ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ จุนทะ ”             ผลการค้นหาพบ  4  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 4
จุนทะ พระเถระผู้ใหญ่ชั้นมหาสาวก เป็นน้องชายของพระสารีบุตร
       เคยเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธองค์ และเป็นผู้นำอัฐิธาตุของพระสารีบุตรจากบ้าน เกิดที่ท่านปรินิพพานมาถวายแด่พระพุทธองค์ที่พระเชตวัน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 4
จุนทกัมมารบุตร นายจุนทะ บุตรช่างทอง เป็นชาวเมืองปาวา
       ผู้ถวายภัตตาหารครั้งสุดท้ายแก่พระพุทธเจ้า ในเช้าวันปรินิพพาน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 4
สารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เกิดที่หมู่บ้านนาลกะ (บางแห่งเรียกนาลันทะ) ไม่ไกลจากเมืองราชคฤห์ เป็นบุตรแห่งตระกูลหัวหน้าหมู่บ้านนั้น บิดาชื่อวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อสารี จึงได้นามว่าสารีบุตร
       แต่เมื่อยังเยาว์เรียกว่า อุปติสสะ มีเพื่อนสนิทชื่อ โกลิตะ ซึ่งต่อมาคือพระมหาโมคคัลลานะ
       มีน้องชาย ๓ คนชื่อ จุนทะ อุปเสนะ และเรวตะ น้องหญิง ๓ คน ชื่อจาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ซึ่งต่อมาได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด
       เมื่ออุปติสสะและโกลิตะจะบวชนั้น ทั้งสองคนไปเที่ยวดูมหรสพที่ยอดเขาด้วยกัน คราวหนึ่งไปดูแล้วเกิดความสลดใจ คิดออกแสวงหาโมกขธรรม และต่อมาได้บวชอยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชก แต่ก็ไม่บรรลุจุดมุ่งหมาย
       จนวันหนึ่งอุปติสสปริพาชก พบพระอัสสชิเถระขณะท่านบิณฑบาต เกิดความเลื่อมใสติดตามไปสนทนาขอถามหลักคำสอน ได้ฟังความย่อเพียงคาถาเดียวก็ได้ดวงตาเห็นธรรม กลับไปบอกข่าวแก่โกลิตะ แล้วพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มีปริพาชกที่เป็นศิษย์ตามไปด้วยถึง ๒๕๐ คน ได้รับเอหิภิกขุอุปสมบททั้งหมดที่เวฬุวัน
       เมื่อบวชแล้วได้ ๑๕ วัน พระสารีบุตรได้ฟังพระธรรมเทศนาเวทนาปริคคหสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ทีฆนขปริพาชก ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ก็ได้บรรลุพระอรหัต
       ได้รับยกย่องเป็น เอตทัคคะในทางมีปัญญามาก และเป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนา และได้รับยกย่องเป็น พระธรรมเสนาบดี
       คำสอนของท่านปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นอันมาก เช่น สังคีติสูตร และทสุตตรสูตร ที่เป็นแบบอย่างแห่งการสังคายนา เป็นต้น
       ท่านปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าไม่กี่เดือน เมื่อจวนจะปรินิพพาน ท่านเดินทางไปโปรดมารดาของท่านซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฐิ ให้มารดาได้เป็นพระโสดาบันแล้ว ปรินิพพานที่บ้านเกิด ด้วยปักขันทิกาพาธ
       หลังจากปลงศพแล้วพระจุนทะน้องชายของท่านนำอัฐิธาตุไปถวายพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสว่าให้ก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุของท่านไว้ ณ พระเชตวัน เมืองสาวัตถี
       (อรรถกถาว่า ท่านปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๑๒ จึงเท่ากับ ๖ เดือนก่อนพุทธปรินิพพาน)
       พระสารีบุตรมีคุณธรรมและจริยาวัตรที่เป็นแบบอย่างหลายประการ เช่น
       เป็นผู้มีความกตัญญูสูง ดังได้แสดงออกเกี่ยวกับ
           พระอัสสชิ (นอนหันศีรษะไปทางที่พระอัสสชิพำนักอยู่) และ
           ราธพราหมณ์ (ระลึกถึงบิณฑบาตหนึ่งทัพพีและรับเป็นอุปัชฌาย์แก่ราธะ)
       สมบูรณ์ด้วยขันติธรรมต่อคำว่ากล่าว
           (ยอมรับคำแนะนำแม้ของสามเณร ๗ ขวบ)
       เป็นผู้เอาใจใส่อนุเคราะห์เด็ก
           (เช่น ช่วยเอาเด็กยากไร้มาบรรพชา มีสามเณรอยู่ในความปกครองดูแล ซึ่งเก่งกล้าสามารถหลายรูป)
       และเอาใจใส่คอยดูแลภิกษุอาพาธเป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 4
อสีติมหาสาวก พระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ องค์ บางทีเรียกอนุพุทธ ๘๐ องค์
       มีรายนามตามลำดับอักษร ดังนี้ (ที่พิมพ์ตัวเอน คือท่านที่เป็นเอตทัคคะ ด้วย):
       กังขาเรวต, กัปป, กาฬุทายี, กิมพิละ, กุมารกัสสปะ, กุณฑธาน,
       คยากัสสปะ, ควัมปติ,
       จุนทะ, จูฬปันถก,
       ชตุกัณณิ,
       ติสสเมตเตยยะ, โตเทยยะ,
       ทัพพมัลลบุตร,
       โธตกะ,
       นทีกัสสปะ, นันทะ, นันทกะ, นันทกะ, นาคิตะ, นาลกะ,
       ปิงคิยะ, ปิณโฑลภารทวาช, ปิลินทวัจฉะ, ปุณณกะ, ปุณณชิ, ปุณณมันตานีบุตร, ปุณณสุนาปรันตะ, โปสาละ,
       พาลุกะ (พักกุละ ก็เรียก), พาหิยทารุจีริยะ,
       ภคุ, ภัททิยะ (ศากยะ), ภัททิยะ, ภัทราวุธ,
       มหากัจจายนะ, มหากัปปินะ, มหากัสสปะ, มหาโกฏฐิตะ, มหานามะ, มหาปันถก, มหาโมคคัลลานะ, เมฆิยะ, เมตตคู, โมฆราช,
       ยสะ, ยโสชะ,
       รัฏฐปาละ, ราธะ, ราหุล, เรวตะ ขทิรวนิยะ,
       ลกุณฏกภัททิยะ,
       วักกลิ, วังคีสะ
, วัปปะ, วิมละ,
       สภิยะ, สาคตะ, สารีบุตร, สีวลี, สุพาหุ, สุภูติ, เสละ, โสณกุฏิกัณณะ, โสณโกฬิวิสะ, โสภิตะ,
       เหมกะ,
       องคุลิมาล, อชิตะ, อนุรุทธะ, อัญญาโกณทัญญะ, อัสสชิ, อานนท์, อุทยะ, อุทายี, อุบาลี, อุปวาณะ, อุปสีวะ, อุปเสนวังคันตบุตร, อุรุเวลกัสสปะ


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=จุนทะ&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%A8%D8%B9%B7%D0&detail=on


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]