ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ิป ”             ผลการค้นหาพบ  9  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 9
[125] อธิปไตย 3 (ความเป็นใหญ่, ภาวะที่ถือเอาเป็นใหญ่ — dominant influence; supremacy)
       1. อัตตาธิปไตย (ความมีตนเป็นใหญ่, ถือตนเป็นใหญ่, กระทำการด้วยปรารภตนเป็นประมาณ — supremacy of self; self-dependence)
       2. โลกาธิปไตย (ความมีโลกเป็นใหญ่, ถือโลกเป็นใหญ่, กระทำการด้วยปรารภ นิยมของโลกเป็นประมาณ — supremacy of the world or public opinion)
       3. ธัมมาธิปไตย (ความมีธรรมเป็นใหญ่, ถือธรรมเป็นใหญ่, กระทำการด้วยปรารภความถูกต้อง เป็นจริง สมควรตามธรรม เป็นประมาณ — supremacy of the Dharma or righteousness)

       ผู้เป็นอัตตาธิปก พึงใช้สติให้มาก; ผู้เป็นโลกาธิปก พึงมีปัญญาครองตนและรู้พินิจ; ผู้เป็นธรรมาธิปก พึงประพฤติให้ถูกหลักธรรม; ผู้เป็นหัวหน้าหมู่ เป็นนักปกครอง พึงถือธรรมาธิปไตย.

D.III.220;
A.I.147.
ที.ปา. 11/228/231;
องฺ.ติก. 20/479/186.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 9
[128] อปัณณกปฏิปทา 3 (ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด, ปฏิปทาที่เป็นส่วนแก่นสารเนื้อแท้ ซึ่งจะนำผู้ปฏิบัติให้ถึงความเจริญงอกงามในธรรม เป็นผู้ดำเนินอยู่ในแนวทางแห่งความปลอดพ้นจากทุกข์อย่างแน่นอนไม่ผิดพลาด — sure course; sure practice; unimpeachable path)
       1. อินทรียสังวร (การสำรวมอินทรีย์ คือระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรมครอบงำใจ เมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง 6 — control of the senses)
       2. โภชเน มัตตัญญุตา (ความรู้จักประมาณในการบริโภค คือรู้จักพิจารณารับประทานอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายใช้ทำกิจให้ชีวิตผาสุก มิใช่เพื่อสนุกสนาน มัวเมา— moderation in eating)
       3. ชาคริยานุโยค (การหมั่นประกอบความตื่น ไม่เห็นแก่นอน คือ ขยันหมั่นเพียรตื่นตัวอยู่เป็นนิตย์ ชำระจิตมิให้มีนิวรณ์ พร้อมเสมอทุกเวลาที่จะปฏิบัติกิจให้ก้าวหน้าต่อไป — practice of wakefulness)

A.I.113. องฺ.ติก. 20/455/142.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 9
[131] อัคคิ 3 หรือ อัคคิปาริจริยา (ไฟที่ควรบำรุง, บุคคลที่ควรบูชาด้วยใส่ใจบำรุงเลี้ยงและให้ความเคารพนับถือตามควรแก่ฐานะ ดุจไฟบูชาของผู้บูชาไฟ — fires to be revered or worshipped)
       1. อาหุโนยัคคิ (ไฟอันควรแก่ของคำนับบูชา ได้แก่บิดามารดา — fire worthy of reverential gifts, i.e. mother and father)
       2. คหปตัคคิ (ไฟของเจ้าบ้าน ได้แก่ บุตรภรรยา และคนในปกครอง — fire of the householder, i.e. children, wife and dependents)
       3. ทักขิโณยัคคิ (ไฟอันควรแก่ทักษิณา ได้แก่สมณพราหมณ์ ท่านผู้ทำหน้าที่สั่งสอนผดุงธรรม ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ — fire worthy of offerings, i.e. monks and other religious men)

       ไฟ 3 อย่างนี้ เลียนศัพท์มาจากไฟบูชาในศาสนาพราหมณ์ แต่ใช้ในความหมายใหม่ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมอย่างแท้จริง.

D.III.217;
A.IV.44
ที.ปา. 11/228/229;
องฺ.สตฺตก. 23/44/46.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 9
[154] ปฏิปทา 4 (แนวปฏิบัติ, ทางดำเนิน, การปฏิบัติแบบที่เป็นทางดำเนินให้ถึงจุดหมาย คือความหลุดพ้นหรือความสิ้นอาสวะ - modes of practice; modes of progress to deliverance)
       1. ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก ทั้งรู้ได้ช้า เช่น ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะ แรงกล้า ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะนั้นอยู่เนืองๆ หรือเจริญกรรมฐานที่มีอารมณ์ที่มีอารมณ์ไม่น่าชื่นใจ เช่น อสุภะ เป็นต้น อีกทั้งอินทรีย์ก็อ่อนจึงบรรลุโลกุตตรมรรคล่าช้า พระจักขุบาลอาจเป็นตัวอย่างในข้อนี้ได้ - painful progress with slow insight)
       2. ทุกขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติลำบาก แต่รู้ได้เร็ว เช่น ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะแรงกล้า ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะนั้นอยู่เนืองๆ หรือเจริญกรรมฐานที่มีอารมณ์ไม่น่าชื่นใจ เช่น อสุภะ เป็นต้น แต่มีอินทรีย์แก่กล้า จึงบรรลุโลกุตตรมรรคเร็วไว บาลียกพระมหาโมคคัลลานะเป็นตัวอย่าง - painful progress with quick insight)
       3. สุขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา (ปฏิบัติสบาย แต่รู้ได้ช้า เช่น ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะไม่แรงกล้า ไม่ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะ นั้น เนืองนิตย์ หรือเจริญสมาธิได้ฌาน 4 อันเป็นสุขประณีต แต่มีอินทรีย์อ่อนจึงบรรลุโลกุตตรมรรคล่าช้า - pleasant progress with slow insight)
       4. สุขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา (ปฏิบัติสบาย ทั้งรู้ได้ไว เช่น ผู้ปฏิบัติที่มีราคะ โทสะ โมหะไม่แรงกล้า ไม่ต้องเสวยทุกข์โทมนัสเนื่องจากราคะ โทสะ โมหะนั้นเนืองนิตย์ หรือเจริญสมาธิได้ฌาน 4 อันเป็นสุขประณีต อีกทั้งมีอินทรีย์แก่กล้าจึงบรรลุโลกุตตรมรรคเร็วไว บาลียกพระสารีบุตรเป็นตัวอย่าง - pleasant progress with quick insight)

A.II.149-152,154-5 องฺ.จตุกฺก. 21/161-163/200-204; 167-168/207-209.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 9
[178] วิปัลลาส หรือ วิปลาส 4 (ความรู้เห็นคลาดเคลื่อน, ความรู้เข้าใจผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง - distortion)
       วิปลาส มี 3 ระดับ คือ
       1. สัญญาวิปลาส (สัญญาคลาดเคลื่อน, หมายรู้ผิดพลาดจากความเป็นจริง เช่น คนตกใจเห็นเชือกเป็นงู - distortion of perception)
       2. จิตตวิปลาส (จิตคลาดเคลื่อน, ความคิดผิดพลาดจากความเป็นจริง เช่น คนบ้าคิดเอาหญ้าเป็นอาหาร - distortion of thought)
       3. ทิฏฐิวิปลาส (ทิฏฐิคลาดเคลื่อน, ความเห็นผิดพลาดจากความเป็นจริง โดยเฉพาะเชื่อถือไปตามสัญญาวิปลาส หรือจิตตวิปลาสนั้น เช่น มีสัญญาวิปลาสเห็นเชือกเป็นงู แล้วเกิดทิฏฐิวิปลาส เชื่อหรือลงความเห็นว่าที่บริเวณนั้นมีงูชุม หรือมีจิตตวิลาสว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นต้องมีผู้สร้าง จึงเกิดทิฏฐิวิปลาสว่า แผ่นดินไหวเพราะเทพเจ้าบันดาล - distortion of views)

       วิปลาส 3 ระดับนี้ ที่เป็นพื้นฐาน เป็นไปใน 4 ด้าน คือ
       1. วิปลาสในสิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเที่ยง (to regard what is impermanent as permanent)
       2. วิปลาสในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นสุข (to regard what is painful as pleasant)
       3. วิปลาสในสิ่งที่ไม่เป็นตัวตน ว่าเป็นตัวตน (to regard what is non-self as a self)
       4.. วิปลาสในสิ่งที่ไม่งาม ว่างาม (to regard what is foul as beautiful)

A.II.52. องฺ.จตุกฺก. 21/49/66

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 9
[182] สติปัฏฐาน 4 (ที่ตั้งของสติ, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมันเอง - foundations of mindfulness)
       1. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็นตามเป็นจริง ว่า เป็นเพียงกาย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of the body; mindfulness as regards the body) ท่านจำแนกปฏิบัติไว้หลายอย่าง คือ อานาปานสติ กำหนดลมหายใจ 1 อิริยาบถ กำหนดรู้ทันอิริยาบถ 1 สัมปชัญญะ สร้างสัมปชัญญะในการกระทำความเคลื่อนไหวทุกอย่าง 1 ปฏิกูลมนสิการ พิจารณาส่วนประกอบอันไม่สะอาดทั้งหลายที่ประชุมเข้าเป็นร่างกายนี้ 1 ธาตุมนสิการ พิจารณาเห็นร่างกายของตนโดยสักว่าเป็นธาตุแต่ละอย่างๆ 1 นวสีวถิกา พิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ อันแปลกกันไปใน 9 ระยะเวลา ให้เห็นคติธรรมดาของร่างกาย ของผู้อื่นเช่นใด ของตนก็จักเป็นเช่นนั้น 1
       2. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of feelings; mindfulness as regards feelings) คือ มีสติรู้ชัดเวทนาอันเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นสามิส และเป็นนิรามิสตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
       3. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of mind; mindfulness as regards thoughts) คือ มีสติรู้ชัดจิตของตนที่มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว ฟุ้งซ่านหรือเป็นสมาธิ ฯลฯ อย่างไรๆ ตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
       4. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน (การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา - contemplation of mind-objects; mindfulness as regards ideas) คือ มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 โพชฌงค์ 7 อริยสัจ 4 ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร มีในตนหรือไม่ เกิดขึ้น เจริญบริบูรณ์ และดับไปได้อย่างไร เป็นต้น ตามที่เป็นจริงของมันอย่างนั้นๆ.

D.II.290.315. ที.ม. 10/273-300/325-351.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 9
[311] วิปัสสนาญาณ 9 (ญาณในวิปัสสนา, ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนาหรือที่จัดเป็นวิปัสสนา คือ เป็นความรู้ที่ทำให้เกิดความเห็นแจ้ง เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง — insight-knowledge)
       1. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ คือ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งเบญจขันธ์ จนเห็นชัดว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ครั้นแล้วก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งหมด — knowledge of contemplation on rise and fall)
       2. ภังคานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับเช่นนั้นแล้ว คำนึงเด่นชัดในส่วนความดับอันเป็นจุดจบสิ้น ก็เห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปทั้งหมด — knowledge of contemplation on dissolution)
       3. ภยตูปัฏฐานญาณ (ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว คือ เมื่อพิจารณาเห็นความแตกสลายอันมีทั่วไปแก่ทุกสิ่งทุกอย่างเช่นนั้นแล้ว สังขารทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นไปในภพใดคติใด ก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไป ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น -- knowledge of the appearance as terror)
       4. อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงซึ่งล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัวไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่อง จะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์ — knowledge of contemplation on disadvantages)
       5. นิพพิทานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดความหน่าย ไม่เพลิดเพลินติดใจ — knowledge of contemplation on dispassion)
       6. มุญจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น — knowledge of the desire for deliverance)
       7. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป — knowledge of reflective contemplation)
       8. สังขารุเปกขาญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขารต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามความเป็นจริง ว่า มีความเป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลางได้ ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นมองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงแล่นมุ่งไปยังนิพพาน เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารเสียได้ — knowledge of equanimity regarding all formations)
       9. สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณแล่นมุ่งตรงไปสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ ต่อจากนั้นก็จะเกิดโคตรภูญาณมาคั่นกลาง แล้วเกิดมรรคญาณให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป — conformity-knowledge; adaptation-knowledge)

       ธรรมหมวดนี้ ท่านปรุงศัพท์ขึ้น โดยถือตามนัยแห่งคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค นำมาอธิบายพิสดารในวิสุทธิมรรค แต่ในอภิธัมมัตถสังคหะ ท่านเติม สัมมสนญาณ (ญาณที่กำหนดพิจารณานามรูป คือ ขันธ์ 5 ตามแนวไตรลักษณ์ — Comprehension-knowledge) เข้ามาเป็นข้อที่ 1 จึงรวมเป็น วิปัสสนาญาณ 10 และเรียกชื่อญาณข้ออื่นๆ สั้นกว่านี้ คือ เรียก อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ

       ดู [285] วิสุทธิ 7; [345] ญาณ 16

Ps.I.I;
Vism.630-671;
Comp.210.
ขุ.ปฏิ. 31/1/1;
วิสุทธิ. 3/262-319;
สงฺคห. 55.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 9
[328] วิปัสสนูปกิเลส 10 (อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา, ธรรมารมณ์ที่เกิดแก่ผู้ได้ตรุณวิปัสสนา หรือวิปัสสนาอ่อนๆ ทำให้เข้าใจผิดว่าตนบรรลุมรรคผลแล้ว เป็นเหตุขัดขวางให้ไม่ก้าวหน้าต่อไปในวิปัสสนาญาณ — im-perfection or defilements of insight)
       1. โอภาส (แสงสว่าง — illumination; luminous aura)
       2. ญาณ (ความหยั่งรู้ — knowledge)
       3. ปีติ (ความอิ่มใจ — rapture; unprecedented joy)
       4. ปัสสัทธิ (ความสงบเย็น — tranquillity)
       5. สุข (ความสุขสบายใจ — bliss; pleasure)
       6. อธิโมกข์ (ความน้อมใจเชื่อ, ศรัทธาแก่กล้า, ความปลงใจ — favor; resolution; determination)
       7. ปัคคาหะ (ความเพียรที่พอดี — exertion; strenuousness)
       8. อุปัฏฐาน (สติแก่กล้า, สติชัด — established mindfulness)
       9. อุเบกขา (ความมีจิตเป็นกลาง — equanimity)
       10. นิกันติ (ความพอใจ, ติดใจ — delight)

       ดู [285] วิสุทธิ 7 โดยเฉพาะข้อ 5 คือ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

Vism.633. วิสุทฺธิ. 3/267.

[***] ศีล 10 ดู [242] ศีล 10.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 9
[352] โพธิปักขิยธรรม 37 (ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ คือ เกื้อกูลแก่การตรัสรู้, ธรรมเกื้อหนุนแก่อริยมรรค — virtues partaking of enlightenment; qualities contributing to or constituting enlightenment; enlightenment states)
       1. สติปัฏฐาน 4 ดู [182]
       2. สัมมัปปธาน 4 ดู [156]
       3. อิทธิบาท 4 ดู [213]
       4. อินทรีย์ 5 ดู [258]
       5. พละ 5 ดู [228]
       6. โพชฌงค์ 7 ดู [281]
       7. มรรคมีองค์ 8 ดู [293]

Vbh.249 อภิ.วิ. 35/611/336.


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ิป
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%D4%BB


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]