ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ มานะ ”             ผลการค้นหาพบ  10  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 10
[91] ปปัญจะ, ปปัญจธรรม 3 (กิเลสเครื่องเนิ่นช้า, กิเลสที่เป็นตัวการทำให้คิดปรุงแต่งยืดเยื้อพิสดาร ทำให้เขวห่างออกไปจากความเป็นจริงที่ง่ายๆ เปิดเผย ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ และขัดขวางไม่ให้เข้าถึงความจริงหรือทำให้ไม่อาจแก้ปัญหาอย่างถูกทางตรงไปตรงมา — diversification; diffuseness; mental diffusion)
       1. ตัณหา (ความทะยานอยาก, ความปรารถนาที่จะบำรุงบำเรอปรนเปรอตน, ความอยากได้อยากเอา — craving; selfish desire)
       2. ทิฏฐิ (ความคิดเห็น ความเชื่อถือ ลัทธิ ทฤษฎี อุดมการณ์ต่างๆ ที่ยึดถือไว้โดยงมงายหรือโดยอาการเชิดชูว่าอย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเท็จทั้งนั้น เป็นต้น ทำให้ปิดตัวแคบ ไม่ยอมรับฟังใคร ตัดโอกาสที่จะเจริญปัญญา หรือคิดเตลิดไปข้างเดียว ตลอดจนเป็นเหตุแห่งการเบียดเบียนบีบคั้นผู้อื่นที่ไม่ถืออย่างตน, ความยึดติดในทฤษฎี ฯลฯ ถือความคิดเห็นเป็นความจริง — view; dogma; speculation)
       3. มานะ (ความถือตัว, ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ถือสูงถือต่ำ ยิ่งใหญ่เท่าเทียมหรือด้อยกว่าผู้อื่น, ความอยากเด่นอยากยกชูตนให้ยิ่งใหญ่ — conceit)

       ในคัมภีร์วิภังค์ เรียกปปัญจะ 3 นี้เป็น ฉันทะ (คือตัณหา) มานะ ทิฏฐิ

Ndi 280;
Vbh.393;
Nett. 37-38
ขุ.ม. 29/505/337;
อภิ.วิ. 35/1034/530;
เนตฺติ. 56-57

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 10
[248] ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ 10 (ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ — ideas to be constantly reviewed by a monk; facts which the monk should again and contemplate)
       บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า (เติมลงหน้าข้อความทุกข้อ)
       1. เราถึงความมีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว (I have come to a status different from that of a layman.)
๑. ในนวโกวาท มีต่อว่า “อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ”

           ข้อนี้บาลีว่า “เววณฺณิยมฺหิ อชฺฌูปคโต” ในที่นี้แปล เววณฺณิย ว่า ความมีเพศต่าง (จากคฤหัสถ์) แต่หลายท่าน แปลว่า ความปราศจากวรรณะ (casteless state) คือเป็นคนนอกระบบชนชั้น หรือ หมดวรรณะ คือ หมดฐานะในสังคม หรือเป็นคนนอกสังคม (outcast) ความต่าง หรือปราศจาก หรือหมดไปนี้ อรรถกถาอธิบายว่า เป็นไปในสองทาง คือ ทางสรีระ เพราะปลงผมและหนวดแล้ว และทางบริขาร คือเครื่องใช้ เพราะแต่ก่อนครั้งเป็นคฤหัสถ์ เคยใช้ผ้าดีๆ รับประทานอาหารรสเลิศในภาชนะเงินทอง เป็นต้น ครั้งบวชแล้ว ก็นุ่งห่มผ้าย้อมฝาดฉันอาหาร คลุกเคล้าในบาตรเหล็กบาตรดิน ปูหญ้านอนต่างเตียง เป็นต้น
           ส่วนวัตถุประสงค์แห่งการพิจารณาธรรมข้อนี้ อรรถกถาแก้ว่า จะละความกำเริบใจ (ความจู้จี้เง้างอน) และมานะ (ความถือตัว) เสียได้.
       2. การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น (คือต้องอาศัยผู้อื่น — My livelihood is bound up with other.)
๒. ในนวโกวาท มีต่อว่า “เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย”

           วัตถุประสงค์ ตามอรรถกถาแก้ว่า เพื่อให้อิริยาบถเรียบร้อยเหมาะสม มีอาชีวะบริสุทธิ์ เคารพในบิณฑบาต และบริโภคปัจจัยสี่ด้วยใส่ใจพิจารณา
       3. เรามีอากัปกิริยาอย่างอื่นที่จะพึงทำ (I have a different way to behave.)
๓. ในนวโกวาท ทรงเรียงเป็นข้อความใหม่ว่า “อาการกายวาจาอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้” จะเห็นว่า ข้อ 1 กับข้อ 3 ทรงตีความต่างออกไป ถ้าแปลตามนัยอรรถกถา ข้อ 1 จะได้ว่า “เราเป็นผู้หมดวรรณะ คือไม่มีฐานะในสังคมแล้ว จะต้องไม่มีความกระด้างถือตัวใดๆ” ข้อ 3 จะได้ว่า “เราจะต้องมีอาการกิริยาต่างจากคฤหัสถ์ สำรวมให้เหมาะกับความเป็นสมณะ” (องฺ.อ. 3/395)

           อรรถกถาอธิบายว่า เราควรทำอากัปป์ (คือกิริยามารยาท) ที่ต่างจากของคฤหัสถ์ เช่น มีอินทรีย์สงบ ก้าวเดินสม่ำเสมอ เป็นต้น และแสดงวัตถุประสงค์ว่า เพื่อให้มีอิริยาบถเรียบร้อยเหมาะสม บำเพ็ญไตรสิกขาได้บริบูรณ์
       4. ตัวเราเองติเตียนตัวเราเองโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ (Does my not reproach me on my virtue’s account ?)
           ข้อนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดหิริพรั่งพร้อมอยู่ในใจ ช่วยให้มีสังวรทางไตรทวาร
       5. เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว ยังติเตียนเราโดยศีลไม่ได้อยู่หรือไม่ (Do my discerning fellows in the holy life, on considering me, not reproach me on my virtue’s account ?)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ดำรงโอตตัปปะในภายนอกไว้ได้ ช่วยให้มีสังวรทางไตรทวาร
       6. เราจักต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น (There will be division and separation from all that are dear to me and beloved.)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นผู้ไม่ประมาท และเป็นอันได้ตั้งมรณสติไปด้วย
       7. เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น (I am owner of my deed, whatever deed I do, whether good or bad, I shall become heir to it.)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้กระทำความชั่ว
       8. วันคืนล่วงไปๆ เราทำอะไรอยู่ (How has my passing of the nights and days been ?)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความไม่ประมาทให้บริบูรณ์
       9. เรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่ (Do I delight in a solitary place or not?)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำกายวิเวกให้บริบูรณ์
       10. คุณวิเศษยิ่งกว่ามนุษย์สามัญที่เราบรรลุแล้ว มีอยู่หรือไม่ ที่จะให้เราเป็นผู้ไม่เก้อเขิน เมื่อถูกเพื่อนบรรพชิตถาม ในกาลภายหลัง (Have I developed any extraordinary qualities whereon when questioned in my latter days by my fellows in the holy life I shall not be confounded ?)
           ข้อนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้เป็นผู้ตายเปล่า

A.V.87;
Netti. 185.
องฺ.ทสก. 24/48/97;
องฺ.อ. 3/395.

[***] อรหันต์ 5 ดู [62] อรหันต์ 5.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 10
[288] อนุสัย 7 (กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน — latent tendencies)
       1. กามราคะ (ความกำหนัดในกาม, ความอยากได้ติดใจในกาม — lust for sense-pleasure)
       2. ปฏิฆะ (ความขัดใจ, ความหงุดหงิดขัดเคืองคือโทสะ — repulsion; irritation; grudge)
       3. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด, การถือความเห็น เอาความคิดเห็นเป็นความจริง — wrong view; speculative opinion)
       4. วิจิกิจฉา (ความลังเล, ความสงสัย — doubt; uncertainty)
       5. มานะ (ความถือตัว — conceit)
       6. ภวราคะ (ความกำหนัดในภพ, ความอยากเป็น อย่างยิ่งใหญ่ อยากยั่งยืน — lust for becoming)
       7. อวิชชา (ความไม่รู้จริง คือ โมหะ — ignorance)

       อนุสัย 7 นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังโยชน์ 7

D.III.254,.282;
A.IV. 8;
Vbh;383
ที.ปา. 11/337/266;
องฺ.สตฺตก. 23/11/8;
อภิ.วิ. 35/1005/517.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 10
[309] มานะ 9 (ความถือตัว, ความสำคัญตนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ — conceit; pride)
       1. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา (Being superior to others, one thinks, "Better am I.")
       2. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา (Being superior to others, one thinks, "Equal am I.")
       3. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา (Being superior to others, one thinks, "Worse am I.")
       4. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา (Being equal to others, one thinks, "Better am I.")
       5. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา (ฺBeing equal to others, one thinks, "Equal am I.")
       6. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา (Being equal to others, one thinks, "Worse am I.")
       7. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา (Being inferior to others, one thinks, "Better am I.")
       8. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา (Being inferior to others, one thinks, "Equal am I.")
       9. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา (Being inferior to others, one thinks, "Worse am I.")

Ndi 80;
Ndii 226;
Vbh.389.
ขุ.ม. 29/102/94; 829/519;
ขุ.จู. 30/578/283;
อภิ.วิ. 35/1022/527

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 10
[318] กิเลส 10 (สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง — defilements)
       1. โลภะ (ความอยากได้ — greed)
       2. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย — hatred)
       3. โมหะ (ความหลง, ความไม่รู้, ความเขลา — delusion)
       4. มานะ (ความถือตัว — conceit)
       5. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด — wrong view)
       6. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย, ความเคลือบแคลง — doubt; uncertainty)
       7. ถีนะ (ความหดหู่, ความท้อแท้ถดถอย — sloth)
       8. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน — restlessness)
       9. อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อความชั่ว — shamelessness)
       10. อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อความชั่ว — lack of moral dread)

       สิบอย่างนี้ ในบาลีเดิมเรียกว่า กิเลสวัตถุ (สิ่งก่อความเศร้าหมอง) 10

Vbh.391. อภิ.วิ. 35/1026/528.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 10
[329] สังโยชน์ 10 (กิเลสอันผูกใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ หรือผูกกรรมไว้กับผล — fetters; bondage)
       ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 (สังโยชน์เบื้องต่ำ เป็นอย่างหยาบ เป็นไปในภพอันต่ำ — lower fetters)
           1. สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน เช่น เห็นรูป เห็นเวทนา เห็นวิญญาณ เป็นตน เป็นต้น — personality-view of individuality)
           2. วิจิกิจฉา (ความสงสัย, ความลังเล ไม่แน่ใจ — doubt; uncertainty)
           3. สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต โดยสักว่าทำตามๆ กันไปอย่างงมงาย เห็นว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและวัตร — adherence to rules and rituals)
           4. กามราคะ (ความกำหนัดในกาม, ความติดใจในกามคุณ — sensual lust)
           5. ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งในใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง — repulsion; irritation)

       ข. อุทธัมภาคิยสังโยชน์ 5 (สังโยชน์เบื้องสูง เป็นอย่างละเอียด เป็นไปแม้ในภพอันสูง — higher fetters)
           6. รูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน หรือในรูปธรรมอันประณีต, ความปรารถนาในรูปภพ — greed for fine-material existence; attachment to realms of form)
           7. อรูปราคะ (ความติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน หรือในอรูปธรรม, ความปรารถนาในอรูปภพ — greed for immaterial existence; attachment to formless realms)
           8. มานะ (ความสำคัญตน คือ ถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ — conceit; pride)
           9. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน — restlessness; distraction)
           10. อวิชชา (ความไม่รู้จริง, ความหลง — ignorance)

       สังโยชน์ 10 ในหมวดนี้ เป็นแนวพระสูตร หรือ สุตตันตนัย แต่ในบาลีแห่งพระสูตรนั้นๆ มีแปลกจากที่นี้เล็กน้อย คือ ข้อ 4 เป็น กามฉันท์ (ความพอใจในกาม — desire) ข้อ 5 เป็น พยาบาท (ความขัดเคือง, ความคิดร้าย — illwill) ใจความเหมือนกัน

       ลำดับการละสังโยชน์ 10 นี้ ให้ดู [164] มรรค 4.

S.V.61;
A.V.13;
Vbh.377
สํ.ม. 19/349/90;
องฺ.ทสก. 24/13/18;
อภิ.วิ. 35/976-977/509.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 10
[330] สังโยชน์ 10 (ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ — fetters; bondage)
       1. กามราคะ
       2. ปฏิฆะ
       3. มานะ
       4. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด — false views)
       5. วิจิกิจฉา
       6. สีลัพพตปรามาส
       7. ภวราคะ (ความติดใจปรารถนาในภพ — greed for existence)
       8. อิสสา (ความริษยา — envy; jealousy)
       9. มัจฉริยะ (ความตระหนี่ — meanness; stinginess)
       10. อวิชชา

       สังโยชน์ 10 ในหมวดนี้ เป็นแนวพระอภิธรรม หรือ อภิธรรมนัย ได้แสดงความหมายไว้เฉพาะข้อที่ต่างจากหมวดก่อน

Vbh.391. อภิ.วิ. 35/1029/528

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 10
[334] มิจฉัตตะ 10 (ภาวะที่ผิด, ความเป็นสิ่งที่ผิด — wrongness; wrong states)
       1. มิจฉาทิฏฐิ (เห็นผิด ได้แก่ ความเห็นผิดจากคลองธรรมตามหลักกุศลกรรมบถ และความเห็นที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ — wrong view)
       2. มิจฉาสังกัปปะ (ดำริผิด ได้แก่ ความดำริที่เป็นอกุศลทั้งหลาย ตรงข้ามจากสัมมาสังกัปปะ — wrong thought)
       3. มิจฉาวาจา (วาจาผิด ได้แก่ วจีทุจริต 4 — wrong speech)
       4. มิจฉากัมมันตะ (กระทำผิด ได้แก่ กายทุจริต 3 — wrong action)
       5. มิจฉาอาชีวะ (เลี้ยงชีพผิด ได้แก่ เลี้ยงชีวิตในทางทุจริต — wrong livelihood)
       6. มิจฉาวายามะ (พยายามผิด ได้แก่ ความเพียรตรงกันข้ามกับสัมมาวายามะ — wrong effort)
       7. มิจฉาสติ (ระลึกผิด ได้แก่ ความระลึกถึงเรื่องราวที่ล่วงแล้ว เช่น ระลึกถึงการได้ทรัพย์ การได้ยศ เป็นต้น ในทางอกุศล อันจัดเป็นสติเทียม เป็นเหตุชักนำใจให้เกิดกิเลสมีโลภะ มานะ อิสสา มัจฉริยะ เป็นต้น — wrong mindfulness)
       8. มิจฉาสมาธิ (ตั้งจิตผิด ได้แก่ ตั้งจิตเพ่งเล็ง จดจ่อปักใจแน่วแน่ในกามราคะ พยาบาท เป็นต้น หรือเจริญสมาธิแล้ว หลงเพลิน ติดหมกมุ่น ตลอดจนนำไปใช้ผิดทาง ไม่เป็นไปเพื่อญาณทัสสนะ และความหลุดพ้น — wrong concentration)
       9. มิจฉาญาณ (รู้ผิด ได้แก่ ความหลงผิดที่แสดงออกในการคิดอุบายทำความชั่วและในการพิจารณาทบทวนว่า ความชั่วนั้นๆ ตนกระทำได้อย่างดีแล้ว เป็นต้น -- wrong knowledge)
       10. มิจฉาวิมุตติ (พ้นผิด ได้แก่ ยังไม่ถึงวิมุตติ สำคัญว่าถึงวิมุตติ หรือสำคัญผิดในสิ่งที่มิใช่วิมุตติว่าเป็นวิมุตติ — wrong deliverance)

D.III.290;
M.I.42;
A.V.212
ที.ปา. 11/469/337;
ม.มู. 12/104/76;
องฺ.ทสก. 24/103/226;
ม.อ. 1/259;
วิภงฺค.อ. 676.

[***] อกุศลกรรมบถ 10 ดู [321] อกุศลกรรมบถ 10.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 10
[347] อุปกิเลส หรือ จิตตอุปกิเลส 16 (ธรรมเครื่องเศร้าหมอง, สิ่งที่ทำให้จิตขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก ดุจผ้าเปรอะเปื้อนสกปรก ย้อมไม่ได้ดี — mental defilements)
       1. อภิชฌาวิสมโลภะ (คิดเพ่งเล็งอยากได้ โลภไม่สมควร, โลภกล้า จ้องจะเอาไม่เลือกควรไม่ควร — greed and covetousness; covetousness and unrighteous greed)
       2. พยาบาท (คิดร้ายเขา — malevolence; illwill)
       3. โกธะ (ความโกรธ — anger)
       4. อุปนาหะ (ความผูกโกรธ — grudge; spite)
       5. มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน, ความหลู่ความดีของผู้อื่น, การลบล้างปิดซ่อนคุณค่าความดีของผู้อื่น — detraction; depreciation; denigration)
       6. ปลาสะ (ความตีเสมอ, ยกตัวเทียมท่าน, เอาตัวขึ้นตั้งขวางไว้ ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน — domineering; rivalry; envious rivalry)
       7. อิสสา (ความริษยา — envy; jealousy)
       8. มัจฉริยะ (ความตระหนี่ — stinginess; meanness)
       9. มายา (มารยา — deceit)
       10. สาเถยยะ (ความโอ้อวดหลอกเขา, หลอกด้วยคำโอ้อวด — hypocrisy)
       11. ถัมภะ (ความหัวดื้อ, กระด้าง — obstinacy; rigidity)
       12. สารัมภะ (ความแข่งดี, ไม่ยอมลดละ มุ่งแต่จะเอาชนะกัน — presumption; competing contention; contentiousness; contentious rivalry; vying; strife)
       13. มานะ (ความถือตัว, ทะนงตน — conceit)
       14. อติมานะ (ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา, ดูหมิ่นเขา — excessive conceit; contempt)
       15. มทะ (ความมัวเมา — vanity)
       16. ปมาทะ (ความประมาท, ละเลย, เลินเล่อ — heedlessness; negligence; indolence)

       ข้อ 2 มีต่างออกไป คือ ในธัมมทายาทสูตร เป็น โทสะ (ความคิดประทุษร้ายเขา — hatred) (ม.มู. 12/26/26)

M.I.36 ม.มู. 12/93/65.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 10
[355] เจตสิก 52 (ธรรมที่ประกอบกับจิต, สภาวธรรมที่เกิดดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์และวัตถุที่อาศัยเดียวกันกับจิต, อาการและคุณสมบัติต่างๆ ของจิต - mental factors; mental concomitants)
       ก. อัญญาสมานาเจตสิก 13 (เจตสิกที่มีเสมอกันแก่จิตพวกอื่น คือ ประกอบเข้าได้กับจิตทุกฝ่ายทั้งกุศลและอกุศล มิใช่เข้าได้แต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพวกเดียว - the Common-to-Each-Other; general mental factors)
           1) สัพพจิตตสาธารณเจตสิก 7 (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตทุกดวง - universal mental factors; the Primary)
               1. ผัสสะ (ความกระทบอารมณ์ - contact; sense-impression)
               2. เวทนา (ความเสวยอารมณ์ - feeling)
               3. สัญญา (ความหมายรู้อารมณ์ - perception)
               4. เจตนา (ความจงใจต่ออารมณ์ - volition)
               5. เอกัคคตา (ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว - one-pointedness; concentration)
               6. ชีวิตินทรีย์ (อินทรีย์คือชีวิต, สภาวะที่เป็นใหญ่ในการรักษานามธรรมทั้งปวง - vitality; life-faculty)
               7. มนสิการ (ความกระทำอารมณ์ไว้ในใจ, ใส่ใจ - attention)

           2) ปกิณณกเจตสิก 6 (เจตสิกที่เรี่ยรายแพร่กระจายทั่วไป คือ เกิดกับจิตได้ทั้งฝ่ายกุศล และอกุศล แต่ไม่แน่นอนเสมอไปทุกดวง - particular mental factors; the Secondary)
               8. วิตก (ความตรึกอารมณ์ - initial application; thought conception; applied thought)
               9. วิจาร (ความตรองหรือพิจารณาอารมณ์ - sustained application; discursive thinking; sustained thought)
               10. อธิโมกข์ (ความปลงใจหรือปักใจในอารมณ์ - determination; resolution)
               11. วิริยะ (ความเพียร - effort; energy)
               12. ปีติ (ความปลาบปลื้มในอารมณ์, อิ่มใจ - joy; interest)
               13. ฉันทะ (ความพอใจในอารมณ์ - conation; zeal)

       ข. อกุศลเจตสิก 14 (เจตสิกฝ่ายอกุศล - immoral or unwholesome mental factors; unprofitable mental factors)
           1) สัพพากุสลสาธารณเจตสิก 4 (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับอกุศลจิตทุกดวง - universal immorals; the Primary)
               14. โมหะ (ความหลง - delusion)
               15. อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป - shamelessness; lack of moral shame)
               16. อโนตตัปปะ (ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาป - fearlessness; lack of moral dread)
               17. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน - restlessness; unrest)

           2) ปกิณณกอกุศลเจตสิก 10 (อกุศลเจตสิกที่เกิดเรี่ยรายแก่อกุศลจิต - particular immorals; the Secondary)
               18. โลภะ (ความอยากได้อารมณ์ - greed)
               19. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด - wrong view)
               20. มานะ (ความถือตัว - conceit)
               21. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย - hatred)
               22. อิสสา (ความริษยา - envy; jealousy)
               23. มัจฉริยะ (ความตระหนี่ - stinginess; meanness)
               24. กุกกุจจะ (ความเดือดร้อนใจ - worry; remorse)
               25. ถีนะ (ความหดหู่ - sloth)
               26. มิทธะ (ความง่วงเหงา - torpor)
               27. วิจิกิจฉา (ความคลางแคลงสงสัย - doubt; uncertainty; scepsis)

       ค. โสภณเจตสิก 25 (เจตสิกฝ่ายดีงาม - beautiful mental factors; lofty mental factors)
           1) โสภณสาธารณเจตสิก 19 (เจตสิกที่เกิดทั่วไปกับจิตดีงามทุกดวง - universal beautiful mental factors; the Primary)
               28. สัทธา (ความเชื่อ - confidence; faith)
               29. สติ (ความระลึกได้, ความสำนึกพร้อมอยู่ - mindfulness)
               30. หิริ (ความละอายต่อบาป - moral shame; conscience)
               31. โอตตัปปะ (ความสะดุ้งกลัวต่อบาป - moral dread)
               32. อโลภะ (ความไม่อยากได้อารมณ์ - non-greed)
               33. อโทสะ (ความไม่คิดประทุษร้าย - non-hatred)
               34. ตัตรมัชฌัตตตา (ความเป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ - equanimity; specific neutrality)
               35. กายปัสสัทธิ (ความสงบแห่งกองเจตสิก - tranquillity of mental body)
               36. จิตตปัสสัทธิ (ความสงบแห่งจิต - tranquillity of mind)
               37. กายลหุตา (ความเบาแห่งกองเจตสิก - lightness of mental body; agility of ~)
               38. จิตตลหุตา (ความเบาแห่งจิต - lightness of mind; agility of ~)
               39. กายมุทุตา (ความอ่อนหรือนุ่มนวลแห่งกองเจตสิก - pliancy of mental body; elasticity of ~)
               40. จิตตมุทุตา (ความอ่อนหรือนุ่มนวลแห่งจิต - pliancy of mind; elasticity of ~)
               41. กายกัมมัญญตา (ความควรแก่การงานแห่งกองเจตสิก - adaptability of mind; wieldiness of ~)
               42. จิตตกัมมัญญตา (ความควรแก่การงานแห่งจิต - adaptability of mind; wieldiness of ~)
               43. กายปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งกองเจตสิก - proficiency of mental body)
               44. จิตตปาคุญญตา (ความคล่องแคล่วแห่งจิต - proficiency of mind)
               45. กายุชุกตา (ความซื่อตรงแห่งกองเจตสิก - rectitude of mental body; uprightness of ~)
               46. จิตตุชุกตา (ความซื่อตรงแห่งจิต - rectitude of mind; uprightness of ~)

           2) วิรตีเจตสิก 3 (เจตสิกที่เป็นตัวความงดเว้น - abstinences)
               47. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ - right speech)
               48. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ - right action)
               49. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ - right livelihood)

           3) อัปปมัญญาเจตสิก 2 (เจตสิกคืออัปปมัญญา - boundless states)
               50. กรุณา (ความสงสารสัตว์ผู้ถึงทุกข์ - compassion)
               51. มุทิตา (ความยินดีต่อสัตว์ผู้ได้สุข - sympathetic joy)

           4) ปัญญินทรีย์เจตสิก 1 (เจตสิกคือปัญญินทรีย์ - faculty of wisdom)
               52. ปัญญินทรีย์ หรือ อโมหะ (ความรู้เข้าใจ ไม่หลง - undeludedness; wisdom)

Comp. 94 สงฺคห. 7.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=มานะ&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%C1%D2%B9%D0&detail=on


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]