ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ มรรค ”             ผลการค้นหาพบ  3  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 3
[164] มรรค 4 (ทางเข้าถึงความเป็นอริยบุคคล, ญาณที่ทำให้ละสังโยชน์ได้ขาด - the path)
       1. โสดาปัตติมรรค (มรรคอันให้ถึงกระแสที่นำไปสู่พระนิพพานทีแรก, มรรคอันให้ถึงความเป็นพระโสดาบัน เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ 3 คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส - the path of stream-entry)
       2. สกทาคามิมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระสกทาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ 3 ข้อต้น กับทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง - the path of once-returning)
       3. อนาคามิมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระอนาคามี เป็นเหตุละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ทั้ง 5 - the path of non-returning)
       4. อรหัตตมรรค (มรรคอันให้ถึงความเป็นพระอรหันต์ เป็นเหตุละสังโยชน์ได้หมดทั้ง 10 - the path of Arahantship).

       ดู [329] สังโยชน์ 10.

Vbh.335. อภิ.วิ. 35/837/453.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 3
[280] บุพนิมิตแห่งมรรค 7 (ธรรมที่เป็นเครื่องหมายบ่งบอกล่วงหน้าว่า มรรคมีองค์ 8 ประการอันประเสริฐจะเกิดขึ้นแก่ผู้นั้น ดุจแสงอรุณเป็นบุพนิมิตของการที่ดวงอาทิตย์จะอุทัย, แสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดี, รุ่งอรุณของการศึกษา - a foregoing sign for the arising of the Noble Eightfold Path; precursor of the Noble Path; harbinger of a good life or of the life of learning)
       1. กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร, มีมิตรดี, คบหาคนที่เป็นแหล่งแห่งปัญญาและแบบอย่างที่ดี - good company; having a good friend; association with a good and wise person)
       2. สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล, การทำศีลให้ถึงพร้อม, ตั้งตนอยู่ในวินัยและมีความประพฤติทั่วไปดีงาม - perfection of morality; accomplishment in discipline and moral conduct)
       3. ฉันทสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยฉันทะ, การทำฉันทะให้ถึงพร้อม, ความใฝ่ใจอยากจะทำกิจหน้าที่และสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวข้องให้ดีงาม, ความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ - perfection of aspiration; accomplishment in constructive desire)
       4. อัตตสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยตนที่ฝึกดีแล้ว, การทำตนให้ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติของผู้ที่พัฒนาแล้วให้สมบูรณ์ ทั้งด้านกาย ศีล จิต และปัญญา [ที่จะเป็น ภาวิตัตต์ คือผู้มีตนอันได้พัฒนาแล้ว] - perfection of oneself; accomplishment in self that has been well trained; dedicating oneself to training for the realization one's full human potential; self-actualization)
       5. ทิฏฐิสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ, การทำทิฏฐิให้ถึงพร้อม, การตั้งอยู่ในหลักความคิดความเชื่อถือที่ถูกต้องดีงามมีเหตุผล เช่น ถือหลักความเป็นไปตามเหตุปัจจัย - perfection of view; accomplishment in view; to be established in good and reasoned principles of thought and belief)
       6. อัปปมาทสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท, การทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม - perfection of heedfulness; accomplishment in diligence)
       7. โยนิโสมนสิการสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยโยนิโสมนสิการ, การทำโยนิโสมนสิการให้ถึงพร้อม, ความฉลาดคิดแยบคายให้เห็นความจริงและหาประโยชน์ได้ - perfection of wise reflection; accomplishment in systematic attention)

       เมื่อใดธรรมที่เป็นบุพนิมิต 7 ประการนี้ แม้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดมีในบุคคลแล้ว เมื่อนั้นย่อมเป็นอันหวังได้ว่าเขาจักเจริญ พัฒนา ทำให้มาก ซึ่งมรรคมีองค์ 8 ประการอันประเสริฐ คือจักดำเนินก้าวไปในมัชฌิมาปฏิปทา

       ดู [34] ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ 2, [293] มรรคมีองค์ 8.

S.V.30-31.
Vbh.277
สํ.ม. 19/130-136/36

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 3
อัฏฐกะ - หมวด 8
Groups of Eight
(including related groups)
[***] ฌาน 8 ดู [10] ฌาน 8.

[293] มรรคมีองค์ 8 หรือ อัฏฐังคิกมรรค (เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า “ทางมีองค์ 8 ประการ อันประเสริฐ” — the noble Eightfold Path); องค์ 8 ของมรรค (มัคคังคะ — factors or constituents of the Path) มีดังนี้
       1. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจจ์ 4 หรือ เห็นไตรลักษณ์ หรือ รู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท — Right View; Right Understanding)
       2. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัป อพยาบาทสังกัป อวิหิงสาสังกัป — Right Thought) ดู [69] กุศลวิตก 3
       3. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต 4 — Right Speech)
       4. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต 3 — Right Action)
       5. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ — Right Livelihood)
       6. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ ได้แก่ ปธาน หรือ สัมมัปปธาน 4 — Right Effort)
       7. สัมมาสติ (ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน 4 — Right Mindfulness)
       8. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน 4 — Right Concentration)

       องค์ 8 ของมรรค จัดเข้าในธรรมขันธ์ 3 ข้อต้น คือ ข้อ 3-4-5 เป็น ศีล ข้อ 6-7-8 เป็น สมาธิ ข้อ 1-2 เป็น ปัญญา ดู [124] สิกขา 3; [204] อริยสัจจ์ 4; และหมวดธรรมที่อ้างถึงทั้งหมด
       มรรคมีองค์ 8 นี้ ได้ชื่อว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง เพราะเป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่จุดหมายแห่งความหลุดพ้นเป็นอิสระ ดับทุกข์ ปลอดปัญหา ไม่ติดข้องในที่สุดทั้งสอง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค ดู [15] ที่สุด 2

D.II.321;
M.I.61;
M,III.251;
Vbh.235.
ที.ม. 10/299/348;
ม.มู. 12/149/123;
ม.อุ. 14/704/453;
อภิ.วิ. 35/569/307.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=มรรค
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%C1%C3%C3%A4


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]