ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑
พระพุทธานุญาตให้บอกนิสสัย ๔
[๑๔๓] ทันใดนั้นแหละ พึงวัดเงา พึงบอกประมาณแห่งฤดู พึงบอกส่วนแห่งวัน พึงบอกสังคีติ พึงบอกนิสสัย ๔ ว่าดังนี้:- ๑. บรรพชาอาศัยโภชนะ คือคำข้าวอันหาได้ด้วยกำลังปลีแข้ง เธอพึงทำอุตสาหะ ในข้อนั้นจนตลอดชีวิต. อติเรกลาภ คือภัตถวายสงฆ์ ภัตเฉพาะสงฆ์ การนิมนต์ ภัตถวายตาม สลาก ภัตถวายในปักษ์ ภัตถวายในวันอุโบสถ ภัตถวายในวันปาฏิบท. ๒. บรรพชาอาศัยบังสุกุลจีวร เธอพึงทำอุตสาหะในข้อนั้นจนตลอดชีวิต. อติเรกลาภ คือ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ผ้าป่าน ผ้าแกมกัน. ๓. บรรพชาอาศัยโคนต้นไม้เป็นเสนาสนะ เธอพึงอุตสาหะในข้อนั้นจนตลอดชีวิต. อติเรกลาภ คือวิหาร เรือนมุงแถบเดียว เรือนชั้น เรือนโล้น ถ้ำ. ๔. บรรพชาอาศัยมูตรเน่าเป็นยา เธอพึงทำอุตสาหะในข้อนั้นจนตลอดชีวิต. อติเรกลาภ คือเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย.
นิสสัย ๔ จบ.
อกรณียกิจ ๔
[๑๔๔] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุรูปหนึ่งแล้ว ทิ้งไว้แต่ลำพังแล้ว หลีกไป. เธอเดินมาทีหลังแต่รูปเดียว ได้พบภรรยาเก่าเข้า ณ ระหว่างทาง. นางได้ถามว่า เวลานี้ท่านบวชแล้วหรือ? ภิกษุนั้นตอบว่า จ้ะ ฉันบวชแล้ว. นางจึงพูดชวนว่า เมถุนธรรมพวกบรรพชิตหาได้ยาก นิมนต์ท่านมาเสพเมถุนธรรม. ภิกษุนั้นได้เสพเมถุนธรรมในนางแล้ว ได้ไปถึงทีหลังช้าไป. ภิกษุทั้งหลายถามว่า อาวุโส ท่านมัวทำอะไรชักช้าเช่นนี้.? เธอได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย. ภิกษุทั้งหลายจึง กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระพุทธานุญาตให้บอกอกรณียกิจ ๔
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะ เหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้ให้ อุปสมบทแล้วให้ภิกษุอยู่เป็นเพื่อน และให้บอกอกรณียกิจ ๔ ดังต่อไปนี้:- ๑. อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงเสพเมถุนธรรม โดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย. ภิกษุใดเสพเมถุนธรรม ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร. เปรียบเหมือนบุรุษ ถูกตัดศีรษะแล้ว ไม่อาจจะมีสรีระคุมกันนั้นเป็นอยู่ ภิกษุก็เหมือนกัน เสพเมถุนธรรมแล้ว ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร. การนั้น เธอไม่พึงทำตลอดชีวิต. ๒. อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงถือเอาของอันเขาไม่ได้ให้ เป็นส่วนขโมย โดยที่ สุดหมายเอาถึงเส้นหญ้า. ภิกษุใดถือเอาของอันเขาไม่ได้ให้ เป็นส่วนขโมย ได้ราคาบาทหนึ่งก็ดี ควรแก่ราคาบาทหนึ่งก็ดี เกินบาทหนึ่งก็ดี ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร. เปรียบเหมือนใบไม้เหลืองหล่นจากขั้วแล้วไม่อาจจะเป็นของเขียวสด. ภิกษุก็เหมือนกัน ถือเอา ของอันเขาไม่ได้ให้ เป็นส่วนขโมย ได้ราคาบาทหนึ่งก็ดี ควรแก่ราคาบาทหนึ่งก็ดี เกินบาทหนึ่ง ก็ดี ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร. การนั้น เธอไม่พึงทำตลอดชีวิต. ๓. อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงแกล้งพรากสัตว์จากชีวิต โดยที่สุดหมายเอาถึง มดดำมดแดง. ภิกษุใดแกล้งพรากกายมนุษย์จากชีวิต โดยที่สุดหมายเอาถึงยังครรภ์ให้ตก ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร. เปรียบเหมือนศิลาหนาแตกสองเสี่ยงแล้ว เป็นของกลับต่อกันไม่ได้. ภิกษุก็เหมือนกัน แกล้งพรากกายมนุษย์จากชีวิตแล้ว ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร. การนั้น เธอไม่พึงทำตลอดชีวิต. ๔. อันภิกษุผู้อุปสมบทแล้ว ไม่พึงพูดอวดอุตตริมนุสสธรรม โดยที่สุดว่า เรายินดียิ่ง ในเรือนว่างเปล่า. ภิกษุใดมีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาลามกครอบงำแล้ว พูดอวด อุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่จริง คือฌานก็ดี วิโมกข์ก็ดี สมาธิก็ดี สมาบัติก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร. เปรียบเหมือนต้นตาลมียอดด้วน แล้ว ไม่อาจจะงอกอีก ภิกษุก็เหมือนกัน มีความปรารถนาลามก อันความปรารถนาลามกครอบงำ แล้ว พูดอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริง ไม่เป็นสมณะ ไม่เป็นเชื้อสาย พระศากยบุตร. การนั้น เธอไม่พึงทำตลอดชีวิต.
อกรณียกิจ ๔ จบ.
เรื่องภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกเสียเป็นต้น
[๑๔๕] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งถูกสงฆ์ยกเสีย ฐานไม่เห็นอาบัติ ได้สึกแล้ว. เขากลับมาขออุปสมบทต่อภิกษุทั้งหลายอีก. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค. พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงวิธีปฏิบัติ ดังนี้:-
วิธีปฏิบัติในภิกษุผู้ถูกยกเสีย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่เห็นอาบัติ สึกไป. เธอกลับมาขออุปสมบทต่อภิกษุทั้งหลายอีก. พึงสอบถามเขาเช่นนี้ว่า เจ้าจักเห็นอาบัตินั้นหรือ? ถ้าเขาตอบว่า กระผมจักเห็นขอรับ พึงให้บรรพชา ถ้าเขาตอบว่า กระผมจักไม่เห็นขอรับ ไม่พึงให้บรรพชา. ครั้นให้บรรพชาแล้ว พึงถามว่า เจ้าจักเห็นอาบัตินั้นหรือ? ถ้าเขาตอบว่า กระผมจักเห็นขอรับ พึงให้อุปสมบท, ถ้าเขาตอบว่า กระผมจักไม่เห็นขอรับ ไม่พึงให้อุปสมบท. ครั้นให้อุปสมบทแล้ว พึงถามว่า ท่านจักเห็นอาบัตินั้นหรือ? ถ้าเธอตอบว่า กระผมจักเห็น ขอรับ พึงเรียกเข้าหมู่ ถ้าเธอตอบว่า กระผมจักไม่เห็นขอรับ ไม่พึงเรียกเข้าหมู่. ครั้นเรียก เข้าหมู่แล้ว พึงถามว่า ท่านเห็นอาบัตินั้นหรือ? ถ้าเห็น การเห็นได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่เห็น เมื่อได้สามัคคี พึงยกเสียอีก เมื่อไม่ได้สามัคคี ไม่เป็นอาบัติในเพราะสมโภค และอยู่ร่วมกัน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่ยอมทำคืนอาบัติ สึกไป. เธอกลับมาขออุปสมบทต่อภิกษุทั้งหลายอีก. พึงสอบถามเขาเช่นนี้ว่า เจ้าจักทำคืนอาบัติ นั้นหรือ? ถ้าเขาตอบว่า กระผมจักทำคืนขอรับ พึงให้บรรพชา, ถ้าเขาตอบว่า กระผมจักไม่ ทำคืน ไม่พึงให้บรรพชา. ครั้นให้บรรพชาแล้ว พึงถามว่า เจ้าจักทำคืนอาบัตินั้นหรือ? ถ้าเขาตอบว่า กระผมจักทำคืนขอรับ พึงให้อุปสมบท, ถ้าเขาตอบว่า กระผมจักไม่ทำคืนขอรับ ไม่พึงให้อุปสมบท. ครั้นให้อุปสมบทแล้ว พึงถามว่าท่านจักทำคืนอาบัตินั้นหรือ? ถ้าเธอตอบว่า กระผมจักทำคืนขอรับ พึงเรียกเข้าหมู่, ถ้าเธอตอบว่า กระผมจักไม่ทำคืนขอรับ ไม่พึงเรียกเข้าหมู่. ครั้นเรียกเข้าหมู่แล้ว พึงกล่าวว่า จงยอมทำคืนอาบัตินั้นเสีย. ถ้าเธอยอมทำคืน การทำคืนได้ อย่างนี้ นั่นเป็นการดี หากไม่ยอมทำคืน เมื่อได้สามัคคี พึงยกเสียอีก เมื่อไม่ได้สามัคคี ไม่เป็นอาบัติในเพราะสมโภคและอยู่ร่วมกัน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ถูกสงฆ์ยกเสียฐานไม่ยอมสละทิฏฐิบาป สึกไป. เธอกลับมาขออุปสมบทต่อภิกษุทั้งหลายอีก. พึงสอบถามเขาเช่นนี้ว่า เจ้าจักยอม สละคืนทิฏฐิบาปนั้นหรือ? ถ้าเขาตอบว่า กระผมจักยอมสละคืนขอรับ พึงให้บรรพชา, ถ้าเขา ตอบว่า กระผมจักไม่ยอมสละคืนขอรับ ไม่พึงให้บรรพชา. ครั้นให้บรรพชาแล้ว พึงถามว่า เจ้าจักยอมสละคืนทิฏฐิบาปนั้นหรือ? ถ้าเขาตอบว่า กระผมจักยอมสละคืนขอรับ พึงให้อุปสมบท, ถ้าเขาตอบว่า กระผมจักไม่ยอมสละคืนขอรับ ไม่พึงให้อุปสมบท. ครั้นให้อุปสมบทแล้ว พึงถามว่า ท่านยอมสละคืนทิฏฐิบาปนั้นหรือ? ถ้าเธอตอบว่า กระผมจักยอมสละคืนขอรับ พึงเรียกเข้าหมู่, ถ้าเธอตอบว่า กระผมจักไม่ยอมสละคืนขอรับ ไม่พึงเรียกเข้าหมู่. ครั้นเรียก เข้าหมู่แล้ว พึงกล่าวว่า จงยอมสละคืนทิฏฐิบาปนั้น. ถ้าเธอยอมสละคืน การยอมสละคืน ได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ยอมสละคืน เมื่อได้สามัคคี พึงยกเสียอีก เมื่อไม่ได้สามัคคี ไม่เป็นอาบัติในเพราะสมโภคและอยู่ร่วมกัน.
วิธีปฏิบัติในภิกษุผู้ถูกสงฆ์ยกเสีย จบ.
มหาขันธกะที่ ๑ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ บรรทัดที่ ๓๘๗๐-๓๙๕๗ หน้าที่ ๑๕๘-๑๖๑. https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=4&A=3870&Z=3957&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=4&siri=51              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=143              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [143-145] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=4&item=143&items=3              The Pali Tipitaka in Roman :- [143-145] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=4&item=143&items=3              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ https://84000.org/tipitaka/read/?index_4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i001-e.php#topic77 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/brahmali#pli-tv-kd1:77.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd1/en/horner-brahmali#Kd.1.77

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :