกลอน ย่อมยังปราสาทให้งาม สองข้างปราสาทนั้น มีกระถางน้ำเต็มเปี่ยมหลายกระถาง ปลูกบัวหลวงและอุบลไว้เต็ม เรา นิรมิตพระพุทธเจ้าในอดีต ผู้เป็นนายกของโลกทุกพระองค์ พร้อมด้วย พระสงฆ์สาวก ด้วยวรรณและรูปตามปกติ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ พร้อมด้วยพระสาวกเข้าไปทางประตูนั้น หมู่พระอริยเจ้านั่งบนตั่งอันทำ ด้วยทองคำล้วนๆ พระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยมในโลก มีอยู่ ณ บัดนี้ก็ดี เป็นอดีตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ทุกพระองค์ได้ขึ้นปราสาทของเรา พระสยัมภู ปัจเจกพุทธเจ้าหลายร้อย ผู้ไม่พ่ายแพ้ ทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ขึ้น ปราสาทของเราทั้งหมด ต้นกัลปพฤกษ์ทั้งเป็นของทิพย์และของมนุษย์ มีมาก เรานำเอาผ้าทุกอย่างจากต้นกัลปพฤกษ์นั้น มาทำไตรจีวรถวายให้ ท่านเหล่านั้นครอง ของเคี้ยว ของฉัน ของลิ้ม น้ำและข้าวมีสมบูรณ์ เราใส่อาหารเต็มบาตรงามทำด้วยมณีแล้วถวายพระอริยเจ้าทั้งผองครองผ้า ทิพย์ ครองจีวรเนื้อเกลี้ยงอิ่มหนำสำราญด้วยน้ำตาลกรวด น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยรสหวานฉ่ำและด้วยข้าวปายาส หมู่อริยเจ้าเหล่านี้เข้าห้องแก้ว สำเร็จสีหไสยาบนที่นอนอันควรค่ามาก ดังไกรสรีนอนในถ้ำที่อยู่ รู้สึกตัว ลุกขึ้นนั่งคู้บัลลังก์บนที่นอน เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความยินดีในฌานอัน เป็นโคจรของพุทธเจ้าทุกพระองค์ บางพวกแสดงธรรม บางพวกเข้าฌาน ด้วยฤทธิ์ บางพวกเข้าอัปปนาฌาน และบางพวกอบรมอภิญญาวสี บาง พวกแผลงฤทธิ์ คนเดียวเป็นได้หลายร้อยหลายพัน แม้พระพุทธเจ้าก็ถาม ปัญหาอันเป็นอารมณ์ คือ วิสัยของพระสัพพัญญูกะพระพุทธเจ้า ท่าน เหล่านั้น ย่อมตรัสรู้เหตุอันละเอียดลึกซึ้งด้วยพระปัญญา พระสาวกทูล ถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสถามพระสาวก ท่านเหล่านั้นถามกัน และกัน และพยากรณ์กันและกัน พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกต่างเป็นศิษย์ ท่านเหล่านั้นรื่นรมย์อยู่ด้วยความยินดีอย่างนี้ อภิรมย์อยู่ในปราสาทของเรา ฉัตรและฉัตรซ้อน มีรัศมีดังไม้ไผ่แก้วตั้งไว้ ทุกๆ องค์ทรงไว้ซึ่งฉัตรอันห้อยย้อยด้วยตาข่ายทอง ขจิตด้วยตาข่ายเงิน วงรอบด้วยตาข่ายมุกดา บนเศียรมีเพดานผ้า แวววาวด้วยดาวทอง งดงาม ดาดาษด้วยพวงมาลัยทุกๆ องค์ ทรงไว้รอบๆ ฉัตรดาดาษด้วยพวงมาลัย งามด้วยพวงดอกไม้หอม เกลื่อนด้วยพวงผ้า ประดับด้วยพวงแก้ว เกลื่อนกลาดด้วยดอกไม้ งดงามยิ่งนัก รมด้วยของหอมน่าพอใจ ทำด้วย ของหอมยาวห้านิ้ว มุงด้วยเครื่องมุงทอง ในสี่ทิศแห่งปราสาท มีสระ อันดาดาษด้วยปทุมและอุบล หอมตลบด้วยเกสรดอกปทุม ปรากฏ ดังสีทองคำ โดยรอบปราสาท มีต้นไม้ทุกชนิด ดอกบานสะพรั่ง และ ดอกไม้หล่นลงเอง เรี่ยรายอยู่ยังปราสาท ใกล้ๆ ปราสาทนั้นมีฝูงนกยูง รำแพนหาง ฝูงหงส์ทิพย์ส่งเสียง ฝูงนกการวิกขับขาน หมู่นกร้องอยู่ โดยรอบปราสาท เสียงกลองเภรีทุกอย่างจงเป็นไป เสียงพิณทุกชนิดจง ดีด เสียงสังคีตทุกอย่างจงขับขาน โดยรอบปราสาท ขอบัลลังก์ทองใหญ่ สมบูรณ์ด้วยรัศมี ไม่มีช่องประดับด้วยแก้ว จงตั้งอยู่ ในกำหนดพุทธเขต และในหมื่นจักรวาล ขอต้นไม้ประจำทวีปจงรุ่งเรือง เป็นไม้สว่างไสว เช่นเดียวกัน สืบต่อกันไปตั้งหมื่นต้น หญิงเต้นรำ หญิงขับร้อง จงเต้นรำ ขับร้อง หมู่นางอัปสรผู้มีอวัยวะต่างๆ กัน จงปรากฏ (ฟ้อน) อยู่โดย รอบปราสาท เราให้ชักธงทุกชนิดมีห้าสีงามวิจิตรขึ้นอยู่บนยอดไม้ ยอด ภูเขา และบนยอดสิเนรุ หมู่ชน ฝูงนาค คนธรรพ์ และเทวดาทุกท่าน นั้น จงมาประนมหัตถ์นมัสการเรา แวดล้อมปราสาทอยู่ กุศลกรรมอย่าง ใดอย่างหนึ่ง เป็นกิริยาที่เราพึงทำด้วยกาย วาจา และใจ กุศลกรรมนั้นเรา ทำแล้วไปในไตรทศ สัตว์เหล่าใดมีสัญญา และสัตว์เหล่าใดไม่มีสัญญา มีอยู่ ขอสัตว์ทั้งหมดนั้นจงเป็นผู้มีส่วนแห่งผลบุญ ที่เราทำแล้ว สัตว์ เหล่าใดทราบบุญที่เราทำแล้ว เราให้ผลบุญแก่สัตว์เหล่านั้น บรรดาสัตว์ เหล่านั้น สัตว์เหล่าใดไม่รู้ ขอทวยเทพจงไปบอกแก่สัตว์เหล่านั้น ปวง สัตว์ในโลกผู้อาศัยอาหารเป็นอยู่ทุกจำพวก ขอจงได้อาหารอันพึงใจ ด้วย ใจของเรา เรามีใจเลื่อมใสในทานที่เราให้แล้วด้วยใจอันผ่องใส เราบูชา พระสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์แล้ว บูชาแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะกุศลกรรมที่เราทำดีแล้วนั้น และเพราะความปรารถนาแห่งใจ เราละ กายมนุษย์แล้ว ได้ไปยังดาวดึงส์พิภพ เราย่อมรู้ทั่วความเป็นเทวดาและ มนุษย์ในสองภพ ย่อมไม่รู้จักคติอื่น นี้เป็นผลแห่งความปรารถนาด้วยใจ เราเป็นใหญ่กว่าเทวดา เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยรูปลักษณะ ไม่มีใครเสมอเราด้วยปัญญา โภชนะต่างๆ อย่างประเสริฐ และรัตนะ มากมาย ผ้าต่างชนิด ย่อมจากฟ้ามาหาเราพลัน เราชี้มือไปในที่ใด คือ ที่แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำและในป่า อาหารทิพย์ย่อมมาหาเรา เอง เราชี้มือไปในที่ใด คือ ที่แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำและ ในป่า รัตนะทุกอย่างย่อมมาหาเรา เราชี้มือไปในที่ใด คือ ที่แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำและในป่า ของหอมทุกชนิดย่อมมาหาเราเอง เราชี้มือไปในที่ใด คือที่แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำและในป่า ยวดยานทุกอย่างย่อมมาหาเรา เราชี้มือไปในที่ใด คือ ที่แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำและในป่า ดอกไม้ทุกชนิดย่อมมาหาเรา เราชี้มือไปใน ที่ใด คือ ที่แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำและในป่า เครื่องประดับ ย่อมมาหาเรา เราชี้มือไปในที่ใด คือ ที่แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำและในป่า ปวงนางกัญญาย่อมมาหาเรา เราชี้มือไปในที่ใด คือ ที่ แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ในน้ำและในป่า น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด ย่อมมาหาเรา เราชี้มือไปในที่ใด คือ ที่แผ่นดิน ภูเขา บนอากาศ ใน น้ำและในป่า ของเคี้ยวทุกอย่างย่อมมาหาเรา เราได้ให้ทานอันประเสริฐ นั้นในคนไม่มีทรัพย์ คนเดินทางไกล ยาจก และคนเดินทางเปลี่ยว เพื่อต้องการบรรลุสัมโพธิญาณอันประเสริฐ เรายังภูเขาหินให้บันลืออยู่ ยังเขาอันแน่นหนาให้กระหึ่มอยู่ ยังมนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลกให้ร่าเริง อยู่ จะเป็นพระพุทธเจ้าในโลก ทิศ ๑๐ มีอยู่ในโลก ที่สุดไม่มีแก่บุคคล ผู้ไปอยู่ ก็ในทิศาภาคนั้น พุทธเขตนับไม่ได้ รัศมีของเราปรากฏเปล่ง ออกเป็นคู่ๆ ข่าย (หมู่,คู่) รัศมีมีอยู่ในระหว่างนี้ เราเป็นผู้มีแสง สว่างมาก ปวงชนในโลกธาตุประมาณเท่านี้จงเห็นเรา จงมีใจยินดีทั้ง หมดเทียว จงประพฤติตามเราทั้งหมด เราตีกลองอมฤต มีเสียงบันลือ ไพเราะสละสลวย ปวงชนในระหว่างนี้ จงได้ยินเสียงอันไพเราะของเรา เมื่อฝนคือธรรมเทศนาตกลง ปวงชนจงเป็นผู้ไม่มีอาสวะ บรรดาชน เหล่านั้น สัตว์ผู้เกิดสุดท้ายภายหลัง จงเป็นพระโสดาบัน เราให้ทานที่ ควรให้แล้ว บำเพ็ญศีลโดยไม่เหลือ ถึงที่สุดเนกขัมมบารมีแล้ว พึงได้ บรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม เราเรียนถามบัณฑิตแล้ว ทำความเพียรอย่าง สูงสุด ถึงที่สุดขันติบารมีแล้ว พึงได้บรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม เรา กระทำอธิษฐานจิตมั่นคงแล้ว บำเพ็ญสัจจบารมีถึงที่สุด เมตตาบารมีแล้ว พึงได้บรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม เราเป็นผู้มีใจเสมอในอารมณ์ทั้งปวง คือ ในลาภ ความเสื่อมลาภ สุข ทุกข์ สรรเสริญ และนินทา พึง ได้บรรลุสัมโพธิญาณอันอุดม ท่านทั้งหลายเห็นความเกียจคร้านโดยเป็น ภัย และเห็นความเพียรโดยความเกษมแล้ว จงปรารภความเพียร นี้เป็น อนุศาสนีของพระพุทธเจ้า ท่านทั้งหลายเห็นความวิวาทโดยเป็นภัย และ เห็นความไม่วิวาทโดยเกษมแล้ว จงสมัครสมานกัน กล่าววาจาอ่อนหวาน แก่กัน นี้เป็นอนุศาสนีของพระพุทธเจ้า ท่านทั้งหลายเห็นความประมาท โดยเป็นภัย และเห็นความไม่ประมาทโดยเกษมแล้ว จงอบรมอัฏฐังคิกมรรค นี้เป็นอนุศาสนีของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย มาประชุมกันอยู่มาก ทุกประการ ท่านทั้งหลายจงกราบไหว้นมัสการพระ- สัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้ พระพุทธเจ้า (และ) ธรรมของพระพุทธเจ้า ใครๆ ไม่อาจคิดได้ เมื่อบุคคลเลื่อมใสใน พระพุทธเจ้าและพระธรรม อันใครๆ ไม่อาจคิดได้ ย่อมมีผลอันใครๆ คิดไม่ได้. ทราบว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคจะทรงให้ท่านพระอานนท์รู้พระพุทธจิตของพระองค์ จึง ได้ตรัสธรรมบรรยายชื่อพุทธาปนิยะ ด้วยประการฉะนี้.
พุทธาปทานจบบริบูรณ์.
-----------------------------------------------------
ปัจเจกพุทธาปทานที่ ๒
ว่าด้วยการให้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
[๒] ลำดับนี้ ขอฟังปัจเจกพุทธาปทาน พระอานนท์เวเทหมุนี ผู้มีอินทรีย์อัน สำรวมแล้ว ได้ทูลถามพระตถาคต ผู้ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันว่า ทราบด้วยเกล้าฯ ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้ามีจริงหรือ เพราะเหตุไรท่าน เหล่านั้นจึงได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เป็นนักปราชญ์? ในกาลครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคสัพพัญญูผู้ประเสริฐ แสวงหาคุณใหญ่ ตรัสตอบท่าน พระอานนท์ผู้เจริญ ด้วยพระสุรเสียงไพเราะว่า พระปัจเจกพุทธเจ้า สร้างบุญในพระพุทธเจ้าทั้งปวง ยังไม่ได้โมกขธรรมในศาสนาของพระชิน เจ้า ด้วยมุข คือ ความสังเวชนั้นแล ท่านเหล่านั้นเป็นนักปราชญ์ มีปัญญาแก่กล้า ถึงจะเว้นพระพุทธเจ้าก็ย่อมบรรลุปัจเจกโพธิญาณได้ แม้ด้วยอารมณ์นิดหน่อย ในโลกทั้งปวง เว้นเราแล้ว ไม่มีใครเสมอ พระปัจเจกพุทธเจ้าเลย เราจักบอกคุณเพียงสังเขปนี้ ของท่านเหล่านั้น ท่านทั้งหลาย จงฟังคุณของพระมหามุนีให้ดี ท่านทั้งปวงปรารถนานิพพาน อันเป็นโอสถวิเศษ จงมีจิตผ่องใส ฟังถ้อยคำดี อันอ่อนหวานไพเราะ ของพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณใหญ่ ตรัสรู้เอง คำพยากรณ์โดยสืบๆ กันมาเหล่าใด ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายผู้มาประชุมกัน โทษ เหตุ ปราศจากราคะ และพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย บรรลุโพธิญาณด้วย ประการใด พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย มีสัญญาในวัตถุอันมีราคะว่า ปราศจากราคะ มีจิตปราศจากกำหนัดในโลกอันกำหนัด ละธรรมเครื่อง เนิ่นช้า การแพ้และความดิ้นรน แล้ว จึงบรรลุปัจเจกโพธิญาณ ณ สถานที่ เกิดนั้นเอง ท่านวางอาญาในสรรพสัตว์ ไม่เบียดเบียนแม้ผู้หนึ่งในสัตว์ เหล่านั้น มีจิตประกอบด้วยเมตตา หวังประโยชน์เกื้อกูล เที่ยวไปผู้เดียว เปรียบเหมือนนอแรด ฉะนั้น ท่านวางอาญาในปวงสัตว์ ไม่เบียดเบียน แม้ผู้หนึ่งในสัตว์เหล่านั้น ไม่ปรารถนาบุตร ที่ไหนจะปรารถนาสหาย เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ความเสน่หาย่อมมีแก่บุคคล ผู้เกิดความเกี่ยวข้อง ทุกข์ที่อาศัยความเสน่หานี้มีมากมาย ท่านเล็งเห็น โทษอันเกิดแต่ความเสน่หา จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ผู้มีจิตพัวพัน ช่วยอนุเคราะห์มิตรสหาย ย่อมทำตนให้เสื่อมประโยชน์ ท่านมองเห็นภัยนี้ ในความสนิทสนม จึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ความเสน่หาในบุตรและภรรยา เปรียบเหมือนไม้ไผ่กอใหญ่เกี่ยว กันอยู่ ท่านไม่ข้องในบุตรและภริยา ดังหน่อไม้ไผ่ เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ท่านเป็นวิญญูชนหวังความเสรี จึงเที่ยวไป ผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น เหมือนเนื้อที่ไม่ถูกผูกมัด เที่ยวหาเหยื่อ ในป่าตามความปรารถนา ฉะนั้น ต้องมีการปรึกษากันในท่ามกลางสหาย ทั้งในที่อยู่ ที่บำรุง ที่ไป ที่เที่ยว ท่านเล็งเห็นความไม่โลภ ความเสรี จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น การเล่น (เป็น) ความยินดี มีอยู่ในท่ามกลางสหาย ส่วนความรักในบุตรเป็นกิเลสใหญ่ ท่านเกลียด ความวิปโยคเพราะของที่รัก จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ท่านเป็นผู้แผ่เมตตาไปในสี่ทิศ และไม่โกรธเคือง ยินดีด้วยปัจจัยตามมี ตามได้ เป็นผู้อดทนต่อมวลอันตรายได้ ไม่หวาดเสียว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น แม้บรรพชิตบางพวก และพวกคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน สงเคราะห์ได้ยาก ท่านเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยในบุตรคนอื่น จึงเที่ยว ไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ท่านปลงเครื่องปรากฏ (ละเพศ) คฤหัสถ์ กล้าหาญ ตัดกามอันเป็นเครื่องผูกของคฤหัสถ์ เปรียบเหมือน ไม้ทองหลางมีใบขาดหมด เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ถ้า จะพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน ประพฤติเช่นเดียวกัน อยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ พึงครอบงำอันตรายทั้งสิ้นเสียแล้ว พึงดีใจ มีสติเที่ยว ไปกับสหายนั้น ถ้าจะไม่ได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน ประพฤติเช่นเดียวกัน อยู่ด้วยกรรมดี เป็นนักปราชญ์ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนพระราชาทรง ละแว่นแคว้นที่ทรงชนะแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว ดังช้างมาตังคะ ละโขลง อยู่ในป่า ความจริง เราย่อมสรรเสริญสหายสมบัติ พึงซ่องเสพสหายที่ ประเสริฐกว่า หรือที่เสมอกัน (เท่านั้น) เมื่อไม่ได้สหายเหล่านี้ ก็พึง คบหากับกรรมอันไม่มีโทษ เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ท่าน เห็นกำไลมือทองคำอันผุดผ่องที่นายช่างทองทำสำเร็จสวยงาม กระทบกัน อยู่ที่แขนทั้งสอง จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น การเปล่ง วาจา หรือวาจาเครื่องข้องของเรานั้น พึงมีกับเพื่อนอย่างนี้ ท่านเล็งเห็น ภัยนี้ต่อไป จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ก็กามทั้งหลายอัน วิจิตร หวาน อร่อย เป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยสภาพต่างๆ ท่านเห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ความจัญไร หัวฝี อุบาทว์ โรค กิเลสดุจลูกศร และภัยนี้ ท่านเห็น ภัยนี้ในกามคุณทั้งหลาย จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ท่าน ครอบงำอันตรายแม้ทั้งหมดนี้ คือ หนาว ร้อน ความหิว ความกระหาย ลม แดด เหลือบ ยุง และสัตว์เลื้อยคลาน แล้วเที่ยวไปผู้เดียว เช่น กับนอแรด ฉะนั้น ท่านเที่ยวไปผู้เดียว เช่นนอแรด เปรียบเหมือน ช้างละโขลงไว้แล้ว มีขันธ์เกิดพร้อมแล้ว มีสีกายดังดอกปทุมใหญ่โต อยู่ในป่านานเท่าที่ต้องการ ฉะนั้น ท่านใคร่ครวญถ้อยคำของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ว่า บุคคลพึงถูกต้องวิมุติอันเกิดเองนี้ มิใช่ ฐานะของผู้ทำความคลุกคลีด้วยหมู่ จึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ท่านเป็นไปล่วงทิฏฐิอันเป็นข้าศึก ถึงความแน่นอน มีมรรคอัน ได้แล้ว เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลอื่นไม่ต้องแนะนำ เที่ยวไป ผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ท่านไม่มีความโลภ ไม่โกง ไม่กระหาย ไม่ลบหลู่คุณท่าน มีโมโหดุจน้ำฝาดอันกำกัดแล้ว เป็นผู้ไม่มีตัณหาในโลก ทั้งปวง เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น กุลบุตรพึงเว้นสหาย ผู้ลามก ผู้มักชี้อนัตถะ ตั้งมั่นอยู่ในฐานะผิดธรรมดา ไม่พึงเสพสหาย ผู้ขวนขวาย ผู้ประมาทด้วยตน พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น กุลบุตรพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม มีคุณยิ่ง มีปฏิภาณ ท่านรู้ ประโยชน์ทั้งหลาย บรรเทาความสงสัยแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับ นอแรด ฉะนั้น ท่านไม่พอใจในการเล่น ความยินดี และกามสุขในโลก ไม่เพ็งเล็งอยู่ คลายยินดีจากฐานะที่ตกแต่ง มีปกติกล่าวคำสัตย์ เที่ยวไป ผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ท่านละบุตร ภริยา บิดา มารดา ทรัพย์ ข้าวเปลือก เผ่าพันธ์ และกามทั้งหลายตามที่ตั้งลง เที่ยวไปผู้เดียว เช่น กับนอแรด ฉะนั้น ในความเกี่ยวข้องนี้มีความสุขนิดหน่อย มีความ พอใจน้อย มีทุกข์มากยิ่ง บุรุษผู้มีความรู้ทราบว่า ความเกี่ยวข้องนี้ ดุจลูก ธนู พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น กุลบุตรพึงทำลายสังโยชน์ ทั้งหลาย เปรียบเหมือนปลาทำลายข่าย แล้วไม่กลับมา ดังไฟไหม้เชื้อ ลามไปแล้วไม่กลับมา พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึง ทอดจักษุลง ไม่คะนองเท้า มีอินทรีย์อันคุ้มครองแล้ว รักษามนัส อัน ราคะไม่ชุ่มแล้ว อันไฟกิเลสไม่เผาลน พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงละเครื่องเพศคฤหัสถ์แล้ว ถึงความตัดถอน เหมือนไม้ทอง กวาวที่มีใบขาดแล้ว นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ไม่พึงทำความกำหนัดในรส ไม่โลเล ไม่ต้อง เลี้ยงผู้อื่น เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก มีจิตไม่ข้องเกี่ยวในสกุล เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงละนิวรณ์เครื่องกั้นจิต ๕ ประการ พึงบรรเทาอุปกิเลสเสียทั้งสิ้น ไม่อาศัยตัณหาและทิฏฐิ ตัดโทษ อันเกิดแต่สิเนหาแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงทำสุข ทุกข์ โทมนัสและโสมนัสก่อนๆ ไว้เบื้องหลัง ได้อุเบกขา สมถะ ความหมดจดแล้ว เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงปรารภ ความเพียรเพื่อบรรลุนิพพาน มีจิตไม่หดหู่ ไม่ประพฤติเกียจคร้าน มี ความเพียรมั่น (ก้าวออก) เข้าถึงด้วยกำลัง เรี่ยวแรง เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ไม่พึงละการหลีกเร้นและฌาน มีปกติประพฤติ ธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิตย์ พิจารณาเห็นโทษในภพทั้งหลาย เที่ยว ไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงปรารถนาความสิ้นตัณหา ไม่ ประมาท เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม มีการสดับ มีสติ มีธรรมอันพิจารณา แล้ว เป็นผู้เที่ยง มีความเพียร เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ไม่พึงสะดุ้งในเพราะเสียง ดังสีหะ ไม่ขัดข้อง อยู่ในตัณหาและทิฏฐิ เหมือนลมไม่ติดตาข่าย ไม่ติดอยู่ในโลก ดุจดอกปทุม ไม่ติดน้ำ พึง เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงเสพเสนาสนะอันสงัด เหมือนราชสีห์มีเขี้ยวเป็นกำลัง เป็นราชาของเนื้อ มีปกติประพฤติข่มขี่ ครอบงำ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงเจริญเมตตา วิมุติ กรุณาวิมุติ มุทิตาวิมุติ และอุเบกขาวิมุติทุกเวลา ไม่พิโรธด้วย สัตว์โลกทั้งปวง เที่ยวไปผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงละราคะ โทสะและโมหะ พึงทำลายสังโยชน์ทั้งหลายเสีย ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้น ชีวิต พึงเที่ยวไปแต่ผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น ชนทั้งหลายมีเหตุ เป็นประโยชน์ จึงคบหาสมาคมกัน มิตรทั้งหลายไม่มีเหตุ หาได้ยากใน วันนี้ มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามองประโยชน์ตน ไม่สะอาด พึงเที่ยวไป ผู้เดียว เช่นกับนอแรด ฉะนั้น พึงมีศีลบริสุทธิ์ มีปัญญาหมดจดดี มีจิตตั้งมั่น ประกอบความเพียร เจริญวิปัสสนา มีปกติเห็นธรรม วิเศษ พึงรู้แจ้งธรรมอันสัมปยุตด้วยองค์มรรคและโพชฌงค์ (พึงรู้แจ้ง องค์มรรคและโพชฌงค์) นักปราชญ์เหล่าใดเจริญสุญญตวิโมกข์ อนิมิตต- วิโมกข์ และอัปปณิหิตวิโมกข์ ไม่บรรลุความเป็นพระสาวกในศาสนา พระชินเจ้า นักปราชญ์เหล่านั้นย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกพุทธเจ้า มีธรรม ใหญ่ มีธรรมกายมาก มีจิตเป็นอิสระ ข้ามห้วงทุกข์ ทั้งมวลได้ มีจิต โสมนัส มีปกติเห็นประโยชน์อย่างยิ่ง เปรียบดังราชสีห์ เช่นกับนอแรด พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้ มีอินทรีย์ระงับ มีใจสงบ มีจิตมั่นคง มีปกติ ประพฤติด้วยความกรุณาในสัตว์เหล่าอื่น เกื้อกูลแก่สัตว์ รุ่งเรืองในโลกนี้ และโลกหน้า เช่นกับประทีป ปฏิบัติเป็นประโยชน์แก่สัตว์ พระปัจเจก พุทธเจ้าเหล่านี้ ละกิเลสเครื่องกั้นทั้งปวงหมดแล้ว เป็นจอมแห่งชน เป็นประทีปส่องโลกให้สว่าง เช่นกับรัศมีแห่งทองชมพูนุท เป็นทักขิไณย- บุคคลชั้นดีของโลก โดยไม่ต้องสงสัย บริบูรณ์อยู่เนืองนิตย์ คำสุภาษิต ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็นไปในโลกทั้งเทวโลก ชน เหล่าใดผู้เป็นพาลได้ฟังแล้ว ไม่ทำเหมือนดังนั้น ชนเหล่านั้นต้องเที่ยว ไปในสังขารทุกข์บ่อยๆ คำสุภาษิตของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็น คำไพเราะ ดังน้ำผึ้งรวงอันหลั่งออกอยู่ ชนเหล่าใดได้ฟังแล้ว ประกอบ การปฏิบัติตามนั้น ชนเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้มีปัญญา เห็นสัจจะ คาถาอัน โอฬารอันพระปัจเจกพุทธชินเจ้าออกบวชกล่าวแล้ว คาถาเหล่านั้น พระตถาคตผู้สีหวงศ์ศากยราชผู้สูงสุดกว่านรชน ทรงประกาศแล้ว เพื่อให้ รู้แจ้งธรรม คาถาเหล่านี้ พระปัจเจกเจ้าเหล่านั้นรจนาไว้อย่างวิเศษ เพื่อ ความอนุเคราะห์โลก อันพระสยัมภูผู้สีหะทรงประกาศแล้ว เพื่อยังความ สังเวช การไม่คลุกคลีและปัญญาให้เจริญ ฉะนี้แล.
จบ ปัจเจกพุทธาปทาน
จบ อปาทานที่ ๒
-----------------------------------------------------
สารีปุตตเถราปทานที่ ๓ (๑)
ว่าด้วยบุพจริยาของพระสารีบุตร
ลำดับนี้เชิญฟังเถราปทาน [๓] ในที่ไม่ไกลแต่หิมวันตประเทศ มีภูเขาชื่อลัมพกะเราสร้างอาศรมไว้อย่างดี สร้างบรรณศาลาไว้ใกล้ภูเขานั้น อาศรมของเราไม่ไกลจากฝั่งแม่น้ำอันไม่ลึก มีท่าน้ำราบเรียบเป็นที่รื่นรมย์ใจ เกลื่อนกล่นด้วยหาดทรายขาวสะอาด ที่ ใกล้อาศรมของเรานั้น มีแม่น้ำไม่มีก้อนกรวด ตลิ่งไม่ชัน น้ำจืดสนิท ไม่มีกลิ่นเหม็น ไหลไป ทำให้อาศรมของเรางาม ฝูงจระเข้ มังกร ปลา ฉลามและเต่า ว่ายน้ำเล่นอยู่ในแม่น้ำไหลไป ณ ที่ใกล้อาศรมของเรา ย่อมทำอาศรมของเราให้งาม ฝูงปลาสลาด ปลากระบอก ปลาสวาย ปลา เค้า ปลาตะเพียน ปลานกกระจอก ว่ายโลดกระโดดอยู่ ย่อมทำอาศรม ของเราให้งาม ที่สองฝั่งแม่น้ำ มีหมู่ไม้ดอก หมู่ไม้ผล ห้อยย้อมอยู่ ทั้งสองฝั่ง ย่อมทำอาศรมของเราให้งาม ไม้มะม่วง ไม้รัง หมากเม่า แคฝอย ไม้ยางทราย ส่งกลิ่นหอมอบอวลอยู่เป็นนิจ บานอยู่ใกล้อาศรม ของเรา ไม้จำปา ไม้อ้อยช้าง ไม้กระทุ่ม กถินพิมาน บุนนาค และ ลำเจียกมีกลิ่นหอมฟุ้งไปเป็นนิจ บานสะพรั่งอยู่ใกล้อาศรมของเรา ไม้ ลำดวน ต้นอโศก ดอกกุหลาบ บานสะพรั่ง อยู่ใกล้อาศรมของเรา ไม้บรู และมะกล่ำหลวง ดอกบานสะพรั่งอยู่ใกล้อาศรมของเรา การะเกด พยอมขาว พิกุล และมะลิซ้อน มีดอกหอมอบอวล ทำอาศรมของเรา ให้งาม ไม้เจตภังคี ไม้กรรณิการ์ ไม้ประดู่ และไม้อัญชัน มีมาก มีดอกหอมฟุ้งทำให้อาศรมของเรางาม มะนาว มะงั่ว และแคฝอย ดอก- บานสะพรั่งหอมตลบอบอวล ทำอาศรมของเราให้งาม ไม้ราชพฤกษ์อัญชัน เขียว ไม้กระทุ่มและพิกุลมีมาก ดอกหอมฟุ้งไป ทำอาศรมของเราให้งาม ถั่วดำ ถั่วเหลือง กล้วยและมะกรูด งอกงามด้วยน้ำหอม ออกผลสะพรั่ง ดอกปทุมอย่างอื่นบานเบ่ง ดอกบัวชนิดอื่นก็เกิดขึ้น บัวหลวงชนิดหนึ่ง ดอกร่วงพรู บานอยู่ในบึงกาลนั้น กอปทุมมีดอกตูม เหง้าบัวเลื้อยไป เสมอ กระจับเกลื่อนด้วยใบ งามอยู่ในบึงในกาลนั้น ไม้ตาเสือ จงกลณี ไม้อุตตรา และชบา กลิ่นหอมตลบไป ดอกบานอยู่ในบึงในกาลนั้น ฝูงปลาสลาด ปลากระบอก ปลาสวาย ปลาเค้า ปลาตะเพียน ปลาสังกุลา และปลารำพัน มีอยู่ในบึงในกาลนั้น ฝูงจระเข้ ปลาฉลาด ปลาฉนาก ผีเสื้อน้ำ และงูเหลือมใหญ่ที่สุด อยู่ในบึงนั้นในกาลนั้น ฝูงนกคับแค นกเป็ดน้ำ นกจากพราก (ห่าน) นกกาน้ำ นกคุเหว่า และสาลิกา อาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ใกล้สระนั้น ฝูงนกกวัก ไก่ป่า ฝูงนกกะลิงป่า นก ต้อยตีวิด นกแขกเต้า ย่อมอาศัยเลี้ยงชีวิต อยู่ใกล้สระนั้น ฝูงหงส์ นกกระเรียน นกยูง นกแขกเต้า ไก่งวง นกค้อนหอย และนกออก ย่อมอาศัยเลี้ยงชีวิต อยู่ใกล้สระนั้น ฝูงนกแสก โปฏฐสีสา นกเขา เหนี่ยว มีมาก และฝูงนกกาน้ำ ย่อมอาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ใกล้สระนั้น ฝูง เนื้อฟาน กวาง หมู หมาป่า หมาจิ้งจอกมีอยู่มาก ละมั่ง และเนื้อทราย ย่อมอาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ใกล้สระนั้น ราชสีห์ เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี หมาในกับเสือดาว โขลงช้าง แยกเป็นสามพวก อาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ใกล้ สระนั้น เหล่ากินร วานรและแม้คนทำการงานในป่า หมาไล่เนื้อ และ นายพราน ก็อาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ใกล้สระนั้น ต้นมะพลับ มะหาด มะซาง หมากเม่า เผล็ดผลทุกฤดูกาล อยู่ ณ ที่ใกล้อาศรมของเรา ต้นคำ ต้นสน กระทุ่ม สะพรั่งด้วยผล รสหวาน เผล็ดผลทุกฤดู อยู่ ณ ที่ใกล้อาศรม ของเรา ต้นสมอ มะขามป้อม ต้นหว้า สมอพิเภก กระเบา ไม้รกฟ้า และมะตูม เผล็ดผลเป็นนิตย์ เชือกเขา มันอ้อน ต้นนมแมว มันนก กะเบง และคัดมอน มีอยู่มากมายใกล้อาศรมของเรา ณ ที่ใกล้อาศรม ของเรานั้น มีสระที่ขุดไว้อย่างดี มีน้ำในเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบ เป็นที่รื่นรมย์ใจ ดาดาษด้วยบัวหลวง อุบลและบัวขาว เกลื่อนกลาดด้วย บัวขม บัวเผื่อน กลิ่นหอมตลบไป ในกาลนั้น เราเป็นดาบส ชื่อสุรุจิ เป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร มีปกติเพ่งฌาน ยินดีในฌานทุกเมื่อ บรรลุ ถึงอภิญญา ๕ และพละ ๕ อยู่ในอาศรมที่สร้างเรียบร้อย น่ารื่นรมย์ ใน ป่าอันบริบูรณ์ด้วยไม้ใบ ไม้ดอก และไม้ผลทุกสิ่งอย่างนี้ ศิษย์ ๒๔,๐๐๐ นี้แล เป็นพราหมณ์ทั้งหมด ผู้มีชาติ มียศ บำรุงเรา มวลศิษย์ของเรานี้ เป็นผู้เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ในตำราทำนายลักษณะ และในคัมภีร์ อิติหาสะ พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุและคัมภีร์เกฏภะ รู้จบไตรเพท บรรดา ศิษย์ของเราเป็นผู้ฉลาดในลางดีร้าย ในนิมิตดีร้าย และในลักษณะ ทั้งหลาย ศึกษาดี ในพื้นแผ่นดินและในอากาศ ศิษย์เหล่านี้มีความ ปรารถนาน้อย มีปัญญา กินหนเดียว ไม่โลภ สันโดษด้วยลาภและ ความเสื่อมลาภ บำรุงเราทุกเมื่อ เป็นผู้เพ่งฌาน ยินดีในฌาน เป็น นักปราชญ์ มีจิตสงบ ตั้งมั่น ปรารถนาความไม่มีกังวล บำรุงเราอยู่ ทุกเมื่อ เป็นผู้ถึงที่สุดอภิญญา ยินดีในอารมณ์อันเป็นโคจรของบิดา เที่ยวไปในอากาศ เป็นนักปราชญ์ บำรุงเราอยู่ทุกเมื่อ ศิษย์ของเราเหล่านั้น สำรวมในทวารทั้ง ๖ ไม่หวั่นไหว รักษาอินทรีย์ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ เป็นนักปราชญ์ หาผู้อื่นเสมอได้ยาก ศิษย์ของเราเหล่านั้นยับยั้งอยู่ด้วย การนั่งคู้บัลลังก์ การยืนและการเดินตลอดราตรี หาผู้อื่นเสมอได้ยาก มวลศิษย์ของเราไม่กำหนัด ในธรรมเป็นที่ตั้งความกำหนัด ไม่ขัดเคืองใน ธรรมเป็นที่ตั้งความขัดเคือง ไม่หลงในธรรมเป็นที่ตั้งความหลง หาผู้อื่น เสมอได้ยาก ศิษย์เหล่านั้นแผลงฤทธิ์ได้ต่างๆ ประพฤติอยู่เป็นนิตยกาล บันดาลให้แผ่นดินไหวก็ได้ ยากที่ใครๆ จะแข่งได้ ศิษย์เหล่านั้นเข้า ปฐมฌานเป็นต้น พวกหนึ่งไปยังอมรโคยานทวีป พวกหนึ่งไปยังปุพพวิเทห ทวีป พวกหนึ่งไปยังอุตตรกุรุทวีป ไปนำเอาผลหว้ามา ศิษย์ของเรา หา ผู้อื่นเสมอได้ยาก ศิษย์เหล่านั้นส่งหาบไปข้างหน้า ตนไปข้างหลัง ท้องฟ้า เป็นฐานะอันดาบส ๒๔,๐๐๐ ปกปิดแล้ว ศิษย์บางพวกปิ้งให้สุกด้วยไฟกิน บางพวกกินดิบๆ นั่นเอง บางพวกเอาฟันแทะเปลือกออกแล้วกิน บาง พวกซ้อมด้วยครกแล้วกิน บางพวกตำด้วยครกหินกิน บางพวกกินผลไม้ที่ หล่นเอง บางพวกชอบสะอาด ลงอาบน้ำทั้งเวลาเย็นและเช้า บางพวก เอาน้ำรดอาบ ศิษย์ของเราหาผู้อื่นเสมอได้ยาก ศิษย์ของเราปล่อยเล็บมือ เล็บเท้าและขนรักแร้งอกยาว ขี้ฟันเลอะเทอะ มีธุลีบนศีรษะ หอมด้วย กลิ่นศีล หาผู้อื่นเสมอได้ยาก ดาบสทั้งหลายมีตบะแรงกล้า ประชุมกัน ในเวลาเช้าแล้ว ไปประกาศลาภน้อยลาภมากในอากาศในกาลนั้น เมื่อ ดาบสนี้หลีกไป เสียงอันดังย่อมเป็นไป เทวดาทั้งหลายย่อมยินดีด้วยเสียง หนังสัตว์ ฤษีเหล่านั้นกล้าแข็งด้วยกำลังของตน เหาะไปในอากาศ ไปสู่ ทิศน้อยทิศใหญ่ตามปรารถนา ปวงฤาษีนี้แล ทำแผ่นดินให้หวั่นไหว เที่ยวไปในอากาศ มีเดชแผ่ไป ยากที่จะข่มขี่ได้ ดังสาครยากที่ใครๆ จะ ให้ขุ่นได้ ฤาษีศิษย์ของเราบางพวกประกอบการยืนและเดิน บางพวกไม่ นอน บางพวกกินผลไม้ที่หล่นเอง หาผู้อื่นเสมอได้ยาก ท่านเหล่านี้ มี ปกติอยู่ด้วยเมตตาแสวงหาประโยชน์ เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ไม่ยกย่องตน ทั้งหมด ไม่ติเตียนใครๆ ทั้งนั้น เป็นผู้ไม่สะดุ้ง ดังพระยาราชสีห์ มี กำลังเหมือนพระยาคชสาร ยากที่จะข่มได้ ดุจเสือโคร่ง ย่อมมาในสำนัก ของเรา พวกวิชาธร เทวดา นาค คนธรรพ์ ผีเสื้อน้ำ กุมภัณฑ์ อสูร และครุฑ ย่อมอาศัยเลี้ยงชีวิตอยู่ใกล้สระนั้น ศิษย์ของเราเหล่านั้น ทรง ชฎา เลี้ยงชีวิตด้วยผลไม้และเหง้ามัน นุ่งห่มหนังสัตว์ เที่ยวไปในอากาศ ได้ทุกตน อยู่ใกล้สระนั้น ในกาลนั้น ศิษย์เหล่านี้เป็นผู้สมควร มีความ เคารพกันและกัน เสียงไอจามของศิษย์ทั้ง ๒๔,๐๐๐ ย่อมไม่มี ท่านเหล่านี้ ซ้อนเท้าบนเท้า เงียบเสียง สังวรดี เข้ามาไหว้ เราด้วยเศียรเกล้า ทั้งหมดนั้น เราผู้เพ่งฌาน ยินดีในฌาน ห้อมล้อมด้วยศิษย์เหล่านั้น ผู้สงบระงับ มีตบะ อยู่ในอาศรมนั้น อาศรมของเรามีกลิ่นหอมด้วยกลิ่น ศีลของเหล่าฤาษีและด้วยกลิ่นสองอย่าง คือ กลิ่นดอกไม้และกลิ่นผลไม้ เราไม่รู้สึกตลอดคืนตลอดวัน ความไม่ยินดีไม่มีแก่เรา เราสั่งสอนบรรดา ศิษย์ของตน ย่อมได้ความร่าเริงอย่างยิ่ง เมื่อดอกไม้ทั้งหลายบาน และ เมื่อผลไม้ทั้งหลายสุก กลิ่นหอมตลบอบอวล ทำอาศรมของเราให้งาม เราออกจากสมาธิแล้ว มีความเพียร มีปัญญาถือเอาภาระคือหาบ เข้าป่า ในกาลนั้น เราศึกษาชำนาญในลางดีลางร้าย ฝันดีฝันร้าย และตำราทำนาย ลักษณะ ทรงลักษณมนต์อันกำลังเป็นไป พระผู้มีพระภาคพระนามว่า อโนมทัสสี เป็นผู้ประเสริฐในโลก เป็นนระผู้องอาจ ทรงใคร่วิเวก เป็น สัมพุทธเจ้า เข้าไปยังป่าหิมวันต์ พระองค์ผู้เลิศ เป็นมุนีประกอบด้วย กรุณา เป็นอุดมบุรุษ เสด็จเข้าป่าหิมวันต์แล้ว ทรงนั่งคู้บัลลังก์ เราได้ เห็นพระสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น มีรัศมีสว่างจ้า น่ารื่นรมย์ใจ ดังดอกบัว เขียว ทรงรุ่งเรืองควรบูชา ดังกองไฟ เราได้เห็นพระนายกของโลก ทรงรุ่งโรจน์ดุจดวงไฟ เหมือนสายฟ้าในอากาศ เช่นกับพระยารังมีดอก- บานสะพรั่ง เพราะอาศัยการได้เห็นพระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ เป็นมหาวีระ ทรงทำที่สุดทุกข์ เป็นมุนีนี้ ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ครั้นเราได้เห็น พระผู้มีพระภาคผู้เป็นเทวดาล่วงเทวดาแล้ว ได้ตรวจดูลักษณะว่าเป็น พระพุทธเจ้าหรือมิใช่ ผิฉะนั้นเราจะดูพระผู้มีพระภาคผู้มีจักษุ เราได้เห็น จักรมีกำพันหนึ่งที่พื้นฝ่าพระบาท ครั้นได้เห็นพระลักษณะของพระองค์แล้ว จึงถึงความตกลงในพระตถาคตในกาลนั้น เราจับไม้กวาดกวาดที่นั้นแล้ว ได้นำเอาดอกไม้ ๘ ดอกมาบูชาพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ครั้นบูชาพระ- พุทธเจ้าผู้ข้ามโอฆะไม่มีอาสวะนั้นแล้ว ทำหนังสัตว์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นมัสการพระนายกของโลก พระสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีอาสวะ ทรงอยู่ด้วย พระญาณใด เราจักประกาศพระญาณนั้น ท่านทั้งหลายจงฟังคำเรากล่าว พระสยัมภูผู้มีความเจริญมากที่สุด ทรงถอนสัตว์โลกนี้แล้ว สัตว์เหล่านั้น อาศัยการได้เห็นพระองค์ ย่อมข้ามกระแสน้ำคือความสงสัยได้ พระองค์ เป็นพระศาสดา เป็นยอด เป็นธงไชย เป็นหลัก เป็นร่มเงา เป็นที่พึ่ง เป็นประทีปส่องทาง เป็นพระพุทธเจ้าของสัตว์ทั้งหลาย น้ำในสมุทรอาจ ประมาณได้ด้วยมาตราดวง แต่ใครๆ ไม่อาจประมาณพระสัพพัญญุตญาณ ของพระองค์ได้เลย เอาดินมาชั่งดูแล้วอาจประมาณแผ่นดินได้ แต่ใครๆ ไม่อาจประมาณพระสัพพัญญุตญาณของพระองค์ได้เลย อาจวัดอากาศได้ ด้วยเชือก หรือด้วยนิ้วมือ แต่ใครๆ ไม่อาจประมาณพระสัพพัญญุตญาณ ของพระองค์ได้เลย พึงประมาณลำน้ำในมหาสมุทรและแผ่นดินทั้งหมดได้ แต่จะถือเอาพระพุทธญาณมาประมาณนั้นไม่ควร ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ จิตของสัตวโลกพร้อมทั้งเทวโลก ย่อมเป็นไป สัตว์เหล่านี้เข้าไปภายใน ข่าย คือ พระญาณของพระองค์ พระองค์ทรงบรรลุโพธิญาณอันอุดม สิ้นเชิงด้วยพระญาณใด พระสัพพัญญูก็ทรงย่ำยีอัญเดียรถีย์ด้วยพระญาณ นั้น ท่านสุรุจิ ดาบสกล่าวชมเชยด้วยคาถาเหล่านี้แล้ว ปูลาดหนังเสือ บนแผ่นดินแล้วนั่งอยู่ ท่านกล่าวไว้ในบัดนี้ว่า ขุนเขาสูงสุดหยั่งลงใน ห้วงมหรรณพ ๘๔๐๐๐ โยชน์ ขุนเขาสิเนรุทั้งด้านยาวและด้านกว้าง สูงสุด เพียงนั้น ทำให้ละเอียดได้ด้วยประเภทการนับว่าแสนโกฏิ เมื่อตั้งเครื่อง หมายไว้ พึงถึงความสิ้นไป แต่ใครๆ ไม่อาจประมาณพระสัพพัญญุตญาณ ของพระองค์ได้เลย ผู้ใดพึงเอาข่ายตาเล็กๆ ล้อมน้ำไว้ สัตว์น้ำบางเหล่า พึงเข้าไปภายในข่ายของผู้นั้น ข้าแต่พระมหาวีระ เดียรถีย์ผู้มีกิเลสหนา บางพวกก็ฉันนั้น แล่นไปถือเอาทิฏฐิผิด หลงอยู่ด้วยการลูบคลำ เดียรถีย์ เหล่านี้เข้าไปภายในข่าย ด้วยพระญาณอันบริสุทธิ์อันแสดงว่าไม่มีอะไร ห้ามได้ของพระองค์ ไม่ล่วงพระญาณของพระองค์ไปได้ ก็สมัยนั้น พระผู้ มีพระภาค พระนามว่าอโนมทัสสี ผู้มียศใหญ่ ทรงชำนะกิเลส เสด็จออก จากสมาธิแล้วทรงตรวจดูทิศ พระอัครสาวกนามว่า นิสภะ ของพระมุนี พระนามว่าอโนมทัสสี ทราบพระดำริของพระพุทธเจ้าแล้ว อันพระขีณาสพ หนึ่งแสน ผู้มีจิตสงบระงับ มั่นคง บริสุทธิ์สะอาด ได้อภิญญา ๖ คงที่ แวดล้อมแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้นายกของโลก ท่านเหล่านั้นอยู่ บนอากาศ ได้ทำประทักษิณพระผู้มีพระภาคแล้วลงมาประนมอัญชลี นมัส- การอยู่ในสำนักพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาค พระนามอโนมทัสสี เชฏฐ- บุรุษของโลก เป็นนระอาจหาญ ทรงชำนะกิเลส ประทับนั่งท่ามกลางภิกษุ สงฆ์ ทรงยิ้มแย้ม ภิกษุนามว่าวรุณ อุปัฏฐากของพระศาสดาพระนามว่า อโนมทัสสี ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว ทูลถามพระผู้มีพระภาคผู้นายก ของโลกว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อะไรเป็นเหตุให้พระศาสดาทรงยิ้มแย้ม หนอ อันพระพุทธเจ้าย่อมไม่ทรงยิ้มแย้ม เพราะไม่มีเหตุ พระผู้มีพระภาค ทรงพระนามว่าอโนมทัสสีเชษฐบุรุษของโลก เป็นนระองอาจ ประทับนั่ง ในท่ามกลางภิกษุแล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า ผู้ใดบูชาเราด้วยดอกไม้ และ เชยชมญาณของเรา เราจักประกาศผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว เทวดาทั้งปวง พร้อมทั้งมนุษย์ ทราบพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแล้ว ประสงค์จะฟังพระสัทธรรม จึงพากันมาเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า หมู่ทวยเทพ ผู้มีฤทธิ์มากในหมื่นโลกธาตุ ประสงค์จะฟังพระสัทธรรม จึงพากันมาเฝ้า พระสัมพุทธเจ้า จตุรงคเสนา คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า จักแวดล้อมผู้นี้เป็นนิจ นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระพุทธเจ้า ดนตรีหกหมื่น กลองที่ประดับสวยงาม จักบำรุงผู้นี้เป็นนิจ นี้เป็นผลแห่งการบูชาพระ- พุทธเจ้า หญิงล้วนแต่สาวๆ หกหมื่น ประดับประดาสวยงาม มีผ้าและ เครื่องอาภรณ์อันวิจิตร สวมแก้วมณี และกุณฑล มีหน้าแฉล้ม ยิ้มแย้ม ตะโพกผายไหล่ผึ่ง เอวเล็กเอวกลม จักห้อมล้อมผู้นี้เป็นนิจ นี้เป็นผล แห่งการบูชาพระพุทธเจ้า ผู้นี้จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอดแสนกัลป์ จัก ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชในแผ่นดินพันครั้ง จักเป็นจอมเทวดาเสวย ราชสมบัติในเทวโลกพันครั้ง จักเป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์นับ ไม่ถ้วน ครั้นถึงภพที่สุด ถึงความเป็นมนุษย์ จักคลอดจากครรภ์แห่งนาง พราหมณีชื่อสารี นระนี้จักปรากฏตามชื่อและโคตรของมารดา โดยชื่อว่า สารีบุตร จักมีปัญญาคมกล้า จักเป็นผู้ไม่มีกังวล ละทิ้งทรัพย์ประมาณ ๘๐ โกฏิแล้วออกบวช จักเที่ยวแสวงหาสันติบททั่วแผ่นดินนี้ สกุล โอกกากะสมภพ ในกัลป์อันประมาณมิได้ แต่กัลป์นี้ พระศาสดาทรง พระนามว่าโคดมโดยพระโคตร จักมีในโลก ผู้นี้จักเป็นโอรสทายาทใน ธรรมของพระศาสดาพระองค์นั้น อันธรรมนิรมิตแล้ว จักได้เป็นพระอัคร สาวกมีนามว่าสารีบุตร แม่น้ำคงคาชื่อภาคีรสีนี้ ไหลมาแต่ประเทศหิมวันต์ ย่อมไหลไปถึงมหาสมุทรยังห้วงน้ำใหญ่ให้เต็ม ฉันใด พระสารีบุตรนี้ก็ ฉันนั้น เป็นผู้อาจหาญ แกล้วกล้าในประเภทสาม ถึงที่สุดแห่งปัญญา บารมี จักยังสัตว์ทั้งหลายให้อิ่มหนำสำราญ ตั้งแต่ภูเขาหิมวันต์จนถึงมหา สมุทรสาคร ในระหว่างนี้ โดยจะนับทรายนั้นนับไม่ถ้วน การนับทราย แม้นั้น ก็อาจนับได้โดยไม่เหลือ ฉันใด ที่สุดแห่งปัญญาของพระสารี- บุตรจักไม่มี ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อตั้งคะแนนไว้ ทรายในแม่น้ำคงคาพึง สิ้นไป ฉันใด แต่ที่สุดแห่งปัญญาของพระสารีบุตรจักไม่เป็นฉันนั้นเลย คลื่นในมหาสมุทรโดยจะนับก็นับไม่ถ้วน ฉันใด ที่สุดแห่งปัญญาของ พระสารีบุตรจักไม่มี ฉันนั้นเหมือนกัน พระสารีบุตร ยังพระสัมพุทธเจ้า ผู้ศากยโคดมสูงสุดให้โปรดปรานแล้ว จักได้เป็นพระอัครสาวกถึงที่สุด แห่งปัญญา จักยังธรรมจักรที่พระผู้มีพระภาคศากยบุตรให้เป็นไปแล้ว ให้ เป็นไปตามโดยชอบ จักยังเมล็ดฝน คือ ธรรมให้ตกลง พระโคดมผู้ ศากยสูงสุดทรงทราบข้อนั้นทั้งมวลแล้ว จักประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุ สงฆ์ ทรงตั้งไว้ในตำแหน่งอัครสาวก โอ กุศลกรรมเราได้ทำแล้ว เราได้ ทำการบูชาพระศาสดาพระนามว่าอโนมทัสสีด้วยดอกไม้แล้ว ได้ถึงที่สุด ในที่ทุกแห่ง กรรมที่เราทำแล้วประมาณไม่ได้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ผลแก่เรา ณ ที่นี้ เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว เปรียบเหมือนกำลังลูกศรอัน พ้นแล้วด้วยดี เรานี้แสวงหาบทอันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ดับสนิท ไม่หวั่นไหว ค้นหาลัทธิทั้งปวงอยู่ ท่องเที่ยวไปแล้วในภพ คนเป็นไข้พึงแสวงหาโอสถ ต้องสั่งสมทรัพย์ไว้ทุกอย่างเพื่อพ้นจากความป่วยไข้ ฉันใด เราก็ฉันนั้น แสวงหาบทอันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ดับสนิท ไม่หวั่นไหว ได้บวชเป็นฤาษี ห้าร้อยครั้งไม่คั่นเลย เราทรงชฎาเลี้ยงชีวิตด้วยหาบคอน นุ่งห่มหนังเสือ ถึงที่สุดอภิญญาแล้ว ได้ไปสู่พรหมโลก ความบริสุทธิ์ในลัทธิภายนอก ไม่มี เว้นศาสนาของพระชินเจ้า สัตว์ผู้มีปัญญาทั้งปวง ย่อมบริสุทธิ์ ได้ในศาสนาของพระชินเจ้า ฉะนั้น เราจึงไม่นำเรานี้ผู้ใคร่ประโยชน์ไปใน ลัทธิภายนอก เราแสวงหาบท อันปัจจัยไม่ปรุงอยู่ เที่ยวไปสู่ลัทธิอันผิด บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ พึงตัดต้นกล้วยแล้วผ่าออก ก็ไม่พึงได้แก่นไม้ใน ต้นกล้วยนั้น เพราะมันว่างจากแก่น ฉันใด คนในโลก ผู้เป็นเดียรถีย์ เป็นอันมาก มีทิฏฐิต่างกัน ก็ฉันนั้น คนเหล่านั้นเป็นผู้ว่างเปล่าจาก อสังขตบท เหมือนต้นกล้วยว่างเปล่าจากแก่น ฉะนั้น ครั้นเมื่อภพถึงที่ สุดแล้ว เราได้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพราหมณ์ เราละทิ้งโภคสมบัติเป็นอันมาก แล้วออกบวชเป็นบรรพชิต.
จบ ปฐมภาณวาร ฯ
ข้าพระองค์อยู่ในสำนักพราหมณ์นามว่าสัญชัย ซึ่งเป็นผู้เล่าเรียน ทรง จำมนต์ รู้จบไตรเพท ข้าแต่พระมหาวีระ พราหมณ์ชื่ออัสสชิสาวกของ พระองค์ หาผู้เสมอได้ยาก มีเดชรุ่งเรือง เที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกาลนั้น ข้าพระองค์ได้เห็นท่านผู้มีปัญญา เป็นมุนี มีจิตตั้งมั่นในความเป็นมุนี มีจิตสงบระงับ เป็นมหานาคแย้มบานดังดอกประทุม ครั้นข้าพระองค์เห็น ท่านผู้มีอินทรีย์ฝึกดีแล้ว มีใจบริสุทธิ์ องอาจประเสริฐ มีความเพียร จึงเกิดความคิดว่า ท่านผู้นี้จักเป็นพระอรหันต์ ท่านผู้นี้มีอิริยาบถน่า เลื่อมใส มีรูปงาม สำรวมดี จักเป็นผู้ฝึกแล้วในอุบายเครื่องฝึกอันสูงสุด จักเป็นผู้เห็นอมตบท ผิฉะนั้น เราเราพึงถามท่านผู้มีใจยินดีถึงประโยชน์ อันสูงสุด หากเราถามแล้ว ท่านจักตอบ เราจักสอบถามท่านอีก ข้าพระองค์ได้ตามไปข้างหลังของท่านซึ่งกำลังเที่ยวบิณฑบาต รอคอย โอกาสอยู่ เพื่อจะสอบถามอมตบท ข้าพระองค์เข้าไปหาท่านซึ่งพักอยู่ใน ระหว่างถนน แล้วได้ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เนียรทุกข์ มีความเพียร ท่าน มีโคตรอย่างไร ท่านเป็นศิษย์ของใคร ท่านอันข้าพระองค์ถามแล้ว ไม่ ครั่นคร้ามดังพระยาไกรสร พยากรณ์ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วใน โลก ฉันเป็นศิษย์ของพระองค์จ๊ะ ท่านผู้มีความเพียรใหญ่ผู้เกิดตามมียศ มาก ศาสนธรรมแห่งพระพุทธเจ้าของท่านเช่นไร ขอได้โปรดบอกแก่ ข้าพเจ้าเถิดท่าน ข้าพระองค์ถามแล้ว ท่านกล่าวบทอันลึกซึ้งละเอียด ทุกอย่าง เป็นเครื่องฆ่าลูกศร คือ ตัณหา เป็นเครื่องบรรเทาความทุกข์ ทั้งมวล ว่าธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตเจ้าตรัสเหตุแห่ง ธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะเจ้ามีปกติ ตรัสอย่างนี้จ๊ะ เมื่อท่านอัสสชิแก้ปัญหาแล้ว ข้าพระองค์นั้นได้บรรลุผล ที่หนึ่ง เป็นผู้ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เพราะได้ฟังคำสอนของ พระพุทธเจ้า ข้าพระองค์ได้ฟังคำของท่านมุนีได้เห็นธรรมอันสูงสุด จึง หยั่งลงสู่พระสัทธรรม ได้กล่าวคาถานี้ว่า ธรรมนี้แล เหมือนบทอันมี สภาพเห็นประจักษ์ ไม่มีความโศก ข้าพระองค์ไม่ได้เห็นล่วงเลยไปแล้ว หลายหมื่นกัลป์ ข้าพระองค์แสวงหาธรรมอยู่ ได้เที่ยวไปในลัทธิผิด ประโยชน์นั้นข้าพระองค์บรรลุแล้ว ไม่ใช่กาลที่เราจะประมาท ข้าพระองค์ อันท่านพระอัสสชิให้ยินดีแล้ว บรรลุบทอันไม่หวั่นไหวแสวงหาสหายอยู่ จึงได้ไปยังอาศรม สหายเห็นข้าพระองค์แต่ไกลทีเดียว อันข้าพระองค์ให้ ศึกษาดีแล้ว ถึงพร้อมด้วยอิริยาบถ ได้กล่าวคำนี้ว่า ท่านเป็นผู้มีหน้าและ ตาอันผ่องใส ย่อมจะเห็นความเป็นมุนีแน่ ท่านได้บรรลุอมตบทอันดับ สนิทไม่เคลื่อนแลหรือ ท่านมีรูปงามราวกะว่ามีความไม่หวั่นไหวอันได้ทำ แล้ว มาแล้ว ฝึกแล้วในอุบายอันฝึกแล้ว เป็นผู้สงบระงับแล้วหรือ พราหมณ์ เราได้บรรลุอมตบท อันเป็นเครื่องบรรเทาลูกศร คือ ความโศก แล้ว แม้ท่านก็จงบรรลุอมตบทนั้น เราไปสำนักพระพุทธเจ้ากันเถิด สหายผู้อันข้าพระองค์ให้ศึกษาดีแล้ว รับคำแล้ว ได้จูงมือพากันเข้ามา ยังสำนักของพระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้ศากโยรส แม้ข้าพระองค์ทั้งสอง จักบวชในสำนักของพระองค์ จักขออาศัยคำสอนของพระองค์ เป็นผู้ไม่มี อาสวะอยู่ ท่านโกลิตะเป็นผู้ประเสริฐด้วยฤทธิ์ ข้าพระองค์ถึงที่สุดแห่ง ปัญญา เราทั้งสองจะร่วมกันทำพระศาสนาให้งาม เรามีความดำริยังไม่ถึง ที่สุด จึงเที่ยวไปในลัทธิผิด เพราะได้อาศัยทัสสนะของท่าน ความดำริ ของเราจึงเต็ม ต้นไม้ตั้งอยู่บนแผ่นดิน มีดอกบานตามฤดูกาล ส่งกลิ่น หอมตลบอบอวล ยังสัตว์ทั้งปวงให้ยินดี ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรศากโยรส ผู้มียศใหญ่ ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น ดำรงอยู่ในศาสนธรรมของพระองค์แล้ว ย่อมเบ่งบานในสมัย ข้าพระองค์แสวงหาดอกไม้ คือ วิมุติ เป็นที่พ้น ภพสงสาร ย่อมยังสัตว์ทั้งปวงให้ยินดี ด้วยการให้ได้ดอกไม้ คือ วิมุติ ข้าแต่พระองค์ผู้มีจักษุ เว้นพระมหามุนีแล้วตลอดพุทธเขต ไม่มีใครเสมอ ด้วยปัญญาแห่งข้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นบุตรของพระองค์ ศิษย์และบริษัทของ พระองค์ พระองค์แนะนำดีแล้ว ให้ศึกษาดีแล้ว ฝึกแล้วในอุบายเครื่อง ฝึกจิตอันสูงสุด ย่อมแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ ท่านเหล่านั้นเพ่งญาณ ยินดีในญาณ เป็นนักปราชญ์ มีจิตสงบ ตั้งมั่นเป็นมุนี ถึงพร้อมด้วย ความเป็นมุนี ย่อมแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ ท่านเหล่านั้นมีความ ปรารถนาน้อย มีปัญญาเป็นนักปราชญ์ มีอาหารน้อย ไม่โลเล ยินดีทั้ง ลาภและความเสื่อมลาภ ย่อมแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ ท่านเหล่านั้น ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ยินดีธุดงค์ เพ่งฌาน มีจีวรเศร้าหมอง ยินดียิ่งใน วิเวก เป็นนักปราชญ์ ย่อมแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ ท่านเหล่านั้น เป็นผู้ปฏิบัติตั้งอยู่ในผล เป็นพระเสขะ พรั่งพร้อมด้วยผล หวังผล ประโยชน์อันอุดม ย่อมแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ ทั้งท่านที่เป็นโสดาบัน ทั้งที่เป็นพระสกทาคามี อนาคามี และอรหันต์ ปราศจากมลทิน ย่อม แวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ สาวกของพระองค์เป็นอันมาก ฉลาดในสติ- ปัฏฐาน ยินดีในโพชฌงคภาวนา ทุกท่าน ย่อมแวดล้อมพระองค์ทุกเมื่อ ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ฉลาดในอิทธิบาท ยินดีในสมาธิภาวนา หมั่นประกอบ ในสัมมัปปธาน ย่อมแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ ท่านเหล่านั้นมีวิชชา ๓ มีอภิญญา ๖ ถึงที่สุดแห่งฤทธิ์ ถึงที่สุดแห่งปัญญา ย่อมแวดล้อมพระองค์ อยู่ทุกเมื่อ ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า บรรดาศิษย์ของพระองค์เช่นนี้แลหนอ ศึกษาดีแล้ว หาผู้เสมอได้ยาก มีเดชรุ่งเรืองแวดล้อมพระองค์อยู่ทุกเมื่อ พระองค์อันศิษย์เหล่านั้นผู้สำรวมแล้ว มีตบะแวดล้อมแล้วไม่ครั่นคร้าม ดังราชสีห์ ย่อมงดงามดุจพระจันทร์ ต้นไม้ตั้งอยู่บนแผ่นดินแล้วย่อม งาม ถึงความไพบูลย์ และย่อมเผล็ดผล ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้ศาก- บุตร ผู้มียศใหญ่ พระองค์เป็นเช่นกับแผ่นดิน ศิษย์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ตั้งอยู่ในศาสนาของพระองค์แล้ว ย่อมได้อมฤตผล แม่น้ำสินธู แม่น้ำ สรัสสดี แม่น้ำจันทภาคา แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำสรภู และ แม่น้ำมหี เมื่อแม่น้ำเหล่านั้นไหลมา สาครย่อมรับไว้หมด แม่น้ำเหล่านี้ ย่อมละชื่อเดิม ย่อมปรากฏเป็นสาครนั้นเอง ฉันใด วรรณ ๔ เหล่านี้ก็ ฉันนั้น บวชแล้วในสำนักของพระองค์ ย่อมละชื่อเดิมทั้งมวล ปรากฏว่า เป็นบุตรของพระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนดวงจันทร์อันปราศจากมลทิน โคจรอยู่ในอากาศ ย่อมรุ่งโรจน์ล่วงมวลหมู่ดาวในโลกด้วยรัศมี ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า พระองค์ก็ฉันนั้น อันศิษย์ทั้งหลายแวดล้อมแล้ว ย่อมรุ่งเรือง ก้าวล่วงเทวดาและมนุษย์ตลอดพุทธเขตทุกเมื่อ คลื่นตั้งขึ้น ในน้ำอันลึก ย่อมไม่ล่วงเลยฝั่งไปได้ คลื่นเหล่านั้นกระทบทั่วฝั่ง ย่อม เป็นระลอกเล็กน้อย เรี่ยรายหายไป ฉันใด ชนในโลกเป็นอันมากผู้เป็น เดียรถีย์ก็ฉันนั้น มีทิฏฐิต่างๆ กัน ต้องการจะข้ามธรรมของพระองค์ แต่ก็ไม่ล่วงเลยพระองค์ผู้เป็นมุนีไปได้ ข้าแต่พระองค์มีพระจักษุ ก็ถ้าชน เหล่านั้นมาถึงพระองค์ด้วยความประสงค์จะคัดค้าน เข้ามายังสำนักของ พระองค์แล้ว ย่อมกลายเป็นจุรณไป เปรียบเหมือนดอกโกมุท บัวขม และบัวเผื่อนเป็นอันมาก เกิดในน้ำ ย่อมเอิบอาบ (ฉาบ) อยู่ด้วยน้ำ และเปือกตม ฉันใด สัตว์เป็นอันมากก็ฉันนั้น เกิดแล้วในโลก ย่อม งอกงาม ไม่อิ่มด้วยราคะและโทสะ เหมือนดอกกุมุทในเปือกตม ฉะนั้น ดอกบัวหลวงเกิดในน้ำ ย่อมไพโรจน์ในท่ามกลางน้ำ มันมีเกษรบริสุทธิ์ ไม่ติดอยู่ด้วยน้ำ ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า พระองค์ก็ฉันนั้น เป็น มหามุนีเกิดแล้วในโลก ไม่ติดอยู่ด้วยโลก ดังดอกปทุมไม่ติดด้วยน้ำ ฉะนั้น เปรียบเหมือนดอกไม้อันเกิดในน้ำเป็นอันมาก ย่อมบานในเดือน กัตติกมาส ไม่พ้นเดือนนั้นไป สมัยนั้นเป็นสมัยดอกไม้น้ำบาน ฉันใด ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร พระองค์ก็ฉันนั้น เป็นผู้บานแล้วด้วยวิมุติ ของพระองค์ สัตว์ทั้งหลายไม่ล่วงเลยศาสนาของพระองค์ ดังดอกบัวเกิด ในน้ำย่อมบานไม่พ้นเดือนกัตติกมาส ฉะนั้น เปรียบเหมือนพระยาไม้รัง ดอกบานสะพรั่ง กลิ่นหอมตลบไป อันไม้รังอื่นแวดล้อมแล้วย่อมงามยิ่ง ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า พระองค์ก็ฉันนั้น บานแล้วด้วยพระพุทธ- ญาณ อันภิกษุสงฆ์แวดล้อมแล้ว ย่อมงามเหมือนพระยาไม้รัง ฉะนั้น เปรียบเหมือนภูเขาหินหิมวา เป็นโอสถของปวงสัตว์ เป็นที่อยู่ของพวก นาค อสูร และเทวดาทั้งหลาย ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า พระองค์ ก็ฉันนั้น เป็นโอสถของมวลสัตว์ ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า บุคคลผู้บรรลุ เตวิชชา บรรลุอภิญญา ๖ ถึงที่สุดแห่งฤทธิ์ ผู้ที่พระองค์ทรงพระกรุณา พร่ำสอนแล้ว ย่อมยินดีด้วยความยินดีในธรรม ย่อมอยู่ในศาสนาของ พระองค์ เปรียบเหมือนราชสีห์ผู้พระยาเนื้อ ออกจากถ้ำที่อยู่แล้วเหลียว ดูทิศทั้ง ๔ แล้วบันลือสีหนาท ๓ ครั้ง เมื่อราชสีห์คำราม เนื้อทั้งปวง ย่อมสะดุ้ง แท้จริง ราชสีห์ผู้มีชาตินี้ ย่อมยังสัตว์เลี้ยงให้สะดุ้งทุกเมื่อ ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่ พสุธานี้ย่อม หวั่นไหว สัตว์ผู้ควรจะตรัสรู้ย่อมตื่น หมู่มารย่อมสะดุ้งฉันนั้น ข้าแต่ พระมหามุนี เมื่อพระองค์ทรงบันลืออยู่ ปวงเดียรถีย์ย่อมสะดุ้ง ดังฝูงกา เหยี่ยวและเนื้อ วิ่งกระเจิงเพราะราชสีห์ ฉะนั้น ผู้เป็นเจ้าคณะทั้งปวง ชนทั้งหลายเรียกว่าเป็นพระศาสดาในโลก ท่านเหล่านั้น ย่อมแสดง ธรรมอันสืบๆ กันมาแก่บริษัท ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า ส่วนพระองค์ไม่ ทรงแสดงธรรมแก่มวลสัตว์อย่างนั้น ตรัสรู้สัจจะทั้งหลายและพระโพธิปัก- ขิยธรรมด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงทราบอัธยาศัย กิเลส อินทรีย์ พละ และมิใช่พละ ทรงทราบภัพบุคคลและอภัพบุคคลแล้ว จึงทรงบันลือ เหมือนมหาเมฆ บริษัทพึงนั่งอยู่เต็มตลอดที่สุดจักรวาล มีทิฏฐิต่างๆ กัน คิดต่างๆ กัน เพื่อจะทรงตัดความสงสัยของบริษัทเหล่านั้น พระองค์ผู้ เป็นมุนี ทรงทราบจิตของบริษัททั้งปวง ทรงฉลาดในข้ออุปมาตรัสแก้ ปัญหาข้อเดียวเท่านั้น ก็ทรงตัดความสงสัยของสัตว์ทั้งหลายได้ แผ่นดิน พึงเต็มด้วยต้นไม้ หญ้า (และมนุษย์) ทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหมดนั้น ประนมมืออัญชลีสรรเสริญพระองค์ผู้นายกโลก หรือว่าเขาเหล่านั้น สรรเสริญอยู่ตลอดกัลป์ พึงสรรเสริญด้วยคุณต่างๆ ก็ไม่สรรเสริญคุณให้ สิ้นสุดประมาณได้ พระตถาคตเจ้ามีพระคุณหาประมาณมิได้ ด้วยว่า พระมหาชินเจ้า อันใครๆ สรรเสริญและด้วยกำลังของตนเหมือนอย่างนั้น ชนทั้งหลายสรรเสริญจนที่สุดกัลป์ ก็พึงสรรเสริญอย่างนี้ๆ ถ้าแหละว่า ใครๆ เป็นเทวดาหรือมนุษย์ผู้ศึกษาดีแล้ว พึงสรรเสริญให้สุดประมาณ ผู้นั้นก็พึงได้ความลำบากเท่านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยบุตร มียศมาก ข้าพระองค์ตั้งอยู่ในศาสนาของพระองค์ ถึงที่สุดแห่งปัญญาแล้ว เป็นผู้หา อาสวะมิได้อยู่ ข้าพระองค์จะย่ำยีพวกเดียรถีย์ ยังศาสนาของพระชินเจ้า ให้เป็นไป วันนี้เป็นวันธรรมเสนาบดี ในศาสนาของพระผู้มีพระภาค ศากยบุตร กรรมที่ข้าพระองค์ทำแล้วหาประมาณมิได้ แสดงผลแก่ข้า พระองค์ ณ ที่นี้ ข้าพระองค์เผากิเลสได้แล้ว ดังกำลังลูกศรพ้นดีแล้ว มนุษย์คนใดคนหนึ่งเทิน (ทูน) ของหนักไว้บนศีรษะเสมอ ต้องลำบาก ด้วยภาระฉันใด อันภาระเราต้องแบกอยู่ ฉันนั้น เราถูกไฟ ๓ กองเผาอยู่ เป็นทุกข์ด้วยการแบกภาระในภพ ท่องเที่ยวไปในภพทั้งหลาย เหมือน ถอนขุนเขาสิเนรุ ฉะนั้น ก็ (บัดนี้) เราปลงภาระลงแล้ว กำจัดภพทั้ง หลายได้แล้ว กิจที่ควรทำทุกอย่างในศาสนาของพระผู้มีพระภาคศากยบุตร เราทำเสร็จแล้ว ในกำหนดพุทธเขต เว้นพระผู้มีพระภาคศากยบุตร เรา เป็นผู้เลิศด้วยปัญญา ไม่มีใครเหมือนเรา (ด้วยปัญญา) เราเป็นผู้ฉลาด ในสมาธิ ถึงที่สุดแห่งฤทธิ์ วันนี้เราปรารถนาจะนิรมิตคนสักพันคนก็ได้ พระมหามุนีทรงเป็นผู้ชำนาญในอนุปุพพวิหารธรรม ตรัสคำสั่งสอนแก่เรา นิโรธเป็นที่นอนของเรา เรามีทิพยจักษุอันหมดจด เราเป็นผู้ฉลาดในสมาธิ หมั่นประกอบในสัมมัปปธาน ยินดีในการเจริญโพชฌงค์ อันกิจทุกอย่างที่ พระสาวกพึงทำ เราทำเสร็จแล้วแล เว้นพระโลกนาถแล้ว ไม่มีใคร เสมอด้วยเรา เป็นผู้ฉลาดในสมาบัติ ได้ฌานและวิโมกข์เร็วพลัน ยินดี ในการเจริญโพชฌงค์ ถึงที่สุดแห่งสาวกคุณ เราทั้งหลายมีความเคารพ ในอุดมบุรุษ ด้วยการถูกต้องสาวกคุณ ด้วยปัญญาเครื่องตรัสรู้ จิตของ เราสงเคราะห์เพื่อนพรหมจรรย์ด้วยศรัทธาทุกเมื่อ เรามีมานะและความ เขลา (กระด้าง) วางเสียแล้ว ดุจงูถูกถอนเขี้ยวแล้ว ดังโคอุสภราชถูก ตัดเขาเสียแล้ว เข้าไปหาหมู่คณะด้วยคารวะหนัก ถ้าปัญญาของเราพึงมี รูป ก็พึงเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย นี้เป็นผลแห่งการชมเชยพระ ญาณของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าอโนมทัสสี เราย่อมยังธรรมจักรอัน พระผู้มีพระภาคศากยบุตรผู้คงที่ ให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามโดยชอบ นี้เป็นผลแห่งการชมเชยพระญาณ บุคคลผู้มีความปรารถนาลามก ผู้เกียจ คร้าน ผู้ละความเพียร ผู้มีสุตะน้อย และผู้ไม่มีอาจาระ อย่าได้สมาคม กับเราในที่ไหนๆ สักครั้งเลย ส่วนบุคคลผู้มีสุตะมาก ผู้มีเมธา ผู้ตั้ง มั่นอยู่ด้วยดีในศีลทั้งหลาย และผู้ประกอบด้วยสมถะทางใจ ขอจงตั้งอยู่ บนกระหม่อมของเรา เหตุนั้น เราจึงขอกล่าวกะท่านทั้งหลาย ขอความ เจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย ผู้มาประชุมกันในสมาคมนี้ ท่านทั้งหลายจงมี ความปรารถนาน้อย สันโดษ ให้ทานทุกเมื่อ เราเป็นผู้ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เพราะเห็นท่านอัสสชิก่อน ท่านพระสาวกนามว่าอัสสชิ นั้น เป็นอาจารย์ของเรา เป็นนักปราชญ์ เราเป็นสาวกของท่าน วันนี้ เป็นวันธรรมเสนาบดี ถึงที่สุดในที่ทุกแห่ง เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ ท่าน พระสาวกนามว่าอัสสชิ เป็นอาจารย์ของเรา ย่อมอยู่ในทิศใด เราย่อม ทำท่านไว้เหนือศีรษะในทิศนั้น (นอนผันศีรษะไปทางทิศนั้น) พระโคดม ศากยบุตรพุทธเจ้า ทรงระลึกถึงกรรมของเราแล้วประทับนั่งใน (ท่าม กลาง) ภิกษุสงฆ์ ทรงตั้งเราไว้ในตำแหน่งอันเลิศ คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งแล้ว พระพุทธ- ศาสนาเราก็ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล. ทราบว่า ท่านพระสารีบุตรเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ สารีปุตตเถราปทาน
-----------------------------------------------------
มหาโมคคัลลานเถราปทานที่ ๔ (๒)
ว่าด้วยบุพจริยาของพระมหาโมคคัลลาน์
[๔] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าอโนมทัสสี เป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก เป็น นระผู้องอาจ อันเทวดาและภิกษุสงฆ์แวดล้อมประทับอยู่ ณ ประเทศ หิมวันต์ เวลานั้น เราเป็นนาคราช มีนามชื่อว่าวรุณแปลงรูปอันน่าใคร่ ได้ต่างๆ อาศัยอยู่ในทะเลใหญ่ เราละหมู่นาคซึ่งเป็นบริวารทั้งสิ้น มา ตั้งวงดนตรีในกาลนั้น หมู่นางนาคแวดล้อมพระสัมพุทธเจ้าประโคมอยู่ เมื่อดนตรีของมนุษย์และนาคประโคมอยู่ ดนตรีของเทวดาก็ประโคม พระพุทธเจ้าทรงสดับเสียงดนตรีทั้งสองฝ่ายแล้ว ทรงตื่นบรรทม เรา นิมนต์พระสัมพุทธเจ้า ทูลเชิญให้เสด็จเข้าไปยังภพของเรา เราปูลาด อาสนะแล้วกราบทูลเวลาเสวยพระกระยาหาร พระผู้มีพระภาคผู้นายกของ โลก อันพระขีณาสพพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว ทรงยังทิศทุกทิศให้สว่างไสว เสด็จมายังภพของเรา เวลานั้น เรายังพระมหาวีรเจ้าผู้ประเสริฐกว่าเทวดา เป็นนระผู้องอาจ ซึ่งเสด็จเข้ามา (พร้อม) กับภิกษุสงฆ์ให้อิ่มหนำด้วย ข้าวและน้ำ พระมหาวีรเจ้าผู้เป็นสยัมภูอัครบุคคลทรงอนุโมทนาแล้ว ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้ใดได้บูชา สงฆ์และได้บูชาพระพุทธเจ้าผู้นายกของโลก ด้วยจิตอันเลื่อมใส ผู้นั้น จักไปสู่เทวโลก จักเสวยเทวรัชสมบัติสิ้น ๓๓ ครั้ง จักเสวยราชสมบัติ ในแผ่นดิน ครอบครองพสุธา ๑๐๘ ครั้ง และจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๕ ครั้ง โภคสมบัติอันนับไม่ถ้วน จักบังเกิดแก่ผู้นั้นในขณะนั้น ใน กัลป์นับไม่ถ้วน แต่กัลป์นี้ พระศาสดาพระนามว่าโคดมโดยพระโคตร ซึ่ง สมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ผู้นั้นเคลื่อนจาก นรกแล้ว จักถึงความเป็นมนุษย์ จักเป็นบุตรพราหมณ์ มีนามว่าโกลิตะ ภายหลังอันกุศลมูลตักเตือนแล้วเขาจักออกบวช จักได้เป็นพระสาวกองค์ ที่สองของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม จักปรารภความเพียรมอบกาย ถวายชีวิต ถึงที่สุดแห่งฤทธิ์ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว เป็นผู้ไม่มี อาสวะจักปรินิพพาน จักอาศัยมิตรผู้ลามกตกอยู่ในอำนาจกามราคะ มี ใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว ฆ่ามารดาและแม้บิดาได้ เราไม่ได้เข้าถึงนรก หรือความเป็นมนุษย์ อันพรั่งพร้อมด้วยกรรมลามก ยังต้องศีรษะแตกตาย นี้เป็นกรรมครั้งหลังสุดของเรา ภพที่สุดย่อมเป็นไป กรรมเช่นนี้จักมีแก่เรา ในเวลาใกล้จะตายแม้ในที่นี้ เราหมั่นประกอบในวิเวก ยินดีในสมาธิ ภาวนา กำหนดรู้อาสวะทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ แม้แผ่นดินอันลึก ซึ้ง หนาอันอะไรขจัดได้ยาก เราผู้ถึงที่สุดแห่งฤทธิ์พึงให้ไหวได้ด้วยนิ้ว แม่มือซ้าย เราไม่เห็นอัสมีมานะ มานะของเราไม่มี (เราไม่มีมานะ) เรากระทำความยำเกรงอย่างหนักแม้ที่สุดในสามเณร ในกัลป์อันประมาณ มิได้แต่กัลป์นี้ เราสั่งสมกรรมใดไว้ เราบรรลุถึงภูมิแห่งกรรมนั้น เป็นผู้ บรรลุถึงธรรมเครื่องสิ้นอาสวะแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งแล้ว พระพุทธศาสนา เราทำ เสร็จแล้ว ฉะนี้แล. ทราบว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้แล.
จบมหาโมคคัลลานเถราปทาน
-----------------------------------------------------
มหากัสสปเถราปทานที่ ๕ (๓)
ว่าด้วยผลแห่งการสร้างพุทธเจดีย์
[๕] ในกาลเมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระเชฏฐบุรุษของโลก ผู้คงที่ ผู้เป็นนาถะของโลก นิพพานแล้ว ชนทั้งหลายทำการบูชาพระศาสดา หมู่ชน มีจิตร่าเริง เบิกบาน บันเทิง เมื่อเขาเหล่านั้นเกิดความสังเวช ปีติย่อมเกิด แก่เรา เราประชุมญาติและมิตรแล้ว ได้กล่าวคำนี้ว่า พระมหาวีรเจ้า ปรินิพพานแล้ว เชิญเรามาทำการบูชากันเถิด พวกเขารับคำว่าสาธุแล้ว ทำความร่าเริงให้เกิดแก่เราอย่างยิ่งว่า พวกเราจักทำทานก่อสร้างบุญ ใน พระพุทธเจ้าผู้เป็นนาถะของโลก เราได้สร้างเจดีย์อันมีค่าทำอย่างเรียบร้อย สูงร้อยศอก สร้างปราสาทร้อยห้าสิบศอก สูงจรดท้องฟ้า ครั้นสร้างเจดีย์ อันมีค่างดงามด้วยระเบียบอันดีไว้ที่นั้นแล้ว ได้ยังจิตของตนให้เลื่อมใส บูชาเจดีย์อันอุดม ปราสาทย่อมรุ่งเรือง ดังกองไฟโพลงอยู่ในอากาศ เช่น พระยารังกำลังดอกบาน ย่อมสว่างจ้าทั่วสี่ทิศเหมือนสายฟ้าในอากาศ เรา ยังจิตให้เลื่อมใสในห้องพระบรมธาตุนั้น ก่อสร้างกุศลเป็นอันมาก ระลึก ถึงกรรมเก่าแล้ว ได้เข้าถึงไตรทศ เราอยู่บนยานทิพย์อันเทียมด้วยม้าสินธพ พันตัว วิมานของเราสูงตระหง่าน สูงสุดเจ็ดชั้น กูฏาคาร (ปราสาท) พันหนึ่ง สำเร็จด้วยทองคำล้วน ย่อมรุ่งเรือง ยังทิศทั้งปวงให้สว่างไสว ด้วยเดชของตน ในกาลนั้น ศาลาหน้ามุขแม้เหล่าอื่นอันสำเร็จด้วยแก้วมณี มีอยู่ แม้ศาลาหน้ามุขเหล่านั้นก็โชติช่วงด้วยรัศมีทั่วสี่ทิศโดยรอบกูฏาคาร อันบังเกิดขึ้นด้วยบุญกรรม อันบุญกรรมนิรมิตไว้เรียบร้อย สำเร็จด้วย แก้วมณีโชติช่วงทั่วทิศน้อยทิศใหญ่โดยรอบ โอภาสแห่งกูฏาคารอันโชติช่วง อยู่เหล่านั้น เป็นสิ่งไพบูลย์ เราย่อมครอบงำเทวดาทั้งปวงได้ นี้เป็นผล แห่งบุญกรรม เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิครอบครองแผ่นดิน มีสมุทร- สาครสี่เป็นขอบเขต ในหกหมื่นกัลป์ ในภัทรกัลป์นี้ เราได้เป็นเหมือน อย่างนั้น ๓๓ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้มีกำลังมาก ยินดีในกรรมของตน สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ ในครั้งนั้น ปราสาท ของเราสว่างไสวดังสายฟ้า ด้านยาว ๒๔ โยชน์ ด้านกว้าง ๑๒ โยชน์ พระนครชื่อรัมมกะ มีกำแพงและค่ายมั่นคงด้านยาว ๕๐๐ โยชน์ ด้านกว้าง ๒๕๐ โยชน์ คับคั่งด้วยหมู่ชน เหมือนเทพนครของชาวไตรทศ เข็ม ๒๕ เล่ม เขาใส่ไว้ในกล่องเข็ม ย่อมกระทบกันและกัน เบียดเสียดกันเป็นนิจ ฉันใด แม้นครของเราก็ฉันนั้น เกลื่อนด้วยช้างม้าและรถ คับคั่งด้วยหมู่มนุษย์ น่ารื่นรมย์ เป็นนครอุดม เรากินและดื่มอยู่ในนครนั้น แล้วไปเกิดเป็น เทวดาอีกในภพที่สุด กุศลสมบัติได้มีแล้วแก่เรา เราสมภพในสกุลพราหมณ์ สั่งสมรัตนะมาก ละเงินประมาณ ๘๐ โกฏิ เสียแล้วออกบวช คุณวิเศษ เหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล. ทราบว่า ท่านพระมหากัสสปเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้แล.
จบมหากัสสปเถราปทาน.
-----------------------------------------------------
อนุรุทธเถราปทานที่ ๖ (๔)
ว่าด้วยผลแห่งการถวายประทีป
[๖] เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสุเมธเชฏฐบุรุษของโลก เป็นนระผู้ องอาจ ผู้นายกของโลก เสด็จหลีกออกเร้นอยู่ จึงได้เข้าไปเฝ้าพระสุเมธ สัมพุทธเจ้า ผู้นายกของโลก แล้วได้ประคองอัญชลีทูลอ้อนวอนพระพุทธ- เจ้าผู้ประเสริฐสุดว่า ข้าแต่พระมหาวีรเจ้าผู้เชฏฐบุรุษของโลก เป็นนระ ผู้องอาจ ขอจงทรงอนุเคราะห์เถิด ข้าพระองค์ขอถวายประทีปแก่ พระองค์ผู้เข้าฌานอยู่ที่ควงไม้ พระสยัมภูผู้ประเสริฐธีรเจ้านั้น ทรงรับคำ แล้ว เราจึงห้อยไว้ที่ต้นไม้ประกอบยนต์ในกาลนั้น ได้ถวายไส้ตะเกียง น้ำมันพันหนึ่ง แก่พระพุทธเจ้าผู้เผ่าพันธุ์ของโลก ประทีปโพลงอยู่ตลอด ๗ วันแล้วดับไปเอง ด้วยจิตอันเลื่อมใสนั้น และด้วยการตั้งเจตนาไว้ เรา ละกายมนุษย์แล้ว ได้เข้าถึงวิมาน เมื่อเราเข้าถึงความเป็นเทวดา วิมาน อันบุญกุศลนิรมิตไว้เรียบร้อย ย่อมรุ่งโรจน์โดยรอบ นี้เป็นผลแห่งการถวาย ประทีป เราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๘ ครั้ง เวลานั้น เรามองเห็นได้ ตลอดโยชน์หนึ่งโดยรอบ ทั้งกลางวันกลางคืน เราย่อมไพโรจน์ทั่วโยชน์ หนึ่งโดยรอบ ในกาลนั้นย่อมครอบงำเทวดาทั้งปวงได้ นี้เป็นผลแห่งการ ถวายประทีป เราได้เป็นจอมเทวดาเสวยราชสมบัติในเทวโลก ๓๐ กัลป ใครๆ ย่อมดูหมิ่นเราไม่ได้ นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป เราได้บรรลุทิพย- จักษุ ย่อมมองเห็นได้ด้วยญาณตลอดพันโลก ในศาสนาของพระพุทธเจ้า นี้เป็นผลแห่งการถวายประทีป พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าสุเมธ เสด็จอุบัติในสามหมื่นกัลปแต่กัลปนี้ เรามีจิตผ่องใส ได้ถวายประทีปแก่ พระองค์ คุณวิเศษคือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำ ให้แจ้งแล้ว พระพุทธศาสนาเราทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล. ทราบว่า ท่านพระอนุรุทธเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบอนุรุทธเถราปทาน
-----------------------------------------------------
ปุณณมันตานีปุตตเถราปทานที่ ๗ (๕)
ว่าด้วยผลแห่งการแสดงธรรม
[๗] เราเป็นพราหมณ์ผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบไตรเพท พวกศิษย์ห้อมล้อม แล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคผู้อุดมบุคคล พระมหามุนี พระนามว่า ปทุมุตระ ทรงรู้แจ้งโลก ทรงรับเครื่องบูชาแล้ว ทรงประกาศกรรมของเรา โดยย่อ เราได้ฟังธรรมนั้นแล้ว ได้บังคมพระศาสดาประคองอัญชลี มุ่งหน้า เฉพาะทิศทักษิณกลับไป ครั้นได้ฟังโดยย่อแล้ว แสดงได้โดยพิสดาร ศิษย์ทุกท่านดีใจ ฟังคำเราผู้กล่าวอยู่ บรรเทาทิฏฐิของตนแล้ว ยังจิตให้ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนเราแม้ฟังโดยย่อ ก็แสดงได้โดย พิสดาร ฉะนั้น เราเป็นผู้ฉลาดในนัยแห่งพระอภิธรรม เป็นผู้ฉลาดในความ หมดจดแห่งกถาวัตถุ ยังปวงชนให้รู้แจ้งแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ ใน กัลปที่ ๕๐๐ แต่ภัทรกัลปนี้ มีพระเจ้าจักรพรรดิ ๔ พระองค์ผู้ปรากฏด้วยดี ทรงสมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ใน ๔ ทวีป คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งแล้ว พระพุทธ- ศาสนาทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล. ทราบว่า ท่านพระปุณณมันตานีปุตตเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบปุณณมันตานีปุตตเถราปทาน
-----------------------------------------------------
อุปาลีเถราปทานที่ ๘ (๖)
ว่าด้วยผลแห่งการสร้างสังฆาราม
[๘] ในพระนครหงสวดี มีพราหมณ์ชื่อว่าสุชาต สั่งสมทรัพย์ไว้ประมาณ ๘๐ โกฏิ มีทรัพย์และข้าวเปลือกมากมาย เป็นผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ ผู้จบไตรเพท ถึงที่สุดในตำราทำนายลักษณะคัมภีร์อิติหาสะ และในคัมภีร์พราหมณ์ ใน กาลนั้น ปริพาชกผู้มุ่นผมรวมกัน สาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ พระอาทิตย์ และดาบสผู้สืบข่าว เที่ยวไปในพื้นแผ่นดิน แม้พวกเขาก็ ห้อมล้อมข้าพระองค์ ด้วยคิดว่า เป็นพราหมณ์มีชื่อเสียง ชนเป็นอันมาก บูชาข้าพระองค์ แต่ข้าพระองค์ไม่บูชาใครๆ เพราะข้าพระองค์ไม่เห็นใคร ที่ควรบูชา เวลานั้น ข้าพระองค์มีมานะจัด คำว่าพุทโธ ยังไม่มี ตลอดเวลา ที่พระชินเจ้ายังไม่อุบัติโดยกาลล่วงวันและคืนไป พระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตระผู้เป็นนายกทรงบรรเทาความมืดทั้งปวงแล้ว เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ในศาสนาของพระองค์ มีหมู่ชนแพร่หลายมากมาย แน่นหนา เวลานั้น พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปสู่พระนครหงสวดี พระพุทธเจ้าผู้มีจักษุ ทรงแสดง ธรรมเพื่อประโยชน์แก่พระพุทธธิดา ในกาลนั้น บริษัทโดยรอบประมาณ โยชน์หนึ่ง ในกาลนั้น ดาบสชื่อสุนันทะอันหมู่มนุษย์สมมติแล้ว (ว่าเลิศ) ได้เอาดอกไม้ทำร่มบังแดดให้ทั่วพุทธบริษัท พระพุทธเจ้าทรงประกาศสัจจะ ๔ ภายใต้มณฑปดอกไม้อันประเสริฐ ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ประมาณแสน โกฏิ พระพุทธเจ้าทรงยังเมล็ดฝน คือ ธรรมให้ตกตลอด ๗ คืน ๗ วัน เมื่อถึงวันที่ ๘ พระชินเจ้าทรงพยากรณ์สุนันทะดาบสว่า ท่านผู้นี้เมื่อท่อง เที่ยวอยู่ในเทวโลกหรือในมนุษย์ จักเป็นคนประเสริฐกว่าเขาทั้งหมด ท่องเที่ยวไปในภพ ในแสนกัลป พระศาสดามีพระนามว่าโคดม มีสมภพ ในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นี้เป็นบุตรของนาง มันตานีชื่อปุณณะ จักเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นโอรส ผู้รับมรดกในธรรมทั้งหลาย อันธรรมนิรมิตแล้ว เวลานั้น พระสัมพุทธเจ้า ทรงยังชนทั้งปวงให้ร่าเริง ทรงแสดงพระกำลังของพระองค์ พยากรณ์สุนันท- ดาบสด้วยประการอย่างนี้ ชนทั้งหลายประนมอัญชลีนมัสการสุนันทดาบส ในการนั้น ครั้นสุนันทดาบสทำสักการะในพระพุทธเจ้าแล้ว จึงชำระคติ ของตน เพราะข้าพระองค์ได้ฟังดำรัสของพระมุนี จึงได้มีความดำริ ณ ที่ นั้นว่า เราจักก่อสร้างบุญสมภาร ขณะที่กำลังเห็นพระโคดมอยู่ ครั้นข้า พระองค์คิดอย่างนี้แล้ว จึงคิดถึงบุญกิริยาว่า เราจะพึงก่อสร้างอย่างไร จะ ประพฤติกรรมอะไร ในบุญเขตอันยอดเยี่ยม ก็ภิกษุนี้ชำนาญบาลีทั้งปวง ในศาสนา พระศาสดาทรงตั้งไว้เป็นเลิศฝ่ายวินัย เราพึงปรารถนาฐานะ นั้นเถิด โภคสมบัติของข้าพระองค์ประมาณมิได้ เปรียบดังสาครอันอะไร ให้กระเพื่อมไม่ได้ ข้าพระองค์ได้สร้างอารามถวายแก่พระพุทธเจ้า ด้วย โภคสมบัตินั้น ได้ซื้ออารามนามว่าโสภณ ณ เบื้องหน้าพระนคร ด้วยทรัพย์ แสนหนึ่ง ถวายให้เป็นสังฆาราม ข้าพระองค์ได้สร้างเรือนยอด ปราสาท มณฑป เรือนโล้น และถ้ำอย่างสวยงาม ไว้ในที่จงกรม ใกล้สังฆาราม ได้สร้างเรือนไฟ โรงไฟ หม้อน้ำ และห้องอาบน้ำแล้ว ได้ถวายแก่ ภิกษุสงฆ์ ได้ถวายเก้าอี้นอน ตั่ง ภาชนะเครื่องใช้สอย คนเฝ้าอาราม และเภสัชนั้นทุกๆ อย่าง ได้ตั้งอารักขาไว้แล้ว ให้สร้างกำแพงอย่างมั่นคง ด้วยหวังว่า ใครๆ อย่าเบียดเบียนสังฆารามของท่านผู้มีจิตระงับ ผู้คงที่เลย ได้ให้สร้างกุฏีที่อยู่ ๑๐๐ หลังไว้ในสังฆาราม ครั้นให้สร้างสำเร็จไพบูลย์ แล้ว น้อมถวายกะพระสัมพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระมุนี ข้าพระองค์สร้างอาราม สำเร็จแล้ว ขอพระองค์โปรดทรงรับเถิด ข้าแต่พระธีรเจ้า ข้าพระองค์ มอบถวายพระองค์ ขอได้โปรดทรงรับเถิดพระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าพระนาม ว่าปทุมุตระผู้ทรงรู้แจ้งโลก เป็นนายกของโลก ทรงควรรับเครื่องบูชา ทรง ทราบความดำริของข้าพระองค์แล้ว ได้ทรงรับสังฆาราม ข้าพระองค์ทราบว่า พระสัพพัญญูผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงรับแล้ว ให้ตระเตรียมโภชนะ เสร็จแล้ว จึงกราบทูลเวลาเสวย เมื่อข้าพระองค์กราบทูลเวลาเสวยแล้ว พระปทุมุตระผู้นายกของโลก เสด็จมาสู่อารามของข้าพระองค์ พร้อมด้วย พระขีณาสพพันหนึ่ง ข้าพระองค์ทราบเวลาว่าพระองค์ประทับนั่งแล้ว ได้ เลี้ยงดูให้อิ่มหนำด้วยข้าวน้ำ ครั้นได้ทราบเวลาเสวยเสร็จแล้ว ได้กราบทูล ดังนี้ว่า ข้าพระองค์ซื้ออารามชื่อ โสภณ ด้วยทรัพย์แสนหนึ่ง ได้สร้างจน เสร็จด้วยทรัพย์เท่านั้นเหมือนกัน ขอได้โปรดทรงรับเถิดพระมุนี ด้วยการ ถวายอารามนี้ และด้วยการตั้งเจตนาไว้ เมื่อข้าพระองค์เกิดอยู่ในภพ ย่อม ได้สิ่งที่ปรารถนา พระสัมพุทธเจ้าทรงรับสังฆารามที่ข้าพระองค์สร้างเสร็จ แล้ว ประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ได้ตรัสพระดำรัสนี้ว่า ผู้ใดได้ถวาย สังฆารามที่สร้างสำเร็จแล้วแด่พระพุทธเจ้า เราจะพยากรณ์ผู้นั้น ท่าน ทั้งหลายจงฟังเรากล่าว จตุรงคเสนา คือ พลช้าง พลม้า พลรถ พลราบ จะแวดล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิจ นี้เป็นผลแห่งการถวายสังฆาราม ดนตรีหกหมื่น และเภรีอันประดับประดาสวยงาม จะแวดล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิจ นี้เป็นผล แห่งการถวายสังฆาราม นางนารีแปดหมื่นหกพัน อันตกแต่งงดงาม มีผ้า และอาภรณ์อันวิจิตร สวมสอดแก้วมณีและกุณฑล มีหน้าแฉล้ม ยิ้มแย้ม ตะโพกผึ่งผาย เอวเล็กเอวบาง จะแวดล้อมผู้นี้อยู่เป็นนิจ นี้เป็นผลแห่ง การถวายสังฆาราม ผู้นี้จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลก ตลอดสามหมื่นกัลป จักเป็นจอมเทวดาเสวยราชสมบัติในเทวโลกพันครั้ง จักได้ของทุกอย่างที่ ท้าวเทวราชจะพึงได้ จักเป็นผู้มีโภคสมบัติไม่รู้จักพร่อง เสวยเทวราชสมบัติ อยู่ จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอยู่ในแว่นแคว้นพันครั้ง จักเป็นพระราชาอัน ไพบูลย์ในแผ่นดินโดยจะคณานับไม่ถ้วน ในแสนกัลป พระศาสดาพระนาม ว่า โคดมโดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จ อุบัติในโลก ผู้นี้จักเป็นสาวกของพระศาสดาพระองค์นั้น เป็นโอรสผู้รับ มรดกในธรรม อันธรรมนิรมิต มีนามชื่อว่า อุบาลี จักถึงที่สุดในพระวินัย ฉลาดในฐานะและมิใช่ฐานะ ดำรงพระศาสนาของพระชินเจ้า ไม่มีอาสวะอยู่ พระโคดมศากยบุตรผู้ประเสริฐ ได้ทรงทราบข้อนี้ทั้งสิ้นแล้วประทับนั่งใน ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ จักทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะสถาน ข้าพระองค์อาศัยบุญกุศล อันประมาณมิได้ ย่อมปรารถนา (ว่าพึงเป็นภิกษุผู้เลิศกว่าบรรดาภิกษุผู้ทรง พระวินัย) ในศาสนาของพระองค์ ประโยชน์ คือ ความสิ้นสังโยชน์ ทั้งปวงนั้น ข้าพระองค์บรรลุแล้วเปรียบเหมือนคนอันพระราชอาญาคุกคาม ถูกเสียบด้วยหลาว ไม่ได้ความสุขที่หลาวปรารถนาจะพ้นไปอย่างเดียว ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น อันอาญา คือ ภพคุกคามแล้ว ถูกเสียบด้วยหลาว คือ กรรม ถูกเวทนา คือ ความกระหายบีบคั้น ไม่ได้ ความสุขในภพ ถูกไฟ ๓ กองแผดเผาอยู่ ย่อมแสวงหาอุบายเครื่องพ้น ดังคนแสวงหาอุบายเพื่อฆ่ายาพิษ พึงแสวงหายา เมื่อแสวงหาอยู่ พึงพบ ยาเครื่องฆ่ายาพิษ ดื่มยานั้นแล้วพึงมีสุข เพราะพ้นจากพิษฉันใด ข้าแต่ พระมหาวีรเจ้า ข้าพระองค์ก็เหมือนคนอันยาพิษบีบคั้น ฉันนั้น ถูกอวิชชา บีบคั้นแล้ว ก็พึงแสวงหายา คือ สัทธรรม เมื่อแสวงหายา คือธรรมอยู่ ได้พบศาสนาของพระองค์ผู้ศากยบุตร อันเป็นของจริงอย่างเลิศสุดยอด โอสถ เป็นเครื่องบรรเทาลูกศรทั้งปวง ข้าพระองค์ดื่มยา คือ ธรรมแล้ว ถอนยาพิษ คือ สังสารทุกข์ได้หมดแล้ว ข้าพระองค์ได้พบนิพพานอัน ไม่แก่ไม่ตาย เป็นธรรมชาติเย็นสนิท เปรียบเหมือนคนถูกผีคุกคาม ได้รับ ทุกข์เพราะผีสิง พึงแสวงหาหมอผีเพื่อจะพ้นจากผี เมื่อแสวงหาไป ก็พึง พบหมอฉลาดในวิชาไล่ผี หมอนั้นพึงขับผีให้แก่คนนั้น และพึงให้พินาศ (ขับไล่ไป) พร้อมทั้งราก ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น ได้ รับทุกข์เพราะความมืดเข้าจับ จึงต้องแสวงหาแสงสว่าง คือ ญาณเพื่อจะ พ้นจากความมืด ที่นั้นจึงได้พบพระศากยมุนี ผู้ชำระความมืด คือ กิเลส ให้หมดจด (สว่าง) ได้ พระองค์ทรงบรรเทาความมืดให้ข้าพระองค์แล้ว ดังหมอผีขับไล่ผีไปได้ ฉะนั้น ข้าพระองค์ตัดกระแสสงสารได้แล้ว ห้าม กระแสตัณหาได้แล้ว ถอนภพได้สิ้นเชิงเหมือนหมอผีขับไล่ผีพร้อมทั้งถอน ราก ฉะนั้น เปรียบเหมือนพระยาครุฑ โฉบลงเพื่อจับนาคอันเป็นเหยื่อ ของตน ย่อมยังน้ำในสระใหญ่ให้กระเพื่อมตลอดร้อยโยชน์โดยรอบ ครั้น มันจับนาคได้แล้ว ห้อยหัวนาคไว้เบื้องต่ำทำให้ลำบาก ครุฑนั้นพาเอานาค ไปได้ตามความปรารถนา ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า ข้าพระองค์แสวง หาอสังขตธรรม เหมือนครุฑมีกำลังบินแสวงหานาค ฉะนั้น ข้าพระองค์ ได้คายโทษทั้งหลายแล้ว ข้าพระองค์เห็นธรรมอันประเสริฐ เป็นสันติบท ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า ข้าพระองค์ถือเอาธรรมนี้อยู่ เหมือนครุฑจับนาคบินไป ฉะนั้น เถาวัลย์ชื่ออาสาวดี เกิดในสวนจิตรลดา โดยล่วงไปพันปี จึงเผล็ด ผลๆ หนึ่ง เทวดาทั้งหลายได้ใช้สอยผลอาสวดีนั้น ซึ่งมีผลคราวหนึ่ง นานเพียงนั้น เถาวัลย์อาสวดีนั้นมีผลอุดม เป็นที่รักของเทวดาทั้งหลาย อย่างนี้ ข้าพระองค์อาศัยแสนปี จึงได้เที่ยวมาใกล้พระองค์ผู้เป็นมุนี ได้ นมัสการทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า เหมือนเทวดาเชยชมผลอาสวดี ฉะนั้น การ ได้มาใกล้ไม่เป็นหมัน และการนมัสการไม่เป็นโมฆะ แม้ข้าพระองค์จะมา แต่ที่ไกล ขณะก็ไม่ล่วงเลยข้าพระองค์ไป ข้าพระองค์ค้นคว้าหาปฏิสนธิ ในภพก็ไม่พบ ฉะนั้น ข้าพระองค์จึงไม่มีอุปธิ พ้นวิเศษแล้ว สงบระงับ เที่ยวไป เปรียบเหมือนดอกปทุม ย่อมบานเพราะรัศมีพระอาทิตย์ถูกต้อง ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น บานแล้วเพราะรัศมี พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนนกยางตัวผู้ ย่อมไม่มีในกำเนิดนกยางทุกเมื่อ เมื่อเมฆร้องกระหึ่ม นกยางมันย่อมมีครรภ์ทุกเมื่อ พวกมันย่อมทรงครรภ์ อยู่แม้นาน ตลอดเวลาที่สายฝนยังไม่ตก พวกมันย่อมพ้นจากการทรงครรภ์ เมื่อเวลาที่สายฝนตก ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรง พระนามว่าปทุมุตระ ทรงประกาศกึกก้องด้วยเมฆ คือ ธรรม ได้ถือเอา ครรภ์ คือ ธรรม ด้วยเสียงแห่งเมฆ คือ ธรรม ข้าพระองค์อาศัยแสนกัลป ทรงครรภ์ คือ บุญอยู่ ยังไม่พ้นจากภาระ คือ สงสาร ตลอดเวลาที่สายฝน คือ ธรรมยังไม่ตก ข้าแต่พระศากยมุนี เมื่อเวลาที่พระองค์ทรงประกาศ กึกก้องด้วยสายฝน คือ ธรรม ในพระนครกบิลพัศดุ์ อันน่ารื่นรมย์ ข้า- พระองค์จึงได้พ้นจากภาระ คือ สงสาร ข้าพระองค์สะสาง (ชำระ) ธรรม คือสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และผล ๔ ทั้งหมด แม้นั้น (สะอาด) ได้แล้ว.
จบทุติยภาณวาร.
ข้าพระองค์ปรารถนาศาสนาของพระองค์ ตั้งต้นแต่กัลปอันประมาณมิได้ ประโยชน์นั้น ข้าพระองค์ถึงแล้ว สันติบทอันยอดเยี่ยมข้าพระองค์บรรลุ แล้ว ข้าพระองค์เป็นผู้เลิศ เหมือนภิกษุผู้ชำนาญพระบาลีถึงที่สุดใน พระวินัย ฉะนั้น ไม่มีใครเสมอด้วยข้าพระองค์ ข้าพระองค์ย่อมทรง พระศาสนาไว้ ข้าพระองค์ไม่มีความสงสัยในวินัยขันธกะ คัมภีร์บริวาร ในอักขระหรือพยัญชนะ ในวินัยปิฎกนี้เลย ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในการข่ม ในการแก้ไขในฐานะและมิใช่ฐานะในการชักเข้าหมู่และในการให้ออกจาก อาบัติ ถึงที่สุดในวินัยกรรมทั้งปวง ข้าพระองค์ตั้งบทไว้ในวินัยขันธกะ และในอุภโตวิภังค์แล้ว พึงชักเข้าหมู่ (ประชุม) จากกิจ ข้าพระองค์ เป็นผู้ฉลาดในนิรุติ และเฉียบแหลมในประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ ข้าพระองค์จะไม่รู้นั้นไม่มี ข้าพระองค์เป็นผู้มีจิตมีอารมณ์เดียวในพุทธ ศาสนา วันนี้ ข้าพระองค์บรรเทาความเคลือบแคลงได้ทั้งสิ้น ตัดความ สงสัยได้ทั้งหมด ในคราวตัดสินวินัย ในศาสนาของพระผู้มีพระภาค ศากยบุตร ข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาดในฐานะทั้งปวง คือ บัญญัติ อนุบัญญัติ อักขระ พยัญชนะ นิทาน และปริโยสาน เปรียบเหมือนพระราชาผู้ทรง พระกำลัง ทรงกำจัดเสนาของพระราชาอื่นแล้ว ทำให้เดือดร้อนชนะ สงครามแล้ว สร้างนครไว้ ณ ที่นั้นรับสั่งให้สร้างกำแพง คู เสาระเนียด ซุ้มประตู และป้อมต่างๆ ไว้ในนครเป็นอันมาก พึงรับสั่งให้สร้างถนน วงเวียน ร้านตลาดอันจัดไว้เรียบร้อย และสภาไว้ในนครนั้น เพื่อวินิจฉัย คดีและมิใช่คดี เพื่อจะป้องกันพวกศัตรู เพื่อจะรู้จักโทษและมิใช่โทษ และเพื่อจะรักษาพลกาย พระองค์จึงโปรดตั้งเสนาบดีไว้ เพื่อประสงค์จะ ทรงรักษาสิ่งของ พระองค์จึงโปรดตั้งขุนคลังไว้ในหน้าที่รักษาสิ่งของ โดย ทรงหวังว่า สิ่งของของเราอย่าฉิบหายเสียเลย เขาเป็นผู้สามัคคีกับพระราชา ปรารถนาความเจริญแก่ผู้ใด ย่อมให้อธิกรณ์แก่ผู้นั้น เพื่อปฏิบัติต่อมิตร (โดยไม่มีวิวาท) พระองค์โปรดตั้งคนผู้ฉลาดในลางดีลางร้ายในนิมิต และ ตำราทำนายลักษณะ ผู้เล่าเรียนทรงจำมนต์ ไว้ในตำแหน่งปุโรหิต พระราชานั้นทรงสมบูรณ์ด้วยองค์เหล่านี้ มหาชนย่อมเรียกว่า กษัตริย์ เสนาบดีเป็นต้นเหล่านี้ย่อมรักษาพระราชาทุกเมื่อ ดังนกจักพรากรักษานก ผู้เป็นญาติของตนที่ได้ทุกข์ ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า พระองค์ก็ฉันนั้น มหาชนย่อมกล่าวว่า พระธรรมราชาของโลกพร้อมทั้งเทวโลก เช่นพระราชา ทรงกำจัดศัตรูได้แล้ว มหาชนเรียกว่า กษัตริย์ ฉะนั้น พระองค์ทรง ปราบพวกเดียรถีย์ ทรงกำจัดมารพร้อมทั้งเสนาและความมืดมนอนธการ แล้ว ได้ทรงสร้างนครธรรมไว้ ข้าแต่พระธีรเจ้า ในนครธรรมนั้น มีศีล เป็นกำแพง พระญาณของพระองค์เป็นซุ้มประตู ศรัทธาของพระองค์เป็น เสาระเนียด และสังวรของพระองค์เป็นนายประตู ข้าแต่พระมุนี สติ ปัฏฐานของพระองค์เป็นป้อม ปัญญาของพระองค์เป็นทางสี่แพร่ง อิทธิบาท เป็นทางสามแพร่ง ธรรมวิถีพระองค์ทรงสร้างไว้สวยงาม พระวินัย พระ- สูตร พระอภิธรรม และพระพุทธพจน์อันมีองค์ ๙ ทั้งสิ้นนี้ เป็นธรรม สภาในนครธรรมของพระองค์ วิหารธรรม คือ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตต- วิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ อเนญชสมาบัติ และนิโรธนี้เป็นธรรมกุฎีใน นครธรรมของพระองค์ ธรรมเสนาบดีของพระองค์ มีนามชื่อว่าพระสารี- บุตร ทรงตั้งไว้ว่า เป็นผู้เลิศด้วยปัญญาและว่าฉลาดในปฏิภาณ ข้าแต่ พระมุนี ปุโรหิตของพระองค์มีนามชื่อว่าพระโกลิตะ ผู้ฉลาดในจุติและ อุปบัติ ถึงที่สุดแห่งฤทธิ์, ข้าแต่พระมุนี พระมหากัสสปเถระผู้ดำรง วงศ์โบราณ มีเดชรุ่งเรือง หาผู้เสมอได้ยาก เลิศในธุดงคคุณ เป็นผู้พิพากษา ของพระองค์ ข้าแต่พระมุนี พระเถระขุนคลังธรรมของพระองค์ มีนามชื่อ ว่าพระอานนท์ เป็นพหูสูต ทรงธรรม และชำนาญในพระบาลีทั้งหมดใน ศาสนา พระผู้มีพระภาคผู้แสวงหาคุณอันมากแก่ข้าพระองค์ ทรงตั้ง พระเถระทั้งหมดนี้แล้ว ทรงประทานการวินิจฉัยในพระวินัย อันภิกษุผู้รู้ แจ้งแสดงแล้ว แก่ข้าพระองค์ ภิกษุสาวกของพระพุทธเจ้าบางรูป ถาม ปัญหาในวินัย ในปัญหานั้นข้าพระองค์ไม่ต้องคิด ย่อมแก้เนื้อความนั้นได้ ทันที ตลอดในพระพุทธเขต เว้นพระมหามุนีเสีย ไม่มีใครเสมอกับข้า พระองค์ในวินัย ที่ไหนจะมียิ่งกว่า พระโคดมประทับนั่งในท่ามกลางสงฆ์ แล้ว ทรงประกาศอย่างนี้ว่า ไม่มีใครจะเสมอกับพระอุบาลี ในวินัยและ ในขันธกะ เรากล่าวสัตถุศาสน์มีองค์ ๙ ตลอดถึงที่พระพุทธเจ้าตรัสแล้ว ทั้งหมด ไว้ในวินัยแก่บุคคลผู้เห็นมูลพระวินัย พระโคดมศากยบุตรผู้ ประเสริฐ ทรงระลึกถึงกรรมของเรา ประทับนั่งในท่ามกลางสงฆ์ ทรงตั้ง เราไว้ในเอตทัคคะสถาน เราได้ปรารถนาตำแหน่งนี้ไว้ ตั้งต้นแต่แสนกัลป ประโยชน์นั้นเราได้ถึงแล้ว เราถึงที่สุดในพระวินัย เมื่อก่อนเราเป็นช่าง กัลบกผู้ยังความยินดีให้เกิดแก่เจ้าศากยะทั้งหลาย เราละชาตินั้นแล้ว เกิด เป็นบุตรของพระมเหสีในกัลปที่สองแต่ภัทรกัปนี้ พระมหากษัตริย์เจ้า- แผ่นดินพระนามว่าอัญชสะ มีพระเดชานุภาพสูงสุด มีบริวารประมาณมิได้ มีทรัพย์มากมาย เราเป็นกษัตริย์พระนามว่าจันทนะ เป็นโอรสของพระราชา พระองค์นั้น เป็นคนกระด้างเพราะความเมาด้วยชาติ และเพราะความเมา ด้วยยศและโภคะ ช้างแสนหนึ่ง อันประดับด้วยเครื่องอลังการทุกอย่าง เป็นช้างตกมันโดยฐานะสาม เกิดในตระกูลมาตังคะ ห้อมล้อมเราอยู่ทุก เมื่อ เราห้อมล้อมด้วยพลของตน ประสงค์จะประพาสอุทยาน จึงขึ้นช้าง ชื่อศิริแล้ว ออกจากนครในกาลนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าเทวละ สมบูรณ์ด้วยจรณะ คุ้มครองทวาร และสำรวมเป็นอันดี เดินมาข้างหน้า เรา เวลานั้นเราได้ไสช้างศิรินาคไปให้จับพระปัจเจกพุทธเจ้า ลำดับนั้น ช้างทำเหมือนเกิดความโกรธ แต่ไม่ยกเท้าขึ้น เราเห็นช้างร้องไห้ ได้ทำ ความโกรธในพระปัจเจกพุทธเจ้า เราเบียดเบียนพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ได้ไปสู่อุทยาน ณ ที่นั้นเรา ไม่ได้ความสุขเสียเลย เหมือนไฟโพลงอยู่บน ศีรษะ และย่อมเดือดร้อนด้วยความเร้าร้อนดังปลาติดเบ็ด แผ่นดินมีสมุทร สาครเป็นที่สุด ปรากฏเหมือนไฟติดทั่วแก่เรา เราเข้าไปเฝ้าพระชนกแล้ว ได้กราบทูลดังนี้ว่า หม่อมฉันได้ไสช้างอันซับมัน ดังอสรพิษโกรธ ดัง กองไฟไหม้ลามมา ผู้ฝึกแล้ว ไปให้จับพระปัจเจกพุทธเจ้า หม่อมฉัน รุกรานพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นพระชินเจ้า มีเดชรุ่งเรืองพึงกลัว (พระ ชนกตรัสว่า) พวกเราชาวบุรีทั้งหมดจักพินาศ เราจะขอขมาพระมุนีนั้น ถ้าเราจะไม่ขมาท่านผู้มีตนอันฝึกแล้ว มีจิตตั้งมั่น ภายในวันที่ ๗ แว่น- แคว้นของเราจักพินาศ สุเมขลราชา โกสิยราชา สิคควราชา และสัตตก- ราชา ได้รุกรานฤาษีทั้งหลาย ท่านเหล่านั้นพร้อมทั้งเสนาตกยาก (ถึง ความพินาศ) ฤาษีทั้งหลายผู้สำรวมแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ โกรธเคือง เมื่อใด เมื่อนั้น ท่านย่อมยังมนุษย์โลกพร้อมทั้งเทวโลก สาครและภูเขา ให้พินาศ เราจึงสั่งให้ประชุมบุรุษทั้งหลายในประเทศ ประมาณสามพัน โยชน์ เพื่อต้องการจะแสดงโทษ จึงได้เข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้า เรา ทั้งหมดมีผ้าเปียก มีศีรษะเปียก ประนมอัญชลี พากันหมอบลงแทบเท้า ของพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วได้เรียนท่านดังนี้ว่า ข้าแต่พระมหาวีระ ขอ เจ้าประคุณได้โปรดอดโทษเถิด มหาชนอ้อนวอนเจ้าประคุณ ขอเจ้า ประคุณได้โปรดบรรเทาความเร่าร้อน และขออย่าให้แว่นแคว้นพินาศ เสียเลย มนุษย์พร้อมทั้งเทวดา อสูร และผีเสื้อทั้งหมด พึงต่อยศีรษะ ของกระผมด้วยค้อนเหล็กทุกเมื่อ (พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า) ไฟไม่ตั้ง อยู่ในน้ำ พืชไม่งอกบนหินล้วน กิมิชาติไม่ดำรงอยู่ในยาพิษฉันใด ความ โกรธย่อมไม่เกิดในพระพุทธะฉันนั้น อนึ่ง พื้นดินไม่หวั่นไหว สมุทร สาครประมาณไม่ได้ และอากาศไม่มีที่สุด ฉันใด พระพุทธะใครๆ ให้ กำเริบไม่ได้ ฉันนั้น พระมหาวีรเจ้าทั้งหลายมีตนฝึกแล้ว อดทน และ มีตบะ เจ้าประคุณทั้งหลายผู้อดทน ประกอบด้วยความอดทน จะไม่มีการ ไป พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวดังนี้แล้ว ได้บรรเทาความเร่าร้อนให้หมดไป เวลานั้น เราได้เหาะขึ้นสู่อากาศข้างหน้าของมหาชน กล่าวว่า ข้าแต่ พระวีรเจ้า เพราะกรรมนั้น ข้าพระองค์ได้เข้าถึงความเลวทราม ล่วงชาติ นั้นแล้ว จึงได้เข้าสู่บุรีอันไม่มีภัย ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า แม้ในกาลนั้น พระองค์ก็ได้บรรเทาความเร่าร้อนอันตั้งอยู่ด้วยดี ให้แก่ข้าพระองค์ผู้เดือด ร้อนอยู่ และข้าพระองค์ก็ได้ขมาพระสยัมภูแล้ว ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า แม้วันนี้ พระองค์ได้ดับไฟ ๓ กองให้ข้าพระองค์ผู้ถูกไฟ ๓ กองเผาอยู่ และข้าพระองค์ได้ถึงความเย็นแล้ว ท่านเหล่าใดมีการเงี่ยโสตลงฟัง ขอ ท่านเหล่านั้นจงฟังเรากล่าว เราจักบอกเนื้อความแก่ท่านตามบทที่เราเห็น แล้ว เราดูหมิ่นพระสยัมภู (พระปัจเจกพุทธเจ้า) ผู้มีจิตสงบระงับ มีใจมั่นคงนั้นแล้ว เพราะกรรมนั้น วันนี้ จึงได้เกิดในกำเนิดต่ำทราม ขณะอย่าพลาด (ล่วงเลย) ท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะผู้ที่ล่วงขณะย่อม เศร้าโศก ท่านทั้งหลายพึงพยายามในประโยชน์ของตน ท่านทั้งหลายจง จงเก็บขณะไว้ ยาสำรอกของบุคคลบางพวก เป็นยาถ่ายของบุคคลบางพวก, ยาพิษแข็งกล้าร้ายของคนบางพวก เป็นยาถ่ายของคนบางพวก, ยาพิษ กล้าร้ายแรงของคนบางพวก เป็นยารักษาโรคของคนบางพวก, (พระผู้มี พระภาคทรงทราบแล้วโดยลำดับ) ได้ตรัสบอกอาการเปลื้องสงสารแก่ผู้ ปฏิบัติการถอนออกจากสงสารแก่ผู้ตั้งอยู่ในผล ตรัสบอกโอสถแก่ผู้ได้ผล ตรัสบอกบุญเขตแก่ผู้แสวงหา ตรัสบอกยาพิษอันกล้าแข็งแก่บุคคลผู้เป็น ปฏิปักข์ต่อพระศาสนา อบายสี่ย่อมเผานระนั้น เหมือนอสรพิษมีพิษร้าย ฉะนั้น ยาพิษอันกล้าแข็งที่บุคคลดื่มแล้วย่อมยังชีวิตให้พินาศครั้งเดียว คนผิดในพระศาสนาแล้ว ย่อมถูกไฟเผาในโกฏิกัป พระพุทธะนั้นย่อม ข้ามโลกพร้อมทั้งเทวโลกได้เพราะขันติ อวิหิงสา และเพราะมีจิตเมตตา ฉะนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ใครๆ ให้พิโรธไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้า ทั้งหลายเช่นกับแผ่นดินไม่ข้องอยู่ในลาภและความเสื่อมลาภ ในความ สรรเสริญและดูหมิ่น ฉะนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ใครๆ ให้พิโรธไม่ได้ พระมุนีมีจิตเสมอในสรรพสัตว์ คือ ในพระเทวทัต นายขมังธนู องคุลิมาลโจร พระราหุล และในช้างธนบาล พระพุทธเจ้าเหล่านี้ย่อม ไม่มีความโกรธ ไม่มีความกำหนัด พระพุทธเจ้ามีจิตเสมอในชนทั้งปวง คือในผู้ฆ่าและโอรส ใครๆ เห็นผ้ากาสาวะอันเขาทิ้งไว้ที่หนทางเปื้อน ของไม่สะอาด อันเป็นธงชัยของฤาษี พึงยกกรอัญชลีเหนือเศียรเกล้า ไหว้พระพุทธเจ้าในอดีตก็ดี ปัจจุบันก็ดี อนาคตก็ดี ย่อมบริสุทธิ์ด้วย ธงชัยนั้น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านี้ควรนมัสการ เราย่อมทรง พระวินัยอันงามเช่นกับพระศาสดาไว้ด้วยหทัย เราจักนมัสการพระวินัยใน กาลทุกเมื่อ พระวินัยเป็นที่อาศัยของเรา พระวินัยเป็นที่ยืนเดินของเรา เราจะสำเร็จการอยู่ในพระวินัย พระวินัยเป็นโคจรของเรา ข้าแต่พระมหา วีรเจ้า เพราะฉะนั้น พระอุบาลีผู้ถึงที่สุดในพระวินัย และฉลาดในสมถะ ถวายบังคมพระบาทของพระศาสดา ข้าพระองค์นั้น จะไปจากบ้านนี้สู่ บ้านโน้น จากบุรีนี้สู่บุรีโน้น เที่ยวนมัสการพระสัมพุทธเจ้าและพระ ธรรมอันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงดีแล้ว ข้าพระองค์เผากิเลสทั้งหลายแล้ว ถอนภพขึ้นได้ทั้งหมดแล้ว อาสวะทั้งปวงสิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี ข้าพระองค์ได้มาในสำนักของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดดีแล้วหนอ วิชชา ๓ ข้าพระองค์บรรลุแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ข้าพระองค์ได้ทำให้แจ้งแล้ว พระพุทธศาสนาข้าพระองค์ ได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล. ทราบว่า ท่านพระอุบาลีเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ อุปาลีเถราปทาน
-----------------------------------------------------
อัญญาโกณฑัญญเถราปทานที่ ๙ (๗)
ว่าด้วยผลแห่งการถวายปฐมภัตแก่พระพุทธเจ้า
[๙] เราได้เห็นพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ เชษฐบุรุษของโลก เป็น นายกอย่างวิเศษ บรรลุพุทธภูมิแล้ว เป็นครั้งแรก เทวดาประมาณ เท่าไร มาประชุมกันที่ควงไม้โพธิทั้งหมด แวดล้อมพระสัมพุทธเจ้า ประนมกรอัญชลีไหว้อยู่ เทวดาทั้งปวงมีใจยินดี เที่ยวประกาศไปใน อากาศว่า พระพุทธเจ้านี้ทรงบรรเทาความมืดมนอนธกาลแล้ว ทรงบรรลุ แล้ว เสียงบันลือลั่นของเทวดาผู้ประกอบด้วยความร่าเริงเหล่านั้นได้เป็น ไปว่า เราจักเผากิเลสทั้งหลาย ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรารู้ (ได้ฟัง) เสียงอันเทวดาทั้งหลายเปล่งแล้วด้วยวาจา ร่าเริงแล้ว มีจิตยินดี ได้ถวายภิกษาก่อน พระศาสดาผู้สูงสุดในโลก ทรงทราบความดำริของเรา แล้วประทับนั่ง ณ ท่ามกลางหมู่เทวดา ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า เรา ออกบวชได้ ๗ วันแล้ว จึงได้บรรลุพระโพธิญาณ ภัตอันเป็นปฐมของเรา นี้เป็นเครื่องยังชีวิตให้เป็นไปของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เทพบุตรได้จาก ดุสิตมา ณ ที่นี้ ได้ถวายภิกษาแก่เรา เราจักพยากรณ์เทพบุตรนั้น ท่าน ทั้งหลายจงฟังเรากล่าว ผู้นั้นจักเสวยเทวราชสมบัติอยู่ประมาณ ๓ หมื่น กัลป์ จักครอบครองไตรทิพย์ ครอบงำเทวดาทั้งหมด เคลื่อนจากเทวโลก แล้ว จักถึงความเป็นมนุษย์ จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เสวยราชสมบัติใน มนุษย์โลกนับพันครั้ง ในแสนกัลป พระศาสดาพระนามว่าโคดม โดย พระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นั้นเคลื่อนจากไตรทศแล้ว จักถึงความเป็นมนุษย์ จักออกบวชเป็น บรรพชิตอยู่ ๖ ปี แต่นั้นในปีที่ ๗ พระพุทธเจ้าจักตรัสจตุราริยสัจ ภิกษุ มีนามชื่อว่าโกณฑัญญะ จักทำให้แจ้งเป็นปฐม เมื่อเราออกบวช ได้บวช ตามพระโพธิสัตว์ ความเพียรเราทำดีแล้ว เราบวชเป็นบรรพชิตเพื่อต้อง การจะเผากิเลส พระสัพพัญญูพุทธเจ้าเสด็จมา ตีกลองอมฤตในโลก พร้อมทั้งเทวโลกในป่าใหญ่กับเราด้วยนี้ บัดนี้ เราบรรลุอมตบทอันสงบ ระงับ อันยอดเยี่ยมนั้นแล้ว เรากำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว ไม่มีอาสวะ อยู่ คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล. ทราบว่า ท่านพระอัญญาโกณฑัญญเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน
-----------------------------------------------------
ปิณโฑภารทวาชเถราปทานที่ ๑๐ (๘)
ว่าด้วยผลแห่งการถวายดอกปทุม
[๑๐] พระสยัมภูชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ เป็นบุคคลผู้เลิศประทับอยู่บนยอด ภูเขาจิตกูฏข้างหน้าภูเขาหิมวันต์ เราเป็นพระยาเนื้อผู้ไม่มีความกลัว สามารถจะไปได้ในทิศทั้ง ๔ อยู่ ณ ที่นั้น สัตว์เป็นอันมากได้ฟังเสียง ของเราแล้วย่อมครั้นคร้าม เราคาบดอกปทุมที่บาน เข้าไปหาพระนราสภ ได้บูชาพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จออกจากสมาธิ เวลานั้น เรานมัสการพระพุทธ- เจ้าผู้ประเสริฐสูงสุดกว่านระในสี่ทิศ ยังจิตของตนให้เลื่อมใสแล้ว ได้บันลือสีหนาท พระปทุมุตรพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งโลก ทรงรับเครื่องบูชา ของเรา แล้วประทับนั่งบนอาสนะของพระองค์ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ ทวยเทพทั้งปวงได้ทราบพระดำรัสของพระพุทธเจ้าแล้ว มาประชุมกันกล่าว กันว่า พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐจักเสด็จมาแล้ว เราทั้งหลายจักฟังธรรมนั้น พระมหามุนีทรงเห็นกาลยาวผู้เป็นนายกของโลก ทรงประกาศเสียงของเรา ข้างหน้าของทวยเทพและมนุษย์ผู้ประกอบด้วยความร่าเริงเหล่านั้นว่า ผู้ใด ได้ถวายปทุมนี้ และได้บันลือสีหนาท เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลาย จงฟังเรากล่าว ในกัลปที่ ๘ แต่ภัทรกัลปนี้ ผู้นั้นจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ จักเสวยความ เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ๖๔ ชาติ จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิทรงกำลัง มี พระนามชื่อว่าปทุม ในแสนกัลป พระศาสดาพระนามว่าโคดมโดย พระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก เมื่อพระศาสดาพระองค์นั้นทรงประกาศพระศาสนาแล้ว พระยาสีหะนี้จัก เป็นบุตรของพราหมณ์ จักออกจากสกุลพราหมณ์แล้วบวชในพระศาสนา ของพระศาสดาพระองค์นั้น เขามีตนส่งไปแล้วเพื่อความเพียร สงบระงับ ไม่มีอุปธิ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะนิพพาน ณ เสนา- สนะอันสงัด ปราศจากชนเกลื่อนกล่นด้วยเนื้อร้าย คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งแล้ว พระ- พุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล. ทราบว่า ท่านพระปิณโฑภารทวาชเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ ปิณโฑภารทวาชเถราปทาน
-----------------------------------------------------
ขทิรวนิยเรวตเถราปทานที่ ๑๑ (๙)
ว่าด้วยผลแห่งการจัดเรือนำข้ามฟาก
[๑๑] แม่น้ำคงคาชื่อภาคีรสี เกิดแต่ประเทศหิมวันต์ เราเป็นนายเรืออยู่ที่ท่าอัน ขรุขระ ข้ามส่งคนจากฝั่งนี้ไปฝั่งโน้น พระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ ผู้นายกของโลก สูงสุดกว่าสรรพสัตว์ กับพระขีณาสพหนึ่งแสน จัก ข้ามกระแสแม่น้ำคงคา เรานำเรือมารวมไว้เป็นอันมากแล้วนำประทุนเรือ ที่นายช่างตกแต่งเป็นอันดีไว้ต้อนรับพระนราสภ ก็สัมพุทธเจ้าเสด็จมา แล้วเสด็จขึ้นเรือ พระศาสดาประทับยืน ณ ท่ามกลางน้ำ (เมื่อเรือถึง กลางน้ำพระศาสดาประทับยืน) ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้ใดข้ามส่ง พระสัมพุทธเจ้าและพระสงฆ์ผู้ไม่มีอาสวะ ผู้นั้นจักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลก ด้วยจิตอันเลื่อมใสนั้น วิมานอันบุญกรรมทำไว้อย่างสวยงามมีสัณฐานดัง เรือ จักเกิดแก่ท่าน หลังคาดอกไม้จักกั้นอยู่บนอากาศทุกเมื่อ ในกัลปที่ ๕๔ ผู้นี้จักได้เป็นกษัตริย์พระนามว่าตารณะ จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงครอบครองแผ่นดิน มีสมุทรสาครเป็นที่ลุด ในกัลปที่ ๕๗ จักได้เป็น กษัตริย์พระนามว่าจัมพกะ ทรงพระกำลังมาก จักรุ่งเรือง ดังพระอาทิตย์ อุทัย ฉะนั้น ในแสนกัลป พระศาสดาพระนามว่าโคดมโดยพระโคตร ซึ่ง สมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราชจักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นี้เคลื่อนจาก ไตรทศแล้ว จักถึงความเป็นมนุษย์ จักเป็นบุตรแห่งพราหมณ์ มีนาม ชื่อว่าเรวตะ อันกุศลมูลตักเตือนแล้ว จักออกจากเรือนบวชในศาสนา ของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าโคดม ภายหลังเขาบวชแล้ว จักประกอบ ความเพียร เจริญวิปัสสนากำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะ นิพพาน เรามีความเพียรอันนำไปซึ่งธุระ อันนำมาซึ่งธรรมเป็นแดนเกษม จากโยคะ เราทรงกายอันมีในที่สุด ในศาสนาแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เรา ทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล. ทราบว่า ท่านพระขทิรวนิยเรวตเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ ขทิรวนิยเรวตเถราปทาน.
-----------------------------------------------------
อานันทเถราปทานที่ ๑๒ (๑๐)
ว่าด้วยผลแห่งการกางฉัตรถวายพระพุทธเจ้า
[๑๒] พระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตระ เสด็จออกจากประตูพระอารามแล้ว ทรง ยังเมล็ดฝนอมฤตให้ตกอยู่ ยังมหาชนให้เย็นสบาย พระขีณาสพผู้เป็น นักปราชญ์เหล่านั้นประมาณตั้งแสน ได้อภิญญา ๖ มีฤทธิ์มาก แวดล้อม พระสัมพุทธเจ้า ดุจพระฉายาตามพระองค์ ฉะนั้น เวลานั้น เราอยู่บน คอช้าง ทรงไว้ซึ่งฉัตรขาวอันประเสริฐสุด ปีติย่อมเกิดแก่เราเพราะได้ เห็นพระสัมพุทธเจ้าผู้มีรูปงาม เราลงจากคอช้างแล้วเข้าไปเฝ้าพระนราสภ ได้กั้นฉัตรแก้วของเราถวายแด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด พระมหาฤาษี พระนามว่าปทุมุตระ ทรงทราบความดำริของเราแล้ว ทรงหยุดกถานั้นไว้ แล้วตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า ผู้ใดได้กั้นฉัตรอันประดับด้วยเครื่องอลังการ ทอง เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว สัตว์ผู้นี้ไปจาก มนุษยโลกแล้ว จักครอบครองดุสิต จักเสวยราชสมบัติ มีนางอัปสร ทั้งหลายแวดล้อม จักเสวยเทวราชสมบัติ ๓๔ ครั้ง จักเป็นอธิบดีแห่งชน ครอบครองแผ่นดิน ๘๐๐ ครั้ง จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๘ ครั้ง จัก เสวยราชสมบัติในประเทศราชอันไพบูลย์ในแผ่นดิน ในแสนกัลป พระ- ศาสดาพระนามว่าโคดมโดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นี้จักเป็นโอรสแห่งพระญาติของพระพุทธเจ้าผู้เป็น ธงชัย แห่งสกุลศากยะ จักเป็นพุทธอุปัฏฐาก มีนามชื่อว่าอานนท์ จักมีความเพียร ประกอบด้วยปัญญา ฉลาดในพาหุสัจจะ มีความ ประพฤติอ่อนน้อม ไม่กระด้าง ชำนาญในบาลีทั้งปวง พระอานนท์นั้นมี ตนส่งไปแล้วเพื่อความเพียร สงบระงับ ไม่มีอุปธิ จักกำหนดรู้อาสวะ ทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะนิพพาน มีช้างกุญชรอยู่ในป่า อายุ ๖๐ ปี ตกมันสามครั้ง เกิดในตระกูลช้างมาตังคะ มีงางอนงาม ควรเป็นราช- พาหนะฉันใด แม้บัณฑิตทั้งหลายก็ฉันนั้น ประมาณได้หลายแสน มี ฤทธิ์มาก ทั้งหมดนั้น ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ เป็นผู้ไม่มีกิเลส เราจักนมัสการทั้งในยามต้น ในยามกลาง และในยามสุด เรามีจิต ผ่องใส ปลื้มใจ บำรุงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด เรามีความเพียร ประกอบด้วยปัญญา มีสติสัมปชัญญะ บรรลุโสดาปัตติผล ฉลาดใน เสขภูมิ ในแสนกัลปแต่ละกัลปนี้ เราก่อสร้างกรรมใด เราบรรลุถึง ภูมิแห่งกรรมนั้นแล้ว ศรัทธาตั้งมั่นมีผลมาก การมาในสำนักพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสุดของเรา เป็นการมาดีหนอ วิชชา ๓ เราบรรลุแล้ว พระ- พุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล. ทราบว่า ท่านพระอานันทเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ อานันทเถราปทาน.
-----------------------------------------------------
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. พุทธาปทาน ๒. ปัจเจกพุทธาปทาน ๓. สารีปุตตเถราปทาน ๔. มหาโมคคัลลานเถราปทาน ๕. มหากัสสปเถราปทาน ๖. อนุรุทธเถราปทาน ๗. ปุณณมันตานีปุตตเถราปทาน ๘. อุปาลีเถราปทาน ๙. อัญญาโกณฑัญญเถราปทาน ๑๐. ปิณโฑภารทวาชเถราปทาน ๑๑. ขทิรวนิยเรวตเถราปทาน ๑๒. อานันทเถราปทาน
ท่านรวบรวมคาถาทั้งหมดได้ ๖๕๐ คาถา.
จบ อปทานพุทธวรรคที่ ๑
-----------------------------------------------------
สีหาสนิวรรคที่ ๒
สีหาสนทายกเถราปทานที่ ๑ (๑๑)
ว่าด้วยผลแห่งการถวายราชอาสน์ทองคำ
[๑๓] เมื่อพระโลกนาถพระนามว่าสิทธัตถะ ผู้สูงสุดกว่าสัตว์นิพพานแล้ว เมื่อ พระศาสดา (แผ่) กว้างขวาง เมื่อพระศาสนามีท่านผู้รู้ (พระขีณาสพ) มาก เรามีจิตผ่องใส ใจผ่องแผ้ว ได้ทำราชอาสน์ทองคำ ครั้นทำ ราชอาสน์ทองคำแล้ว ได้ทำตั่งสำหรับรองเท้า ได้สร้างเรือนสำหรับเก็บ ราชอาสน์ทองคำนั้นในฤดูฝนด้วยจิตอันเลื่อมใสนั้น เราได้บังเกิดในภพ ดุสิตวิมานโดยยาว ๒๔ โยชน์ โดยกว้าง ๑๔ โยชน์ อันบุญกรรมสร้าง อย่างงดงามมีอยู่ในภพสุดิตนั้นเพื่อเรา นางเทพกัญญา ๗ หมื่นแวดล้อม เราอยู่ทุกเมื่อ และบัลลังก์ทองที่สร้างอย่างวิจิตร มีอยู่ในวิมานของเรา ยานช้าง ยานม้า ยานทิพย์ ตั้งไว้คอยรับเรา ปราสาทและวอย่อมบังเกิด ตามความปรารถนา บัลลังก์แก้ว และบัลลังก์ไม้แก่นอย่างอื่นเป็นอันมาก ย่อมเกิดแก่เราทุกอย่าง นี้เป็นผลแห่ง (การถวาย) ราชอาสน์ทองคำ เราสวมรองเท้าทำด้วยทองคำ ทำด้วยเงิน ทำด้วยแก้วผลึก ทำด้วยแก้ว ไพฑูรย์ นี้เป็นผลแห่งการถวายตั่งรองเท้า ในกัลปที่ ๙๔ แต่กัลปนี้ เราได้ทำกรรมใดในกาลนั้น ด้วยผลกรรมนั้น เราไม่รู้ทุคติเลย นี้เป็นผล แห่งบุญกรรม ในกัลปที่ ๗๓ แต่กัลปนี้ มีคน ๓ คน ชื่ออินท์ ในกัลปที่ ๗๒ แต่กัลปนี้ มีคน ๓ คน ชื่อสุมนะ ในกัลปที่ ๗๐ มีคน ๓ คน ชื่อวรุณ สมบูรณ์ ด้วยแก้ว ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ คุณ วิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้ แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล. ทราบว่า ท่านพระสีหาสนทายกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ สีหาสนทายกเถราปทาน
-----------------------------------------------------
เอกถัมภิกเถราปทานที่ ๒ (๑๒)
ว่าด้วยผลแห่งการถวายเสาต้นเดียว
[๑๔] ได้มีการประชุมมหาอุบาสกของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสิทธัตถะ และ อุบาสกเหล่านั้นถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะเชื่อพระตถาคต อุบาสกทั้งหมด มาประชุมปรึกษากันจะสร้างศาลาถวายแด่พระศาสดา ยังไม่ได้เสาอีกต้น หนึ่ง จึงพากันเที่ยวหาอยู่ในป่าใหญ่ เราพบอุบาสกเหล่านั้นในป่าแล้ว จึงเข้าไปหาคณะอุบาสกในเวลานั้น เราประนมอัญชลีสอบถามคณะอุบาสก อุบาสกผู้มีศีลเหล่านั้นอันเราถามแล้วตอบให้ทราบว่า เราต้องการจะสร้าง ศาลา ยังหาเสาไม่ได้อีกต้นหนึ่ง ขอท่านจงให้เสากะเราต้นหนึ่งเถิด ฉันจักถวายแด่พระศาสดา ฉันจักนำเสามาให้ท่านทั้งหลายไม่ต้องขวนขวาย หา อุบาสกเหล่านั้นเลื่อมใสมีใจยินดีให้เสาแก่เรา แล้วกลับจากป่านั้นมา สู่เรือนของตนๆ เมื่อคณะอุบาสกไปแล้วไม่นาน เราได้ถวายเสาในกาล นั้น เรายินดี มีจิตร่าเริง ยกเสาขึ้นก่อนเขา ด้วยจิตอันเลื่อมใสนั้น เราได้เกิดในวิมาน ภพของเราตั้งอยู่โดดเดี่ยว ๗ ชั้น สูงตระหง่าน เมื่อ กลองดังกระหึ่มอยู่ เราบำเรออยู่ทุกเมื่อ ใน ๕๕ กัลป เราได้เป็นพระราชา พระนามว่ายโสธร แม้ในกาลนั้น ภพของเราก็สูงสุด ๗ ชั้น ประกอบ ด้วยเรือนยอดอันประเสริฐ มีเสาต้นหนึ่งเป็นที่รื่นรมย์แห่งใน ใน ๒๑ กัลป เราเป็นกษัตริย์พระนามว่าอุเทน แม้ในกาลนั้น ภพของเราก็มี ๗ ชั้น ประดับอย่างสวยงาม เราเข้าถึงกำเนิดใดๆ คือ ความเป็นเทวดา หรือความเป็นมนุษย์ เราย่อมเสวยผลนั้นๆ ทั้งหมด นี้เป็นผลแห่ง (การถวาย) เสาต้นเดียว ในกัลปที่ ๙๔ แก่กัลปนี้ ในกาลนั้นเราได้ให้เสา ใด ด้วยบุญกรรมนั้น เราไม่รู้สึกทุคติเลย นี้เป็นผลแห่ง (การถวาย) เสา ต้นเดียว คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้วฉะนี้แล. ทราบว่า ท่านพระเอกถัมภิกเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ เอกถัมภิกเถราปทาน.
-----------------------------------------------------
นันทเถราปทานที่ ๓ (๑๓)
ว่าด้วยผลแห่งการถวายผ้า
[๑๕] เราได้ถวายผ้าทอด้วยเปลือกไม้ แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่า ปทุมุตระ เชษฐบุรุษของโลกผู้มั่นคง ตรัสรู้เอง แสวงหาคุณอันใหญ่หลวง พระพุทธ- เจ้าผู้เป็นนายกพระนามว่า ปทุมุตระ ทรงพยากรณ์เรานั้นว่า ด้วยการถวาย ผ้านี้ ท่านจักเป็นผู้มีผิวพรรณดังทองคำ ได้เสวยสมบัติทั้งสองแล้ว อันกุศลมูลตักเตือน จักได้เป็นพระอนุชาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่า โคดม ท่านอันราคะย้อมแล้ว มีปกติสุข ประกอบด้วยความกำหนัดใน กาม เป็นผู้อันพระพุทธเจ้าตักเตือนแล้ว แต่นั้นจักบวช ครั้นบวชใน พระศาสนาของพระโคดมนั้นแล้ว อันกุศลมูลตักเตือน จักกำหนดรู้ อาสวะทั้งปวง ไม่มีอาสวะนิพพาน ในแสนกัลป มีคน ๔ คน ชื่อเจละ ใน ๖ หมื่นกัลป มีคน ๔ คน ชื่ออุปเจละ ใน ๕ หมื่นกัลป มีคน ๔ คนชื่อ เจละเหมือนกัน สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้ แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล. ทราบว่า ท่านพระนันทเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ นันทเถราปทาน
-----------------------------------------------------
จุลลปันถกเถราปทานที่ ๔ (๑๔)
ว่าด้วยพระจุลลปันถกปัญญาเขลา
[๑๖] เวลานั้น พระชินเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ ทรงรับเครื่องบูชาแล้ว พระองค์ เสด็จหลีกออกจากหมู่ ประทับอยู่ ณ ภูเขาหิมวันต์ แม้เวลานั้นเราก็อยู่ ในอาศรมใกล้ภูเขาหิมวันต์ เราได้เข้าไปเฝ้าพระมหาวีรเจ้าผู้เป็นนายกของ โลก ซึ่งเสด็จมาไม่นาน เราถือเอาฉัตรอันประดับด้วยดอกไม้ เข้าไปเฝ้า พระนราสภ เราได้ทำอันตรายแก่พระผู้มีพระภาคซึ่งกำลังเสด็จเข้าสมาธิ เราประคองฉัตรดอกไม้ด้วยมือทั้งสองถวายแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มี พระภาคมหามุนีพระนามว่าปทุมุตระทรงรับแล้ว เทวดาทั้งปวงมีใจชื่นบาน เข้ามาสู่ภูเขาหิมวันต์ ยังสาธุการให้เป็นไปว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีจักษุ ทรงอนุโมทนา ครั้นเทวดาเหล่านี้กล่าวเช่นนี้แล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระ- ภาคผู้สูงสุดว่านระ เมื่อเรากั้นฉัตรดอกบัวอันอุดมอยู่ในอากาศ (พระผู้มี พระภาคตรัสว่า) ดาบสได้ประคองฉัตรใบบัว ๗ ใบให้แก่เรา เราจัก- พยากรณ์ดาบสนั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว ดาบสนี้จักเสวยเทวรัช สมบัติอยู่ตลอด ๒๕ กัลป์ และจักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๔ ครั้ง จะท่อง เที่ยวสู่กำเนิดใดๆ คือ ความเป็นเทวดาหรือมนุษย์ ในกำเนิดนั้นๆ จักทรงไว้ซึ่งดอกปทุมอันตั้งอยู่ในอากาศ ในแสนกัลป พระศาสดาพระ นามว่าโคดม โดยพระโคตร ซึ่งมีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จัก เสด็จอุบัติในโลก เมื่อพระศาสดาทรงประกาศพระศาสนา ดาบสผู้จักได้ ความเป็นมนุษย์ เราจักเป็นผู้อุดมในกายอันบังเกิดแล้วด้วยใจ จักมีพี่ น้องชายสองคนมีชื่อว่าปันถก แม้ทั้งสองคนเสวยประโยชน์อันสูงสุดแล้ว จักยังพระศาสนาให้รุ่งเรือง เรานั้นมีอายุ ๑๘ ปี ออกบวชเป็นบรรพชิต เรายังไม่ได้คุณวิเศษในศาสนาของพระศากยบุตร เรามีปัญญาเขลา เพราะ เราอบรมอยู่ในบุรี พระพี่ชายจึงขับไล่เราว่า จงไปสู่เรือนเดี๋ยวนี้ เราถูก พระพี่ชายขับไล่แล้วน้อยใจ ได้ยืนอยู่ที่ซุ้มประตูสังฆาราม ไม่หวังใน ความเป็นสมณะ ลำดับนั้น พระศาสดาเสด็จมา ณ ที่นั้น ทรงลูบศีรษะ เรา ทรงจับเราที่แขน พาเข้าไปในสังฆาราม พระศาสดาได้ทรงอนุเคราะห์ ประทานผ้าเช็ดพระบาทให้แก่เราว่า จงอธิษฐานผ้าอันสะอาดอย่างนี้วางไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง เราจับผ้านั้นด้วยมือทั้งสองแล้วจึงระลึกถึงดอกบัวได้ จิตของเราปล่อยไปในดอกบัวนั้น เราจึงได้บรรลุอรหัต เราถึงที่สุดใน ฌานทั้งปวง ในกายอันบังเกิดแล้วแต่ใจ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว ไม่มีอาสวะอยู่ คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมปภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และ อภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล. ทราบว่า ท่านพระจุลลปันถกได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ จุลลปันถกเถราปทาน
-----------------------------------------------------
ปิลินทวัจฉเถราปทานที่ ๕ (๑๕)
ว่าด้วยผลแห่งการไล้ทาของหอม
[๑๗] เมื่อพระโลกนาถพระนามว่าสุเมธ เป็นบุคคลผู้เลิศ นิพพานแล้ว เรามี จิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ได้ทำการบูชาพระสถูปในสมาคมนั้น มีพระ ขีณาสพผู้ได้อภิญญา ๖ มีฤทธิ์มากเท่าใด เรานิมนต์พระขีณาสพเหล่านั้น มาประชุมกันในสมาคมนั้นแล้ว ได้ทำสังฆภัตถวาย เวลานั้น มีภิกษุ อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคพระนามว่าสุเมธ ท่านมีนามชื่อว่าสุเมธ ได้ อนุโมทนาในเวลานั้น ด้วยจิตอันเลื่อมใสนั้น เราได้เข้าถึงวิมาน นาง อัปสรแปดหมื่นหกพันได้มีแก่เรา นางอัปสรเหล่านั้น ย่อมอนุวัตตาม ความประสงค์ทุกอย่างของเราเสมอ เราย่อมครอบงำเทวดาเหล่าอื่น นี้ เป็นผลแห่งบุญกรรมในกัลปที่ ๒๕ เราเป็นกษัตริย์ พระนามว่าวรุณ ใน กาลนั้นเราได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเสวยโภชนะอันขาวผ่อง ชนเหล่านั้น ไม่ต้องหว่านพืช และไม่ต้องนำไถไปไถ มนุษย์ทั้งหลายย่อมบริโภคข้าว สาลีอันเกิดเองสุกเองในที่ไม่ได้ไถ เราเสวยราชสมบัติในภพนั้นแล้ว ได้ ถึงความเป็นเทวดาอีก ถึงเวลานั้น โภคสมบัติเช่นนี้ก็บังเกิดแก่เรา สัตว์ทั้งปวงซึ่งเป็นมิตร หรือมิใช่มิตร ย่อมไม่เบียดเบียนเรา เราเป็น ที่รักของสัตว์ทุกจำพวก นี้เป็นผลแห่งกรรม ในกัลปที่ ๓ หมื่น เราได้ให้ ทานใดในกาลนั้น ด้วยการให้ทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผล แห่งการไล้ทาด้วยของหอม ในภัทกัปนี้ เราผู้เดียวได้เป็นอธิบดีของคน ได้เป็นราชฤาษีผู้มีอานุภาพมาก ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมีพลมาก เรา นั้นตั้งอยู่ในศีล ๕ ได้ยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ถึงสุคติ ได้เป็นที่รักของ เทวดาทั้งหลาย คุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๕ วิโมกข์ ๘ และ อภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล. ทราบว่า ท่านพระปิลินทวัจฉเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ ปิลินทวัจฉเถราปทาน.
-----------------------------------------------------
ราหุลเถราปทานที่ ๖ (๑๖)
ว่าด้วยผลแห่งการถวายเครื่องลาด
[๑๘] เราได้ถวายเครื่องลาดในปราสาท ๗ ชั้น แด่พระผู้มีพระภาคพระนามว่า ปทุมุตระ เชษฐบุรุษของโลก ผู้คงที่ พระมหามุนีผู้เป็นจอมแห่งชนเป็น นระผู้ประเสริฐ อันพระขีณาสพพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว เสด็จเข้าพระ คันธกุฎี พระศาสดาผู้ประเสริฐกว่าเทวดา เป็นนระผู้องอาจ ทรงยัง พระคันธกุฎีให้รุ่งเรือง ประทับยืนในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ได้ตรัสพระคาถา เหล่านี้ว่า ที่นอนนี้ผู้ใดให้โชติช่วงแล้ว ดังกระจกเงาอันขัดดีแล้ว เราจัก พยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว ปราสาททองอันงดงาม หรือ ปราสาทแก้วไพฑูรย์เป็นที่รักแห่งใจจักบังเกิดแก่ผู้นั้น ผู้นั้นจักเป็นจอม เทวดา เสวยเทวรัชสมบัติอยู่ ๖๔ ครั้ง ในกัลปที่ ๒๑ จักได้เป็นกษัตริย์ พระนามว่าวิมล จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิทรงครอบครองแผ่นดินมีสมุทร- สาคร ๔ เป็นขอบเขต พระนครชื่อเรณุวดีสร้างด้วยแผ่นอิฐ โดยยาว ๓๐๐ โยชน์ สี่เหลี่ยมจตุรัส ปราสาทชื่อสุทัสนะ อันวิสสุกรรมเทพบุตร นิรมิตให้ ประกอบด้วยเรือนยอดอันประเสริฐ ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ วิทยาธรมีเสียงสิบอย่างต่างๆ กัน มาเกลื่อนกล่นอยู่ เหมือน จักเป็นนครชื่อสุทัสนะของเหล่าเทวดา รัศมีแห่งนครนั้น เปล่งปลั่งดัง เมื่อพระอาทิตย์อุทัย นครนั้นจักรุ่งเรืองจ้าโดยรอบ ๘ โยชน์อยู่เป็นนิจ ในแสนกัลป พระศาสดาทรงพระนามว่าโคดมโดยพระโคตร ซึ่งมีสมภพ ในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นั้นอันกุศลมูลตัก- เตือนแล้ว จักเคลื่อนจากภพดุสิต จักได้เป็นพระราชโอรสของพระผู้มี พระภาคพระนามว่าโคดม ถ้าจะพึงอยู่ครองเรือนผู้นั้นพึงได้เป็นพระเจ้า จักรพรรดิ แต่ข้อที่เขาจะคงที่ถึงความยินดีในเรือนนั้น ไม่เป็นฐานะที่จะ มีได้ เขาจักออกบวชเป็นบรรพชิต เป็นผู้มีวัตรอันงาม จักได้เป็นพระ อรหันต์มีนามชื่อว่าราหุล พระมหามุนีทรงพยากรณ์เราว่า มีปัญญา สมบูรณ์ด้วยศีล เหมือนนกต้อยติวิดรักษาไข่ ดังจามรีรักษาขนหาง เรา รู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์แล้ว ยินดีอยู่ในศาสนา เรากำหนดรู้อาสวะ ทั้งปวงแล้ว ไม่มีอาสวะอยู่ คุณวิเศษเหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เราทำให้แจ้งชัดแล้ว พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ฉะนี้แล. ทราบว่า ท่านพระราหุลเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ด้วยการฉะนี้แล.
จบ ราหุลเถราปทาน.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒ บรรทัดที่ ๑-๑๓๗๙ หน้าที่ ๑-๖๐. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=0&Z=1379&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6], [7], [8], [9], [10], [11], [12], [13], [14], [15], [16], [17], [18], [19], [max20]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=32&siri=0              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=0              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [1-18] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=32&item=1&items=18              The Pali Tipitaka in Roman :- [1-18] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=32&item=1&items=18              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_32              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap1/en/walters

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :