ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ทาน ”             ผลการค้นหาพบ  6  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 6
[11] ทาน 2 (การให้, การเสียสละ, การบริจาค - gift; giving; charity; liberality)
       1. อามิสทาน (การให้สิ่งของ - material gift; carnal gift)
       2. ธรรมทาน (การให้ธรรม, การให้ความรู้และแนะนำสั่งสอน - gift of Truth; spiritual gift)

       ใน 2 อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ อามิสทานช่วยค้ำจุนชีวิตทำให้เขามีที่พึ่งอาศัย แต่ธรรมทานช่วยให้เขารู้จักพึ่งตนเองได้ต่อไป เมื่อให้อามิสทาน พึงให้ธรรมทานด้วย.

A.I.90. องฺ.ทุก. 20/386/114.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 6
[12] ทาน 2 (การให้ - gift; giving; alms-giving; offering; charity; liberality; generosity; benevolence; donation; benefaction)
       1. ปาฏิบุคลิกทาน (การให้จำเพาะบุคคล, ทานที่ให้เจาะจงตัวบุคคลหรือให้เฉพาะแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง - offering to a particular person; a gift designated to a particular person)
       2. สังฆทาน (การให้แก่สงฆ์, ทานที่ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม หรือให้แก่บุคคล เช่น พระภิกษุหรือภิกษุณีอย่างเป็นกลางๆ ในฐานะเป็นตัวแทนของสงฆ์ โดยอุทิศต่อสงฆ์ ไม่เจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง - offering to the Sangha; a gift dedicated to the Order or to the community of monks as a whole)

       ในบาลีเดิม เรียก ปาฏิบุคลิกทาน ว่า “ปาฏิปุคฺคลิกา ทกฺขิณา” (ขอถวายหรือของให้ที่จำเพาะบุคคล) และเรียกสังฆทาน ว่า “สงฺฆคตา ทกฺขิณา” (ขอถวายหรือของให้ที่ถึงในสงฆ์)
       ในทาน 2 อย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญสังฆทานว่าเป็นเลิศ มีผลมากที่สุด ดังพุทธพจน์ว่า “เราไม่กล่าวว่า ปาฏิบุคลิกทานมีผลมากกว่าของที่ให้แก่สงฆ์ไม่ว่าโดยปริยายใดๆ” และได้ตรัสชักชวนให้ให้สังฆทาน

M.III. 254-6;
A.III. 392
ม.อุ. 14/710-713/459-461;
อ้างใน มงฺคล. 2/16;
องฺ.ฉกฺก. 22/330/439

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 6
[115] สมบัติ หรือ ทานสมบัติ 3 (ความถึงพร้อม, ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์ ซึ่งทำให้ทานที่ได้บริจาคแล้วเป็นทานอันยอดเยี่ยม มีผลมาก — successful attainment; accomplishment; excellence)
       1. เขตสมบัติ (บุญเขตถึงพร้อม คือ ปฏิคาหก หรือผู้รับทาน เป็นผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ประกอบด้วยคุณธรรม — excellence of the field of merit)
       2. ไทยธรรมสมบัติ (ไทยธรรมถึงพร้อม คือ สิ่งที่ให้เป็นของบริสุทธิ์ ได้มาโดยชอบธรรม และเหมาะสมเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ — excellence of the gift)
       3. จิตตสมบัติ (เจตนาถึงพร้อม คือ ให้ด้วยความตั้งใจ คิดจะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้รับแท้จริง มีเจตนาบริสุทธิ์ทั้ง 3 กาล คือ ก่อนให้ใจยินดี ขณะให้จิตผ่องใส ให้แล้วเบิกบานใจ — excellence of motive or intention)

UdA.199. อุ.อ. 251.

[***] สมาธิ 3 ดู [46] สมาธิ 3. [47] สมาธิ 3.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 6
[145] ธรรมสมาทาน 4 (ข้อที่ยึดถือเอาเป็นหลักความประพฤติปฏิบัติ, หลักการที่ประพฤติ, การที่กระทำ, การประกอบกรรม - religious undertakings; undertaken courses of practices)
       1. ธรรมสมาทานที่ให้ทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากต่อไป (เช่น การประพฤติวัตรทรมานตนของพวกอเจลก หรือการประพฤติอกุศลกรรมบถด้วยความยากลำบาก ทั้งมีความเดือดร้อนใจเป็นต้น - the undertaking the gives suffering in the present and results in suffering in the future)
       2. ธรรมสมาทานที่ให้ทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากต่อไป (เช่น ผู้ที่กิเลสมีกำลังแรงกล้า ฝืนใจพยายามประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ หรือผู้ที่ประพฤติกุศลกรรมบถด้วยความยากลำบาก เป็นต้น - the undertaking that gives suffering in the present but results in happiness in the future)
       3. ธรรมสมาทานที่ให้สุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากต่อไป (เช่น การหลงมัวเมาหมกมุ่นอยู่ในกาม หรือการประพฤติอกุศลกรรมบถด้วยความสนุกสนานพอใจ เป็นต้น - the undertaking that gives happiness in the present but results in suffering in the future)
       4. ธรรมสมาทานที่ให้สุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากต่อไป (เช่น ผู้ที่กิเลสมีกำลังน้อย ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยความพอใจ ได้เสวยเนกขัมมสุข หรือ ผู้ที่ประพฤติกุศลกรรมบถ ด้วยความพอใจ ได้เสวยสุขโสมนัส เป็นต้น - the undertaking that gives happiness in the present and results in happiness in the future)

D.III.229;
M.I.305-316.
ที.ปา. 11/251/241;
ม.มู. 12/515-534/556-575.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 6
[214] อุปาทาน 4 (ความยึดมั่น, ความถือมั่นด้วยอำนาจกิเลส, ความยึดติดอันเนื่องมาแต่ตัณหา ผูกพันเอาตัวตนเป็นที่ตั้ง - attachment; clinging; assuming)
       1. กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่ น่าพอใจ - clinging to sensuality)
       2. ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นในทิฏฐิหรือทฤษฎี คือความเห็น ลัทธิ หรือหลักคำสอนต่างๆ - clinging to views)
       3. สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในศีลและพรต คือ หลักความประพฤติ ข้อปฏิบัติ แบบแผน ระเบียบ วิธี ขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิพิธีต่างๆ ถือว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ โดยสักว่ากระทำสืบๆ กันมา หรือปฏิบัติตามๆ กันไปอย่างงมงาย หรือโดยนิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ มิได้เป็นไปด้วยความรู้ความเข้าใจตามหลักความสัมพันธ์แห่งเหตุและผล - clinging to mere rule and ritual)
       4. อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นในวาทะว่าตัวตน คือ ความถือหรือสำคัญหมายอยู่ในภายในว่า มีตัวตน ที่จะได้ จะเป็น จะมี จะสูญสลาย ถูกบีบคั้นทำลายหรือเป็นเจ้าของ เป็นนายบังคับบัญชาสิ่งต่างๆ ได้ ไม่มองเห็นสภาวะของสิ่งทั้งปวงอันรวมทั้งตัวตนว่าเป็นแต่เพียงสิ่งที่ประชุมประกอบกันเข้า เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งหลายที่มาสัมพันธ์กันล้วนๆ - clinging to the ego-belief)

D.III.230;
M.I.66;
Vbh.375.
ที.ปา. 11/262/242;
ม.มู. 12/156/132;
อภิ.วิ. 35/963/506.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 6
[300] สัปปุริสทาน 8 (ทานของสัตบุรุษ, การให้อย่างสัตบุรุษ — gifts of a good man)
       1. สุจึ เทติ (ให้ของสะอาด — to give clean things)
       2. ปณีตํ เทติ (ให้ของประณีต — to give choice things)
       3. กาเลน เทติ (ให้เหมาะกาล ให้ถูกเวลา — to give at fitting times)
       4. กปฺปิยํ เทติ (ให้ของสมควร ให้ของที่ควรแก่เขา ซึ่งเขาจะใช้ได้ — to give proper things)
       5. วิเจยฺย เทติ (พิจารณาเลือกให้ ให้ด้วยวิจารณญาณ เลือกของ เลือกคนที่จะให้ ให้เกิดผลเกิดประโยชน์มาก — to give with discretion)
       6. อภิณฺหํ เทติ (ให้เนืองนิตย์ ให้ประจำ หรือสม่ำเสมอ — to give repeatedly or regularly)
       7. ททํ จิตฺตํ ปสาเทติ (เมื่อให้ ทำจิตผ่องใส — to calm one’s mind on giving)
       8. ทตฺวา อตฺตมโน โหติ (ให้แล้ว เบิกบานใจ — to be glad after giving)

A.IV.243 องฺ.อฏฺฐก. 23/127/248.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ทาน
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%B7%D2%B9


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]