ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ กรรม ”             ผลการค้นหาพบ  9  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 9
ทุกะ - หมวด 2
Groups of Two
(including related groups)
[4] กรรม 2 (การกระทำ, การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ทางกายก็ตามทางวาจาก็ตาม ทางใจก็ตาม - action; deed)
       1. อกุศลกรรม (กรรมที่เป็นอกุศล, กรรมชั่ว, การกระทำที่ไม่ดี ไม่ฉลาด ไม่เกิดจากปัญญา ทำให้เสื่อมเสียคุณภาพชีวิต หมายถึง การกระทำที่เกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ หรือโมหะ - unwholesome action; evil deed; bad deed)
       2. กุศลกรรม (กรรมที่เป็นกุศล, กรรมดี, การกระทำที่ดี ฉลาด เกิดจากปัญญา ส่งเสริมคุณภาพของชีวิตจิตใจ หมายถึง การกระทำที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ หรืออโมหะ - wholesome action; good deed)

A.I.104, 263;
It.25,55
องฺ.ติก. 20/445/131, 551/338;
ขุ.อิติ. 25/208/248, 242/272

[*] กรรมฐาน 2 ดู [36] ภาวนา 2.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 9
ติกะ - หมวด 3
Groups of Three
(including related groups)
[66] กรรม 3 (การกระทำ, การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม — action; deed)
       1. กายกรรม (กรรมทำด้วยกาย, การกระทำทางกาย — bodily action)
       2. วจีกรรม (กรรมทำด้วยวาจา, การกระทำทางวาจา — verbal action)
       3. มโนกรรม (กรรมทำด้วยใจ, การกระทำทางใจ — mental action)

M.I.373. ม.ม. 13/64/56.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 9
จตุกกะ - หมวด 4
Groups of Four
(including related groups)
[137] กรรมกิเลส 4 (กรรมเครื่องเศร้าหมอง, ข้อเสื่อมเสียของความประพฤติ - defiling actions; contaminating acts; vices of conduct)
       1. ปาณาติบาต (การตัดรอนชีวิต - destruction of life)
       2. อทินนาทาน (ถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้, ลักขโมย - taking what is not given)
       3. กาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม - sexual misconduct)
       4. มุสาวาท (พูดเท็จ - false speech)

D.III.181. ที.ปา. 11/174/195

[***] กัลยาณมิตร 4 ในที่นี้ใช้เป็นคำเรียกมิตรแท้ ตามบาลีเรียกว่า สุททมิตร ดู [169] สุหทมิตร 4
[***] กิจในอริยสัจจ์ 4 ดู [205] กิจในอริยสัจจ์ 4

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 9
[245] อนันตริยกรรม 5 (กรรมหนักที่สุดฝ่ายบาปอกุศล ซึ่งให้ผลทันที — immediacy-deeds; heinous crimes which bring immediate results)
       1. มาตุฆาต (ฆ่ามารดา — matricide)
       2. ปิตุฆาต (ฆ่าบิดา — patricide)
       3. อรหันตฆาต (ฆ่าพระอรหันต์ — killing an Arahant)
       4. โลหิตุปบาท (ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตห้อขึ้นไป — causing a Buddha to suffer a contusion or to bleed)
       5. สังฆเภท (ยังสงฆ์ให้แตกกัน, ทำลายสงฆ์ — causing schism in the Order)

A.III.146 องฺ.ปญฺจก. 22/129/165

[***] อนาคามี 5 ดู [60] อนาคามี 5

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 9
[319] กุศลกรรมบถ 10 (ทางแห่งกุศลกรรม, ทางทำความดี, กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่สุคติ — wholesome course of action) ว่าโดยหัวข้อย่อ ดังนี้
       ก. กายกรรม 3 (การกระทำทางกาย — bodily action)
           1. ปาณาติปาตา เวรมณี* (เว้นจากปลงชีวิต — abstention from killing)
*เวรมณี แปลว่า เจตนาที่ทำให้เว้น หรือ เจตนาที่ตรงข้าม เมื่อจะแปลให้เต็มความ จึงควรแปลว่า การกระทำที่ว่างจากการคิดเบียดเบียน หรือ การทำดีที่ตรงข้ามกับการเบียดเบียนชีวิต ดังนี้เป็นต้น

           2. อทินนาทานา เวรมณี (เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้โดยอาการขโมย — abstention from taking what is not given)
           3. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี (เว้นจากประพฤติผิดในกาม — abstention from sexual misconduct)

       ข. วจีกรรม 4 (การกระทำทางวาจา — verbal action)
           4. มุสาวาทา เวรมณี (เว้นจากพูดเท็จ — abstention from false speech)
           5. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี (เว้นจากพูดส่อเสียด — abstention from tale-bearing)
           6. ผรุสาย วาจาย เวรมณี (เว้นจากพูดคำหยาบ — abstention from harsh speech)
           7. สัมผัปปลาปา เวรมณี (เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ — abstention from vain talk or gossip)

       ค. มโนกรรม 3 (การกระทำทางใจ — mental action)
           8. อนภิชฌา (ความไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของเขา — non-covetousness)
           9. อพยาบาท (ความไม่คิดร้ายผู้อื่น — non-illwill)
           10. สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ ถูกต้องตามคลองธรรม — right view)

D.III.269, 290. ที.ปา. 11/360/284; 471/337.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 9
[320] กุศลกรรมบถ 10 (ทางแห่งกุศลกรรม, ทางทำความดี, กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่ความสุขความเจริญหรือสุคติ — wholesome course of action) ว่าโดยข้อธรรมสมบูรณ์ (แปลตัดเอาแต่ใจความ) ดังนี้
       ก. กายกรรม 3 (การกระทำทางกาย — bodily action)
           1. ปาณาติปาตํ ปหาย ฯเปฯ สพฺพปาณภูตหิตานุกมฺปี โหติ (ละการฆ่าการเบียดเบียน มีเมตตากรุณาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน — to avoid the destruction of life and be anxious for the welfare of all lives)
           2. อทินฺนาทานํ ปหาย ฯเปฯ อทินฺนํ เถยฺยสงฺขาตํ อนาทาตา โหติ (ละอทินนาทาน เคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่น — to avoid stealing, not violating the right to private property of others)
           3. กาเมสุมิจฺฉาจารํ ปหาย ฯเปฯ น จาริตฺตํ อาปชฺชิตา โหติ (ละการประพฤติผิดในกาม ไม่ล่วงละเมิดประเพณีทางเพศ — to avoid sexual misconduct, not transgressing sex morals)

       ข. วจีกรรม 4 (การกระทำทางวาจา — verbal action)
           4. มุสาวาทํ ปหาย ฯเปฯ น สมฺปชานมุสา ภาสิตา โหติ (ละการพูดเท็จ ไม่ยอมกล่าวเท็จ เพราะเหตุตนเอง ผู้อื่น หรือเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ใดๆ — to avoid lying, not knowingly speaking a lie for the sake of any advantage)
           5. ปิสุณํ วาจํ ปหาย ฯลฯ สมคฺคกรณี วาจํ ภาสิตา โหติ (ละการพูดคำส่อเสียด ช่วยสมานคนที่แตกร้าวกัน ส่งเสริมคนที่สมัครสมานกัน ชอบกล่าวถ้อยคำที่สร้างสามัคคี — to avoid malicious speech, unite the discordant, encourage the united and utter speech that makes for harmony)
           6. ผรุสํ วาจํ ปหาย ฯเปฯ พหุชนมนาปา ตถารูปี วาจํ ภาสิตา โหติ (ละคำหยาบ พูดแต่คำสุภาพอ่อนหวาน — to avoid harsh language and speak gentle, loving, courteous, dear and agreeable words)
           7. สมฺผปฺปลาปํ ปหาย ฯเปฯ กาลวาที ภูตวาที อตฺถวาที ธมฺมวาที วินยวาที นิธานวตึ วาจํ ภาสิตา โหติ ฯเปฯ (ละการพูดเพ้อเจ้อ พูดแต่คำจริงมีเหตุผล มีสารประโยชน์ ถูกกาลเทศะ — to avoid frivolous talk; to speak at the right time, in accordance with facts, what is useful, moderate and full of sense)

       ค. มโนกรรม 3 (การกระทำทางใจ — mental action)
           8. อนภิชฺฌาลุ โหติ ฯเปฯ (ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น — to be without covetousness)
           9. อพฺยาปนฺนจิตฺโต โหติ ฯเปฯ สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตูติ (ไม่มีจิตคิดร้าย คือปรารถนาแต่ว่า ขอให้สัตว์ทั้งหลายไม่มีเวร ไม่เบียดเบียน ไม่มีทุกข์ ครองตนอยู่เป็นสุขเถิด — to be free from illwill, thinking, ‘Oh, that these beings were free fron hatred and illwill, and would lead a happy life from trouble.’)
           10. สมฺมาทิฏฺฐิโก โหติ ฯเปฯ สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตฺวา ปเวเทนฺตีติ (มีความเห็นชอบ เช่นว่า ทานมีผล การบูชามีผล ผลวิบากกรรมดีกรรมชั่วมี เป็นต้น — to posses right view such as that gifts, donations and offerings are not fruitless and that there are results of wholesome and unwholesome actions)

       กุศลกรรมบถหมวดนี้ ในบาลีเรียกชื่อหลายอย่าง เช่นว่า ธรรมจริยา (ความประพฤติธรรม -- righteous conduct) บ้าง โสไจย (ความสะอาดหรือเครื่องชำระตัว -- cleansing) บ้าง อริยธรรม (อารยธรรม, ธรรมของผู้เจริญ -- virtues of a noble or civilized man) บ้าง อริยมรรค (มรรคาอันประเสริฐ -- the noble path) บ้าง สัทธรรม (ธรรมดี, ธรรมแท้ -- good law; true law) บ้าง สัปปุริสธรรม (ธรรมของสัตบุรุษ -- qualities of a good man) บ้าง ฯลฯ

M.I.287;
A.V.266, 275-278.
ม.มู. 12/485/523;
องฺ.ทสก. 24/165/287; 168-181/296-300.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 9
[321] อกุศลกรรมบถ 10 (ทางแห่งอกุศลกรรม, ทางทำความชั่ว, กรรมชั่วอันเป็นทางนำไปสู่ความเสื่อม ความทุกข์ หรือทุคติ — unwholesome course of action)
       ก. กายกรรม 3 (การกระทำทางกาย — bodily action)
           1. ปาณาติบาต (การทำชีวิตให้ตกล่วง, ปลงชีวิต — destruction of life; killing)
           2. อทินนาทาน (การถือเอาของที่เขามิได้ให้ โดยอาการขโมย, ลักทรัพย์ — taking what is not given; stealing)
           3. กาเมสุมิจฉาจาร (ความประพฤติผิดในกาม — sexual misconduct)

       ข. วจีกรรม 4 (การกระทำทางวาจา — verbal action)
           4. มุสาวาท (การพูดเท็จ — false speech)
           5. ปิสุณาวาจา (วาจาส่อเสียด — tale-bearing; malicious speech)
           6. ผรุสวาจา (วาจาหยาบ — harsh speech)
           7. สัมผัปปลาปะ (คำพูดเพ้อเจ้อ — frivolous talk; vain talk; gossip)

       ค. มโนกรรม 3 (การกระทำทางใจ — mental action)
           8. อภิชฌา (เพ่งเล็งอยากได้ของเขา — covetousness; avarice)
           9. พยาบาท (คิดร้ายผู้อื่น — illwill)
           10. มิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิดจากคลองธรรม — false view; wrong view)

D.III 269, 290;
A.V.264.
ที.ปา. 11/359/284; 470/337;
องฺ.ทสก. 24/165/285.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 9
อติเรกทสกะ - หมวดเกิน 10
Groups of More Than Ten
[338] กรรม 12 (การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาดีก็ตาม ชั่วก็ตาม, ในที่นี้หมายถึงกรรมประเภทต่างๆ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผลของกรรมเหล่านั้น — karma; kamma; action; volitional action)
       หมวดที่ 1 ว่าโดยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล (classification according to the time of ripening or taking effect)
           1. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในปัจจุบันคือในภพนี้ — kamma to be experienced here and now; immediately effective kamma)
           2. อุปปัชชเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิดคือในภพหน้า — kamma to be experienced on rebirth; kamma ripening in the next life)
           3. อปราปริยเวทนียกรรม (กรรมให้ผลในภพต่อๆไป — kamma to be experienced in some subsequent becoming; indefinitely effective kamma)
           4. อโหสิกรรม (กรรมเลิกให้ผล ไม่มีผลอีก — lapsed or defunct kamma)

       หมวดที่ 2 ว่าโดยกิจ คือจำแนกการให้ผลตามหน้าที่ (classification according to function)
           5. ชนกกรรม (กรรมแต่งให้เกิด, กรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด — productive kamma; reproductive kamma)
           6. อุปัตถัมภกกรรม (กรรมสนับสนุน, กรรมที่เข้าช่วยสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม — supportive kamma; consolidating kamma)
           7. อุปปีฬกกรรม (กรรมบีบคั้น, กรรมที่มาให้ผล บีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้น ให้แปรเปลี่ยนทุเลาลงไป บั่นทอนวิบากมิให้เป็นไปได้นาน obstructive kamma; frustrating kamma)
           8. อุปฆาตกกรรม (กรรมตัดรอน, กรรมที่แรง ฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรม และอุปัตถัมภกกรรม เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรมสองอย่างนั้น ให้ขาดไปเสียทีเดียว เช่น เกิดในตระกูลสูง มั่งคั่ง แต่อายุสั้น เป็นต้น — destructive kamma; supplanting kamma)

       หมวดที่ 3 ว่าโดยปากทานปริยาย คือ จำแนกตามความยักเยื้องหรือลำดับความแรงในการให้ผล (classification according to the order of ripening)
           9. ครุกกรรม (กรรมหนัก ให้ผลก่อน ได้แก่ สมาบัติ 8 หรือ อนันตริยกรรม — weighty kamma)
           10. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม (กรรมทำมากหรือกรรมชิน ให้ผลรองจากครุกกรรม — habitual kamma)
           11. อาสันนกรรม (กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย คือกรรมทำเมื่อจวนจะตาย จับใจอยู่ใหม่ๆ ถ้าไม่มี 2 ข้อก่อน ก็จะให้ผลก่อนอื่น — death threshold kamma; proximate kamma)
           12. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม (กรรมสักว่าทำ, กรรมที่ทำไว้ด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นโดยตรง ต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผลแล้วกรรมนี้จึงจะให้ผล — reserve kamma; casual act)

       กรรม 12 หรือ กรรมสี่ 3 หมวดนี้ มิได้มีมาในบาลีในรูปเช่นนี้โดยตรง พระอาจารย์สมัยต่อมา เช่น พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นต้น ได้รวบรวมมาจัดเรียงเป็นแบบไว้ภายหลัง.

Vism.601;
Comp.144.
วิสุทธิ. 3/223;
สงฺคห. 28.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 9
[354] กรรมฐาน 40 (ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต, สิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญภาวนา, อุปกรณ์ในการฝึกอบรมจิต — mental exercises; subjects of meditation)
       1. กสิณ 10 ดู [315]
       2. อสุภะ 10 ดู [336]
       3. อนุสติ 10 ดู [335]
       4. อัปปมัญญา 4 ดู [161]
       5. อาหาเร ปฏิกูลสัญญา (กำหนดพิจารณาความเป็นปฏิกูลในอาหาร — perception of the loathsomeness of food)
       6. จตุธาตุววัฏฐาน (กำหนดพิจารณาธาตุ 4, พิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุ 4 แต่ละอย่างๆ; ธาตุมนสิการ ก็เรียก — analysis of the four elements)
       7. อรูป 4 ดู [207]

       กรรมฐานใดให้ได้สมาธิถึงขั้นใด ดู [99] ภาวนา 3; กรรมฐานใดเหมาะกับจริตใด ดู [262] จริต 6.

Vism.110;
Comp.204.
วิสุทธิ. 1/139;
สงฺคห. 51.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=กรรม
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%A1%C3%C3%C1


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]