ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
อ่านข้อแรกอ่านข้อก่อนนี้อ่านข้อถัดไปอ่านข้อสุดท้าย
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

[227] พร 5 (สิ่งน่าปรารถนาที่บุคคลหนึ่งอำนวยให้หรือแสดงความประสงค์ด้วยความปรารถนาดีให้เกิดมีขึ้นแก่บุคคลอื่น; สิ่งประเสริฐ, สิ่งดีเยี่ยม — blessing; boon; excellent thing)
       พรที่รู้จักกันมากได้แก่ ชุดที่มีจำนวน 4 ข้อ ซึ่งเรียกกันว่า จตุรพิธพร หรือ พร 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ

Dh.109;
A.II.63
ขุ.ธ. 25/18/29;
องฺ.จตุกฺก. 21/58/83.

       พรที่เป็นชุดมีจำนวน 5 ข้อบ้าง 6 ข้อบ้าง ก็มี เช่น อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ (องฺ.ปญฺจก. 22/37/44 = A.III.42); อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุขะ พละ (องฺ.จตุกฺก. 21/34/45; องฺ.ปญฺจก. 22/32/38; ขุ.อิติ. 25/270/299 = A.III.36; It. 89); อายุ วรรณะ สุขะ ยศ เกียรติ สัคคะหรือสวรรค์ พร้อมทั้ง อุจจากุลีนตาคือความมีตระกูลสูง (องฺ.ปญฺจก. 22/43/51 = A.III.48); อายุ วรรณะ ยศ สุข อาธิปัจจะ คือ ความเป็นใหญ่ (ขุ.เปต. 26/106/195 = Pv. 308) และชุดที่จะกล่าวถึงต่อไปคือ อายุ วรรณะ สุขะ โภคะ พละ
       อย่างไรก็ดี พึงทราบว่า คำว่า พร ในที่นี้ เป็นการใช้โดยอนุโลมตามความหมายในภาษาไทย ซึ่งเพี้ยนไปแล้วจากความหมายเดิมในภาษาบาลี ในภาษาบาลีแต่เดิม พร หมายถึง ผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษที่อนุญาตหรืออำนวยให้ตามที่ขอ พรที่กล่าวถึง ณ ที่นี้ทั้งหมด ในบาลีไม่ได้ เรียกว่า พร แต่เรียกว่า ฐานะ หรือธรรมที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ (ซึ่งจะบรรลุได้ด้วยกรรม คือการกระทำที่ดีอันเป็นบุญ)
       สำหรับพระภิกษุ พรหรือธรรมอันน่าปรารถนาเหล่านี้ หมายถึงคุณธรรมต่างๆ ที่ควรปลูกฝังฝึกอบรมให้เกิดมี ดังพุทธพจน์ว่า: ภิกษุท่องเที่ยวอยู่ ภายในถิ่นท่องเที่ยว ที่เป็นแดนของตนอันสืบทอดมาแต่บิดา (คือ สติปัฏฐาน 4) จักเจริญด้วย
       1. อายุ คือ พลังที่หล่อเลี้ยงทรงชีวิตให้สืบต่ออยู่ได้ยาวนาน ได้แก่ อิทธิบาท 4 (for monks, = the Four Bases of Accomplishment)
       2. วรรณะ คือ ความงามเอิบอิ่มผ่องใสน่าเจริญตาเจริญใจ ได้แก่ ศีล (beauty = moral conduct)
       3. สุขะ คือความสุข ได้แก่ ฌาน 4 (the Four Meditative Absorptions)
       4. โภคะ คือ ความพรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินและอุปกรณ์ต่างๆ อันอำนวยความสุข ความสะดวกสบาย ได้แก่ อัปปมัญญา หรือพรหมวิหาร 4 (Wealth = the Four Boundless Sublime States of Mind)
       5. พละ คือ กำลังแรงความเข้มแข็งที่ทำให้ข่มขจัดได้แม้แต่กำลังแห่งมาร ทำให้สามารถดำเนินชีวิตที่ดีงามปลอดโปร่งเป็นสุข บำเพ็ญกิจด้วยบริสุทธิ์และเต็มที่ ไม่มีกิเลสหรือความทุกข์ใดใดจะสามารถบีบคั้นครอบงำ ได้แก่ วิมุตติ ความหลุดพ้น หมดสิ้นอาสวะ หรืออรหัตตผล (strength or power = the Final Freedom)

D.III.77;
S.V.147
ที.ปา. 11/50/85;
สํ.ม. 19/709/198


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=227

อ่านข้อแรกอ่านข้อก่อนนี้อ่านข้อถัดไปอ่านข้อสุดท้าย

บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]