ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ลักษณะ ”             ผลการค้นหาพบ  15  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 15
กรรมลักษณะ ดู กัมมลักขณะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 15
ทุกขลักษณะ เครื่องกำหนดว่าเป็นทุกข์, ลักษณะที่จัดว่าเป็นทุกข์,
       ลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นทุกข์คือ
           ๑. ถูกการเกิดขึ้นและการดับสลายบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
           ๒. ทนได้ยากหรือคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
           ๓. เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์
           ๔. แย้งต่อสุขหรือเป็นสภาวะที่ปฏิเสธความสุข;
       ดู อนิจจลักษณะ, อนัตตลักษณะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 15
ปัจจัตตลักษณะ ลักษณะเฉพาะตน, ลักษณะเฉพาะของสิ่งต่างๆ
       เช่น เวทนามีลักษณะเสวยอารมณ์ สัญญามีลักษณะจำได้ เป็นต้น,
       คู่กับ สามัญลักษณะ 1.

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 15
มหาบุรุษลักษณะ ลักษณะของมหาบุรุษมี ๓๒ ประการ มาในมหาปทานสูตร แห่งทีฆนิกาย มหาวรรค และลักขณสูตร แห่งทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก โดยย่อ คือ
       ๑. สุปติฏฺฐิตปาโท มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน
       ๒. เหฏฺฐาปาทตเลสุ จกฺกานิ ชาตานิ ลายพื้นพระบาทเป็นจักร
       ๓. อายตปณฺหิ มีส้นพระบาทยาว (ถ้าแบ่ง ๔, พระชงฆ์ตั้งอยู่ในส่วนที่ ๓)
       ๔. ทีฆงฺคุลิ มีนิ้วยาวเรียว (หมายถึงนิ้วพระหัตถ์และพระบาทด้วย)
       ๕. มุทุตลนหตฺถปาโท ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม
       ๖. ชาลหตฺถปาโท ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย
       ๗. อุสฺสงฺขปาโท มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ อัฐิข้อพระบาทตั้งลอยอยู่หลังพระบาท กลับกลอกได้คล่อง เมื่อทรงดำเนินผิดกว่าสามัญชน
       ๘. เอณิชงฺโฆ พระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย
       ๙. ฐิตโก ว อโนนมนฺโต อุโภหิ ปาณิตเลหิ ชณฺณุกานิ ปรามสติ เมื่อยืนตรง พระหัตถ์ทั้ง ๒ ลูบจับถึงพระชานุ
       ๑๐. โกโสหิตวตฺถคุยฺโห มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก
       ๑๑. สุวณฺณวณฺโณ มีฉวีวรรณดุจสีทอง
       ๑๒. สุขุมจฺฉวิ พระฉวีละเอียด ธุลีละอองไม่ติดพระกาย
       ๑๓. เอเกกโลโม มีเส้นพระโลมาเฉพาะขุมละเส้นๆ
       ๑๔. อุทฺธคฺคโลโม เส้นพระโลมาดำสนิท เวียนเป็นทักษิณาวัฏ มีปลายงอนขึ้นข้างบน
       ๑๕. พฺรหฺมุชุคตฺโต พระกายตั้งตรงดุจท้าวมหาพรหม
       ๑๖. สตฺตุสฺสโท มีพระมังสะอูมเต็มในที่ ๗ แห่ง (คือ หลังพระหัตถ์ทั้ง ๒, และหลังพระบาททั้ง ๒, พระอังสาทั้ง ๒, กับลำพระศอ)
       ๑๗. สีหปุพฺพฑฺฒกาโย มีส่วนพระสรีรกายบริบูรณ์ (ล่ำพี) ดุจกึ่งท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์
       ๑๘. ปีตนฺตรํโส พระปฤษฎางค์ราบเต็มเสมอกัน
       ๑๙. นิโคฺรธปริมณฺฑโล ส่วนพระกายเป็นปริมณฑล ดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร (พระกายสูงเท่ากับวาของพระองค์)
       ๒๐. สมวฏฺฏกฺขนฺโธ มีลำพระศอกลมงามเสมอตลอด
       ๒๑. รสคฺคสคฺคี มีเส้นประสาทสำหรับรับรสพระกระยาหารอันดี
       ๒๒. สีหหนุ มีพระหนุดุจคางแห่งราชสีห์ (โค้งเหมือนวงพระจันทร์)
       ๒๓. จตฺตาฬีสทนฺโต มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (ข้างละ ๒๐ ซี่)
       ๒๔. สมทนฺโต พระทนต์เรียบเสมอกัน
       ๒๕. อวิวรทนฺโต พระทนต์เรียบสนิทมิได้ห่าง
       ๒๖. สุสุกฺกทาโฐ เขี้ยวพระทนต์ทั้ง ๔ ขาวงามบริสุทธิ์
       ๒๗. ปหูตชิวฺโห พระชิวหาอ่อนและยาว (อาจแผ่ปกพระนลาฏได้)
       ๒๘. พฺรหฺมสโร กรวิกภาณี พระสุรเสียงดุจท้าวมหาพรหม ตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก
       ๒๙. อภินีลเนตฺโต พระเนตรดำสนิท
       ๓๐. โคปขุโม ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด
       ๓๑. อุณณา ภมุกนฺตเร ชาตา มีอุณาโลมระหว่างพระโขนง เวียนขวา เป็นทักษิณาวัฏ
       ๓๒. อุณฺหิสสีโส มีพระเศียรงามบริบูรณ์ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์
       ดู อนุพยัญชนะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 15
มหาปุริสลักษณะ ดู มหาบุรุษลักษณะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 15
ลักษณะ สิ่งสำหรับกำหนดรู้, เครื่องกำหนดรู้, อาการสำหรับหมายรู้, เครื่องแสดงสิ่งหนึ่งให้เห็นว่า ต่างจากอีกสิ่งหนึ่ง, คุณภาพ, ประเภท

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 15
ลักษณะ ๓ ไม่เที่ยง, เป็นทุกข์, ไม่ใช่ตัวตน;
       ดู ไตรลักษณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 15
ลักษณะพยากรณศาสตร์ ตำราว่าด้วยการทายลักษณะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 15
ลักษณะตัดสินธรรมวินัย ดู หลักตัดสินธรรมวินัย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 15
สังขตลักษณะ ลักษณะแห่งสังขตธรรม,
       ลักษณะของปรุงแต่ง มี ๓ อย่าง
           ๑. ความเกิดขึ้น ปรากฏ
           ๒. ความดับสลาย ปรากฏ
           ๓. เมื่อตั้งอยู่ ความแปร ปรากฏ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 15
สามัญญลักษณะ ดู สามัญลักษณะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 15
สามัญลักษณะ
       1. ลักษณะที่เป็นสามัญ คือร่วมกันหรือเสมอกัน; คู่กับ ปัจจัตตลักษณะ
       2. ลักษณะที่เสมอกันแก่สังขารทั้งปวง; ในความหมายนี้ ดู ไตรลักษณ์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 15
หลักกำหนดธรรมวินัย หลักตัดสินธรรมวินัย หรือลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ อย่าง คือ
       ก. ธรรมเหล่าใด เป็นไป
           ๑. เพื่อความย้อมใจติด
           ๒. เพื่อความประกอบทุกข์
           ๓. เพื่อความพอกพูนกิเลส
           ๔. เพื่อความมักมากอยากใหญ่
           ๕. เพื่อความไม่สันโดษ
           ๖. เพื่อความคลุกคลีในหมู่
           ๗. เพื่อความเกียจคร้าน
           ๘. เพื่อความเลี้ยงยาก,
       ธรรมเหล่านี้ พึงรู้ว่าไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์,
       ข. ธรรมเหล่าใดเป็นไป
           ๑. เพื่อความคลายหายติด
           ๒. เพื่อความไม่ประกอบทุกข์
           ๓. เพื่อความไม่พอกพูนกิเลส
           ๔. เพื่อความมักน้อย
           ๕. เพื่อความสันโดษ
           ๖. เพื่อความสงัด
           ๗. เพื่อการประกอบความเพียร
           ๘. เพื่อความเลี้ยงง่าย,
       ธรรมเหล่านี้พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 15
อนัตตลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนัตตา,
       ลักษณะที่ให้เห็นว่าเป็นของมิใช่ตัวตน โดยอรรถต่างๆ
           ๑. เป็นของสูญ คือ เป็นเพียงการประชุมเข้าขององค์ประกอบที่เป็นส่วนย่อยๆ ทั้งหลาย ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หรือการสมมติเป็นต่างๆ
           ๒. เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใครจริง
           ๓. ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของใครๆ
           ๔. เป็นสภาวธรรมที่ดำรงอยู่หรือเป็นตามธรรมดาของมัน เช่น ธรรมที่เป็นสังขตะ คือสังขาร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นต่อเหตุปัจจัย ไม่มีอยู่โดยลำพังตัว แต่เป็นไปโดยสัมพันธ์ อิงอาศัยกันอยู่กับสิ่งอื่นๆ
           ๕. โดยสภาวะของมันเอง ก็แย้งหรือค้านต่อความเป็นอัตตา มีแต่ภาวะที่ตรงข้ามกับความเป็นอัตตา;
       ดู ทุกขลักษณะ, อนิจจลักษณะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 15
อนิจจลักษณะ ลักษณะที่เป็นอนิจจะ,
       ลักษณะที่ให้เห็นว่าเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ ได้แก่
           ๑. เป็นไปโดยการเกิดขึ้นและสลายไป คือ เกิดดับๆ มีแล้วก็ไม่มี
           ๒. เป็นของแปรปรวน คือ เปลี่ยนแปลงแปรสภาพไปเรื่อยๆ
           ๓. เป็นของชั่วคราว อยู่ได้ชั่วขณะๆ
           ๔. แย้งต่อความเที่ยง คือ โดยสภาวะของมันเอง ก็ปฏิเสธความเที่ยงอยู่ในตัว;
       ดู ทุกขลักษณะ, อนัตตลักษณะ


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ลักษณะ
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%C5%D1%A1%C9%B3%D0


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]