ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



นานาปัญหา
โดย คณะสหายธรรม
 

๒๖. พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้ผู้ฟังที่อยู่ไกลๆ ได้ยินเสียงได้หรือ
          ถาม  ในสมัยพุทธกาล เวลาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม มีพระภิกษุมาฟังเป็นจำนวนพันๆ นั้น องค์ที่นั่งไกลออกไปแถวท้ายๆ จะได้ยินเสียงพระองค์ชัดเจนหรือครับ สมัยนี้มีเครื่องขยายเสียงยังไม่ค่อยได้ยินเลย

          ตอบ  ปัญหานี้ขอเรียนให้ทราบดังนี้
          พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเขตไว้ ๓ อย่าง คือ ชาติเขต อาณาเขต และวิสัยเขต

          บรรดาเขตเหล่านั้น หมื่นโลกธาตุ ชื่อว่าชาติเขต ก็หมื่นโลกธาตุนั้นย่อมหวั่นไหว ในเวลาที่พระตถาคตเสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา ย่อมหวั่นไหวในเวลาที่ทรงออกมหาภิเนษกรมณ์ คือการออกบวชย่อมหวั่นไหว ในเวลาที่ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในเวลาทรงยังธรรมจักรให้เป็นไป ในเวลาทรงปลงอายุสังขาร และในเวลาเสด็จดับขันธปรินิพพาน การที่หมื่นโลกธาตุหวั่นไหวในเวลาดังกล่าวนี้ จัดเป็นชาติเขต

          ส่วน อาณาเขตนั้น กำหนดด้วยอำนาจของพระปริตรที่สามารถจะแผ่ไปตลอดแสนโกฏิจักรวาล อาทิเช่น อำนาจของอาฏานาฏิยปริตร โมรปริตร ธชัคคปริตร และรัตนปริตร เป็นต้น อำนาจของพระปริตรเหล่านี้สามารถแผ่ไปได้ถึงแสนโกฏิจักรวาล นี้จัดเป็นอาณาเขต

          ส่วน วิสัยเขตของพระพุทธเจ้านั้นไม่มีกำหนด กล่าวคือ พระญาณของพระพุทธเจ้าไม่มีกำหนด พระองค์พึงน้อมพระทัยไปเท่าใด พระญาณก็เป็นไปเท่านั้น ธรรมะที่พระองค์พึงน้อมไปมีสุดด้วยพระญาณ แม้พระญาณก็มีที่สุดด้วยพระธรรมที่ทรงน้อมไป
          หมายความว่า พระองค์ทรงประสงค์จะรู้ได้ทุกสิ่งโดยไม่มีติดขัด หากทรงน้อมพระทัยไปเพื่อรู้แล้ว ที่จะไม่รู้หามีไม่ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรม บุคคลที่อยู่แม้ปากขอบจักรวาลก็สามารถได้ยินได้ และผู้ที่ฟังธรรมอยู่ก็รู้สึกเหมือนพระองค์ทรงแสดงธรรมกับตนเพียงผู้เดียว นี่เป็นความอัศจรรย์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะหาจากผู้ใดมิได้

          เพื่อสนับสนุนคำกล่าวนี้ ขอยกเอาข้อความในอรรถกถามหาสมัยสูตร(ตอนท้าย) มาเล่าให้ฟังดังนี้ ในสมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เทพธิดาองค์หนึ่งได้ฟังมหาสมัยสูตร ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงในที่ประชุมใหญ่ของพวกเทพ เทพธิดาองค์นี้มีวิมานอยู่ที่ต้นกากะทิงใกล้ประตูถ้ำ ที่วัดโกฏบรรพต
          วันหนึ่งได้ฟังภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งสาธยายมหาสมัยสูตรภายในถ้ำ เมื่อภิกษุนั้นสาธยายจบลง เทพธิดาก็ได้ให้สาธุการด้วยเสียงอันดัง ภิกษุนั้นได้ยินแต่เสียง แต่มิได้เห็นรูปของเทพธิดานั้น จึงถามว่า “นั่นใคร”
          เทพธิดาบอกความจริงว่า “ดิฉันเป็นเทพธิดาเจ้าค่ะ”
          ภิกษุจึงถามว่า “เหตุใด เธอจึงให้สาธุการ”
          เทพธิดาตอบว่า “ดิฉันเคยได้ฟังพระสูตรนี้ ในวันที่พระศาสดาประทับนั่งแสดงที่ป่าใหญ่ มาได้ฟังท่านสาธยายโดยไม่ผิดเพี้ยน ไม่ทำอักขระแม้สักตัวเดียวให้เสียไป ดิฉันจึงชื่นชม อนุโมทนาสาธุการเจ้าค่ะ”
          ภิกษุนั้นถามย้ำว่า “เมื่อพระศาสดาทรงแสดงพระสูตรนี้ เธอได้ฟังหรือ”
          นางรับว่า “เจ้าค่ะ”
          ภิกษุนั้นถามว่า “ได้ข่าวว่า วันนั้นมีเทวดามาฟังมาก เธอยืนฟังอยู่ที่ไหน”
          เทพธิดาตอบว่า “ท่านเจ้าขา ดิฉันเป็นเทวดาชาวป่าใหญ่ เมื่อพวกเทวดามีศักดิ์ชั้นผู้ใหญ่พากันมาจนเต็มชมพูทวีป เลยมาจนถึงลังกาทวีป ดิฉันจึงถอยมายืนที่ริมฝั่งท่าน้ำชัมพูโกล ถึงกระนั้นเทวดาผู้ใหญ่ก็ล้นมาจนถึงท่านั้น ดิฉันจึงถอยร่นมาเรื่อยๆ จนในที่สุด ต้องไปยืนแช่น้ำทะเลลึกแค่คอ ทางหลังหมู่บ้านใหญ่ ในจังหวัดโรหณะ สดับฟังธรรมอยู่”
          ภิกษุนั้นถามว่า “ก็เธอยืนอยู่ไกลมากถึงเพียงนั้น เธอมองเห็นพระศาสดาหรือ”
          เทพธิดาตอบว่า “ท่านพูดอะไรอย่างนั้น ดิฉันเข้าใจว่า พระศาสดาทรงแสดงธรรมที่ป่าใหญ่ก็จริง แต่ทรงดูดิฉันเสมอๆ จนดิฉันรู้สึกกลัวและละอาย”
          ภิกษุนั้นถามอีกว่า “ได้ข่าวว่า วันนั้นมีเทวดาบรรลุพระอรหันต์ถึงแสนโกฏิ แล้วเธอเล่าสำเร็จพระอรหันต์หรือไม่”
          นางตอบว่า “ไม่หรอกเจ้าค่ะ” “ถ้าอย่างนั้นคงสำเร็จอนาคามิผลกระมัง” นางเทพธิดาก็ปฏิเสธอีก “ถ้าอย่างนั้นก็สำเร็จสกทาคามิผล” นางก็ปฏิเสธ
          เมื่อภิกษุนั้นกล่าวว่า “เขาว่าวันนั้นเทวดาที่บรรลุมรรค ๓ ผล ๓ มีจำนวนนับไม่ถ้วน ถ้าเช่นนั้นเธอเห็นจะเป็นพระโสดาบันกระมัง”
          ก็นางเทพธิดานั้นซึ่งได้สำเร็จพระโสดาบันในวันนั้น รู้สึกอายจึงพูดว่า “พระคุณเจ้าไม่น่าถามซอกแซก” นั่นคือไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ
          ภิกษุนั้นทราบในทีจึงขอให้นางแสดงกายให้เห็น
          นางตอบว่า “ดิฉันจะแสดงให้เห็นแค่นิ้วมือเท่านั้น” ว่าแล้วก็เอานิ้วมือสอดเข้าที่รูกุญแจ นิ้วมือนั้นก็สว่างไสวราวกับพระอาทิตย์ขึ้นเป็นพันๆ ดวง
          แล้วกล่าวเตือนว่า “ท่านอย่าได้ประมาทนะเจ้าคะ” ว่าแล้วก็ลาไป
          จากเรื่องนี้ ท่านผู้ถามก็จะเห็นว่า ผู้ฟังธรรมแม้จะอยู่ไกลแสนไกล พระพุทธเจ้าก็ทรงสามารถแสดงธรรมให้ผู้ฟังนั้นได้ยินได้ ด้วยวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ขอตอบปัญหาข้อนี้เพียงเท่านี้
________________________________________

ที่มา อ้างอิงและแนะนำ :-
          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒
          ทีฆนิกาย มหาวรรค
          มหาสมัยสูตร
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=10&A=5540&Z=5726

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๓
          ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
          อาฏานาฏิยสูตร
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=11&A=4207&Z=4500

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗
          สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
          ธชัคคสูตร
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=15&A=7046&Z=7112

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๗
          ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
          รัตนสูตร ในขุททกปาฐะ
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=25&A=73&Z=154

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙
          ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
          โมรชาดก ว่าด้วยนกยูงเจริญพระปริตต์
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=27&A=1086&Z=1107
          อรรถกถา โมรชาดก
          ว่าด้วย นกยูงเจริญพระปริตต์
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=167

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๙
          ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑
          มหาโมรชาดก ว่าด้วยพญานกยูงพ้นจากบ่วง
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=27&A=7603&Z=7657
          อรรถกถา มหาโมรชาดก
          ว่าด้วย พญานกยูงพ้นจากบ่วง
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1961

ดาวน์โหลดนานาปัญหาทั้ง ๕๑ ข้อ นานาปัญหา โดยคณะสหายธรรม บันทึก ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]