ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ สัปปุริสธรรม ”             ผลการค้นหาพบ  2  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 2
[287] สัปปุริสธรรม 7 (ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ, คุณสมบัติของคนดี, ธรรมของผู้ดี — qualities of a good man; virtues of a gentleman)
       1. ธัมมัญญุตา (ความรู้จักธรรม รู้หลัก หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล เช่น ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าหลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ๆ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการอันนั้นๆ เป็นต้น — knowing the law; knowing the cause)
       2. อัตถัญญุตา (ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้างดังนี้เป็นต้น — knowing the meaning; knowing the purpose; knowing the consequence)
       3. อัตตัญญุตา (ความรู้จักตน คือ รู้ว่า เรานั้น ว่าโดยฐานะ ภาวะ เพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น บัดนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป — knowing oneself)
       4. มัตตัญญุตา (ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ พระมหากษัตริย์รู้จักประมาณในการลงทัณฑอาชญาและในการเก็บภาษี เป็นต้น — moderation; knowing how to be temperate)
       5. กาลัญญุตา (ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น — knowing the proper time; knowing how to choose and keep time)
       6. ปริสัญญุตา (ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น — knowing the assembly; knowing the society)
       7. ปุคคลัญญุตา หรือ ปุคคลปโรปรัญญุตา (ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า โดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม เป็นต้น ใครๆ ยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้จะตำหนิ ยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น — knowing the individual; knowing the different individuals)

       ภิกษุผู้ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม 7 ข้อนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ประกอบด้วยสังฆคุณครบ 9 แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิ ก็ทรงประกอบด้วยธรรมเหล่านี้ (ท่านแสดงไว้เฉพาะข้อหลัก 5 ข้อ คือ ข้อ 1-2-4-5-6 องฺ.ปญฺจก. 22/131/166 A.III.148) จึงทรงยังธรรมจักรและอาณาจักรให้เป็นไปด้วยดี.

D.III.252, 283;
A.IV.113
ที.ปา. 11/331/264; 439/312;
องฺ.สตฺตก. 23/65/114

[***] สัปปุริสธรรม 7 ดู [301] สัปปุริสธรรม 8.
[***] สมบัติของอุบาสก 7 ดู [260] อุบาสกธรรม 7.
[***] องค์คุณของกัลยาณมิตร 7 ดู [278] กัลยาณมิตรธรรม 7.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 2
[301] สัปปุริสธรรม 8 (ธรรมของสัตบุรุษ, ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ, คุณสมบัติของคนดี — qualities of a good man)
       1. สัทธัมมสมันนาคโต (ประกอบด้วยสัทธรรม 7 ประการ — to be endowed with the seven virtues) คือ
           ก. มีศรัทธา — to have confidence
           ข. มีหิริ — to have moral shame
           ค. มีโอตตัปปะ — to have moral fear
           ง. เป็นพหูสูต — to be much learned
           จ. มีความเพียรอันปรารภแล้ว — to be of stirred up energy
           ฉ. มีสติมั่นคง — to have established mindfulness
           ช. มีปัญญา — to have wisdom
       2. สัปปุริสภัตตี (ภักดีสัตบุรุษ คือ คบหาสมณพราหมณ์ ท่านผู้ประกอบด้วยสัทธรรม 7 ประการข้างต้น เป็นมิตรสหาย — to consort with good men)
       3. สัปปุริสจินตี (คิดอย่างสัตบุรุษ คือ จะคิดสิ่งใด ก็ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น — to think as do good men)
       4. สัปปุริสมันตี (ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ คือ จะปรึกษาการใด ก็ไม่ปรึกษาเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น — to consult as do good men)
       5. สัปปุริสวาโจ (พูดอย่างสัตบุรุษ คือ พูดแต่คำที่ถูกต้องตามวจีสุจริต 4 — to speak as do good men)
       6. สัปปุริสกัมมันโต (ทำอย่างสัตบุรุษ คือ ทำการที่ถูกต้องตามกายสุจริต 4 — to act as do good men)
       7. สัปปุริสทิฏฐิ (มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ คือ มีสัมมาทิฏฐิ เช่นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น — to have the views of good men)
       8. สัปปุริสทานัง เทติ (ให้ทานอย่างสัตบุรุษ คือ ให้ตามหลักสัปปุริสทาน เช่น ให้โดยเอื้อเฟื้อทั้งแต่ของที่ตัวให้ทั้งแก่ผู้รับทาน ให้ของบริสุทธิ์ ให้โดยเข้าใจถึงผลที่จะมีตามมา เป็นต้น — to give a gift as do good men)

       บางทีเรียกว่า สัปปุริสธรรม 7 เพราะนับเฉพาะสัทธรรม 7 ในข้อ 1

M.III.23. ม.อุ. 14/143/112

[***] หลักตัดสินธรรมวินัย 8 ดู [294] ลักษณะตัดสินธรรมวินัย 8.
[***] อริยบุคคล 8 ดู [57] อริยบุคคล 8.
[***] อริยอัฏฐังคิกมรรค ดู [293] มรรคมีองค์ 8.
[***] อวิชชา 8 ดู [209] อวิชชา 8.
[***] อาชีวัฏฐมกศีล ดู [241] ศีล 8 ทั้งอาชีวะ.
[***] อุโบสถศีล ดู [240] ศีล 8.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=สัปปุริสธรรม
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%CA%D1%BB%BB%D8%C3%D4%CA%B8%C3%C3%C1


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]