ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖ พระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๓ ธาตุกถา-ปุคคลบัญญัติปกรณ์
ปัญจกนิทเทส
[บุคคล ๕ จำพวก]
[๑๔๑] บรรดาบุคคลที่ได้แสดงไว้แล้วนั้นๆ บุคคลนี้ใดต้องอาบัติด้วย เดือดร้อนด้วย ทั้งไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งเจโตวิมุติ ซึ่งปัญญาวิมุติ อันเป็น ที่ดับโดยไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลนั้นเหล่านั้น บุคคลนั้นเป็นผู้อันบุคคลที่ ๑- ๕ พึงว่ากล่าวอย่างนี้ว่า อาสวะทั้งหลายเกิดแต่การ ต้องอาบัติ ย่อมมีแก่ท่านแล อาสวะทั้งหลายเกิดแต่ความเดือดร้อน ย่อมเจริญ ยิ่งแก่ท่าน ทางดีที่สุด ขอท่านผู้มีอายุ จงละอาสวะทั้งหลายที่เกิดแต่การต้องอาบัติ จงบรรเทาอาสวะทั้งหลายอันเกิดแต่ความเดือดร้อน จงยังจิตและปัญญาให้เจริญ ด้วยอาการอย่างนี้ ท่านจักเป็นผู้เสมอด้วยบุคคลที่ ๕ นี้ บุคคลนี้ใด ต้องอาบัติ แต่ไม่เดือดร้อน ทั้งไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่ง เจโตวิมุติ ซึ่งปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามก ที่เกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลนั้นเหล่านั้น บุคคลนั้นเป็นผู้อันบุคคลที่ ๕ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาสวะทั้งหลายเกิดแต่การต้องอาบัติ ย่อมมีแก่ท่านแล้ว อาสวะทั้งหลายเกิดแต่ ความเดือดร้อน ย่อมไม่เจริญยิ่งแก่ท่าน ทางดีที่สุด ขอท่านผู้มีอายุ จงละ อาสวะทั้งหลาย ซึ่งเกิดแต่การต้องอาบัติ จงยังจิตและปัญญาให้เจริญ ด้วย อาการอย่างนี้ ท่านจักเป็นผู้เสมอด้วยบุคคลที่ ๕ นี้ @๑. บุคคลที่ ๕ หมายเอาพระขีณาสพ บุคคลนี้ใด ไม่ต้องอาบัติแต่มีความเดือดร้อน ทั้งไม่รู้ชัดตามความ เป็นจริงซึ่งเจโตวิมุติ ซึ่งปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งอกุศลธรรม อันลามก ซึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลนั้น บุคคลนั้นเป็นผู้อันบุคคลที่ ๕ พึงว่ากล่าว อย่างนี้ว่า อาสวะทั้งหลายเกิดแต่การต้องอาบัติ ย่อมไม่มีแก่ท่านแล อาสวะ ทั้งหลายเกิดแต่ความเดือดร้อน ย่อมไม่เจริญยิ่งแก่ท่าน ทางที่ดีที่สุด ท่านผู้มีอายุ จงบรรเทาอาสวะทั้งหลายซึ่งเกิดแต่ความเดือดร้อน จงยังจิตและปัญญาให้เจริญ ด้วยอาการอย่างนี้ ท่านจักเป็นผู้เสมอด้วยบุคคลที่ ๕ นี้ บุคคลนี้ใดไม่ต้องอาบัติ ไม่มีความเดือดร้อน ทั้งไม่รู้ตามความเป็นจริง ซึ่งเจโตวิมุติ ซึ่งปัญญาวิมุติ อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งอกุศลธรรมอันลามก ซึ่งเกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลนั้น บุคคลนั้นเป็นผู้อันบุคคลที่ ๕ พึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาสวะทั้งหลายซึ่งเกิดแต่ความต้องอาบัติย่อมไม่มีแก่ท่านแล อาสวะซึ่งเกิดแต่ ความเดือดร้อน ย่อมไม่เจริญยิ่งแก่ท่าน ทางดีที่สุด ขอท่านผู้มีอายุ จงยังจิต และปัญญาให้เจริญด้วยอาการอย่างนี้ ท่านจักเป็นผู้เสมอด้วยบุคคลที่ ๕ นี้ บุคคล ๔ จำพวกเหล่านี้ อันบุคคลที่ ๕ นี้ กล่าวสอนอยู่อย่างนี้ พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะโดยลำดับ [๑๔๒] บุคคลให้แล้วดูหมิ่น เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร แก่บุคคลใด แล้วพูดแก่บุคคลนั้นว่า คนนี้ได้แต่รับของที่เขาให้ ดังนี้ชื่อว่า ให้แล้วดูหมิ่นบุคคลนั้น บุคคลอย่างนี้ชื่อว่าให้แล้วดูหมิ่น บุคคลดูหมิ่นด้วยการอยู่ร่วม เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ตนย่อมอยู่ร่วมกับด้วยบุคคลใด สิ้น ๒ ปี หรือ ๓ ปี ย่อมดูหมิ่นบุคคลนั้นด้วยการอยู่ร่วม บุคคลอย่างนี้ชื่อว่าดูหมิ่นด้วย การอยู่ร่วม บุคคลผู้เชื่อง่าย เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เมื่อเขาสรรเสริญหรือติเตียนผู้อื่น ย่อมเชื่อทันที บุคคลอย่างนี้ชื่อว่า ผู้เชื่อง่าย บุคคลโลเล เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีศรัทธาไม่จริงจัง มีความภักดีไม่จริงจัง มีความรักไม่จริงจัง มีความเลื่อมใสไม่จริงจัง บุคคลอย่างนี้ชื่อว่าโลเล บุคคลผู้โง่งมงาย เป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมไม่รู้กุศลธรรม อกุศลธรรม ย่อมไม่รู้ สาวัชชธรรม อนวัชชธรรม ย่อมไม่รู้หีนธรรม ปณีตธรรม ย่อมไม่รู้ธรรมที่มี ส่วนเปรียบด้วยของดำของขาว บุคคลอย่างนี้ชื่อว่าผู้โง่งมงาย บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลเปรียบด้วยนักรบอาชีพ ๕ จำพวก เป็นไฉน [๑๔๓] นักรบอาชีพ ๕ จำพวก นักรบบางคนในโลกนี้ พอเห็นปลายธุลีเท่านั้น ย่อมชะงัก ย่อมหยุด ย่อมไม่ตั้งมั่น ย่อมไม่อาจเข้าสู้รบ นักรบอาชีพบางคน แม้เห็นปานนี้ ย่อมมี ในโลกนี้ นี้เป็นนักรบจำพวกที่ ๑ ที่มีปรากฏอยู่ในโลก นักรบอาชีพอื่นยังมีอยู่อีก คือ นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ เห็นปลายธุลี แล้วยังอดทนได้ แต่ว่าพอเห็นปลายธงเท่านั้น ย่อมชะงัก ย่อมหยุด ย่อมไม่ตั้งมั่น ย่อมไม่อาจเข้าสู้รบ นักรบอาชีพบางคนแม้เห็นปานนี้ ย่อมมีในโลกนี้ นี้เป็น นักรบอาชีพจำพวกที่สอง ที่มีปรากฏอยู่ในโลก นักรบอาชีพอื่นยังมีอยู่อีก คือ นักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ เห็นปลายธุลี ยังอดทนได้ เห็นปลายธงยังอดทนได้ แต่พอได้ยินเสียงพลนิกายอึกทึกเท่านั้น ย่อมชะงัก ย่อมหยุด ย่อมไม่ตั้งมั่น ย่อมไม่อาจเข้าสู้รบ นักรบอาชีพบางคน แม้เห็นปานนี้ ย่อมมีในโลกนี้ นี้เป็นนักรบอาชีพจำพวกที่ ๓ ที่มีปรากฏอยู่ในโลก นักรบอาชีพอื่นยังมีอยู่อีก คือนักรบอาชีพบางคนในโลกนี้เห็นปลายธุลี ยังอดทนได้ เห็นปลายธงยังอดทนได้ ได้ยินเสียงพลนิกายอึกทึกยังอดทนได้ แต่พอถูกอาวุธแม้แต่เล็กน้อย ย่อมเดือดร้อนระส่ำระสาย นักรบอาชีพบางคน แม้เห็นปานนี้ ย่อมมีในโลกนี้ นี้เป็นนักรบอาชีพจำพวกที่ ๔ ที่มีปรากฏอยู่ในโลก นักรบอาชีพอื่นยังมีอยู่อีก คือนักรบอาชีพบางคนในโลกนี้ เห็นปลายธุลี เห็นปลายธง ได้ยินเสียงพลนิกายอึกทึก ถูกอาวุธก็อดทนได้ นักรบนั้นชนะ สงครามนั้นแล้ว ได้ชื่อว่า ผู้มีสงครามอันชนะวิเศษแล้ว ย่อมครอบครองความ เป็นยอดสงครามนั้นนั่นแลไว้ได้ นักรบอาชีพบางคนแม้เห็นปานนี้ ย่อมมีในโลกนี้ นี้เป็นนักรบอาชีพจำพวกที่ ๕ ที่มีปรากฏอยู่ในโลก นักรบอาชีพ ๕ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในโลก [๑๔๔] บุคคลเปรียบด้วยนักรบอาชีพ ๕ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ ในหมู่ภิกษุฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุ ๕ จำพวก เป็นไฉน ภิกษุบางรูปในศาสนานี้ พอเห็นปลายธุลีเท่านั้น ย่อมจมอยู่ในมิจฉาวิตก ย่อมหยุด ย่อมดำรงอยู่ไม่ได้ ย่อมไม่อาจสืบต่อพรหมจรรย์ได้ แสดงความ เป็นผู้ทุรพลในสิกขาออกให้ปรากฏ บอกลาสิกขาเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว ถามว่า ปลายธุลีของภิกษุนั้น เป็นอย่างไร? คือภิกษุในศาสนานี้ ได้ยินข่าวว่า ในบ้านหรือในนิคมชื่อโน้น มีสตรีหรือกุมารีรูปงามน่ารักน่าเลื่อมใส ประกอบ พร้อมด้วยผิวพรรณและทรวดทรงอันงามยิ่ง ภิกษุนั้นครั้นได้ยินข่าวนั้นแล้ว ย่อม จมอยู่ในมิจฉาวิตก ย่อมหยุด ย่อมไม่ดำรงอยู่ได้ ย่อมไม่อาจสืบต่อพรหมจรรย์ได้ แสดงความเป็นผู้ทุรพลในสิกขาออกให้ปรากฏ บอกลาสิกขาแล้วเวียนมาเพื่อความ เป็นคนเลว นี้ชื่อว่า ปลายธุลีของภิกษุนั้น นักรบอาชีพนั้น พอเห็นปลายธุลี เหล่านั้น ย่อมชะงัก ย่อมหยุด ย่อมไม่ตั้งมั่น ย่อมไม่อาจเข้าสู้รบ แม้ฉันใด ภิกษุนี้ก็อุปไมยฉันนั้น บุคคลบางคนแม้เห็นปานนี้ ย่อมมีในโลกนี้ บุคคล เปรียบด้วยนักรบอาชีพจำพวกที่ ๑ นี้ มีปรากฏอยู่ในหมู่ภิกษุ ภิกษุจำพวกอื่นยังมีอยู่อีก คือภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เห็นปลายธุลี ยังอดทนได้ แต่พอเห็นปลายธงเท่านั้น ย่อมจมอยู่ในมิจฉาวิตก ย่อมหยุด ย่อมไม่ดำรงอยู่ได้ ย่อมไม่อาจสืบต่อพรหมจรรย์ได้ แสดงความเป็นผู้ทุรพลใน สิกขาออกให้ปรากฏ บอกลาสิกขาแล้วเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว ปลายธง ของภิกษุนั้น เป็นอย่างไร? คือภิกษุในศาสนานี้ไม่เพียงแต่ได้ยินข่าวเล่าลือว่า ในบ้านหรือในนิคมชื่อโน้น มีสตรีหรือกุมารี รูปงามน่าดูน่าเลื่อมใส ประกอบ พร้อมด้วยผิวพรรณและทรวดทรงอันงามยิ่งดังนี้ แต่เธอได้เห็นสตรีหรือกุมารี รูปงามน่าดูน่าเลื่อมใส ประกอบพร้อมด้วยผิวพรรณและทรวดทรงอันงามยิ่งด้วย ตนเอง ครั้นเธอเห็นเขาแล้วย่อมจมอยู่ในมิจฉาวิตก ย่อมหยุด ไม่ดำรงอยู่ได้ ไม่อาจสืบต่อพรหมจรรย์ได้ แสดงความเป็นผู้ทุรพลในสิกขาออกให้ปรากฏ บอกลาสิกขา เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว นี้ชื่อว่า ปลายธงของภิกษุนั้น นักรบอาชีพนั้น เห็นปลายธุลียังอดทนได้ แต่พอเห็นปลายธงเท่านั้น ย่อมชะงัก ย่อมหยุด ย่อมไม่ตั้งมั่น ย่อมไม่อาจเข้าสู้รบได้ แม้ฉันใด ภิกษุนี้ ก็มีอุปไมย ฉันนั้น บุคคลบางคนเห็นปานนี้ ย่อมมีในโลกนี้ บุคคลเปรียบด้วยนักรบอาชีพ จำพวกที่ ๒ นี้ มีปรากฏอยู่ในหมู่ภิกษุ ภิกษุจำพวกอื่นยังมีอยู่อีก คือภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เห็นปลายธุลี เห็นปลายธง ยังอดกลั้นได้ แต่ว่าพอได้ยินเสียงพลนิกายอึกทึกเท่านั้น ย่อมจม อยู่ในมิจฉาวิตก ย่อมหยุด ย่อมไม่ดำรงอยู่ได้ ย่อมไม่อาจเพื่อสืบต่อพรหมจรรย์ ได้ แสดงความเป็นผู้ทุรพลในสิกขาออกให้ปรากฏ บอกลาสิกขาแล้วเวียนมาเพื่อ ความเป็นคนเลว การได้ยินเสียงพลนิกายอึกทึกของภิกษุนั้น เป็นอย่างไร? คือมาตุคามในโลกนี้ เข้าไปหาภิกษุผู้อยู่ในป่าอยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่างเปล่า แล้ว ย่อมยิ้ม ย่อมทักทาย ย่อมซิกซี้ ย่อมยั่วเย้า เธอถูกมาตุคามยิ้มยั่ว ทักทาย ซิกซี้ ยั่วเย้าอยู่ ย่อมจมอยู่ในมิจฉาวิตก ย่อมหยุด ย่อมไม่ดำรงอยู่ได้ ย่อมไม่อาจ สือต่อพรหมจรรย์ได้ แสดงความเป็นผู้ทุรพลในสิกขาออกให้ปรากฏ บอกลาสิกขา เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว นี้ชื่อว่า การได้ยินเสียงพลนิกายอึกทึกของภิกษุนั้น นักรบอาชีพนั้น เห็นปลายธุลีเห็นปลายธง ย่อมอดทนได้ แต่พอได้ยินเสียงดัง เท่านั้น ย่อมชะงัก ย่อมหยุด ย่อมไม่ตั้งมั่น ย่อมไม่อาจเข้าสู้รบ แม้ฉันใด ภิกษุนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น บุคคลบางคนแม้เห็นปานนี้ ย่อมมีในโลกนี้ บุคคล เปรียบด้วยนักรบอาชีพคนที่ ๓ นี้ มีปรากฏอยู่ในหมู่ภิกษุ ภิกษุจำพวกอื่นยังมีอยู่อีก คือภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เห็นปลายธุลี เห็นปลายธง ได้ยินเสียงพลนิกายอึกทึก ย่อมอดกลั้นได้ แต่เมื่อถูกอาวุธเล็กน้อย ย่อมเดือดร้อน ย่อมกระสับกระส่าย การถูกอาวุธเล็กน้อยของภิกษุนั้นเป็น อย่างไร? คือมาตุคามในโลกนี้ เข้าไปหาภิกษุผู้อยู่ในป่า อยู่โคนไม้ อยู่เรือน ว่างเปล่า ย่อมนั่งใกล้ชิด ย่อมนอนใกล้ชิด ย่อมกอดรัดภิกษุนั้น ถูกมาตุคาม นั่งใกล้ชิด นอนใกล้ชิด กอดรัด ก็ไม่ลาสิกขา ไม่แสดงความเป็นผู้ทุรพล ย่อม เสพเมถุนธรรม นี้ชื่อว่า การถูกอาวุธเล็กน้อยของภิกษุนั้น นักรบอาชีพนั้น เห็นปลายธุลี เห็นปลายธง ได้ยินเสียงพลนิกายอึกทึก ย่อมอดทนไว้ได้ แต่ ว่าย่อมเดือดร้อน ย่อมระส่ำระสายในเมื่อถูกอาวุธเล็กน้อย แม้ฉันใด ภิกษุนี้ ก็มีอุปไมยฉันนั้น บุคคลบางคนแม้เห็นปานนี้ ย่อมมีในโลก บุคคลเปรียบด้วย นักรบอาชีพคนที่ ๔ นี้ มีปรากฏอยู่ในหมู่ภิกษุ ภิกษุจำพวกอื่นยังมีอยู่อีก คือภิกษุบางรูปในศาสนานี้ เห็นปลายธุลี เห็นปลายธง ได้ยินเสียงพลนิกายอึกทึก ถูกอาวุธเล็กน้อย ย่อมอดทนได้ บุคคลนั้นชนะสงครามนั้นแล้ว ชื่อว่าผู้มีสงครามอันชนะวิเศษแล้ว ย่อมบรรลุ ความมีชัยในสงครามนั้นนั่นแล การได้ชัยชนะสงครามของภิกษุนั้น เป็นอย่างไร? คือมาตุคามบางคนในโลกนี้ เข้าไปหาภิกษุผู้อยู่ป่า อยู่โคนไม้ อยู่เรือนว่างเปล่า แล้วย่อมนั่งใกล้ชิด ย่อมนอนใกล้ชิด กอดรัดภิกษุนั้น ถูกมาตุคามนั่งใกล้ชิด นอนใกล้ชิด กอดรัด ก็ปลดเปลื้องเอาตัวรอด แล้วหลีกไปตามปรารถนา ภิกษุนั้น ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด เช่นป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำเขา ป่าช้า ป่าดง กลางแจ้ง กองฟาง เธอไปอยู่ในป่า โคนต้นไม้ หรือเรือนว่างเปล่า นั่งคู้ บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอย่อมละอภิชฌาในโลก มีจิต ปราศจากอภิชฌา สำเร็จอิริยาบถอยู่ ยังจิตให้ผ่องใสจากอภิชฌา ละความ ขัดเคืองคือพยาบาทแล้ว มีจิตไม่เบียดเบียน มีความอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์ เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ สำเร็จอิริยาบถอยู่ ยังจิตให้ผ่องใสจากความขัดเคือง คือพยาบาทละถีนมิทธะ เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีสัญญาในแสงสว่าง มีสติ มีสัมปชัญญะ สำเร็จอิริยาบถอยู่ ยังจิตให้ผ่องใสจากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตเข้าไปสงบระงับในภายใน ยังจิตให้ผ่องใสจากอุทธัจจ- *กุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา เป็นผู้ข้ามพ้นจากวิจิกิจฉา ไม่เป็นผู้มีการกล่าวว่าอย่างไร ในกุศลธรรมทั้งหลาย ยังจิตให้ผ่องใสจากวิจิกิจฉา ภิกษุนั้นละนิวรณ์เหล่านี้ อันเป็นอุปกิเลสแห่งใจ อันทำปัญญาให้ทุรพลเสียได้แล้ว สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติ และมีสุขเกิด แต่วิเวก สำเร็จอิริยาบถอยู่ เพราะความสงบแห่งวิตกวิจาร เข้าถึงทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน สำเร็จอิริยาบถอยู่ ภิกษุนั้นครั้นจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสดุจเนิน ปราศจากอุปกิเลสเป็นธรรมชาติอ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่นแล้ว ถึงความไม่หวั่นไหวแล้วอย่างนี้ ย่อมยังจิตให้น้อมไปในฌาน เป็นเครื่องสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เธอย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุเกิดขึ้นแห่งอาสวะ นี้ความดับไปแห่งอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติ ให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเธอรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้น แล้ว ความรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมมี ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ ไม่มี นี้คือการได้ชัยชนะในสงครามของภิกษุนั้น นักรบอาชีพนั้น เห็นปลายธุลี ปลายธง ได้ยินเสียงพลนิกายอึกทึก ถูกอาวุธเล็กน้อย ย่อมอดทนได้ บุคคลนั้น ชนะสงครามแล้ว ชื่อว่า ผู้มีสงครามอันชนะวิเศษแล้ว ย่อมบรรลุความมีชัยใน สงครามนั้นนั่นแล แม้ฉันใดภิกษุนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น บุคคลบางคนแม้เห็นปานนี้ ย่อมมีในโลกนี้ บุคคลเปรียบด้วยนักรบอาชีพที่ ๕ นี้ มีปรากฏอยู่ในหมู่ภิกษุ บุคคลเปรียบด้วยนักรบอาชีพ ๕ จำพวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในหมู่ภิกษุ [๑๔๕] บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวก เป็นไฉน ภิกษุเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะเป็นผู้เขลา เป็นผู้งมงาย ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ถูกความอยากได้เข้าครอบงำ จึงถือ บิณฑบาตเป็นวัตร ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะเป็นบ้า เพราะมีจิตฟุ้งซ่าน ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะคิดว่าองค์แห่งภิกษุ ผู้ถือบิณฑบาต เป็นวัตรนี้ เป็นข้อที่พระพุทธเจ้า พระสาวกแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะอาศัยความ ปรารถนาน้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความ ขัดเกลากิเลสอย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามนี้ อย่างเดียว บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุนี้ใดถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะอาศัย ความปรารถนาน้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัย ความขัดเกลากิเลสอย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการด้วย ข้อปฏิบัติอันงามนี้ อย่างเดียว ภิกษุนี้เป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นประมุข เป็นผู้สูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าบรรดาภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวกเหล่านี้ น้ำนมเกิด จากแม่โค นมส้มเกิดจากน้ำนม เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น ก้อนเนยใสเกิดจากเนยใส บรรดาเภสัช ๕ นั้น ก้อนเนยใส ชาวโลกกล่าวว่าเลิศ ชื่อแม้ฉันใด ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร นี้ใด เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะอาศัยความปรารถนาน้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความขัดเกลากิเลสอย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการด้วยข้อปฏิบัติ อย่างเดียว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุนี้ เป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐ เป็นประมุข เป็นผู้สูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวกเหล่านี้ เหล่านี้ชื่อว่า ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวก [๑๔๖] ภิกษุถือห้ามภัตรอันนำมาถวาย ต่อภายหลังเป็นวัตร ๕ จำพวก ภิกษุถือนั่งฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร ๕ จำพวก ภิกษุถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ๕ จำพวก ภิกษุถือไตรจีวรเป็นวัตร ๕ จำพวก ภิกษุถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๕ จำพวก ภิกษุถืออยู่ โคนไม้เป็นวัตร ๕ จำพวก ภิกษุถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ๕ จำพวก ภิกษุถือการ นั่งเป็นวัตร ๕ จำพวก ภิกษุถืออยู่ในเสนาสนะที่ท่านจัดไว้เป็นวัตร ๕ จำพวก ภิกษุถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ๕ จำพวก เป็นไฉน บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ๕ จำพวก เป็นไฉน ภิกษุถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร เพราะความเป็นผู้เขลา เพราะความเป็นผู้ งมงาย ภิกษุมีความปรารถนาลามก ถูกความปรารถนาครอบงำ จึงถือการอยู่ ป่าช้าเป็นวัตร ภิกษุถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร เพราะเป็นบ้า เพราะจิตฟุ้งซ่าน ภิกษุถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร เพราะคิดว่า การอยู่ป่าช้าเป็นวัตรนี้ เป็นข้อที่พระพุทธเจ้า พระสาวกของพระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร เพราะอาศัยความปรารถนา น้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความขัดเกลา กิเลสอย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามนี้อย่างเดียว บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุนี้ใดถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร เพราะอาศัย ความปรารถนาน้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัย ความขัดเกลากิเลสอย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามนี้ อย่างเดียว ภิกษุนี้เป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐ เป็นประมุข เป็นผู้สูงสุด และเป็น ผู้ประเสริฐกว่าภิกษุผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร ๕ จำพวกเหล่านี้ น้ำนมเกิดจากแม่โค นมส้มเกิดจากน้ำนม เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น ก้อนเนยใส เกิดจากเนยใส บรรดาเภสัชเหล่านั้น ก้อนเนยใส ชาวโลกกล่าวว่าเลิศ ชื่อแม้ฉันใด ภิกษุถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตรนี้ใด เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะอาศัยความ ปรารถนาน้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัย ความขัดเกลากิเลสอย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามนี้ อย่างเดียว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุนี้เป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐ เป็นประมุข เป็นผู้สูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวกเหล่านี้ เหล่านี้ชื่อว่า ภิกษุถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร ๕ จำพวก
ปัญจกนิทเทส จบ

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๖ บรรทัดที่ ๔๕๔๕-๔๗๖๘ หน้าที่ ๑๘๕-๑๙๔. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=36&A=4545&Z=4768&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=36&siri=31              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=36&i=656              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [656-661] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=36&item=656&items=6              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=55&A=2487              The Pali Tipitaka in Roman :- [656-661] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=36&item=656&items=6              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=55&A=2487              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖ https://84000.org/tipitaka/read/?index_36              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pp2.5/en/law

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :