ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



นานาปัญหา
โดย คณะสหายธรรม
 

๑๑. ภวัคคพรหมหมายถึงพรหมประเภทไหน
          ถาม  ภวัคคพรหมหมายถึงพรหมประเภทไหน

          ตอบ  ในเรื่องภวัคคพรหมนี้หมายถึงพรหมที่อยู่ในยอดภพ คืออยู่ในภพสูงสุด ก็บุคคลที่เป็นพรหมนั้นย่อมเกิดในพรหมภูมิ ไม่เกิดในภูมิอื่น ไม่ว่าจะเป็นมนุสสภูมิหรือเทวภูมิ ๖ ชั้น
          พรหมภูมินั้นมีอยู่ ๒๐ ภูมิ คือภูมิของพรหมที่มีขันธ์ ๕ ครบ มี ๑๕ ภูมิคือ
          ปฐมฌานภูมิ ๓ ชั้น ทุติยฌานภูมิ ๓ ชั้น ตติยฌานภูมิ ๓ ชั้น จตุตถฌานภูมิ ๖ ชั้น กับภูมิที่มีขันธ์เดียวคือรูปขันธ์อีก ๑ ภูมิคืออสัญญสัตตภูมิ ๑
          จึงเป็นรูปพรหมภูมิ ๑๖ ชั้น กับภูมิของอรูปพรหมอีก ๔ ชั้น
          จึงรวมเป็นพรหมภูมิ ๒๐ ชั้น
          ภูมิที่สูงสุดในฝ่ายรูปพรหมภูมิมี ๒ ภูมิ คือเวหัปผลาภูมิ กับอกนิษฐาภูมิ
          ภูมิที่สูงสุดในฝ่ายอรูปพรหมภูมิคือ เนวสัญญายตนะภูมิ
          ภูมิทั้ง ๓ นี้ท่านจัดไว้เป็นยอดภูมิ กล่าวคือ เวหัปผลาภูมินั้นจัดเป็นยอดภูมิของปุถุชน หมายความว่าปุถุชนที่ได้รูปฌานต้องเกิดในพรหมภูมิแน่นอน แต่เกิดได้อย่างสูงสุดก็เพียงเวหัปผลาภูมิเท่านั้น ไม่เกิดสูงกว่านั้น เพราะฉะนั้น เวหัปผลาภูมิจึงเป็นยอดภูมิของปุถุชน เรียกว่าปุถุชนภวัคคะ
          ส่วนสุทธาวาสภูมิอีก ๕ ชั้น มี อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และอกนิษฐานั้น เป็นภูมิที่อยู่ของพระอนาคามีที่ได้จตุตถฌานที่ ๔ โดยจตุกนัย หรือปัญจมฌาน ฌานที่ ๕ โดยปัญจกนัยเท่านั้น ผู้ที่ไม่ได้ฌานที่ ๔ หรือ ฌานที่ ๕ และไม่ใช่พระอนาคามีแล้วจะขึ้นไปเกิดในสุทธาวาสภูมิ ๕ ภูมินี้ไม่ได้เด็ดขาด ใน ๕ ภูมินี้ อกนิษฐาภูมิเป็นยอดภูมิ เป็นภูมิสูงสุด จัดเป็นอริยภวัคคะ คือยอดภูมิของพระอริยะ
          สำหรับยอดภูมิทั้งสองที่กล่าวมาแล้ว เป็นพรหมภูมิของพรหมที่มีขันธ์ ๕ ครบเรียกว่าเป็นยอดภูมิของปัญจโวการภูมิ
          ส่วนยอดภูมิของพรหมที่มีเพียงนามขันธ์ ๔ ขันธ์ ไม่มีรูปขันธ์ ที่เรียกว่าจตุโวการภูมินั้น คือเนวสัญญานาสัญญายตนะภูมิ อรูปพรหมภูมิ ภูมินี้จัดเป็นยอดภูมิของทั้งปุถุชนและพระอริยบุคคลที่ได้อรูปฌานที่ ๔ คือได้เนวสัญญานาสัญญายตนะฌาน หมายความว่าปุถุชนที่ได้อรูปฌานที่ ๔ ตายแล้วต้องเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนะภูมินี้ ไม่เกิดที่อื่น แม้พระอริยบุคคลมีพระโสดาบัน จนถึงพระอนาคามีที่ได้อรูปฌานที่ ๔ ก็ต้องเกิดในเนวสัญญานาสัญญยตนะภูมินี้เท่านั้นไม่เกิดที่อื่น
          เพราะฉะนั้น เนวสัญญานาสัญญยตนะภูมิจึงได้ชื่อว่า สัพพภวัคคะ คือยอดภูมิของทั้งปุถุชนและพระอริยบุคคลที่มีเพียงนามขันธ์ ๔
          นี่เป็นการแบ่งยอดภูมิโดยละเอียด
          แต่สำหรับบางแห่ง ท่านมุ่งเอายอดภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือสุทธาวาสภูมิชั้นที่ ๕ คืออกนิษฐาภูมิเท่านั้นก็มี
          ขอสรุปว่า ภวัคคพรหมนั้นหมายถึง พรหมที่อยู่ในยอดภูมิทั้ง ๓ ภูมิใดภูมิหนึ่ง คือเวหัปผลาภูมิ ๑ อกนิษฐาภูมิ ๑ และเนวสัญญานาสัญญยตนะภูมิอีก ๑
________________________________________

ที่มา อ้างอิงและแนะนำ :-
          พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
          คำว่า ภูมิ 4 หรือ 31
https://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ภูมิ_4_หรือ_31

ดาวน์โหลดนานาปัญหาทั้ง ๕๑ ข้อ นานาปัญหา โดยคณะสหายธรรม บันทึก ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]