ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
อ่านข้อแรกอ่านข้อก่อนนี้
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

[359] กิเลส 1500 (สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง - defilements)
       กิเลส 1500 ที่จัดเป็นชุดจำนวนอย่างนี้ ไม่มีในพระบาลี แม้จะมีกล่าวถึงในอรรกกถาบางแห่งก็แสดงเพียงตัวอย่าง ไม่ครบถ้วน ระบุไว้อย่างมากที่สุดเพียง 336 อย่าง (ดู อุ.อ.172,424; อิติ.อ.166) เช่น โลภะ โทสะ โมหะ วิปริตมนสิการ อหิริกะ อโนตตัปปะ ถีนะ มิทธะ โกธะ อุปนาหะ ฯลฯ อกุศลกรรมบถ 10 ... ตัณหา 108
       ในคัมภีร์รุ่นหลังต่อมา ได้มีการพยายามนับจำนวนกิเลสพันห้าให้เป็นตัวเลขที่ชัดเจน ดังปรากฏในธัมมสังคณีอนุฏีกา (ฉบับ มจร. สงฺคณี.อนุฏีกา 23-24) ซึ่งได้แสดงระบบวิธีนับไว้หลายอย่าง สรุปได้เป็น 2 แบบ คือ แบบลงตัวจำนวน 1500 ถ้วน และแบบนับคร่าวๆ ขาดเกินเล็กน้อย นับแต่จำนวนเต็ม

       แบบที่ 1 จำนวนลงตัว 1500 ถ้วน คือ
           อารมณ์ 150 x กิเลส 10 = กิเลส 1,500
           กิเลส 10 ดู [316] กิเลส 10
           อารมณ์ 150 หมายถึง อารมณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิเลส แต่มีวิธีนับ 2 นัย คือ
           ก) อารมณ์ 150 = ธรรม 75 [อรูปธรรม 53 (คือจิต 1 + เจตสิก 52) + รูปรูป 18* + อากาสธาตุ 1 + ลักขณรูป 3**] x 2 (ภายใน + ภายนอก)
           ข) อารมณ์ 150 = ธรรม 75 [อรูปธรรม 57 (คือจิต 1 + เวทนาเจตสิก 5 + เจตสิกอื่นๆ 51) + รูปรูป 18] x 2 (ภายใน + ภายนอก)

       แบบที่ 2 จำนวนไม่ลงตัว ขาดหรือเกินเล็กน้อย นับจำนวนเต็มปัดเศษ
           แบบที่ 2 นี้ ท่านแจงวิธีนับไว้หลายอย่าง เป็น 1,584 บ้าง 1,512 บ้าง 1,510 บ้าง 1,416 บ้าง แต่จะไม่นำรายละเอียดมาแสดงในที่นี้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ

       ในภาษาไทย มีคำพูดเป็นสำนวนเก่า ที่นิยมกล่าวอ้างกันสืบๆ มาแบบติดปากว่า “กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด” พึงทราบว่า เป็นถ้อยคำที่อิงหลักธรรม 2 หมวด คือ [359] กิเลส 1500 และ [357] ตัณหา 108 ที่แสดงแล้วนี้
----------------------------------------------
* รูปทั้งหมดมี 28 (ดู [40]) ในจำนวนนี้ 18 อย่าง เรียกว่า รูปรูป เพราะเป็นรูปที่เป็นรูปธรรมจริงๆ หรือแปลง่ายๆ ว่า “รูปแท้” ได้แก่ มหาภูตรูป 4, ปสาทรูป 5, วิสัยรูป 4, ภาวรูป 2, หทัยรูป 1, ชีวิตรูป 1 และอาหารรูป 1 ส่วนรูปที่เหลืออีก 10 อย่าง (คือ ปริจเฉทรูป 1, วิญญัติรูป 2, วิการรูป 3, ลักขณรูป 4) เป็นเพียงอาการลักษณะหรือความเป็นไปของรูปเหล่านั้น จึงไม่เป็นรูปรูป
** ลักขณรูป นับเต็มมี 4 (ดู [40] ฏ.) แต่ 2 อย่างแรก นับรวมเป็น 1 ได้ เรียกว่า ชาติรูป กล่าวคือ อุปจยะ หมายถึง การเกิดที่เป็นการก่อตัวขึ้นทีแรก และ สันตติ หมายถึง การเกิดสืบเนื่องต่อๆ ไป โดยนัยนี้ จึงนับลักขณรูปเป็น 3

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=359

อ่านข้อแรกอ่านข้อก่อนนี้

บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]