ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

หน้าที่ ๑๗.

สกิงสัมมัชชกวรรคที่ ๔๓
สกิงสัมมัชชกเถราปทานที่ ๑
ว่าด้วยผลแห่งการกวาดลานพระศรีมหาโพธิ
[๑๑] เราได้เห็นไม้แคฝอย ซึ่งเป็นไม้โพธิอันอุดมของพระผู้มีพระภาค พระนามว่าวิปัสสี แล้วยังใจให้เลื่อมใสในไม้โพธินั้น เราหยิบเอา ไม้กวาดมากวาด (ลานโพธิพฤกษ์) อันเป็นที่ตั้งแห่งไม้โพธิในกาล นั้น ครั้นแล้วได้ไหว้ไม้แคฝอยซึ่งเป็นไม้โพธินั้น เรายังจิตให้ เลื่อมใสในไม้โพธินั้น ประนมกรอัญชลีเหนือเศียรเกล้า นมัสการ ไม้โพธินั้นแล้ว กลับไปยังกระท่อม เราเดินนึกถึงไม้โพธิอันอุดมไป ตามหนทางสัญจร งูเหลือมซึ่งมีรูปร่างน่ากลัว มีกำลังมาก รัดเรา กรรมที่เราทำในเวลาใกล้จะตาย ได้ทำให้เรายินดีด้วยผล งูเหลือม กลืนกินร่างของเรา เรารื่นรมย์อยู่ในเทวโลก จิตของเราไม่ขุ่นมัว บริสุทธิ์ขาวสะอาดในกาลทุกเมื่อ ลูกศรคือความโศก ที่เป็นเหตุทำ จิตของเราให้เร่าร้อน เราไม่รู้จักมันเลย เราไม่มีโรคเรื้อน ฝี โรคกลาก ลมบ้าหมู คุดทะราด หิดเปื่อย และหิดด้าน นี้ก็เป็น ผลแห่งการกวาด ความโศก ความเร่าร้อน ไม่มีในหทัยของเรา จิตของเราตรง ไม่วอกแวก นี้เป็นผลแห่งการกวาด เราถึงสมาธิอีก ใจของเราเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ สมาธิที่เราปรารถนาย่อมสำเร็จแก่เรา เราไม่กำหนัดในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่ขัดเคืองใน อารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง และไม่หลงในอารมณ์เป็นที่ตั้ง แห่งความหลง นี้ก็เป็นผลแห่งการกวาด ในกัปที่ ๙๑ แต่กัปนี้ เราได้ ทำกรรมใดในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้นเราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผล

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๘.

แห่งการกวาด เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... พระพุทธศาสนาเราได้ทำ เสร็จแล้ว ดังนี้. ทราบว่า ท่านพระสกิงสัมมัชชกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ สกิงสัมมัชชกเถราปทาน.
เอกทุสสทายกเถราปทานที่ ๒
ว่าด้วยผลแห่งการถวายผ้าเป็นพุทธบูชา
[๑๒] เราเป็นคนเกี่ยวหญ้าขายอยู่ในพระนครหงสวดี เลี้ยงชีพด้วยการ เกี่ยวหญ้า เลี้ยงดูเด็กๆ ก็ด้วยการเกี่ยวหญ้านั้น พระชินเจ้า พระนามว่าปทุมุตระผู้รู้จบธรรมทั้งปวง เป็นนายกของโลก เสด็จ อุบัติขึ้น กำจัดความมืดมนให้พินาศ ครั้งนั้นเรานั่งอยู่ในเรือน ของตน คิดอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ไทยธรรมของเราไม่มี เรามีแต่ผ้าสาฎกผืนเดียวนี้ ไม่มีใครจะให้เรา การถูกต้องนรกนำความทุกข์มาให้ เราจะปลูกฝังทักษิณา ครั้นคิด ได้เช่นนี้แล้ว เราจึงได้ยังจิตของเราให้เลื่อมใส ได้ถือผ้าผืนหนึ่งไป ถวายแด่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ครั้นถวายผ้าแล้วได้ประกาศ เสียงก้องว่า ข้าแต่พระมหามุนีวีระเจ้า ถ้าพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอทรงโปรดช่วยข้าพระองค์ให้ข้าด้วยเถิด พระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตระ ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา เมื่อจะทรงประกาศ ทานของเรา ได้ทรงทำอนุโมทนาแก่เราว่า ด้วยการถวายผ้าผืนหนึ่งนี้ และด้วยความตั้งเจตนาไว้ บุรุษนี้จะไม่ไปสู่วินิบาตเลยตลอดแสนกัป เขาจักได้เป็นจอมเทพเสวยราชสมบัติในเทวโลก ๓๖ ครั้ง จักได้เป็น พระเจ้าจักรพรรดิราช ๓๓ ครั้ง และจักได้เป็นพระเจ้าประเทศราช อันไพบูลย์โดยคณนานับมิได้ เมื่อเธอท่องเที่ยวอยู่ในภพ คือ ในเทวโลกหรือมนุษย์โลก จักเป็นผู้มีรูปสวยงาม สมบูรณ์ด้วยคุณ

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๑๙.

มีกายสง่า จักได้ผ้าร้อยล้านแสนโกฏินับไม่ได้ ตามความปรารถนา ครั้นพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ ผู้เป็นนักปราชญ์ตรัสดังนี้ แล้ว ได้เสด็จเหาะขึ้นสู่อากาศเหมือนพญาหงส์ในอัมพร ฉะนั้น เราเข้าถึงกำเนิดใดๆ คือ เป็นเทวดาหรือมนุษย์ ในกำเนิดนั้นๆ เราไม่มีความบกพร่องในโภคสมบัติเลย นี้เป็นผลแห่งผ้าผืนหนึ่ง ผ้าเกิดแก่เราทุกๆ ย่างก้าว ข้างล่างเรายืนอยู่บนผ้า ข้างบนเรามีผ้า เป็นเครื่องบัง ทุกวันนี้จักรวาลพร้อมทั้งป่า ภูเขา เมื่อเราปรารถนา จะถือเอา ก็พึงคลุมได้ด้วยผ้า เพราะผ้าผืนเดียวนั่นแหละ เมื่อยัง ท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยใหญ่ เราเป็นผู้มีผิวพรรณเหมือนทองคำ ท่องเที่ยวไปในภพน้อยใหญ่ เราได้ถึงความเป็นภิกษุเพราะวิบาก แห่งผ้าผืนเดียว ถึงชาตินี้จะเป็นชาติสุดท้าย แม้ในชาตินี้ผ้าก็ยังให้ ผลแก่เราอยู่ ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ เราได้ถวายผ้าใดในกาลนั้น ด้วยการถวายผ้านั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งผ้าผืนเดียว เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้. ทราบว่า ท่านพระเอกทุสสทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ เอกทุสสทายกเถราปทาน.
เอกาสนทายกเถราปทานที่ ๓
ว่าด้วยผลแห่งการแต่งอาสนะบูชา
[๑๓] มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อกสิกะ อยู่ในที่ไม่ไกลจากภูเขาหิมวันต์ เราสร้าง อาศรมอย่างสวยงาม สร้างบรรณศาลาไว้ที่ภูเขานั้น เรามีนามชื่อว่า นารทะ แต่คนทั้งหลายเรียกเราว่า กัสสปะ ในกาลนั้น เราแสวง หาทางบริสุทธิ์อยู่ที่ภูเขากสิกะ พระชินสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตระ ทรงรู้จบธรรมทั้งปวง ทรงใคร่ต่อวิเวก ได้เสด็จมาทาง อากาศ เราเห็นพระรัศมีของพระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๐.

กำลังเสด็จมาที่ชายป่า จึงตบแต่งเตียงไม้แล้วปูลาดหนังสัตว์ ครั้น ตบแต่งอาสนะเสร็จแล้ว จึงประนมกรอัญชลีขึ้นเหนือเศียรเกล้า ประกาศถึงความโสมนัสแล้ว ได้กราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เป็นปราชญ์ นำสัตว์ออกจากโลก ขอพระองค์ผู้เป็นดังศัลยแพทย์ รักษาความเดือดร้อน ได้โปรดประทานการรักษาแก่ข้าพระองค์ ผู้อันความกำหนัดครอบงำเถิด ข้าแต่พระมุนี ชนเหล่าใดมีความต้อง การด้วยบุญ มองดูพระองค์ผู้เป็นพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสุด ชนเหล่านั้นย่อมถึงความสำเร็จแห่งประโยชน์อันยั่งยืน พึงเป็นผู้ไม่ แก่ ข้าพระองค์หามีไทยธรรมเพื่อพระองค์ไม่ เพราะข้าพระองค์ บริโภคผลไม้ที่หล่นเอง ข้าพระองค์มีแต่อาสนะนี้ ขอเชิญประทับ นั่งบนเตียงไม้เถิด พระผู้มีพระภาคผู้ไม่มีความสะดุ้งเหมือนราชสีห์ ได้ประทับนั่งบนเตียงไม้แล้ว ทรงยับยั้งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วได้ตรัส อย่างนี้ว่า ท่านจงเบาใจอย่าได้กลัวเลย แก้วมณีที่สว่างไสว ควรยินดี ท่านได้แล้ว ความปรารถนาที่ท่านได้ตั้งไว้ จักสำเร็จทุก ประการก็เพราะอาสนะ บุญที่ได้บำเพ็ญไว้ดีแล้ว ในเขตบุญอันยอด เยี่ยมหาน้อยไม่เลย อันผู้ที่ตั้งจิตไว้ดีแล้ว สามารถจะรื้อตนขึ้นได้ เพราะอาสนทานนี้ และเพราะการตั้งเจตนาไว้ ท่านจะไม่ไปสู่ วินิบาตตลอดแสนกัป จักได้เป็นจอมเทพเสวยราชสมบัติในเทว- โลก ๕๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ๘๐ ครั้ง จักได้เป็น พระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ โดยคณนานับมิได้ พระสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระนามว่าปทุมุตระ เป็นนักปราชญ์ ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ได้ เสด็จขึ้นสู่นภากาศ ปานดังว่าพญาหงส์ในอัมพร ฉะนั้น ยานช้าง ยานม้า รถ คานหาม เราได้สิ้นทุกอย่าง นี้เป็นผลของอาสนะ อันหนึ่ง ในเมื่อเราเข้าป่าแล้วต้องการที่นั่ง บัลลังก์ดุจว่ารู้ความดำริ ของเรา ตั้งขึ้นใกล้ๆ ในเมื่อเราอยู่ท่ามกลางน้ำต้องการที่นั่ง บัลลังก์ ดังจะรู้ความดำริของเรา ตั้งขึ้นใกล้ๆ เราเข้าถึงกำเนิดใดๆ คือ เป็น เทวดาหรือมนุษย์ ในกำเนิดนั้นๆ บัลลังก์ตั้งแสน ย่อมแวดล้อม

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๑.

เราอยู่ทุกเมื่อ เราท่องเที่ยวอยู่ในสองภพ คือ ในเทวดาและมนุษย์ และเกิดในสองสกุล คือกษัตริย์และพราหมณ์ เราถวายอาสนะ อันหนึ่งในเขตบุญอันยอดเยี่ยม รู้ทั่วถึงบัลลังก์ คือ ธรรมแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่ ในกัปที่แสน แต่กัปนี้ เราได้ถวายทานใด ในกาลนั้น ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้ก็เป็นผลของอาสนะ อันหนึ่ง เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จ แล้วดังนี้. ทราบว่า ท่านพระเอกาสนทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ เอกาสนทายกเถราปทาน.
สัตตกทัมพปุปผิยเถราปทานที่ ๔
ว่าด้วยผลแห่งการถวายดอกกระทุ่ม ๗ ดอก
[๑๔] มีภูเขาชื่อกทัมพะ อยู่ในที่ไม่ไกลภูเขาหิมวันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า ๗ องค์อาศัยอยู่ที่ข้างภูเขานั้น เราเห็นดอกกระทุ่มจึงประนมมือแล้ว หยิบเอามา ๗ ดอก ได้เรี่ยรายลงด้วยจิตอันเปี่ยม เพราะกรรมที่ เราได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และเพราะความตั้งเจตนาไว้ เราละร่างมนุษย์ แล้ว ได้ไปยังดาวดึงสพิภพ ในกัปที่ ๙๔ แต่กัปนี้ เราได้กระทำ กรรมใดในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผล แห่งพุทธบูชา เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... พระพุทธศาสนาเราได้ ทำเสร็จแล้ว ดังนี้. ทราบว่า ท่านพระสัตตกทัมพปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ สัตตกทัมพปุปผิยเถราปทาน.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๒.

โกรัณฑปุปผิยเถราปทานที่ ๕
ว่าด้วยผลแห่งการถวายดอกหงอนไก่
[๑๕] เมื่อก่อน เรากับบิดาและปู่ เป็นคนทำการงานในป่า เลี้ยงชีพ ด้วยการฆ่าปศุสัตว์ กุศลกรรมของเราไม่มี ใกล้กับที่อยู่ของเรา พระพุทธเจ้าผู้นำชั้นเลิศของโลก พระนามว่าติสสะ ผู้มีพระปัญญา จักษุ ได้ทรงแสดงรอยพระบาทไว้ ๓ รอย เพื่ออนุเคราะห์ ก็เรา ได้เห็นรอยพระบาทของพระศาสดาพระนามว่าติสสะ ที่พระองค์ ทรงเหยียบไว้ เป็นผู้ร่าเริงมีจิตยินดียังจิตให้เลื่อมใสในรอยพระบาท เราเห็นต้นหงอนไก่ ที่ขึ้นมาจากแผ่นดิน มีดอกบานแล้ว จึงเด็ด มาพร้อมทั้งยอด บูชารอยพระบาทอันประเสริฐสุด เพราะกรรมที่ เราได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และเพราะความตั้งเจตนาไว้ เราละร่างมนุษย์ แล้ว ไปสู่ดาวดึงสพิภพ เราเข้าถึงกำเนิดใดๆ คือ เป็นเทวดา หรือมนุษย์ ในกำเนิดนั้นๆ เรามีผิวกายเหมือนสีดอกหงอนไก่ มี รัศมีเป็นแดนซ่านออกจากตน ในกัปที่ ๙๒ แต่กัปนี้ เราได้ทำ กรรมใดในกาลนั้น ด้วยกรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผล แห่งการบูชารอยพระพุทธบาท เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้. ทราบว่า ท่านพระโกรัณฑปุปผิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ โกรัณฑปุปผิยเถราปทาน.
ฆฏมัณฑทายกเถราปทานที่ ๖
ว่าด้วยผลแห่งการถวายเปรียง
[๑๖] พระผู้มีพระภาคผู้มีเหตุอันทรงดำริดีแล้ว เป็นเชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านรชน เสด็จเข้าไปสู่ป่าใหญ่ ถูกอาพาธอันเกิดแต่ลม

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๓.

เบียดเบียน เราเห็นแล้ว จึงทำจิตให้เลื่อมใสนำเอาขี้ตะกอนเปรียง เข้าไปถวาย เพราะเราได้กระทำกุศลกรรมและได้บูชาพระพุทธเจ้า เนืองๆ แม่น้ำคงคาชื่อภาคีรสีนี้ มหาสมุทรทั้ง ๔ และพื้นปฐพี ที่น่ากลัวซึ่งจะประมาณมิได้นับไม่ถ้วนนี้ ย่อมสำเร็จเป็นเปรียงขึ้น ได้สำหรับเรา น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด ดังจะรู้ความดำริของเรา เกิดขึ้น ต้นไม้ที่งอกขึ้นแต่แผ่นดินในทิศทั้ง ๔ ดังจะรู้ความดำริของเรา ย่อมเกิดเป็นต้นกัลปพฤกษ์ขึ้น เราได้เป็นจอมเทวดาเสวยราช สมบัติในเทวโลก ๕๐ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๑ ครั้ง ได้ เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ โดยคณนานับไม่ถ้วนในกัปที่ ๙๔ แต่กัปนี้ เราได้ให้ทานใดในกาลนั้น ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติ เลย นี้เป็นผลแห่งขี้ตะกอนเปรียง เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้. ทราบว่า ท่านพระฆฏมัณฑทายกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ ฆฏมัณฑทายกเถราปทาน.
เอกธัมมสวนิยเถราปทานที่ ๗
ว่าด้วยผลแห่งการฟังธรรมครั้งเดียว
[๑๗] พระพิชิตมารพระนามว่าปทุมุตระ ทรงรู้จบธรรมทั้งปวงประกาศ สัจจะ ๔ ทรงยังชนเป็นอันมากให้ข้ามพ้นดีแล้ว สมัยนั้น เราเป็น ชฎิลมีตบะใหญ่ สลัดผ้าคากรองเปลือกไม้ เหาะไปในอัมพร ในกาลนั้น เราไม่สามารถจะเหาะไปได้เหนือพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ สุด เราเหาะไปไม่ได้ เหมือนนกเข้าไปใกล้ภูเขาแล้วไปไม่ได้ ฉะนั้น เราบังหวนเป็นไอน้ำลอยอยู่ในอัมพรเช่นนี้ ด้วยคิดว่า เหตุเครื่องทำให้อิริยาบถกำเริบเช่นนี้ มิได้เคยมีแก่เรา เอาละ เราจักค้นหาเหตุนั้น บางทีเราจักพึงได้ผล เราลงจากอากาศ ก็ได้

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๔.

สดับพระสุรเสียงของพระศาสดา เมื่อพระศาสดาตรัสถึงว่าสังขาร ไม่เที่ยง ด้วยพระสุรเสียงที่น่ายินดี น่าฟัง กลมกล่อม ขณะนั้นเราได้เรียนเอาอนิจจลักษณะนั่นแหละ ครั้นเรียนอนิจจ- ลักษณะได้แล้ว ก็ไปสู่อาศรมของตน เราอยู่ในอาศรมนั้นแหละ ตราบเท่าสิ้นอายุ ตายไปแล้ว เมื่อกาลที่สุดกำลังเป็นไป เราระลึก ถึงการฟังพระสัทธรรม เพราะกรรมที่เราได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และ เพราะความตั้งเจตนาไว้ เราละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปสู่ดาวดึงสพิภพ รื่นรมย์อยู่ในเทวโลก ๓ หมื่นกัป ได้เสวยราชสมบัติในเทวโลก ๕๑ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๓๑ ครั้ง และได้เป็นพระเจ้าประเทศ ราชอันไพบูลย์โดยคณนานับมิได้ เราเสวยบุญของตน ถึงความสุข ในภพน้อยภพใหญ่ เราท่องเที่ยวไปในภพน้อยภพใหญ่ ก็ยังระลึก ได้ถึงสัญญานั้น บทอันไม่เคลื่อน คือ นิพพาน เราหาได้แทงตลอด ด้วยธรรมอันหนึ่งไม่ สมณะผู้มีอินทรีย์อันอบรมแล้ว นั่งในเรือน บิดา เมื่อจะแสดงธรรมกถา ท่านได้ยกอนิจจลักษณะขึ้นมาใน ธรรมกถานั้น พร้อมกับที่ได้ฟังคาถาว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความที่สังขารเหล่านั้นสงบระงับเป็นความสุข ดังนี้เราจึงนึกถึง สัญญาขึ้นได้ทุกอย่าง เรานั่ง ณ อาสนะเดียว บรรลุอรหัตแล้ว เราได้บรรลุอรหัตโดยเกิดได้ ๗ ปี พระพุทธเจ้าทรงให้เราอุปสมบท แล้ว นี้เป็นผลแห่งการฟังธรรม ในกัปที่แสน แต่กัปนี้ เราได้ ฟังธรรมใด ในกาลนั้น ด้วยการฟังธรรมนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้ก็เป็นผลแห่งการฟังธรรม เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้. ทราบว่า ท่านพระเอกธัมมสวนิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ เอกธัมมสวนิยเถราปทาน.

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๕.

สุจินติตเถราปทานที่ ๘
ว่าด้วยผลแห่งการถวายข้าวใหม่
[๑๘] ครั้งนั้น เราเป็นชาวนาอยู่ในพระนครหงสวดี เลี้ยงชีพด้วยกสิกรรม เลี้ยงดูเด็กๆ ก็ด้วยกสิกรรมนั้น ครั้งนั้น นาของเราสมบูรณ์ดี ข้าวของเราออกรวงแล้ว เมื่อถึงเวลาข้าวแก่ดีแล้ว เราคิดอย่างนี้ ในกาลนั้นว่า เป็นการไม่เหมาะไม่สมควรแก่เราผู้รู้คุณน้อยใหญ่ ที่เราไม่ถวายทานในสงฆ์แล้ว พึงบริโภคส่วนอันเลิศด้วยตน พระสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนในโลก มีพระลักษณะอัน ประเสริฐ ๓๒ ประการ และพระสงฆ์ผู้มีตนอันอบรมแล้ว เป็น นาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นจะยิ่งไปกว่า เราจักถวายทาน คือ ข้าวกล้าใหม่ในพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์นั้นเสียก่อน ครั้นคิดเช่นนี้ แล้ว เราเป็นผู้ร่าเริง มีใจประกอบด้วยปีติ นำเอาข้าวเปลือก มาจากนา เข้าไปเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นเชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านรชน ถวายบังคมพระบาท พระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระมุนี ข้าวกล้าสมบูรณ์ ทั้งพระองค์ก็กำลังประทับอยู่ ณ ที่นี้ ข้าแต่พระองค์ผู้มีปัญญาจักษุ ขอพระองค์จงทรงพระกรุณารับเถิด พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตระ ผู้รู้แจ้งโลกสมควรรับเครื่องบูชา ทรงทราบความดำริของเราแล้ว ตรัสพระดำรัสนี้ว่า บุรุษบุคคลผู้ปฏิบัติ ๔ จำพวก ผู้ตั้งอยู่ในผล ๔ จำพวก นี้ คือสงฆ์ เป็นผู้ตรง มีปัญญา ศีล และมีจิตมั่นคง บุญย่อมเป็นอันสั่งสมแล้ว ในเมื่อมนุษย์ผู้เพ่งบุญบูชากระทำอยู่ ทานที่ให้ในสงฆ์ย่อมมีผลมาก และควรให้ทานในสงฆ์นั้น ข้าวกล้า ของท่านนี้ก็เช่นเดียวกัน ควรให้ในสงฆ์ ท่านจงอุทิศแด่สงฆ์ นำเอาภิกษุทั้งหลายไปสู่เรือนของตนแล้วจงถวายสิ่งที่มีอยู่ในเรือน

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๖.

ซึ่งท่านได้ตกแต่งแล้วเพื่อภิกษุสงฆ์เถิด เราอุทิศแด่สงฆ์ นำภิกษุ ทั้งหลายไปในเรือน ได้ถวายสิ่งที่เราได้ตกแต่งไว้ในเรือนแด่ภิกษุ สงฆ์ เพราะกรรมที่เราได้ทำไว้ดีแล้วนั้น และเพราะความตั้งเจตนาไว้ เราละร่างมนุษย์แล้ว จึงไปยังดาวดึงสพิภพ วิมานทองงามผุดผ่องสูง ๖๐ โยชน์ กว้าง ๓๐ โยชน์ บุญกรรมได้สร้างไว้อย่างงามแล้วเพื่อ เรา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น.
จบ ภาณวารที่ ๑๙
ภพของเรา เกลื่อนกล่นระคนไปด้วยเทพนารี เรากิน ดื่ม ในภพนั้น อยู่ในสวรรค์ชั้นไตรทศ เราได้เสวยราชสมบัติในเทวโลก ๓,๐๐๐ ครั้ง และได้เสวยราชสมบัติในเทวโลกอีก ๕๐๐ ครั้ง ได้เป็น พระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ครั้ง และได้เป็นพระเจ้าประเทศราช โดย คณนานับมิได้ เราท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยใหญ่ ได้ทรัพย์นับไม่ได้ เราไม่มีความบกพร่องในโภคสมบัติเลย นี้เป็นผลแห่งข้าวใหม่ ยานช้าง ยานม้า วอ และคานหาม เราได้ทุกสิ่ง นี้เป็นผลแห่ง ข้าวใหม่ ผ้าใหม่ ผลไม้ใหม่ โภชนะมีรสอันเลิศใหม่ เราได้ทุก อย่าง นี้เป็นผลแห่งข้าวใหม่ ผ้าไหม ผ้ากัมพล ผ้าเปลือกไม้ ผ้า ฝ้าย เราได้ทุกอย่าง นี้เป็นผลแห่งข้าวใหม่ หมู่ทาสี หมู่ทาส และนารี ที่ประดับประดาอย่างสวยงาม เราได้ทุกจำพวก นี้เป็นผล แห่งข้าวใหม่ หนาวหรือร้อน ไม่เบียดเบียนเรา เราไม่มีความ เร่าร้อน อนึ่ง ทุกข์ทางใจไม่มีในหทัยของเรา เชิญเคี้ยวสิ่งนี้ เชิญ บริโภคสิ่งนี้ เชิญนอนบนที่นอนนี้ คำเช่นนี้ เราได้ทุกประการ นี้ เป็นผลแห่งข้าวใหม่ บัดนี้ ชาตินี้เป็นชาติหลังสุด ภพสุดท้าย กำลังเป็นไป ถึงทุกวันนี้ ไทยธรรมของเรา ก็ทำเราให้ยินดีอยู่ทุกเมื่อ เราได้ถวายข้าวใหม่ในหมู่สงฆ์ผู้ประเสริฐสุด ย่อมเสวยอานิสงส์ ๘ ประการ อันสมควรแก่กรรมของเรา คือเราเป็นผู้มีผิวพรรณผุดผ่อง ๑

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๗.

มียศ ๑ มีโภคทรัพย์มากมายใครๆ ลักไม่ได้ ๑ มีภักษามากทุก เมื่อ ๑ มีบริษัทไม่ร้าวรานกันทุกเมื่อ ๑ สัตว์ที่อาศัยแผ่นดินล้วน ยำเกรงเรา ๑ เราได้ไทยธรรมก่อน จะในท่ามกลางสงฆ์ หรือเฉพาะ พระพักตร์ พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุดก็ตาม พวกทายกเลยองค์ อื่นๆ เสียหมด ถวายแก่เราเท่านั้น ๑ เราได้เสวยอานิสงส์เหล่านี้ เพราะได้ถวายข้าวใหม่ในหมู่สงฆ์ผู้อุดมก่อนนี้ก็เป็นผลแห่งข้าวใหม่ ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ เราได้ถวายทานใด ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จัก ทุคติเลย นี้ก็เป็นผลแห่งข้าวใหม่ เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... พระพุทธศาสนาเราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้. ทราบว่า ท่านพระสุจินติตเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ สุจินติตเถราปทาน.
โสณณกิงกณิยเถราปทานที่ ๙
ว่าด้วยผลแห่งการถวายกะดึงทอง
[๑๙] เราได้ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา เรานุ่งห่มผ้าเปลือกไม้กรอง เห็นกรรมคือตบะ ก็สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านระ พระนามว่าอัตถทัสสีเสด็จอุบัติขึ้นช่วยมหาชน ให้ข้าม ก็เราสิ้นกำลังเพราะพยาธิอย่างหนัก เรานึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสุด ก่อพระสถูปอันอุดมที่หาดทราย ครั้นแล้ว เป็นผู้มี จิตยินดี มีใจโสมนัส เรี่ยรายดอกกะดึงทองโดยพลัน เราบำเรอ พระสถูปของพระพุทธเจ้า พระนามว่าอัตถทัสสีผู้คงที่ ด้วยใจอัน เลื่อมใสนั้น ปานดังบำเรอพระพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์ เราไป สู่เทวโลกแล้ว ได้ความสุขอันไพบูลย์ ในเทวโลกนั้น เรามี ผิวพรรณปานทองคำ นี้เป็นผลแห่งพุทธบูชา เทพนารีของเรามี ประมาณ ๘๐ โกฏิ ประดับประดาสวยงาม บำรุงเราอยู่ทุกเมื่อ นี้

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๘.

เป็นผลแห่งพุทธบูชา ดนตรี ๖ หมื่น คือ กลอง ตะโพน สังข์ บัณเฑาะว์ มโหระทึก บรรเลงอย่างไพเราะในเทวโลกนั้น ช้าง กุญชรตระกูลมาตังคะแตกมัน ๓ ครั้ง อายุ ๖๐ ปี ๘,๔๐๐ เชือก ประดับสวยงามคลุมด้วยตาข่ายทอง ทำการบำรุงเรา ความเป็นผู้ บกพร่องในพลกายและที่อยู่ ไม่มีแก่เรา เราเสวยผลของดอก กะดึงทองได้เสวยราชสมบัติในเทวโลก ๕๘ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้า จักรพรรดิ ๗๑ ครั้ง และได้เสวยราชสมบัติในมหาปฐพี ๑๐๑ ครั้ง บัดนี้ เราได้บรรลุอมตบทอันลึกซึ้ง ยากที่จะเห็นได้ สังโยชน์หมด สิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี ในกัปที่ ๑,๘๐๐ แต่กัปนี้ เราได้เอา ดอกไม้บูชาใด ด้วยการบูชานั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผล แห่งพุทธบูชา เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... พระพุทธศาสนาเราได้ ทำเสร็จแล้วดังนี้. ทราบว่า ท่านพระโสณณกิงกณิยเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ โสณณกิงกณิยเถราปทาน
โสวัณณโกนตริกเถราปทานที่ ๑๐
ว่าด้วยผลแห่งการถวายกะโหลกน้ำเต้า
[๒๐] เราได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้อบรมใจ ฝึกพระองค์แล้ว มีพระทัยตั้งมั่น เสด็จดำเนินอยู่ในทางใหญ่ ทรงข้ามโอฆะได้แล้วทรงยินดีในการ สงบระงบจิต ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง มีปกติเพ่งพินิจ ยินดีใน ฌาน เป็นมุนี เข้าสมาบัติ สำรวมอินทรีย์ จึงเอากะโหลกน้ำเต้า ตักน้ำเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ล้างพระบาทของพระ พุทธเจ้าแล้วถวายน้ำเต้า และพระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ ได้ทรงบังคับว่า ท่านจงเอากะโหลกน้ำเต้านี้ ตักน้ำมาวางไว้ที่ ใกล้ๆ เท้าของเรา เรารับสนองพระพุทธดำรัสว่า สาธุ แล้วเอา

--------------------------------------------------------------------------------------------- หน้าที่ ๒๙.

กะโหลกน้ำเต้ามาวางไว้ใกล้พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด เพราะความ เคารพต่อพระศาสดา พระศาสดาผู้ทรงความเพียรใหญ่ เมื่อจะทรง ยังจิตของเราให้ดับสนิท ได้ทรงอนุโมทนาว่า ด้วยการถวายน้ำเต้านี้ ขอความดำริของท่านจงสำเร็จ ในกัปที่ ๑๕ แต่กัปนี้ เรารื่นรมย์ อยู่ในเทวโลก ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ๓๓ ครั้ง จะเป็น กลางวันหรือกลางคืนก็ตาม เมื่อเราเดินหรือยืนอยู่ คนทั้งหลายถือ ถ้วยทองยืนอยู่ข้างหน้าเรา เราได้ถ้วยทองเพราะการถวายน้ำเต้า แด่พระพุทธเจ้า สักการะที่ทำไว้ในท่านผู้คงที่ทั้งหลาย ถึงจะน้อย ก็ย่อมเป็นของไพบูลย์ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ เราได้ถวายน้ำเต้าใน กาลนั้น ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งน้ำเต้า เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ... พระพุทธศาสนา เราได้ทำเสร็จแล้ว ดังนี้. ทราบว่า ท่านพระโสวัณณโกนตริกเถระได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ ด้วยประการฉะนี้แล.
จบ โสวัณณโกนตริกเถราปทาน.
-----------------------------------------------------
รวมอปทานที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สกิงสัมมัชชกเถราปทาน ๖. ฆฏมัณฑทายกเถราปทาน ๒. เอกทุสสทายกเถราปทาน ๗. เอกธัมมสวนิยเถราปทาน ๓. เอกาสนทายกเถราปทาน ๘. สุจินติตเถราปทาน ๔. สัตตกทัมพปุปผิยเถราปทาน ๙. โสณณกิงกณิยเถราปทาน ๕. โกรัณฑปุปผิยเถราปทาน ๑๐. โสวัณณโกนตริกเถราปทาน
และในวรรคนี้ บัณฑิตคำนวณคาถาได้ ๑๗๒ คาถา.
จบสกิงสัมมัชชกวรรคที่ ๔๓.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ บรรทัดที่ ๓๗๗-๖๘๗ หน้าที่ ๑๗-๒๙. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=33&A=377&Z=687&pagebreak=1              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5], [6]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=33&siri=11              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33&i=11              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [11-20] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=33&item=11&items=10              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=50&A=5493              The Pali Tipitaka in Roman :- [11-20] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=33&item=11&items=10              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=50&A=5493              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ https://84000.org/tipitaka/read/?index_33              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/tha-ap423/en/walters

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วไม่แสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :