ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
อ่านข้อแรกอ่านข้อก่อนนี้อ่านข้อถัดไปอ่านข้อสุดท้าย
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

[325] บารมี 10 หรือ ทศบารมี (ปฏิปทาอันยวดยิ่ง, คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติอย่างยิ่งยวด คือ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูง เช่น ความเป็นพระพุทธเจ้า และความเป็นมหาสาวก เป็นต้น — perfections)
       1. ทาน (การให้ การเสียสละ — giving; charity; generosity; liberality)
       2. ศีล (การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, ความประพฤติดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย — morality; good conduct)
       3. เนกขัมมะ (การออกบวช, ความปลีกตัวปลีกใจจากกาม — renunciation)
       4. ปัญญา (ความรอบรู้, ความหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง — wisdom; insight; understanding)
       5. วิริยะ (ความเพียร, ความแกล้วกล้า ไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามบากบั่นอุตสาหะ ก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่ — energy; effort; endeavour)
       6. ขันติ (ความอดทน, ความทนทานของจิตใจ สามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประะพฤติ ที่ตั้งไว้เพื่อจุดหมายอันชอบไม่ลุอำนาจกิเลส — forbearance; tolerance; endurance)
       7. สัจจะ (ความจริง คือ พูดจริง ทำจริง และจริงใจ — truthfulness)
       8. อธิษฐาน (ความตั้งใจมั่น, การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นแน่วแน่ — resolution; self-determination)
       9. เมตตา (ความรักใคร่, ความปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่นและเพื่อนร่วมโลกทั้งปวงมีความสุขความเจริญ — loving-kindness; friendliness)
       10. อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง, ความวางใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดียินร้ายชอบชังหรือแรงเย้ายวนยั่วยุใดๆ — equanimity; indifference to praise and blame in the performance of duty)

       ทศบารมีนี้ เรียงตามที่ถือว่าได้บำเพ็ญในทศชาติ (จัดแบบไทย) ดังนี้
       1. พระเตมีย์ — เนกขัมมะ (ข้อที่ 3)
       2. พระมหาชนก — วิริยะ (5)
       3. พระสุวรรณสาม — เมตตา (9)
       4. พระเนมิราช — อธิษฐาน (8)
       5. พระมโหสถ — ปัญญา (4)
       6. พระภูริทัตต์ — ศีล (2)
       7. พระจันทกุมาร — ขันติ (6)
       8. พระนารท — อุเบกขา (10)
       9. พระวิธุร — สัจจะ (7)
       10. พระเวสสันดร — ทาน (1)

       บารมีนั้น ท่านกล่าวว่าจะบำเพ็ญให้บริบูรณ์ ต้องครบ 3 ขั้น คือ
       1. บารมี (ระดับสามัญ เช่น ทานบารมี ได้แก่ ให้ทรัพย์สินเงินทอง สมบัตินอกกาย — ordinary perfections)
       2. อุปบารมี (ระดับรองหรือจวนจะสูงสุด เช่น ทานอุปบารมี ได้แก่ การเสียสละอวัยวะเป็นทาน — superior perfections)
       3. ปรมัตถบารมี (ระดับสูงสุด เช่น ทานปรมัตถบารมี ได้แก่ การสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น — supreme perfections)

       บำเพ็ญทั้ง 10 บารมี ครบ 3 ขั้นนี้ เรียกว่า สมตึสปารมี หรือ สมดึงสบารมี แปลว่า บารมี 30 ถ้วน.

Bv.6 ขุ.พุทฺธ. 33/1/414;
ขุ.จริยา. 33/36/596.

[***] บุญกิริยาวัตถุ 10 ดู [89] บุญกิริยาวัตถุ 10.
[***] ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ 10 ดู [248] ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ 10.
[***] มิจฉัตตะ ดู [334] มิจฉัตตะ 10.
[***] มูลเหตุการบัญญัติพระวินัย 10 ดู [327] วัตถุประสงค์ในการบัญญัติวินัย 10.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=บารมี
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%BA%D2%C3%C1%D5

อ่านข้อแรกอ่านข้อก่อนนี้อ่านข้อถัดไปอ่านข้อสุดท้าย

บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]