ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ กรรม ”             ผลการค้นหาพบมากกว่า  80  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 80
กฏัตตากรรม ดู กตัตตากรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 80
กฐินัตถารกรรม การกรานกฐิน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 80
กตัตตากรรม กรรมสักว่าทำ, กรรมที่เป็นกุศลก็ตาม อกุศลก็ตาม สักแต่ว่าทำคือไม่ได้จงใจจะให้เป็นอย่างนั้นโดยตรง หรือมีเจตนาอ่อนไม่ชัดเจน ย่อมให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่น ท่านเปรียบเสมือนคนบ้ายิงลูกศร ย่อมไม่มีความหมายจะให้ถูกใคร ทำไปโดยไม่ตั้งใจชัดเจน
       ดู กรรม ๑๒

กตัตตาวาปนกรรม ดู กตัตตากรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 80
กรรม การกระทำ หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เช่น
       ขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตาย เป็นกรรม
       แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ สัตว์ตกลงไปตายเอง ไม่เป็นกรรม
       (แต่ถ้ารู้อยู่ว่าบ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตาย ก็ไม่พ้นเป็นกรรม)
       การกระทำที่ดีเรียกว่า “กรรมดี” ที่ชั่ว เรียกว่า “กรรมชั่ว”

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 80
กรรม ๒ กรรมจำแนกตามคุณภาพ หรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุ มี ๒ คือ
       ๑. อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล กรรมชั่ว คือเกิดจากอกุศลมูล
       ๒. กุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล กรรมดี คือเกิดจากกุศลมูล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 80
กรรม ๓ กรรมจำแนกตามทวารคือทางที่ทำกรรม มี ๓ คือ
       ๑. กายกรรม การกระทำทางกาย
       ๒. วจีกรรม การกระทำทางวาจา
       ๓. มโนกรรม
การกระทำทางใจ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 80
กรรม ๑๒ กรรมจำแนกตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผล พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ ๑๒ อย่างคือ
       หมวดที่ ๑ ว่าด้วยปากกาล คือ จำแนกตามเวลาที่ให้ผล ได้แก่
           ๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบัน คือในภพนี้
           ๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า
           ๓. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อๆไป
           ๔. อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล
       หมวดที่ ๒ ว่าโดยกิจ คือจำแนกการให้ผลตามหน้าที่ ได้แก่
           ๕. ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด
           ๖. อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน คือเข้าสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม
           ๗. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น คือเข้ามาบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้นให้แปรเปลี่ยนทุเลาเบาบางหรือสั้นเข้า
           ๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน คือกรรมแรงฝ่ายตรงข้ามที่เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรม ๒ อย่างนั้นให้ขาดหรือหยุดไปทีเดียว
       หมวดที่ ๓ ว่าโดยปากทานปริยาย คือจำแนกตามลำดับความแรงในการให้ผล ได้แก่
           ๙. ครุกกรรม กรรมหนัก ให้ผลก่อน
           ๑๐. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม กรรมทำมากหรือกรรมชิน ให้ผลรองลงมา
           ๑๑. อาสันนกรรม กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย ถ้าไม่มี ๒ ข้อก่อนก็จะให้ผลก่อนอื่น
           ๑๒. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ คือเจตนาอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น ให้ผลต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 80
กรรมกรณ์ เครื่องลงอาชญา, ของสำหรับใช้ลงโทษ เช่น โซ่ ตรวน ขื่อ คา เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 80
กรรมการ บุคคลในคณะซึ่งร่วมกันทำงานบางอย่างที่ได้รับมอบหมาย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 80
กรรมกิเลส กรรมเครื่องเศร้าหมอง, การกระทำที่เป็นเหตุให้เศร้าหมอง มี ๔ อย่างคือ
       ๑. ปาณาติบาต การทำชีวิตให้ตกล่วงคือ ฆ่าฟันสังหารกัน
       ๒. อทินนาทาน ถือเอาของที่เจ้าของเขามิได้ให้คือลักขโมย
       ๓. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม
       ๔. มุสาวาท พูดเท็จ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 80
กรรมฐาน ดู กัมมัฏฐาน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 80
กรรมลักษณะ ดู กัมมลักขณะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 80
กรรมวัฏฏ์ ดู กัมมวัฏฏ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 80
กรรมวาจา คำประกาศกิจในท่ามกลางสงฆ์, การสวดประกาศ แบ่งเป็น ๒ คือ ญัตติ ๑ อนุสาวนา ๑

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 80
กรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ผู้สวดกรรมวาจาประกาศในท่ามกลางสงฆ์ ในการอุปสมบท

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 80
กรรมวาจาวิบัติ เสียเพราะกรรมวาจา, กรรมวาจาบกพร่องใช้ไม่ได้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 80
กรรมวาจาสมบัติ ความสมบูรณ์แห่งกรรมวาจา, คำสวดประกาศถูกต้อง ใช้ได้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 80
กรรมวิปากญาณ ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม แม้จะมีกรรมต่างๆ ให้ผลอยู่มากมายซับซ้อน ก็สามารถแยกแยะ ล่วงรู้ได้ว่าอันใดเป็นผลของกรรมใด

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 80
กรรมสิทธิ์ ความเป็นเจ้าของทรัพย์, สิทธิที่ได้ตามกฎหมาย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 80
กรรมารหะ ดู กัมมารหะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 80
กสิกรรม การทำนา, การเพาะปลูก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 80
กัมมัฏฐาน ๔๐ คือ
       กสิณ ๑๐
       อสุภะ ๑๐
       อนุสสติ ๑๐
       พรหมวิหาร ๔
       อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑
       จตุธาตุววัตถาน ๑
       อรูป ๔

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 80
กายกรรม การกระทำทางกาย เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม หรือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  24 / 80
กุศลกรรม กรรมดี, กรรมที่เป็นกุศล, การกระทำที่ดี คือเกิดจากกุศลมูล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  25 / 80
กุศลกรรมบถ ทางแห่งกรรมดี, ทางทำดี, ทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล,
       กรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่สุคติมี ๑๐ อย่าง คือ
       ก. กายกรรม ๓ ได้แก่
           ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำลายชีวิต
           ๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้
           ๓. กาเมสุมิจฉาจาร เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม
       ข. วจีกรรม ๔ ได้แก่
           ๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ
           ๕. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดส่อเสียด
           ๖. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ
           ๗. สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ
       ค. มโนกรรม ๓ ได้แก่
           ๘. อนภิชฌา ไม่โลภคอยจ้องอยากได้ของเขา
           ๙. อพยาบาท ไม่คิดร้ายเบียดเบียนเขา
           ๑๐. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบตามคลองธรรม
       เทียบ อกุศลกรรมบถ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  26 / 80
คณญัตติกรรม การประกาศให้สงฆ์ทราบแทนคณะคือพวกฝ่ายตน ได้แก่
       การที่ภิกษุรูปหนึ่งในนามแห่งภิกษุฝ่ายหนึ่ง สวดประกาศขออนุมัติเป็นผู้แสดงแทนซึ่งอาบัติของฝ่ายตนและของตนเองด้วยติณวัตถารกวิธี (อีกฝ่ายหนึ่งก็พึงทำเหมือนกันอย่างนั้น) ;
       เป็นขั้นตอนหนึ่งแห่งการระงับอธิกรณ์ ด้วยติณวัตถารกวินัย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  27 / 80
ครุกกรรม ดู ครุกรรม

ครุกรรม กรรมหนักทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล
       ในฝ่ายกุศล ได้แก่ ฌานสมาบัติ
       ในฝ่ายอกุศล ได้แก่ อนันตริยกรรม
       กรรมนี้ให้ผลก่อนกรรมอื่น เหมือนคนอยู่บนที่สูงเอาวัตถุต่างๆ ทิ้งลงมาอย่างไหนหนักที่สุด อย่างนั้นถึงพื้นก่อน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  28 / 80
จีวรกรรม การทำจีวร, งานเกี่ยวกับจีวร เช่น ตัด เย็บ ย้อม เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  29 / 80
โจรกรรม การลัก, การขโมย, การกระทำของขโมย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  30 / 80
ชนกกรรม กรรมที่นำให้เกิด, กรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลก็ตามที่เป็นตัวแต่งสัตว์ให้เกิด คือชักนำให้ถือปฏิสนธิในภพใหม่ เมื่อสิ้นชีวิตจากภพนี้
       (ข้อ ๕ ในกรรม ๑๒)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  31 / 80
ญัตติกรรม กรรมอันกระทำด้วยตั้งญัตติไม่ต้องสวดอนุสาวนา คือ ประกาศให้สงฆ์ทราบ เพื่อทำกิจร่วมกัน เรียกว่าเผดียงสงฆ์อย่างเดียว ไม่ต้องขอมติ เช่น อุโบสถ และปวารณา เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  32 / 80
ญัตติจตุตถกรรม กรรมมีญัตติเป็นที่ ๔ ได้แก่ สังฆกรรมที่สำคัญ มีการอุปสมบท เป็นต้น ซึ่งเมื่อตั้งญัตติแล้ว ต้องสวดอนุสาวนาคำประกาศขอมติถึง ๓ หน เพื่อสงฆ์คือที่ชุมนุมนั้นจะได้มีเวลาพิจารณาหลายเที่ยว ว่าจะอนุมัติหรือไม่

แสดงผลการค้น ลำดับที่  33 / 80
ญัตติทุติยกรรม กรรมมีญัตติเป็นที่ ๒ หรือกรรมมีวาจาครบ ๒ ทั้งญัตติ,
       กรรมอันทำด้วยตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนาหนเดียว เช่น การสมมติสีมา การสังคายนา และการมอบให้ผ้ากฐิน เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  34 / 80
ตจปัญจกกัมมัฏฐาน กรรมฐานมีหนังเป็นที่คำรบห้า,
       กรรมฐานอันบัณฑิตกำหนดด้วยอาการมีหนังเป็นที่ ๕ เป็นอารมณ์
       คือ กรรมฐานที่ท่านสอนให้พิจารณาส่วนของร่างกาย ๕ อย่าง คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยความเป็นของปฏิกูล หรือโดยความเป็นสภาวะอย่างหนึ่งๆ ตามที่มันเป็นของมัน ไม่เอาใจเข้าไปผูกพันแล้วคิดวาดภาพใฝ่ฝันตามอำนาจกิเลส
       พจนานุกรมเขียน ตจปัญจกกรรมฐาน
       เรียกอีกอย่างว่า มูลกัมมัฏฐาน (กรรมฐานเบื้องต้น)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  35 / 80
ตัชชนียกรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงขู่,
       สังฆกรรมประเภทนิคคหกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งสงฆ์ทำการตำหนิโทษภิกษุผู้ก่อความทะเลาะวิวาท ก่ออธิกรณ์ขึ้นในสงฆ์ เป็นผู้มีอาบัติมาก และคลุกคลีกับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  36 / 80
ตัสสปาปิยสิกากรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำเพราะความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้เลวทราม,
       กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้เป็นจำเลยในอนุวาทาธิกรณ์ ให้การกลับไปกลับมา เดี๋ยวปฏิเสธ เดี๋ยวสารภาพ พูดถลากไถล พูดกลบเกลื่อนข้อที่ถูกซัก พูดมุสาซึ่งหน้า สงฆ์ทำกรรมนี้แก่เธอเป็นการลงโทษตามความผิดแม้ว่าเธอจะไม่รับ หรือเพื่อเพิ่มโทษจากอาบัติที่ต้อง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  37 / 80
ตู่กรรมสิทธิ์ กล่าวอ้างเอากรรมสิทธิ์ของผู้อื่นว่าเป็นของตัว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  38 / 80
ทรกรรม การทำให้ลำบาก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  39 / 80
ทวดึงสกรรมกรณ์ วิธีลงโทษ ๓๒ อย่าง ซึ่งใช้ในสมัยโบราณ
       เช่น โบยด้วยแส้ โบยด้วยหวาย ตีด้วยกระบอง ตัดมือ ตัดเท้า ตัดหู ตัดจมูก ตัดศีรษะ เอาขวานผ่าอก เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  40 / 80
ทวัตติงสกรรมกรณ์ ดู ทวดึงสกรรมกรณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  41 / 80
ทัณฑกรรม การลงอาชญา, การลงโทษ;
       ในที่นี้ หมายถึงการลงโทษสามเณรคล้ายกับการปรับอาบัติภิกษุ ได้แก่ กักบริเวณ ห้ามไม่ให้เข้า ห้ามไม่ให้ออกจากอาราม หรือการใช้ตักน้ำ ขนฟืน ขนทราย เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  42 / 80
ทัณฑกรรมนาสนา ให้ฉิบหายด้วยการลงโทษ
       หมายถึง การไล่ออกจากสำนัก
       เช่น ที่ทำแก่กัณฑกสามเณร ผู้กล่าวตู่พระธรรมเทศนาว่า ธรรมที่ตรัสว่าเป็นอันตราย ไม่สามารถทำอันตรายแก่ผู้เสพได้จริง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  43 / 80
ทัฬหีกรรม การทำให้มั่น เช่น การให้อุปสมบทซ้ำ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  44 / 80
ทารุณกรรม การทำโดยความโหดร้าย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  45 / 80
ทำกรรมเป็นวรรค สงฆ์ทำสังฆกรรม โดยแยกเป็นพวกๆ ไม่สามัคคีกัน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  46 / 80
ทิฏฐธัมมเวทนียกรรม กรรมอันให้ผลในปัจจุบัน, กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ซึ่งให้ผลทันตาเห็น
       (ข้อ ๑ ใน กรรม ๑๒)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  47 / 80
นวกรรม การก่อสร้าง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  48 / 80
นิคคหกรรม ดู นิคหกรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  49 / 80
นิคหกรรม การลงโทษตามพระธรรมวินัย, สังฆกรรมประเภทลงโทษผู้ทำความผิด
       ท่านแสดงไว้ ๖ อย่างคือ
           ตัชชนียกรรม
           นิยสกรรม
           ปัพพาชนียกรรม
           ปฏิสารณียกรรม
           อุกเขปนียกรรม และ
           ตัสสปาปิยสิกากรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  50 / 80
นิยสกรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำให้เป็นผู้ไร้ยศ ได้แก่ การถอดยศ,
       เป็นชื่อนิคคหกรรมที่สงฆ์ทำแก่ภิกษุผู้มีอาบัติมาก หรือคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ด้วยการคลุกคลีอันไม่ควร โดยปรับให้ถือนิสัยใหม่อีก;
       ดู นิคคหกรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  51 / 80
บริกรรม
       1. (ในคำว่า “ถ้าผ้ากฐินนั้นมีบริกรรมสำเร็จด้วยดี”) การตระเตรียม, การทำความเรียบร้อยเบื้องต้น เช่น ซัก ย้อม กะ ตัด เย็บ เสร็จแล้ว
       2. สถานที่เขาลาดปูน ปูไม้ ขัดเงา หรือชักเงา โบกปูน ทาสี เขียนสี แต่งอย่างอื่น เรียกว่าที่ทำบริกรรม ห้ามภิกษุถ่มนำลาย หรือนั่งพิง
       3. การนวดฟั้น ประคบ หรือถูตัว
       4. การกระทำขั้นต้นในการเจริญสมถกรรมฐาน คือ กำหนดใจโดยเพ่งวัตถุ หรือนึกถึงอารมณ์ที่กำหนดนั้น ว่าซ้ำๆ อยู่ในใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อทำใจให้สงบ
       5. เลือนมาเป็นความหมายในภาษาไทย หมายถึงท่องบ่น, เสกเป่า

แสดงผลการค้น ลำดับที่  52 / 80
บริกรรมภาวนา ภาวนาขั้นต้นหรือขั้นตระเตรียม คือ กำหนดใจ โดยเพ่งดูวัตถุ หรือนึกว่าพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ เป็นต้น ซ้ำๆ อยู่ในใจ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  53 / 80
ปฏิสารณียกรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันจะพึงให้กลับไป
       หมายถึง การที่สงฆ์ลงโทษให้ภิกษุไปขอขมาคฤหัสถ์ กรรมนี้สงฆ์ทำแก่ภิกษุปากกล้า ด่าว่าคฤหัสถ์ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นทายก อุปฐากสงฆ์ด้วยปัจจัย ๔ เป็นทางจะยังคนผู้ยังไม่เลื่อมใสมิให้เลื่อมใส จะยังคนผู้เลื่อมใสอยู่แล้วให้เป็นอย่างอื่นไปเสีย;
       ปฏิสาราณียกรรม ก็เขียน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  54 / 80
ปรทาริกกรรม การประพฤติล่วงเมียคนอื่น, การเป็นชู้เมียเขา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  55 / 80
ปริกรรมนิมิต นิมิตแห่งบริกรรม, นิมิตขั้นตะเตรียมหรือเริ่มเจริญสมถกรรมฐาน
       ได้แก่ สิ่งที่กำหนดเป็นอารมณ์ เช่น ดวงกสิณที่เพ่งดู หรือพุทธคุณที่นึกว่าอยู่ในใจเป็นต้น
       (ข้อ ๑ ในนิมิต ๓)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  56 / 80
ปรินิพพานบริกรรม การกระทำขั้นต้นก่อนที่จะปรินิพพาน,
       การเตรียมปรินิพพาน ในพุทธประวัติ ได้แก่ การทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติก่อน แล้วเสด็จปรินิพพาน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  57 / 80
ปัพพาชนียกรรม กรรมอันสงฆ์พึงทำแก่ภิกษุอันพึงจะไล่เสีย, การขับออกจากหมู่, การไล่ออกจากวัด,
       กรรมนี้สงฆ์ทำแก่
           ภิกษุผู้ประทุษร้ายสกุลและประพฤติเลวทรามเป็นข่าวเซ็งแซ่ หรือแก่
           ภิกษุผู้เล่นคะนอง ๑ อนาจาร ๑ ลบล้างพระบัญญัติ ๑ มิจฉาชีพ ๑
       (ข้อ ๓ ในนิคหกรรม ๖)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  58 / 80
ผาติกรรม การทำให้เจริญ
       หมายถึง การจำหน่ายครุภัณฑ์ เพื่อประโยชน์สงฆ์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเอาของเลวแลกเปลี่ยนเอาของดีกว่าให้แก่สงฆ์ หรือเอาของตนถวายสงฆ์เป็นการทดแทนที่ตนทำของสงฆ์ชำรุดไป,
       รื้อของที่ไม่ดีออกทำให้ใหม่ดีกว่าของเก่า เช่น เอาที่วัดไปทำอย่างอื่นแล้วสร้างวัดถวายให้ใหม่;
       การชดใช้, การทดแทน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  59 / 80
พหุลกรรม กรรมทำมาก หรือกรรมชิน
       ได้แก่ กรรมทั้งที่เป็นกุศลและอกุศลที่ทำบ่อยๆ จนเคยชิน ย่อมให้ผลก่อนกรรมอื่น เว้นครุกรรม
       เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อาจิณณกรรม (ข้อ ๑๐ ในกรรม ๑๒)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  60 / 80
พินัยกรรม หนังสือสำคัญที่เจ้าทรัพย์ทำไว้ก่อนตาย แสดงความประสงค์ว่าเมื่อตายแล้วขอมอบมรดกที่ระบุไว้ในหนังสือหนังสือสำคัญนั้น ให้แก่คนนั้นๆ,
       ตามพระวินัย ถ้าภิกษุทำเช่นนี้ไม่มีผล ต้องปลงบริขารจึงใช้ได้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  61 / 80
ภัณฑูกรรม ดู ภัณฑูกัมม์

ภัณฑูกัมม์ การปลงผม, การบอกขออนุญาตกะสงฆ์เพื่อปลงผมคนผู้จะบวช
       ในกรณีที่ภิกษุจะปลงให้เอง เป็นอปโลกนกรรมอย่างหนึ่ง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  62 / 80
มโนกรรม การกระทำทางใจ
       ทางชั่ว เช่น คิดเพ่งเล็งจ้องจะเอาของเขา
       ทางดี เช่น คิดช่วยเหลือผู้อื่น;
       ดู กุศลกรรมบถ, อกุศลกรรมบถ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  63 / 80
มหกรรม การฉลอง, การบูชา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  64 / 80
โมหาโรปนกรรม กิริยาที่สวดประกาศยกโทษภิกษุว่า แสร้งทำหลง คือรู้แล้วทำเป็นไม่รู้;
       เมื่อสงฆ์สวดประกาศแล้ว ยังแกล้งทำไม่รู้อีก ต้องปาจิตตีย์
       (สิกขาบทที่ ๓ แห่งสหธรรมิกวรรค ปาจิตติยกัณฑ์)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  65 / 80
วจีกรรม การกระทำทางวาจา, การกระทำด้วยวาจา, ทำกรรมด้วยคำพูด,
       ที่ดี เช่น พูดจริง พูดคำสุภาพ
       ที่ชั่ว เช่น พูดเท็จ พูดคำหยาบ;
       ดู กุศลกรรมบถ, อกุศลกรรมบถ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  66 / 80
วัตถิกรรม การผูกรัดที่ทวารหนัก คือ ผูกรัดหัวริดสีดวงงอกที่ทวารหนัก
       ท่านสันนิษฐานว่า อาจจะหมายถึงการสวนทวารเบาก็ได้

แสดงผลการค้น ลำดับที่  67 / 80
วินัยกรรม การกระทำเกี่ยวกับพระวินัย หรือการปฏิบัติตามวินัย เช่น การปลงอาบัติ การอธิษฐานบริขาร การวิกัปบาตรและจีวร เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  68 / 80
วิบัติ ความเสีย, ความผิดพลาด, ความบกพร่อง, ความเสียหายใช้การไม่ได้
       1. วิบัติความเสียของภิกษุ มี ๔ อย่าง คือ
           ๑. ศีลวิบัติ ความเสียแห่งศีล
           ๒. อาจารวิบัติ ความเสียมรรยาท
           ๓. ทิฏฐิวิบัติ ความเห็นผิดธรรมผิดวินัย
           ๔. อาชีววิบัติ ความเสียหายแห่งการเลี้ยงชีพ
       2. วิบัติคือความเสียหายใช้ไม่ได้ของสังฆกรรม มี ๔ คือ
           ๑. วัตถุวิบัติ เสียโดยวัตถุ เช่น อุปสมบทคนอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี
           ๒. สีมาวิบัติ เสียโดยสีมา เช่น สีมาไม่มีนิมิต
           ๓. ปริสวิบัติ เสียโดยบริษัทคือที่ประชุม เช่น ภิกษุเข้าประชุมไม่ครบองค์สงฆ์
           ๔. กรรมวาจาวิบัติ เสียโดยกรรมวาจา เช่น สวดผิดพลาดตกหล่น สวดแต่อนุสาวนาไม่ได้ตั้งญัตติ เป็นต้น
           (ข้อกรรมวาจาวิบัติบางกรณีแยกเป็นญัตติวิบัติและอนุสาวนาวิบัติ กลายเป็นวิบัติ ๕ ก็มี);
       เทียบ สมบัติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  69 / 80
วิปากญาณ ปรีชาหยั่งรู้ผลแห่งกรรม คือ รู้จักแยกได้ว่า บรรดาผลที่สัตว์ทั้งหลายได้รับอันซับซ้อน อันใดเป็นผลของกรรมดีหรือกรรมชั่วอย่างใดๆ เรียกเต็มว่า กรรมวิปากญาณ
       (ข้อ ๒ ในทสพลญาณ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  70 / 80
วิเหสกกรรม กรรมที่จะพึงกระทำแก่ภิกษุผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก คือ ภิกษุประพฤติอนาจาร สงฆ์เรียกตัวมาถาม นิ่งเฉยเสียไม่ตอบ เรียกว่าเป็นผู้ทำสงฆ์ให้ลำบาก,
       สงฆ์ยกวิเหสกกรรมขึ้น คือสวดประกาศการที่เธอทำตัวเช่นนั้น ด้วยญัตติทุติยกรรม เมื่อสงฆ์สวดประกาศแล้วเธอยังขืนทำอย่างนั้นอยู่อีก ย่อมต้องอาบัติปาจิตตีย์
       (สิกขาบทที่ ๒ ในภูตคามวรรคที่ ๒);
       คู่กับ อัญญวาทกกรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  71 / 80
สมบัติ ความถึงพร้อม, ความครบถ้วน, ความสมบูรณ์
       1. สิ่งที่ได้ที่ถึงด้วยดี, เงินทองของมีค่า, สิ่งที่มีอยู่ในสิทธิอำนาจของตน, ความพรั่งพร้อมสมบูรณ์, สมบัติ ๓ ได้แก่
               มนุษยสมบัติ สมบัติในขั้นมนุษย์
               สวรรคสมบัติ สมบัติในสวรรค์ (เทวสมบัติ หรือทิพยสมบัติ ก็เรียก) และ
               นิพพานสมบัติ สมบัติ คือนิพพาน
       2. ความครบถ้วนของสังฆกรรม เช่น อุปสมบท เป็นต้น ที่จะทำให้สังฆกรรมนั้นถูกต้อง ใช้ได้ มีผลสมบูรณ์ มี ๔ คือ
           ๑. วัตถุสมบัติ วัตถุถึงพร้อม เช่น ผู้อุปสมบทเป็นชายอายุครบ ๒๐ ปี
           ๒. ปริสสมบัติ บริษัทคือที่ประชุมถึงพร้อม สงฆ์ครบองค์กำหนด
           ๓. สีมาสมบัติ เขตชุมนุมถึงพร้อม
               เช่น สีมามีนิมิตถูกต้องตามพระวินัย และประชุมทำในเขตสีมา
           ๔. กรรมวาจาสมบัติ กรรมวาจาถึงพร้อม สวดประกาศถูกต้องครบถ้วน
               (ข้อ ๔ อาจแยกเป็น ๒ ข้อ คือเป็น
               ๔. ญัตติสมบัติ ญัตติถึงพร้อม คือคำเผดียงสงฆ์ถูกต้อง
               ๕. อนุสาวนาสมบัติ อนุสาวนาถึงพร้อมคำหารือตกลงถูกต้อง รวมเป็นสมบัติ ๕);
       เทียบ วิบัติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  72 / 80
สังฆกรรม งานของสงฆ์, กรรมที่สงฆ์พึงทำ,
       กิจที่พึงทำโดยที่ประชุมสงฆ์มี ๔ คือ
           ๑. อปโลกนกรรม กรรมที่ทำเพียงด้วยบอกกันในที่ประชุมสงฆ์ ไม่ต้องตั้งญัตติและไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น แจ้งการลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุ
           ๒. ญัตติกรรม กรรมที่ทำเพียงตั้งญัตติไม่ต้องสวดอนุสาวนา เช่น อุโบสถและปวารณา
           ๓. ญัตติทุติยกรรม กรรมที่ทำด้วยตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนาหนหนึ่ง เช่น สมมติสีมา ให้ผ้ากฐิน
           ๔. ญัตติจตุตถกรรม กรรมที่ทำด้วยตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนา ๓ หน เช่น อุปสมบท ให้ปริวาส ให้มานัต

แสดงผลการค้น ลำดับที่  73 / 80
สัตถกรรม การผ่าตัด

แสดงผลการค้น ลำดับที่  74 / 80
สามีจิกรรม การชอบ, กิจชอบ, การกระทำที่สมควร, การแสดงความเคารพ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  75 / 80
หัตถกรรม การทำด้วยฝีมือ, การช่าง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  76 / 80
อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล, กรรมชั่ว, บาป,
       การกระทำที่ไม่ดี คือ เกิดจาก อกุศลมูล
       ดู กรรม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  77 / 80
อกุศลกรรมบถ ทางแห่งกรรมชั่ว, ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล,
       กรรมชั่วอันเป็นทางนำไปสู่ทุคติ มี ๑๐ อย่าง คือ
       ก. กายกรรม ๓ ได้แก่
           ๑. ปาณาติบาต การทำลายชีวิต
           ๒. อทินนาทาน ถือเอาของที่เขามิได้ให้
           ๓. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม
       ข. วจีกรรม ๔ ได้แก่
           ๔. มุสาวาท พูดเท็จ
           ๕. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด
           ๖. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ
           ๗. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ
       ค. มโนกรรม ๓ ได้แก่
           ๘. อภิชฌา ละโมบคอยจ้องอยากได้ของเขา
           ๙. พยาบาท คิดร้ายเขา
           ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากคลองธรรม;
       เทียบ กุศลกรรมบถ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  78 / 80
อนันตริยกรรม กรรมหนัก, กรรมที่เป็นบาปหนักที่สุด ตัดทางสวรรค์ ตัดทางนิพพาน,
       กรรมที่ให้ผลคือ ความเดือดร้อนไม่เว้นระยะเลย มี ๕ อย่าง คือ
           ๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา
           ๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา
           ๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์
           ๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป
           ๕. สังฆเภท ทำสงฆ์ให้แตกกัน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  79 / 80
อปราปริยเวทนียกรรม กรรมที่เป็นกุศลก็ดี อกุศลก็ดี ซึ่งให้ผลในภพต่อๆ ไป
       (ข้อ ๓ ในกรรม ๑๒)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  80 / 80
อปโลกนกรรม กรรมคือการบอกเล่า, กรรมอันทำด้วยการบอกกันในที่ประชุมสงฆ์
       ไม่ต้องตั้ง ญัตติ คือคำเผดียง
       ไม่ต้องสวด อนุสาวนา คือประกาศความปรึกษาและตกลงของสงฆ์
       เช่น
           ประกาศลงพรหมทัณฑ์
           นาสนะสามเณรผู้กล่าวตู่พระพุทธเจ้า
           อปโลกน์แจกอาหารในโรงฉัน
       เป็นต้น


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=กรรม
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%A1%C3%C3%C1


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]