ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ปาฏิโมกข์ ”             ผลการค้นหาพบ  5  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 5
ปาฏิโมกข์ ชื่อคัมภีร์ที่ประมวลพุทธบัญญัติอันทรงตั้งขึ้นเป็นพุทธอาณา ได้แก่ อาทิพรหมจริยกาสิกขา มีพระพุทธานุญาตให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน เรียกกันว่า พระสงฆ์ทำอุโบสถ,
       คัมภีร์ที่รวมวินัยของสงฆ์ ๒๒๗ ข้อ
       (พจนานุกรมเขียน ปาติโมกข์)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 5
ปาฏิโมกข์ย่อ มีพุทธานุญาตให้สวดปาฏิโมกข์ย่อได้ ในเมื่อมีเหตุจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเหตุ ๒ อย่าง คือ
       ๑. ไม่มีภิกษุจำปาฏิโมกข์ได้จนจบ (พึงสวดเท่าอุเทศที่จำได้)
       ๒. เกิดเหตุฉุกเฉินขัดข้องที่เรียกว่าอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งในอันตรายทั้ง ๑๐
           (กำลังสวดอุเทศใดค้างอยู่ เลิกอุเทศนั้นกลางคันได้ และพึงย่อตั้งแต่อุเทศนั้นไปด้วยสุตบท คือ คำว่า สุต ที่ประกอบรูปเป็น สุตา ตามไวยากรณ์ ทั้งนี้ยกเว้นนิทานุทเทสซึ่งต้องสวดให้จบ)
       สมมติว่าสวดปาราชิกุทเทสจบแล้ว ถ้าสวดย่อตามแบบที่ท่านวางไว้ จะได้ดังนี้:
       สุตา โข อายสฺมนฺเตหิ เตรส สงฺฆาทิเสสา ธมฺมา, สุตา โข อายสฺมนฺเตหิ เทฺว อนิยตา ธมฺมา, ฯเปฯ
       ลงท้ายว่า เอตฺตกํ ตสฺส ภควโต ฯเปฯ สิกฺขิตพฺพํ
       แบบที่วางไว้เดิมนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ไม่ทรงเห็นด้วยในบางประการ และทรงมีพระมติว่า ควรสวดย่อดังนี้
       (สวดปาราชิกุทเทสจบแล้ว สวดคำท้ายทีเดียว):
       “อุทฺทิฏฺฐํ โข อายสฺมนฺโต นิทานํ, อุทฺทิฏฺฐา จตฺตาโร ปาราชิกา ธมฺมา, สุตา เตรส สงฺฆาทิเสสา ธมฺมา, ฯเปฯ สุตา สตฺตาธิกรณสมถา ธมฺมา, เอตฺตกํ ฯเปฯ สิกฺขิตพฺพํ”;
       ดู อันตราย ๑๐

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 5
ภิกขุนีปาฏิโมกข์ ประมวลสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้สำหรับภิกษุณี มี ๓๑๑ ข้อ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 5
ภิกขุปาฏิโมกข์ ประมวลสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้สำหรับภิกษุ มี ๒๒๗ ข้อ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 5
โอวาทปาฏิโมกข์ [โอ-วา-ทะ-ปา-ติ-โมก]
       หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
       ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุวนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่า วันมาฆบูชา
       (อรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา),
       คาถาโอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน)
           สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา
           สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ
                          ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
                          นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
                          น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
                          สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต ฯ
           อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
           มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
           อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํ ฯ
       แปล: การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑ การบำเพ็ญแต่ความดี ๑ การทำจิตต์ของตนให้ผ่องใส ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
       ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า นิพพานเป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต, ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
       การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในปาฏิโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑ ที่นั่งนอนอันสงัด ๑ ความเพียรในอธิจิตต์ ๑ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
       ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า
           ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

โอวาทปาติโมกข์ ดู โอวาทปาฏิโมกข์


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ปาฏิโมกข์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%BB%D2%AF%D4%E2%C1%A1%A2%EC


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]