ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ศีล ”             ผลการค้นหาพบ  5  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 5
[160] ปาริสุทธิศีล 4 (ศีลคือความบริสุทธิ์, ศีลเครื่องให้บริสุทธิ์, ความประพฤติบริสุทธิ์ที่จัดเป็นศีล - morality consisting in purity; morality for purification; morality of pure conduct)
       1. ปาฏิโมกขสังวรศีล (ศีลคือความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นจากข้อห้าม ทำตามข้ออนุญาต ประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย - restraint in accordance with the monastic disciplinary code)
       2. อินทรียสังวรศีล (ศีลคือความสำรวมอินทรีย์ ระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรมครอบงำเมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง 6 - restraint of the senses; sense-control)
       3. อาชีวปาริสุทธิศีล (ศีลคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ไม่ประกอบอเนสนา มีหลอกลวงเขาเลี้ยงชีพเป็นต้น - purity of conduct as regards livelihood)
       4. ปัจจัยสันนิสิตศีล (ศีลที่เกี่ยวกับปัจจัย 4 ได้แก่ ปัจจัยปัจจเวกขณ์ คือ พิจารณาใช้สอยปัจจัยสี่ ให้เป็นไปตามความหมายและประโยชน์ของสิ่งนั้น ไม่บริโภคด้วยตัณหา - pure conduct as regards the necessaries of life)

Vism.16;
Comp.212
วิสุทฺธิ. 1/19;
สงฺคห. 55.

[***] ผล 4 ดู [165] ผล 4.
[***] พร 4 ดู [227] พร 5.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 5
[238] ศีล 5 หรือ เบญจศีล (ความประพฤติชอบทางกายและวาจา, การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว, การควบคุมตนให้ตั้งอยู่ในความไม่เบียดเบียน — the Five Precepts; rules of morality)
       1. ปาณาติปาตา เวรมณี (เว้นจากการปลงชีวิต, เว้นจากการฆ่าการประทุษร้ายกัน — to abstain from killing)
       2. อทินฺนาทานา เวรมณี (เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้, เว้นจากการลักโกง ละเมิดกรรมสิทธิ์ ทำลายทรัพย์สิน — to abstain from stealing)
       3. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี (เว้นจากการประพฤติผิดในกาม, เว้นจากการล่วงละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน — to abstain from sexual misconduct)
       4. มุสาวาทา เวรมณี (เว้นจากการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง — to abstain from false speech)
       5. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี (เว้นจากน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท, เว้นจากสิ่งเสพติดให้โทษ — to abstain from intoxicants causing heedlessness)

       ศีล 5 ข้อนี้ ในบาลีชั้นเดิมส่วนมากเรียกว่า สิกขาบท 5 (ข้อปฏิบัติในการฝึกตน — training rules) บ้าง ธรรม 5 บ้าง เมื่อปฏิบัติได้ตามนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล คือเป็นเบื้องต้นที่จัดว่าเป็นผู้มีศีล (virtuous) คำว่า เบญจศีล ที่มาในพระไตรปิฎก ปรากฏในคัมภีร์ชั้นอปทาน และพุทธวงส์ ต่อมาในสมัยหลัง มีชื่อเรียกเพิ่มขึ้นว่าเป็น นิจศีล (ศีลที่คฤหัสถ์ควรรักษาเป็นประจำ — virtues to be observed uninterruptedly) บ้าง ว่าเป็น มนุษยธรรม (ธรรมของมนุษย์หรือธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ — virtues of man) บ้าง

       ดู คำสมาทาน ใน Appendix

D.III.235;
A.III.203,275;
Vbh.285.
ที.ปา. 11/286/247;
องฺ.ปญฺจก. 22/172/227; 264/307;
อภิ.วิ. 35/77/388

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 5
[240] ศีล 8 หรือ อัฏฐศีล (การรักษาระเบียบทางกายวาจา, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ยิ่งขึ้นไป - the Eight Precepts; training rules)
       1. ปาณาติปาตา เวรมณี (เว้นจากการทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป - to abstain from taking life)
       2. อทินฺนาทานา เวรมณี (เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย - to abstain from taking what is not given)
       3. อพฺรหฺมจริยา เวรมณี (เว้นจากกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์, เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือร่วมประเวณี - to abstain from unchastity)
       4. มุสาวาทา เวรมณี (เว้นจากการพูดเท็จ - to abstain from false speech)
       5. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี (เว้นจากน้ำเมา คือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท - to abstain from intoxicants causing heedlessness)
       6. วิกาลโภชนา เวรมณี (เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือตั้งแต่เที่ยงแล้วไป จนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ - to abstain from untimely eating)
       7. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนมาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี (เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง - to abstain from dancing, singing, music and unseemly shows, from wearing garlands, smartening with scents, and embellishment with unguents)
       8. อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี (เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่หรูหราฟุ่มเฟือย - to abstain from the use of high and large luxurious couches)

       คำสมาทาน ให้เติม สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ ต่อท้ายทุกข้อ แปลเพิ่มว่า “ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือเจตนางดเว้นจาก ... หรือ ข้าพเจ้าขอถือข้อปฏิบัติในการฝึกฝนตนเพื่องดเว้นจาก ...”
       ศีล 8 นี้ สมาทานรักษาพิเศษในวันอุโบสถ เรียกว่า อุโบสถ (the Observances) หรือ อุโบสถศีล (precepts to be observed on the Observance Day)

A.IV.248. องฺ.อฏฺฐก. 23/131/253

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 5
[241] ศีล 8 ทั้งอาชีวะ หรือ อาชีวัฏฐมกศีล (ศีลมีอาชีวะเป็นคำรบ 8, หลักความประพฤติรวมทั้งอาชีวะที่บริสุทธิ์ด้วยเป็นข้อที่ 8 - virtue having livelihood as eight; the set of eight precepts of which pure livelihood is the eighth)
       1. - 7. ตรงกับ กุศลกรรมบถ 7 ข้อต้น (กายกรรม 3 วจีกรรม 4)
       8. สัมมาอาชีวะ

       อาชีวัฏฐมกศีลนี้ เป็นศีลส่วนอาทิพรหมจรรย์ คือ เป็นหลักความประพฤติเบื้องต้นของพรหมจรรย์ กล่าวคือ มรรค เป็นสิ่งที่ต้องประพฤติให้บริสุทธิ์ในขั้นต้นของการดำเนินตามอริยอัฏฐังคิกมรรค
       ว่าโดยสาระ อาชีวัฏฐมกศีล ก็คือ องค์มรรค 3 ข้อ ในหมวดศีล คือข้อที่ 3, 4, 5 ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ นั่นเอง

       ดู [293] มรรคมีองค์ 8; [319] กุศลกรรมบถ 10; [320] กุศลกรรมบถ 10

Vism.11. วิสุทธิ. 1/13

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 5
[242] ศีล 10 หรือ ทศศีล (การรักษาระเบียบทางกายวาจา, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ยิ่งขั้นไป - the Ten Precepts; training rules)
       6 ข้อแรกเหมือนกับในศีล 8; ข้อที่ 7 แยกเป็น 2 ข้อ ดังนี้
       7. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา เวรมณี (เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ - to abstain from dancing, singing, music and unseemly shows)
       8. มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี (เว้นจากการทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ซึ้งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง - to abstain from wearing garlands, smartening with scents, and embellishment with unguents)
       เลื่อนข้อ 8 ในศีล 8 เป็นข้อ 9 และเติมข้อ 10 ดังนี้
       10. ชาตรูปรชตปฏิคฺคหณา เวรมณี (เว้นจากการรับทองและเงิน - to abstain from accepting gold and silver)

       สิกขาบท 10 นี้ เป็นศีลที่สามเณรและสามเณรีรักษาประจำ หรืออุบาสกอุบาสิกาผู้มีอุสาหะจะรักษาก็ได้

Kh.I.1.ขุ.ขุ. 25/2/1

[***] สกทาคามี 5 ดู [59] สกทาคามี 3,5.
[***] สมบัติของอุบาสก 5 ดู [259] อุบาสกธรรม 5.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ศีล
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%C8%D5%C5


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]