ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ เจโตวิมุตติ ”             ผลการค้นหาพบ  5  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 5
[43] วิมุตติ 2 (ความหลุดพ้น : deliverance; liberation; freedom)
       1. เจโตวิมุตติ (ความหลุดพ้นแห่งจิต, ความหลุดพ้นด้วยอำนาจการฝึกจิต, ความหลุดพ้นแห่งจิตจากราคะ ด้วยกำลังแห่งสมาธิ : deliverance of mind; liberation by concentration)
       2. ปัญญาวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยปัญญา, ความหลุดพ้นด้วยอำนาจการเจริญปัญญา, ความหลุดพ้นแห่งจิตจากอวิชชา ด้วยปัญญาที่รู้เห็นตามเป็นจริง : deliverance through insight; liberation through wisdom)

A.I.60 องฺ.ทุก. 20/276/78

[**] เวทนา 2 ดู [110] เวทนา 2

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 5
[62] อรหันต์ 4, 5, 60 (an Arahant; arahant; Worthy One)
       1. สุกฺขวิปสฺสโก (ผู้เจริญวิปัสสนาล้วน — bare-insight-worker)
       2. เตวิชฺโช (ผู้ได้วิชชา 3 — one with the Threefold Knowledge)
       3. ฉฬภิญฺโญ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one with the Sixfold Superknowledge)
       4. ปฏิสมฺภิทปฺปตฺโต (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา — one having attained the Analytic Insights)

       พระอรหันต์ทั้ง 4 ในหมวดนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงประมวลแสดงไว้ในหนังสือธรรมวิภาคปริจเฉทที่ 2 หน้า 41 พึงทราบคำอธิบายตามที่มาเฉพาะของคำนั้นๆ

       แต่คัมภีร์ทั้งหลายนิยมจำแนกเป็น 2 อย่าง เหมือนในหมวดก่อนบ้าง เป็น 5 อย่างบ้าง ที่เป็น 5 คือ
       1. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา — one liberated by wisdom)
       2. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ได้ทั้งเจโตวิมุตติ ขั้นอรูปสมาบัติก่อนแล้วได้ปัญญาวิมุตติ — one liberated in both ways)
       3. เตวิชชะ (ผู้ได้วิชชา 3 — one possessing the Threefold Knowledge)
       4. ฉฬภิญญะ (ผู้ได้อภิญญา 6 — one possessing the Sixfold Superknowledge)
       5. ปฏิสัมภิทัปปัตตะ (ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา 4 — one having gained the Four Analytic Insights)

       ทั้งหมดนี้ ย่อลงแล้วเป็น 2 คือ พระปัญญาวิมุต กับพระอุภโตภาควิมุตเท่านั้น พระสุกขวิปัสสกที่กล่าวข้างต้น เป็น พระปัญญาวิมุต ประเภทหนึ่ง (ในจำนวน 5 ประเภท) พระเตวิชชะ กับพระฉฬภิญญะ เป็น อุภโตภาควิมุต ทั้งนั้น แต่ท่านแยกพระอุภโตภาควิมุตไว้เป็นข้อหนึ่งต่างหาก เพราะพระอุภโตภาควิมุตที่ไม่ได้โลกียวิชชาและโลกียอภิญญา ก็มี ส่วนพระปฏิสัมภิทัปปัตตะ ได้ความแตกฉานทั้งสี่ด้วยปัจจัยทั้งหลาย คือ การเล่าเรียน สดับ สอบค้น ประกอบความเพียรไว้เก่าและการบรรลุอรหัต.
       พระอรหันต์ทั้ง 5 นั้น แต่ละประเภท จำแนกโดยวิโมกข์ 3 รวมเป็น 15 จำแนกออกไปอีกโดยปฏิปทา 4 จึงรวมเป็น 60 ความละเอียดในข้อนี้จะไม่แสดงไว้ เพราะจะทำให้ฟั่นเฝือ ผู้ต้องการทราบยิ่งขึ้นไป พึงดูในหนังสือนี้ฉบับใหญ่

       ดู [61] อรหันต์ 2; [106] วิชชา 3; [155] ปฏิสัมภิทา 4; [274] อภิญญา 6.

Vism. 710. วิสุทธิ. 3/373;
วิสุทธิ.ฏีกา 3/657.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 5
[63] อริยบุคคล 7 (บุคคลผู้ประเสริฐ — noble individuals) เรียงจากสูงลงมา
       1. อุภโตภาควิมุต (ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน คือ ท่านที่ได้สัมผัสวิโมกข์ 8 ด้วยกาย และสิ้นอาสวะแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอรหันต์ผู้ได้เจโตวิมุตติขั้นอรูปสมบัติมาก่อนที่จะได้ปัญญาวิมุตติ — one liberated in both ways)
       2. ปัญญาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา คือ ท่านที่มิได้สัมผัสวิโมกข์ 8 ด้วยกาย แต่สิ้นอาสวะแล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอรหันต์ผู้ได้ปัญญาวิมุตติก็สำเร็จเลยทีเดียว — one liberated by understanding)
       3. กายสักขี (ผู้เป็นพยานด้วยนามกาย หรือ ผู้ประจักษ์กับตัว คือ ท่านที่ได้สัมผัสวิโมกข์ 8 ด้วยกาย และอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีสมาธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ — the body-witness)
       4. ทิฏฐิปปัตตะ (ผู้บรรลุสัมมาทิฏฐิ คือ ท่านที่เข้าใจอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัต ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ — one attained to right view)
       5. สัทธาวิมุต (ผู้หลุดพ้นด้วยศรัทธา คือ ท่านทีเข้าในอริยสัจจธรรมถูกต้องแล้วและอาสวะบางส่วนก็สิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา แต่มีศรัทธาเป็นตัวนำหน้า หมายเอาพระอริยบุคคลผู้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วขึ้นไป จนถึงเป็นผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้าในการปฏิบัติ — one liberated by faith)
       6. ธัมมานุสารี (ผู้แล่นไปตามธรรม หรือผู้แล่นตามไปด้วยธรรม คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผล ที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีปัญญาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นทิฏฐิปัตตะ — the truth-devotee)
       7. สัทธานุสารี (ผู้แล่นไปตามศรัทธา หรือผู้แล่นตามไปด้วยศรัทธา คือ ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุโสดาปัตติผลที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้า อบรมอริยมรรคโดยมีศรัทธาเป็นตัวนำ ท่านผู้นี้ถ้าบรรลุผลแล้วกลายเป็นสัทธาวิมุต — the faith devotee)

       กล่าวโดยสรุป
       บุคคลที่ 1 และ 2 (อุภโตภาควิมุต และปัญญาวิมุต) ได้แก่พระอรหันต์ 2 ประเภท
       บุคคลที่ 3, 4 และ 5 (กายสักขี ทิฏฐิปปัตตะ และสัทธาวิมุต) ได้แก่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค จำแนกเป็น 3 พวกตามอินทรีย์ที่แก่กล้า เป็นตัวนำในการปฏิบัติ คือ สมาธินทรีย์ หรือปัญญินทรีย์ หรือสัทธินทรีย์
       บุคคลที่ 6 และ 7 (ธัมมานุสารีและสัทธานุสารี) ได้แก่ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค จำแนกตามอินทรีย์ที่เป็นตัวนำในการปฏิบัติ คือ ปัญญินทรีย์ หรือสัทธินทรีย์

       อย่างไรก็ตาม ข้อความที่อธิบายมาเกี่ยวกับบุคคลประเภทที่ 3-4-5 บางคัมภีร์กล่าวว่าเป็นการแสดงโดยนิปปริยาย คือ แสดงความหมายโดยตรงจำเพาะลงไป แต่ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ ท่านแสดงความหมายโดยปริยาย เรียกผู้ที่ปฏิบัติโดยมีสัทธินทรีย์เป็นตัวนำ ว่าเป็น สัทธาวิมุต ตั้งแต่บรรลุโสดาปัตติผล ไปจนบรรลุอรหัตตผล; เรียกผู้ปฏิบัติโดยมีสมาธินทรีย์เป็นตัวนำ ว่าเป็น กายสักขี ตั้งแต่บรรลุโสดาปัตติมรรค ไปจนบรรลุอรหัตตผล; เรียกผู้ที่ปฏิบัติโดยมีปัญญินทรีย์เป็นตัวนำ ว่าเป็น ทิฏฐิปปัตตะ ตั้งแต่บรรลุโสดาปัตติผล ไปจนบรรลุอรหัตตผล; โดยนัยนี้ จึงมีคำเรียกพระอรหันต์ว่า สัทธาวิมุต หรือกายสักขี หรือทิฏฐิปปัตตะได้ด้วย แต่ถ้าถือศัพท์เคร่งครัด ก็มีแต่ อุภโตภาควิมุต กับปัญญาวิมุต เท่านั้น
       ในฎีกาแห่งวิสุทธิมัคค์คือปรมัตถมัญชุสา มีคำอธิบายว่า ผู้ไม่ได้วิโมกข์ 8 เมื่อตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคเป็นสัทธานุสารี หรือธัมมานุสารี อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อจากนั้นเป็นสัทธาวิมุต หรือ ทิฏฐิปปัตตะ จนได้สำเร็จอรหัตตผล จึงเป็น ปัญญาวิมุต; ผู้ได้วิโมกข์ 8 เมื่อตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรคเป็นสัทธานุสารี หรือ ธัมมานุสารี อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อจากนั้นเป็นกายสักขี เมื่อสำเร็จอรหัตตผล เป็น อุภโตภาควิมุต
       นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า บุคคลประเภทกายสักขีนี่เองที่ได้ชื่อว่า สมยานิก; ส่วนคำว่า ปัญญาวิมุต บางแห่งมีคำจำกัดความแปลกออกไปจากนี้ว่า ได้แก่ผู้ที่บรรลุอรหัต โดยไม่ได้โลกียอภิญญา 5 และอรูปฌาน 4 (สํ.นิ. 16/283-289/147-150; S.II.121.)
       อริยบุคคล 7 นี้ ในพระสุตตันตปิฎก นิยมเรียกว่า ทักขิไณยบุคคล 7.

D.III. 105,254;
A.I.118;
Ps.II.52;
Pug.10.73;
Vism.659.
ที.ปา. 11/80/115; 336/266;
องฺ.ติก. 20/460/148;
ขุ.ปฏิ. 31/493-495/380-383;
อภิ.ปุ. 36/13/139;
วิสุทธิ. 3/302;
วิสุทธิ.ฏีกา 3/562-568.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 5
[252] อาวาสิกธรรม 5 (คุณสมบัติของเจ้าอาวาส หมวดที่ 2 ประเภทเป็นที่รักที่เคารพของสพรหมจารี คือ เพื่อนภิกษุสามเณรผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกัน — qualities of a beloved and respected incumbent or abbot)
       1. สีลวา (มีศีล สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย — to gave good conduct)
       2. พหุสสุตะ (เป็นพหูสูต ทรงความรู้ — to have great learning)
       3. กัลยาณวาจา (มีวาจางาม รู้จักพูด รู้จักเจรจาให้เป็นผลดี — to have lovely and convincing speech)
       4. ฌานลาภี (ได้แคล่วคล่องในฌาน 4 สำหรับอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน — to be able to gain pleasure of the Four Absorptions ot will)
       5. อนาสวเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ (บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ สิ้นอาสวะแล้ว — to have gained the Deliverance

A.III.262. องฺ.ปญฺจก. 22/232/290.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 5
[322] เถรธรรม 10 (คุณธรรมที่ทำให้พระเถระอยู่สำราญในที่ทุกสถาน — qualities which make for happy living of an elder monk)
       1. เถโร รัตตัญญู (เป็นผู้ใหญ่ บวชนาน รู้เห็นกิจการ ทรงจำเรื่องราวไว้ได้มาก — to be an elder monk of long experience)
       2. สีลวา (มีศีล เคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย — to be virtuous; to have good conduct)
       3. พหุสสุโต (เป็นพหูสูตทรงความรู้ — to be much learned)
       4. สวาคตปาฏิโมกโข (ทรงปาติโมกข์ รู้หลักแห่งวินัย แคล่วคล่อง ชำนิชำนาญ สามารถวินิจฉัยได้ด้วยดี — to be well versed in the codes of discipline)
       5. อธิกรณสมุปปาทวูปสมกุสโล (ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น — to be skilled in setting a legal question that has arisen)
       6. ธัมมกาโม (เป็นผู้ใคร่ธรรม รักความรู้ รักความจริง รู้จักรับฟังและรู้จักพูดทำให้เป็นที่ชื่นชมสนิทสนมสบายใจ น่าเข้าไปปรึกษาสนทนา และชอบศึกษา ยินดีปรีดาในหลักธรรมหลักวินัยที่ยิ่งๆ ขึ้นไป — to love the Doctrine, be pleasant to consult and converse with, and find joy in the advanced teaching of both the Doctrine and the Discipline)
       7. สันตุฏโฐ (เป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัยสี่ตามมีตามได้ — to be content with whatsoever supply of the four requisites he may get)
       8. ปาสาทิโก (จะไปจะมา มีอาการกิริยาน่าเลื่อมใส แม้เข้าไปในละแวกบ้าน ก็สำรวมเป็นอันดี — to be charming and perfectly composed in his goings out and comings and in sitting in the house)
       9. ฌานลาภี (ได้แคล่วคล่องในฌาน 4 ที่เป็นเครื่องอยู่สุขสบายในปัจจุบัน — to be able to gain pleasure of the Four Absorptions)
       10. อนาสวเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ (บรรลุเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ สิ้นอาสวะ — to have gained the Deliverance)

A.V.201. องฺ.ทสก. 24/98/215.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=เจโตวิมุตติ&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%E0%A8%E2%B5%C7%D4%C1%D8%B5%B5%D4&detail=on


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]