ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ สัจจานุโลมิกญาณ ”             ผลการค้นหาพบ  2  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 2
[285] วิสุทธิ 7 (ความหมดจด, ความบริสุทธิ์ที่สูงขึ้นไปเป็นขั้นๆ, ธรรมที่ชำระสัตว์ให้บริสุทธิ์ ยังไตรสิกขาให้บริบูรณ์เป็นขั้นๆ ไปโดยลำดับ จนบรรลุจุดมุ่งหมายคือนิพพาน — purity; stages of purity; gradual purification)
       1. สีลวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งศีล คือ รักษาศีลตามภูมิขั้นของตนให้บริสุทธิ์ และให้เป็นไปเพื่อสมาธิ — purity of morality) วิสุทธิมรรคว่าได้แก่ ปาริสุทธิศีล 4 [160]
       2. จิตตวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งจิต คือ ฝึกอบรมจิตจนบังเกิดสมาธิพอเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา — purity of mind) วิสุทธิมรรคว่า ได้แก่ สมาบัติ 8 พร้อมทั้งอุปจาร
       3. ทิฏฐิวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งทิฏฐิ คือ ความรู้เข้าใจมองเห็นนามรูปตามสภาวะเป็นจริง เป็นเหตุข่มความเข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลเสียได้ เริ่มดำรงในภูมิแห่งความไม่หลงผิด — purity of view; purity of understanding) จัดเป็นขั้นกำหนดทุกขสัจจ์
       4. กังขาวิตรณวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณเป็นเหตุข้ามพ้นความสงสัย, ความบริสุทธิ์ขั้นที่ทำให้กำจัดความสงสัยได้ คือ กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูปได้แล้วจึงสิ้นสงสัยในกาลทั้ง 3 — purity of transcending doubts) ข้อนี้ตรงกับ ธรรมฐิติญาณ หรือ ยถาภูตญาณ หรือ สัมมาทัสสนะ จัดเป็นขั้นกำหนดสมุทัยสัจจ์
       5. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณที่รู้เห็นว่าเป็นทางหรือมิใช่ทาง คือ เริ่มเจริญวิปัสสนาต่อไปด้วยพิจารณากลาป จนมองเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลาย อันเรียกว่าอุทยัพยานุปัสสนา เป็นตรุณวิปัสสนา คือวิปัสสนาญาณอ่อนๆ แล้วมีวิปัสสนูปกิเลส เกิดขึ้น กำหนดได้ว่าอุปกิเลสทั้ง 10 แห่งวิปัสสนานั้นมิใช่ทาง ส่วนวิปัสสนาที่เริ่มดำเนินเข้าสู่วิถีนั่นแลเป็นทางถูกต้อง เตรียมที่จะประคองจิตไว้ในวิถีคือ วิปัสสนาญาณนั้นต่อไป — purity of the knowledge and vision regarding path and not-path) ข้อนี้จัดเป็นขั้นกำหนดมัคคสัจจ์
       6. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน คือ ประกอบความเพียรในวิปัสสนาญาณทั้งหลายเริ่มแต่อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ที่พ้นจากอุปกิเลสดำเนินเข้าสู่วิถีทางแล้วนั้น เป็นต้นไป จนถึงสัจจานุโลมิกญาณหรืออนุโลมญาณ อันเป็นที่สุดแห่งวิปัสสนา ต่อแต่นี้ก็จะเกิดโคตรภูญาณ คั่นระหว่างวิสุทธิข้อนี้กับข้อสุดท้าย เป็นหัวต่อแห่งความเป็นปุถุชนกับความเป็นอริยบุคคล โดยสรุป วิสุทธิข้อนี้ ก็คือ วิปัสสนาญาณ 9 — purity of the knowledge and vision of the way of progress)
       7. ญาณทัสสนวิสุทธิ (ความหมดจดแห่งญาณทัสสนะ คือ ความรู้ในอริยมรรค 4 หรือ มรรคญาณ อันเกิดถัดจากโคตรภูญาณเป็นต้นไป เมื่อมรรคเกิดแล้วผลจิตแต่ละอย่างย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไปจากมรรคญาณนั้นๆ ความเป็นอริยบุคคลย่อมเกิดขึ้นโดยวิสุทธิข้อนี้ เป็นอันบรรลุผลที่หมายสูงสุดแห่งวิสุทธิ หรือไตรสิกขา หรือการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น — purity of knowledge and vision)

       วิสุทธิ 7 เป็นปัจจัยส่งต่อกันขึ้นไปเพื่อบรรลุนิพพาน ดุจรถ 7 ผลัดส่งต่อกันให้บุคคลถึงที่หมาย โดยนัยดังแสดงแล้ว

       ดู [328] วิปัสสนูปกิเลส 10; [311] วิปัสสนาญาณ 9

M.I.149;
Vism.1-710.
ม.มู. 12/298/295;
คัมภีร์วิสุทธิมรรคทั้งหมด.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 2
[311] วิปัสสนาญาณ 9 (ญาณในวิปัสสนา, ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนาหรือที่จัดเป็นวิปัสสนา คือ เป็นความรู้ที่ทำให้เกิดความเห็นแจ้ง เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง — insight-knowledge)
       1. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ คือ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งเบญจขันธ์ จนเห็นชัดว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ครั้นแล้วก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งหมด — knowledge of contemplation on rise and fall)
       2. ภังคานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับเช่นนั้นแล้ว คำนึงเด่นชัดในส่วนความดับอันเป็นจุดจบสิ้น ก็เห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปทั้งหมด — knowledge of contemplation on dissolution)
       3. ภยตูปัฏฐานญาณ (ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว คือ เมื่อพิจารณาเห็นความแตกสลายอันมีทั่วไปแก่ทุกสิ่งทุกอย่างเช่นนั้นแล้ว สังขารทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นไปในภพใดคติใด ก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไป ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น -- knowledge of the appearance as terror)
       4. อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงซึ่งล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัวไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่อง จะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์ — knowledge of contemplation on disadvantages)
       5. นิพพิทานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดความหน่าย ไม่เพลิดเพลินติดใจ — knowledge of contemplation on dispassion)
       6. มุญจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น — knowledge of the desire for deliverance)
       7. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป — knowledge of reflective contemplation)
       8. สังขารุเปกขาญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขารต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามความเป็นจริง ว่า มีความเป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลางได้ ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นมองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงแล่นมุ่งไปยังนิพพาน เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารเสียได้ — knowledge of equanimity regarding all formations)
       9. สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณแล่นมุ่งตรงไปสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ ต่อจากนั้นก็จะเกิดโคตรภูญาณมาคั่นกลาง แล้วเกิดมรรคญาณให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป — conformity-knowledge; adaptation-knowledge)

       ธรรมหมวดนี้ ท่านปรุงศัพท์ขึ้น โดยถือตามนัยแห่งคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค นำมาอธิบายพิสดารในวิสุทธิมรรค แต่ในอภิธัมมัตถสังคหะ ท่านเติม สัมมสนญาณ (ญาณที่กำหนดพิจารณานามรูป คือ ขันธ์ 5 ตามแนวไตรลักษณ์ — Comprehension-knowledge) เข้ามาเป็นข้อที่ 1 จึงรวมเป็น วิปัสสนาญาณ 10 และเรียกชื่อญาณข้ออื่นๆ สั้นกว่านี้ คือ เรียก อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ

       ดู [285] วิสุทธิ 7; [345] ญาณ 16

Ps.I.I;
Vism.630-671;
Comp.210.
ขุ.ปฏิ. 31/1/1;
วิสุทธิ. 3/262-319;
สงฺคห. 55.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สัจจานุโลมิกญาณ&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%CA%D1%A8%A8%D2%B9%D8%E2%C5%C1%D4%A1%AD%D2%B3&detail=on


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]