ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ญาณ ”             ผลการค้นหาพบ  9  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 9
[72] ญาณ 3 (ความหยั่งรู้, ปรีชาหยั่งรู้ — insight; knowledge)
       1. อตีตังสญาณ (ญาณหยั่งรู้ส่วนอดีต, รู้อดีตและสาวหาเหตุปัจจัยอันต่อเนื่องมาได้ — insight into the past; knowledge of the past)
       2. อนาคตังสญาณ (ญาณหยั่งรู้ส่วนอนาคต, รู้อนาคต หยั่งผลที่จะเกิดสืบต่อไปได้ — insight into the future; knowledge of the future)
       3. ปัจจุปันนังสญาณ (ญาณหยั่งรู้ส่วนปัจจุบัน, รู้ปัจจุบัน กำหนดได้ถึงองค์ประกอบและเหตุปัจจัยของเรื่องที่เป็นไปอยู่ — insight into the ; knowledge of the present)

D,III.275. ที.ปา. 11/396/292.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 9
[73] ญาณ 3 (ความหยั่งรู้, ปรีชาหยั่งรู้ — insight; knowledge)
       1. สัจจญาณ (หยั่งรู้สัจจะ คือ ความหยั่งรู้อริยสัจ 4 แต่ละอย่างตามที่เป็นๆ ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา — knowledge of the Truths as they are)
       2. กิจจญาณ (หยั่งรู้กิจ คือ ความหยั่งรู้กิจอันจะต้องทำในอริยสัจ 4 แต่ละอย่างว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ ทุกขสมุทัยควรละเสีย ทุกขนิโรธควรทำให้แจัง ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาควรเจริญ — knowledge of the functions with regard to the respective Four Noble Truths)
       3. กตญาณ (หยั่งรู้การอันทำแล้ว คือ ความหยั่งรู้ว่ากิจอันจะต้องทำในอริยสัจ 4 แต่ละอย่างนั้นได้ทำสำเร็จแล้ว — knowledge of what has been done with regard to the respective Four Noble Truths)

       ญาณ 3 ในหมวดนี้ เนื่องด้วยอริยสัจ 4 โดยเฉพาะ เรียกชื่อเต็มตามที่มาว่า ญาณทัสสนะ อันมีปริวัฏฏ์ 3 (ญาณทัสสนะมีรอบ 3 หรือ ความหยั่งรู้ หยั่งเห็นครบ 3 รอบ -- thrice-revolved knowledge and insight) หรือ ปริวัฏฏ์ 3 แห่งญาณทัสสนะ (the three aspects of intuitive knowledge regarding the Four Noble Truths)
       ปริวัฏฏ์ หรือวนรอบ 3 นี้ เป็นไปในอริยสัจทั้ง 4 รวมเป็น 12 ญาณทัสสนะนั้น จึงได้ชื่อว่ามีอาการ 12 (twelvefold intuitive insight หรือ knowing and seeing under twelve modes)

       พระผู้มีพระภาคทรงมีญาณทัสสนะตามเป็นจริงในอริยสัจ 4 ครบวนรอบ 3 มีอาการ 12 (ติปริวฏฺฏํ ทฺวาทสาการํ ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ) อย่างนี้แล้ว จึงปฏิญาณพระองค์ได้ว่าทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว.

       ดู [205] กิจในอริยสัจ 4.

Vin.I.11;
S.V.422.
วินย. 4/16/21;
สํ.ม. 19/1670/530;
สํ.อ. 3/409.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 9
[180] เวสารัชชะ หรือ เวสารัชชญาณ 4 (ความไม่ครั่นคร้าน, ความแกล้วกล้าอาจหาญ, พระญาณอันเป็นเหตุให้ทรงแกล้วกล้า ไม่ครั่นคร้าม - intrepidity; self-confidences)
       พระตถาคตเจ้าไม่ทรงมองเห็นว่า ใครก็ตาม จักทักท้วงพระองค์ได้โดยชอบธรรมในฐานะเหล่านี้ คือ (The Perfect One sees no grounds on which anyone can with justice make the following charges;)
       1. สัมมาสัมพุทธปฏิญญา (ท่านปฏิญญาว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ ธรรมเหล่านี้ท่านยังไม่รู้ - You who claim to be fully self-enlightened are not fully enlightened in these things.)
       2. ขีณาสวปฏิญญา (ท่านปฏิญญาว่าเป็นขีณาสพ อาสวะเหล่านี้ของท่านยังไม่สิ้น - You who claim to gave destroyed all taints have not utterly destroyed these taints.)
       3. อันตรายิกธรรมวาทะ (ท่านกล่าวธรรมเหล่าใดว่าเป็นอันตราย ธรรมเหล่านั้น ไม่อาจก่ออันตรายแก่ผู้ส้องเสพได้จริง - Those things which have been declared by you to be harmful have no power to harm him that follows them.
       4. นิยยานิกธรรมเทศนา (ท่านแสดงธรรมเพื่อประโยชน์อย่างใด ประโยชน์อย่างนั้นไม่เป็นทางนำผู้ทำตามให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบจริง - The Doctrine taught by you for the purpose of utter extinction of suffering does not lead him who acts accordingly to such a goal.)

       ด้วยเหตุนี้ พระองค์นี้จึงทรงถึงความเกษม ถึงความไม่มีภัย แกล้วกล้าไม่ครั่นคร้ามอยู่ (Since this is so, he abides in the attainment of security, of fearlessness and intrepidity.)
       เวสารัชชะ 4 นี้ คู่กับทศพล หรือ ตถาคตพล 10 (เรียกกันทั่วๆ ไปว่า ทศพลญาณ) เป็นธรรมที่ทำให้พระตถาคต ทรงปฏิญญาฐานะแห่งผู้นำ เปล่งสีหนาทในบริษัททั้งหลาย ยังพรหมจักรให้เป็นไป (Endowed with these four kinds of intrepidity, the Perfect One claims the leader's place, roars his lion's roar in assemblies, and sets rolling the Divine Wheel.)

       ดู [323] ทศพลญาณ

M.I.71;
A.II.8.
ม.มู. 12/167/144;
องฺ.จตุกฺก. 21/8/10.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 9
[268] วิญญาณ 6 (ความรู้แจ้งอารมณ์ — consciousness; sense-awareness)
       1. จักขุวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางตา รู้รูปด้วยตา, เห็น — eye-consciousness)
       2. โสตวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางหู คือ รู้เสียงด้วยหู, ได้ยิน — ear-consciousness)
       3. ฆานวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางจมูก คือ รู้กลิ่นด้วยจมูก, ได้กลิ่น — nose-consciousness)
       4. ชิวหาวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางลิ้น คือ รู้รสด้วยลิ้น, รู้รส — tongue-consciousness)
       5. กายวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางกาย คือ รู้โผฏฐัพพะด้วยกาย, รู้สึกสัมผัส — body-consciousness)
       6. มโนวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางใจ คือ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ, รู้ความนึกคิด — mind-consciousness)

D.III.243;
Vbh.180.
ที.ปา. 11/306/255;
อภิ.วิ. 35/120/105

[***] เวทนา 6 ดู [113] เวทนา 6.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 9
[284] วิญญาณฐิติ 7 (ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ — abodes or supports of consciousness)
       1. สัตว์บางพวก มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกมนุษย์ เทพบางเหล่า วินิปาติกะ (เปรต) บางเหล่า (beings different in body and in perception)
       2. สัตว์บางพวก มีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น เหล่าเทพจำพวกพรหม ผู้เกิดในภูมิปฐมฌาน (beings different in body, but equal in perception)
       3. สัตว์บางพวก มีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกเทพอาภัสสระ (beings equal in body, but different in perception)
       4. สัตว์บางพวก มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พวกเทพสุภกิณหะ (beings equal in body and in perception)
       5. สัตว์บางพวก ผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ (beings reborn in the sphere of Boundless Space)
       6. สัตว์บางพวก ผู้เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ (beings reborn in the sphere of Boundless Consciousness)
       7. สัตว์บางพวก ผู้เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ (beings reborn in the sphere of Nothingness)

D.III.253;
A.IV.39.
ที.ปา. 11/335/265;
องฺ.สตฺตก. 23/41/41

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 9
[311] วิปัสสนาญาณ 9 (ญาณในวิปัสสนา, ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนาหรือที่จัดเป็นวิปัสสนา คือ เป็นความรู้ที่ทำให้เกิดความเห็นแจ้ง เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง — insight-knowledge)
       1. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ คือ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งเบญจขันธ์ จนเห็นชัดว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ครั้นแล้วก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งหมด — knowledge of contemplation on rise and fall)
       2. ภังคานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับเช่นนั้นแล้ว คำนึงเด่นชัดในส่วนความดับอันเป็นจุดจบสิ้น ก็เห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปทั้งหมด — knowledge of contemplation on dissolution)
       3. ภยตูปัฏฐานญาณ (ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว คือ เมื่อพิจารณาเห็นความแตกสลายอันมีทั่วไปแก่ทุกสิ่งทุกอย่างเช่นนั้นแล้ว สังขารทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นไปในภพใดคติใด ก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไป ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น -- knowledge of the appearance as terror)
       4. อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงซึ่งล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัวไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่อง จะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์ — knowledge of contemplation on disadvantages)
       5. นิพพิทานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดความหน่าย ไม่เพลิดเพลินติดใจ — knowledge of contemplation on dispassion)
       6. มุญจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น — knowledge of the desire for deliverance)
       7. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป — knowledge of reflective contemplation)
       8. สังขารุเปกขาญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขารต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามความเป็นจริง ว่า มีความเป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา จึงวางใจเป็นกลางได้ ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นมองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงแล่นมุ่งไปยังนิพพาน เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารเสียได้ — knowledge of equanimity regarding all formations)
       9. สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณแล่นมุ่งตรงไปสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ ต่อจากนั้นก็จะเกิดโคตรภูญาณมาคั่นกลาง แล้วเกิดมรรคญาณให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป — conformity-knowledge; adaptation-knowledge)

       ธรรมหมวดนี้ ท่านปรุงศัพท์ขึ้น โดยถือตามนัยแห่งคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค นำมาอธิบายพิสดารในวิสุทธิมรรค แต่ในอภิธัมมัตถสังคหะ ท่านเติม สัมมสนญาณ (ญาณที่กำหนดพิจารณานามรูป คือ ขันธ์ 5 ตามแนวไตรลักษณ์ — Comprehension-knowledge) เข้ามาเป็นข้อที่ 1 จึงรวมเป็น วิปัสสนาญาณ 10 และเรียกชื่อญาณข้ออื่นๆ สั้นกว่านี้ คือ เรียก อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ

       ดู [285] วิสุทธิ 7; [345] ญาณ 16

Ps.I.I;
Vism.630-671;
Comp.210.
ขุ.ปฏิ. 31/1/1;
วิสุทธิ. 3/262-319;
สงฺคห. 55.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 9
[323] ทศพลญาณ (บาลีเรียก ตถาคตพลญาณ 10 คือ พระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต 10 ประการ ที่ทำให้พระองค์สามารถบันลือสีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง — the Ten Powers of the Perfect One)
       1. ฐานาฐานญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและอฐานะ คือ รู้กฏธรรมชาติเกี่ยวกับขอบเขตและขีดขั้นของสิ่งทั้งหลายว่า อะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ และแค่ไหนเพียงไร โดยเฉพาะในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล และกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมเกี่ยวกับสมรรถวิสัยของบุคคล ซึ่งจะได้รับผลกรรมที่ดีและชั่วต่างๆ กัน — knowledge of instance and no instance; knowledge of possibilities and impossibilities)
       2. กรรมวิปากญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม คือ สามารถกำหนดแยกการให้ผลอย่างสลับซับซ้อน ระหว่างกรรมดีกับกรรมชั่ว ที่สัมพันธ์กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มองเห็นรายละเอียดและความสัมพันธ์ภายในกระบวนการก่อผลของกรรมอย่างชัดเจน — knowledge of ripening of action; knowledge of the results of karma)
       3. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง คือ สุคติ ทุคติ หรือพ้นจากคติ หรือปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่อรรถประโยชน์ทั้งปวง กล่าวคือ ทิฏฐธัมมิกัตถะ สัมปรายิกัตถะ หรือ ปรมัตถะ คือรู้ว่าเมื่อปรารถนาจะเข้าถึงคติหรือประโยชน์ใด จะต้องทำอะไรบ้าง มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติอย่างไร — knowledge of the way that leads anywhere; knowledge of the practice leading to all destinies and all goals)
       4. นานาธาตุญาณ (ปรีชาหยั่งรู้สภาวะของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่างๆ เป็นเอนก คือ รู้สภาวะของธรรมชาติ ทั้งฝ่ายอุปาทินนกสังขารและฝ่ายอนุปาทินนกสังขาร เช่น รู้จักส่วนประกอบต่างๆ ของชีวิต สภาวะของส่วนประกอบเหล่านั้น พร้อมทั้งลักษณะและหน้าที่ของมันแต่ละอย่าง อาทิการปฏิบัติหน้าที่ของขันธ์ อายตนะ และธาตุต่างๆ ในกระบวนการรับรู้ เป็นต้น และรู้เหตุแห่งความแตกต่างกันของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น — knowledge of the world with its many and different elements)
       5. นานาธิมุตติกญาณ (ปรีชาหยั่งรู้อธิมุติ คือ รู้อัธยาศัย ความโน้มเอียง ความเชื่อถือ แนวความสนใจ เป็นต้น ของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปต่างๆ กัน — knowledge of the different dispositions of beings)
       6. อินทริยปโรปริยัตตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย คือ รู้ว่าสัตว์นั้นๆ มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แค่ไหน เพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีอินทรีย์อ่อน หรือแก่กล้า สอนง่ายหรือสอนยาก มีความพร้อมที่จะตรัสรู้หรือไม่ — knowledge of the state of faculties of beings; knowledge of the inferiority and superiority of the controlling faculties of various beings; knowledge as regards maturity of persons)
       7. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ่ว การออกแห่งฌาน วิโมกข์ สมาธิและสมาบัติทั้งหลาย — knowledge of defilement, cleansing and emergence in the cases of the meditations, liberations, concentrations and attainments)
       8. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ปรีชาหยั่งรู้อันทำให้ระลึกภพที่เคยอยู่ในหนหลังได้ — knowledge of the remembrance of former existences)
       9. จุตูปปาตญาณ (ปรีชาหยั่งรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายอันเป็นไปตามกรรม -- knowledge of the decease and rebirth of beings)
       10. อาสวักขยญาณ (ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย — knowledge of the exhaustion of mental intoxicants)

M.I.69;
A.V.33;
Vbh.336.
ม.มู. 12/166/140;
องฺ.ทสก. 24/21/35;
อภิ.วิ. 35/839/454.

[***] ทศพิธราชธรรม ดู [326] ราชธรรม 10.
[***] ธรรมจริยา 10 เป็นอีกชื่อหนึ่งของ [320] กุศลกรรมบถ 10.
[***] ธรรมมีอุปการะมาก 10 ดู [324] นาถกรณธรรม 10.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 9
[343] กิจ หรือ วิญญาณกิจ 14 (กิจของวิญญาณ, หน้าที่ของจิต — functions of consciousness; psychic functions)
       1. ปฏิสนธิ (หน้าที่สืบต่อภพใหม่ ได้แก่จิต 19 คือ อุเบกขาสันตีรณะ 2 มหาวิบาก 8 รูปวิบาก 5 อรูปวิบาก 4 — re-linking; rebirth-linking)
       2. ภวังคะ (หน้าที่เป็นองค์ของภพ ได้แก่จิต 19 อย่างเดียวกับปฏิสนธิ — life-continuum; factor for being)
       3. อาวัชชนะ (หน้าที่คำนึงอารมณ์ใหม่ ได้แก่ จิต 2 คือ ปัญจทวาราวัชชนะ และมโนทวาราวัชชนะ — apprehending; adverting)
       4. ทัสสนะ (หน้าที่เห็นรูป ได้แก่ จักขุวิญญาณ 2 — seeing)
       5. สวนะ (หน้าที่ได้ยินเสียง ได้แก่ โสตวิญญาณ 2 — hearing)
       6. ฆายนะ (หน้าที่รู้กลิ่น ได้แก่ ฆานวิญญาณ 2 — smelling)
       7. สายนะ (หน้าที่ลิ้มรส ได้แก่ ชิวหาวิญญาณ 2 — tasting)
       8. ผุสนะ (หน้าที่ถูกต้องโผฏฐัพพะ ได้แก่ กายวิญญาณ 2 — contacting; touching)
       9. สัมปฏิจฉนะ (หน้าที่รับอารมณ์ ได้แก่ สัมปฏิจฉนะ 2 — receiving)
       10. สันตีรณะ (หน้าที่พิจารณาอารมณ์ ได้แก่ สันตีรณะ 3 — investigating)
       11. โวฏฐัพพนะ หรือ โวฏฐปนะ (หน้าที่ตัดสินอารมณ์ ได้แก่ มโนทวาราวัชชนะ 1 — determining)
       12. ชวนะ (หน้าที่แล่นเสพอารมณ์ อันเป็นช่วงที่ทำกรรม ได้แก่ จิต 55 คือ กุศลจิต 21, อกุศลจิต 12, กิริยาจิต 18 คือเว้นอาวัชชนะทั้งสอง โลกุตตรผลจิต 4 — apperception; impulsion)
       13. ตทาลัมพนะ (หน้าที่รับอารมณ์ต่อจากชวนะก่อนตกภวังค์ ได้แก่ จิต 11 คือ มหาวิบาก 8 สันตีรณะ 3 — retention; registration)
       14. จุติ (หน้าที่เคลื่อนจากภพปัจจุบัน ได้แก่ จิต 19 อย่างเดียวกับในปฏิสนธิ — decease; death; shifting)

       จัดโดยฐานที่จิตทำกิจ 14 นี้ มี 10 คือ รวมข้อ 4-5-6-7-8 เป็นข้อเดียว คือ ปัญจวิญญาณฐาน (fivefold sense-impressions) นอกนั้นคงชื่อเดิม
       กิจ 14 นี้ ในวิสุทธิมรรคเรียกว่า วิญญาณปวัตติ หรือ วิญญาณปวัตติอาการ (อาการที่วิญญาณเป็นไป — modes of occurrence of consciousness)

       ดู [356] จิต 89.

Vism.457;
Comp 114.
วิสุทฺธิ. 3/29;
สงฺคห. 15.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 9
[345] ญาณ 16 หรือ โสฬสญาณ (ความหยั่งรู้ ในที่นี้หมายถึงญาณที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด — insight; knowledge)
       1. นามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดจำแนกรู้นามและรูป คือ รู้ว่าสิ่งทั้งหลายมีแต่รูปธรรมและนามธรรม และกำหนดแยกได้ว่า อะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม — knowledge of the delimitation of mentality-materiality)
       2. ปัจจยปริคคหญาณ (ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป คือรู้ว่า รูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัยและเป็นปัจจัยแก่กัน อาศัยกัน โดยรู้ตามแนวปฏิจจสมุปบาท ก็ดี ตามแนวกฏแห่งกรรม ก็ดี ตามแนววัฏฏะ 3 ก็ดี เป็นต้น — knowledge of discerning the conditions of mentality-materiality)
       3. สัมมสนญาณ (ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์ คือ ยกรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นพิจารณาโดยเห็นตามลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน — knowledge of comprehending mentality-materiality as impermanent, unsatisfactory and not-self)
       4-12. ได้แก่ วิปัสสนาญาณ 9 ดู [311]
       13. โคตรภูญาณ (ญาณครอบโคตร คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู่ภาวะอริยบุคคล — knowledge at the moment of the ‘Change-of-lineage’)
       14. มัคคญาณ (ญาณในอริยมรรค คือ ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น —knowledge of the Path)
       15. ผลญาณ (ญาณในอริยผล คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลชั้นนั้นๆ — knowledge of Fruition)
       16. ปัจจเวกขณญาณ (ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน คือ สำรวจรู้มรรค ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่ และนิพพาน เว้นแต่ว่าพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่ — knowledge of reviewing)

       ในญาณ 16 นี้ 14 อย่าง (ข้อ 1-13 และ 16) เป็น โลกียญาณ, 2 อย่าง (ข้อ 14 และ 15) เป็น โลกุตตรญาณ
       ญาณ 16 (บางทีเรียกว่า โสฬสญาณ ซึ่งก็แปลว่าญาณ 16 นั่นเอง) ที่จัดลำดับเป็นชุดและเรียกชื่อเฉพาะอย่างนี้ มิใช่มาในพระบาลีเดิมโดยตรง พระอาจารย์ในสายวงการวิปัสสนาธุระได้สอนสืบกันมา โดยประมวลจากคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค และวิสุทธิมรรค ในกาลต่อมา

       (พึงดู ขุ.ปฏิ. 31/มาติกา/1-2 = Ps.1 และ วิสุทธิ. 3/206-328 = Vism. 587-678)

[***] รูปพรหม หรือ พรหมโลก 16 ดู [351] ภูมิ 4 หรือ 31.
[***] โสฬสวัตถุกอานาปานสติ ดู [346] อานาปานสติ 16 ฐาน
[***] อานาปานสติ 16 ขั้น ดู [346] อานาปานสติ 16 ฐาน


พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=ญาณ
http://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=%AD%D2%B3


บันทึก  ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗,  ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๓๕, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]