ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น



นานาปัญหา
โดย คณะสหายธรรม
 

๒๗. พระสุภัททะไม่ชอบใจพระพุทธเจ้าเรื่องอะไร
          ถาม  พระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่ โกรธไม่ชอบใจพระพุทธเจ้าเรื่องอะไร เมื่อรู้ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว จึงกล่าวว่า การที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนั้นดีแล้ว เพราะเวลาที่ทรงพระชนม์อยู่นั้น มีแต่ทรงห้ามไม่ให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว พวกเราก็จักทำตามชอบใจได้

          ตอบ  เรื่องที่พระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่ ไม่ชอบพระพุทธเจ้านั้น มีเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถามหาปรินิพพานสูตรว่า สุภัททภิกษุนั้นบวชเมื่อตอนแก่ จึงเรียกกันว่าวุฑฒบรรพชิต
          สำหรับเรื่องที่ท่านอาฆาตพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีเรื่องเล่าว่า สุภัททะนี้เดิมเป็นช่างตัดผมอยู่ในเมืองอาตุมา ได้ออกบวชตอนแก่ ท่านทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากกรุงกุสินาราไปยังนครอาตุมาพร้อมด้วยภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป จึงคิดว่าจักทำยาคูถวายเป็นทาน ในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา จึงเรียกบุตร ๒ คนที่กำลังเตรียมตัวจะบวชเป็นสามเณรมาสั่งว่า ให้เจ้าถือเครื่องมือตัดผมพร้อมกับทะนานและถังไปตามลำดับบ้าน แล้วรวบรวมเอาเกลือบ้าง น้ำมันบ้าง ข้าวสารบ้าง ของเคี้ยวบ้าง เราจักทำยาคูถวายพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้จะเสด็จมา
          บุตรทั้งสองก็ได้ไปตามสั่ง ก็เด็กชายทั้งสองนั้นเป็นคนมีเสียงเพราะ มีไหวพริบดี ผู้คนบางคนก็ต้องการจะตัดผม แต่บางคนก็ไม่ต้องการ ถึงกระนั้นทุกคนก็ให้ตัดผมของตนเพื่อจะให้เป็นค่าจ้าง เด็กทั้งสองก็ขอรับเอาของที่บิดาสั่งโดยบอกว่า พวกผมไม่ต้องการสิ่งอื่น แต่ต้องการของสำหรับที่หลวงพ่อของผมจะทำยาคูถวายในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาเท่านั้น คนเหล่านั้นก็ให้สิ่งที่เด็กทั้งสองต้องการ
          ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาถึงอาตุมานคร สุภัททภิกษุก็เข้าไปยังประตูบ้าน บอกชาวเมืองว่า “ข้าวสารเป็นต้นของอาตมามีพร้อมแล้ว พวกท่านจงทำงานฝีมือเถิด” เมื่อชาวเมืองถามว่าจะให้ทำอะไร ท่านก็บอกให้ช่วยสร้างเตาไฟที่วิหาร ตัวท่านเองนุ่งผ้าย้อมน้ำฝาดดำผืนหนึ่ง แล้วสั่งว่า จงทำสิ่งนี้ ครุ่นคิดอยู่ตลอดคืน สละทรัพย์ ๑ แสนให้เขาจัดยาคูสำหรับดื่มกิน จัดน้ำผึ้ง น้ำอ้อยงบ เป็นต้น
          รุ่งขึ้นเช้าตรู่ พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองอาตุมากับภิกษุสงฆ์ คนทั้งหลายก็บอกสุภัททภิกษุว่า พระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้ว สุภัททภิกษุทั้งๆ ที่ยังนุ่งห่มผ้ากาสาวะสีดำอยู่นั่นแหละ ได้เข้ามาคุกเข่าข้างขวาลงที่พื้นดิน มือหนึ่งถือกระบวย อีกมือหนึ่งถือทัพพี ถวายบังคมพระพุทธเจ้า แล้วทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดทรงรับยาคูของข้าพระองค์เถิด”
          พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามและฟังคำทูลแล้วทรงติเตียนสุภัททภิกษุเป็นอันมาก อาศัยเหตุนั้นทรงบัญญัติ ๒ สิกขาบท คือสิกขาบทว่าด้วยการชักชวนในสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ คือสิ่งที่ไม่สมควรแก่สมณะ และสิกขาบทว่าด้วยการรักษาเครื่องมีดโกน
          ตรัสติเตียนว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหล่าภิกษุผู้แสวงหาโภชนะล่วงไปถึงหลายโกฏิกัป พวกเธอบริโภคโภชนะที่เป็นอกัปปิยะของพวกเธออันเกิดขึ้นโดยไม่ชอบธรรม จักต้องไปเกิดในอบายทั้งหลายหลายแสนอัตภาพ เธอจงหลีกไปอย่ามายุดไว้” ดังนี้แล้วได้เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปเที่ยวภิกษา แม้ภิกษุรูปหนึ่งที่ตามเสด็จก็มิได้รับอะไรๆ เลย
          พระสุภัททะเสียใจ ผูกอาฆาตพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านี้เข้าใจว่าพระองค์ทรงรู้ทุกสิ่ง เมื่อไม่ประสงค์จะรับ ก็ควรส่งคนไปบอก ขึ้นชื่อว่าอาหารที่สุกแล้วนี้ อย่างมากก็เก็บไว้ได้เพียง ๗ วัน แต่ของที่เราเตรียมไว้นี้ เราจัดไว้ตลอดชีวิต แต่พระองค์มาทำให้พินาศเสียสิ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงหวังดีต่อเราเลย แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ก็ไม่กล้าพูดอะไร เพราะคิดว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบวชจากตระกูลสูง ถ้าเราพูดอะไรออกไป เราก็จะถูกคุกคาม
          ดังนั้นพอทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้วเท่านั้น ก็ร่าเริงยินดี รู้สึกโล่งอกหายใจคล่องทีเดียว จึงได้กล่าวแสดงความโล่งใจที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานเสียแล้ว ภิกษุทั้งหลายจะได้ไม่ต้องถูกบีบบังคับให้ทำสิ่งที่ไม่ชอบใจ คราวนี้ชอบใจทำอะไรก็ทำได้ตามใจ ไม่มีใครห้าม ซึ่งเมื่อท่านพระมหากัสสปเถระได้สดับคำสุภัททภิกษุเช่นนั้นแล้ว ก็เกิดธรรมสังเวชว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานไปเพียง ๗ วันเท่านั้น เสี้ยนหนามใหญ่เกิดขึ้นแก่พระศาสนา รวดเร็วนัก ก็คนบาปนี้เมื่อเติบโตมีพวกมาก ก็อาจทำให้พระศาสนาเสื่อมได้
          ท่านพระมหากัสสปเถระอาศัยเหตุนี้จึงปรารภการสังคายนาพระธรรมวินัย นี้จึงเป็นเหตุให้เกิดการทำสังคายนาครั้งแรกขึ้น
          นี้คือเรื่องราวของสุภัททภิกษุที่คุณอยากทราบ
________________________________________

ที่มา อ้างอิงและแนะนำ :-
          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕
          เรื่องวุฑฒบรรพชิต
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=5&A=2520&Z=2557

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๗
          เรื่องพระมหากัสสปเถระ
          สังคายนาปรารภคำของพระสุภัททวุฑฒบรรพชิต
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=7&A=7298&Z=7369

          พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒
          มหาปรินิพพานสูตร
https://84000.org/tipitaka/book/v.php?B=10&A=1888&Z=3915#154

          พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
          คำว่า สุภัททะ วุฒบรรพชิต
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=สุภัททะ_วุฒบรรพชิต
          คำว่า สังคายนาครั้งที่ ๑
https://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=สังคายนาครั้งที่_๑

ดาวน์โหลดนานาปัญหาทั้ง ๕๑ ข้อ นานาปัญหา โดยคณะสหายธรรม บันทึก ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]