ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ อุปัฏฐาก ”             ผลการค้นหาพบ  14  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 14
กุลมัจฉริยะ “ตระหนี่ตระกูล” ได้แก่หวงแหนตระกูล ไม่ยอมให้ตระกูลอื่นมาเกี่ยวดองด้วย ถ้าเป็นบรรพชิตก็หวงแหนอุปัฏฐาก ไม่พอใจให้ไปบำรุงภิกษุอื่น;
       ดู มัจฉริยะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 14
จุนทะ พระเถระผู้ใหญ่ชั้นมหาสาวก เป็นน้องชายของพระสารีบุตร
       เคยเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธองค์ และเป็นผู้นำอัฐิธาตุของพระสารีบุตรจากบ้าน เกิดที่ท่านปรินิพพานมาถวายแด่พระพุทธองค์ที่พระเชตวัน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 14
นาคิตะ พระเถระมหาสาวกองค์หนึ่ง เคยเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธองค์
       มีพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่ท่านเกี่ยวกับเนกขัมมสุข ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ๒-๓ แห่ง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 14
ปลิโพธ เครื่องผูกพันหรือหน่วงเหนี่ยวเป็นเหตุให้ใจพะวักพะวนห่วงกังวล, เหตุกังวล, ข้อติดข้อง;
       ปลิโพธที่ผู้จะเจริญกรรมฐานพึงตัดเสียให้ได้ เพื่อให้เกิดความปลอดโปร่งพร้อมที่จะเจริญกรรมฐานให้ก้าวหน้าไปได้ดี มี ๑๐ อย่าง คือ
           ๑. อาวาสปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับวัดหรือที่อยู่
           ๒. กุลปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับตระกูลญาติหรืออุปัฏฐาก
           ๓. ลาภปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับลาภ
           ๔. คณปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับคณะศิษย์หรือหมู่ชนที่ตนต้องรับผิดชอบ
           ๕. กรรมปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการงาน เช่น การก่อสร้าง
           ๖. อัทธานปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการเดินทางไกลเนื่องด้วยกิจธุระ
           ๗. ญาติปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับญาติหรือคนใกล้ชิดที่จะต้องเป็นห่วงซึ่งกำลังเจ็บป่วยเป็นต้น
           ๘. อาพาธปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับความเจ็บไข้ของตนเอง
           ๙. คันถปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียน
           ๑๐. อิทธิปลิโพธ ความกังวลเกี่ยวกับฤทธิ์ของปุถุชนที่จะต้องคอยรักษาไม่ให้เสื่อม
               (ข้อท้ายนี้เป็นปลิโพธสำหรับผู้จะเจริญวิปัสสนาเท่านั้น)
       ในทางพระวินัยเกี่ยวกับการกรานกฐิน ปลิโพธ หมายถึงความกังวลที่เป็นเหตุให้กฐินยังไม่เดาะ (คือยังรักษาอานิสงส์กฐินและเขตแห่งจีวรกาลตามกำหนดไว้ได้)
       มี ๒ อย่าง คือ
           ๑. อาวาสปลิโพธ ความกังวลในอาวาส
               (ยังอยู่ในวัดนั้นหรือหลีกไปแต่ยังผูกใจว่าจะกลับมา)
           ๒. จีวรปลิโพธ ความกังวลในจีวร
               (ยังไม่ได้ทำจีวรหรือทำค้างอยู่ หรือหายเสียในเวลาทำแต่ยังไม่สิ้นหวังว่าจะได้จีวรอีก)
           ถ้าสิ้นปลิโพธครบทั้งสองอย่าง จึงเป็นอันเดาะกฐิน
               (หมดอานิสงส์และสิ้นเขตจีวรกาลก่อนกำหนด)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 14
พระพุทธเจ้า พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม, ท่านผู้รู้ดีรู้ชอบด้วยตนเองก่อนแล้วสอนประชุมชนให้ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา ใจ;
       พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ที่ใกล้กาลปัจจุบันที่สุดและคัมภีร์กล่าวถึงบ่อยๆ คือ พระวิปัสสี พระสิขี พระเวสสภู พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ และพระโคดม;
       พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์แห่งภัทรกัปป์ปัจจุบันนี้ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคดม และพระเมตเตยยะ (เรียกกันสามัญว่า พระศรีอาริย์ หรือ พระศรีอารยเมตไตรย);
       พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์นับแต่พระองค์แรกที่พระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ได้ทรงพบและทรงได้รับการพยากรณ์ว่าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า (รวม ๒๔ พระองค์) จนถึงพระองค์เองด้วย คือ ๑. พระทีปังกร ๒. พระโกณฑัญญะ ๓. พระมังคละ ๔. พระสุมนะ ๕. พระเรวตะ ๖. พระโสภิตะ ๗. พระอโนมทัสสี ๘. พระปทุมะ ๙. พระนารทะ ๑๐. พระปทุมุตตระ ๑๑. พระสุเมธะ ๑๒. พระสุชาตะ ๑๓. พระปิยทัสสี ๑๔. พระอัตถทัสสี ๑๕. พระธัมมทัสสี ๑๖. พระสิทธัตถะ ๑๗. พระติสสะ ๑๘. พระปุสสะ ๑๙. พระวิปัสสี ๒๐. พระสิขี ๒๑. พระเวสสภู ๒๒. พระกกุสันธะ ๒๓. พระโกนาคมน์ ๒๔. พระกัสสปะ ๒๕. พระโคตมะ
       (เรื่องมาในคัมภีร์พุทธวงส์ แห่งขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก);
       ดู พุทธะ ด้วย
       ข้อควรทราบบางประการเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ตามที่ตรัสไว้ในคัมภีร์พุทธวงส์ คือ
       พระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม (โคตมพุทธ) เจริญในศากยสกุล พระนครอันเป็นถิ่นกำเนิดชื่อกบิลพัสดุ์ พระบิดาคือพระเจ้าสุทโธทนะ พระมารดามีพระนามว่า มายาเทวี ทรงครองฆราวาสอยู่ ๒๙ ปี มีปราสาท ๓ หลัง ชื่อ สุจันทะ โกกนุท และโกญจะ มเหสีพระนามว่ายโสธรา โอรสพระนามว่าราหุล ทอดพระเนตรเห็นนิมิต ๔ ประการแล้ว เสด็จออกผนวชด้วยม้าเป็นพระราชยาน บำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ ๖ ปี ประกาศธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
       พระอัครสาวกทั้ง ๒ คือ พระอุปติสสะ (พระสารีบุตร) และพระโกลิตะ (พระมหาโมคคัลลานะ)
       พุทธอุปัฏฐากชื่อว่าพระอานนท์
       พระอัครสาวิกาทั้ง ๒ คือ พระเขมา และพระอุบลวรรณนา
       อุบาสก ๒ ผู้เป็นอัครอุปัฏฐากคือ จิตตคฤหบดี และหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี
       อุบาสิกา ๒ ผู้อัครอุปัฏฐายิกาคือ นันทมารดา และอุตตราอุบาสิกา
       บรรลุสัมโพธิญาณที่ควงไม้อัสสัตถพฤกษ์ (คือต้นโพธิ์ได้แก่ไม้อัสสัตถะ)
       มีสาวกสันนิบาต (การประชุมสาวก) ครั้งใหญ่ ครั้งเดียว ภิกษุผู้เข้าร่วมประชุม ๑,๒๕๐ รูป
       คำสั่งสอนของพระองค์ผู้เป็นศากยมุนี เจริญแพร่หลายกว้างขวางงอกงามเป็นอย่างดี บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เป็นประโยชน์แก่ประชาชนจำนวนมาก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 14
พุทธกิจ ๔๕ พรรษา ในระหว่างเวลา ๔๕ ปีแห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ สถานที่ต่างๆ ซึ่งท่านได้ประมวลไว้ พร้อมทั้งเหตุการณ์สำคัญบางอย่างอันควรสังเกต ดังนี้
       พรรษาที่ ๑ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี (โปรดพระเบญจวัคคีย์)
       พ.๒-๓-๔ พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ (ระยะประดิษฐานพระศาสนา เริ่มแต่โปรดพระเจ้าพิมพิสาร ได้อัครสาวก ฯลฯ เสด็จนครกบิลพัสดุ์ครั้งแรก ฯลฯ อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นอุบาสกถวายพระเชตวัน พรรษาที่ ๓ น่าจะประทับที่พระเชตวัน นครสาวัตถี)
       พ.๕ กูฎาคารในป่ามหาวัน นครเวสาลี (โปรดพุทธบิดาปรินิพพานที่กรุงกบิลพัสดุ์ โปรดพระญาติที่วิวาทเรื่องแม่น้ำโรหิณี มหาปชาบดีผนวช เกิดภิกษุณีสงฆ์)
       พ.๖ มกุลบรรพต (ภายหลังทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่นครสาวัตถี)
       พ.๗ ดาวดึงสเทวโลก (แสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา)
       พ.๘ เภสกลาวัน ใกล้เมืองสุงสุมาคีรี แคว้นภัคคะ (พบนกุลบิดาและนกุลมารดา)
       พ.๙ โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี
       พ.๑๐ ป่าตำบลปาริเลยยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี (ในคราวที่ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน)
       พ.๑๑ หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อเอกนาลา
       พ.๑๒ เมืองเวรัญชา
       พ.๑๓ จาลิยบรรพต
       พ.๑๔ พระเชตวัน (พระราหุลอุปสมบทคราวนี้)
       พ.๑๕ นิโครธาราม นครกบิลพัสดุ์
       พ.๑๖ เมืองอาฬวี (ทรมานอาฬวกยักษ์)
       พ.๑๗ พระเวฬุวัน นครราชคฤห์
       พ.๑๘-๑๙ จาลิยบรรพต
       พ.๒๐ พระเวฬุวัน นครราชคฤห์ โปรดมหาโจรองคุลิมาล, พระอานนท์ได้รับหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ)
       พ.๒๑-๔๔ ประทับสลับไปมา ณ พระเชตวันกับบุพพาราม พระนครสาวัตถี (รวมทั้งคราวก่อนนี้ด้วย อรรถกถาว่าพระพุทธเจ้าประทับที่เชตวนาราม ๑๙ พรรษา ณ บุพพาราม ๖ พรรษา)
       พ.๔๕ เวฬุวคาม ใกล้นครเวสาลี

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 14
พุทธประวัติ ประวัติของพระพุทธเจ้า;
       ลำดับกาลในพุทธประวัติตามที่ท่านแบ่งไว้ในอรรถกถา จัดได้เป็น ๓ ช่วงใหญ่ คือ
           ๑. ทูเรนิทาน เรื่องราวตั้งแต่เริ่มต้นเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติในอดีต จนถึงอุบัติในสวรรค์ชั้นดุสิต
           ๒. อวิทูเรนิทาน เรื่องราวตั้งแต่จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต จนถึงตรัสรู้
           ๓. สันติเกนิทาน เรื่องราวตั้งแต่ตรัสรู้แล้ว จนเสด็จปรินิพพาน
       ในส่วนของสันติเกนิทานนั้นก็คือ โพธิกาล นั่นเอง ซึ่งแบ่งย่อยได้เป็น ๓ ช่วงได้แก่
           ๑. ปฐมโพธิกาล คือตั้งแต่ตรัสรู้ จนถึงได้พระอัครสาวก
           ๒. มัชฌิมโพธิกาล คือตั้งแต่ประดิษฐานพระศาสนาในแคว้นมคธ จนถึงปลงพระชนมายุสังขาร
           ๓. ปัจฉิมโพธิกาล คือตั้งแต่ปลงพระชนมายุสังขาร จนถึงปรินิพพาน
       ต่อมาภายหลัง พระเถระผู้เล่าพระพุทธประวัติใด้กล่าวถึงเรื่องราวในชมพูทวีป ก่อนถึงการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และเรียกเวลาช่วงนี้ว่า ปุริมกาล กับทั้งเล่าเหตุการณ์หลังพุทธปรินิพพาน เช่นการถวายพระเพลิงและสังคายนา และเรียกเวลาช่วงนี้ว่า อปรกาล;
       ในการแบ่งโพธิกาล ๓ ช่วงนี้ อรรถกถายังมีมติแตกต่างกันบ้าง เช่น พระอาจารย์ธรรมบาลแบ่ง ๓ ช่วงเท่ากัน ช่วงละ ๑๕ พรรษา แต่บางอรรถกถานับ ๒๐ พรรษาแรกของพุทธกิจเป็นปฐมโพธิกาล โดยไม่ระบุช่วงเวลา ๒ โพธิกาลที่เหลือ (ได้แก่ช่วงเวลาที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงมีพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ และยังไม่ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสงฆ์)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 14
เมฆิยะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เคยเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธองค์
       คราวหนึ่ง ได้เห็นสวนมะม่วงริมฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา น่ารื่นรมย์ จึงขอลาพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญที่นั่น พระพุทธเจ้าห้ามไม่ฟัง ท่านไปบำเพ็ญเพียร ถูกอกุศลวิตกต่างๆ รบกวน ในที่สุดต้องกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่องธรรม ๕ ประการสำหรับบ่มเจโตวิมุตติ เป็นต้น ที่พระศาสดาทรงแสดงจึงได้สำเร็จพระอรหัต

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 14
โยมอุปัฏฐาก คฤหัสถ์ที่แสดงตนเป็นผู้อุปการะพระสงฆ์โดยเจาะจง อุปการะรูปใด ก็เป็นโยมอุปัฏฐากของรูปนั้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 14
อานนท์ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ เป็นโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ซึ่งเป็นพระเจ้าอาของเจ้าชายสิทธิตถะ
       ท่านออกบวชในพระพุทธศาสนา พร้อมกับอนุรุทธะและอุบาลี เป็นต้น และได้รับเลือกเป็นพระอุปัฏฐากประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้า
       ได้รับยกย่องเป็น เอตทัคคะหลายด้าน คือ เป็นพหูสูต เป็นผู้มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็นอุปัฏฐาก
       ท่านบรรลุพระอรหัต หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน เป็นกำลังสำคัญในคราวทำปฐมสังคายนา คือ เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม (ซึ่งต่อมาแบ่งเป็นพระสูตรและพระอภิธรรม)
       ท่านดำรงชีวิตสืบมาจนอายุได้ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพานในอากาศ เหนือแม่น้ำโรหิณี ซึ่งเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างแคว้นของพระญาติ ๒ ฝ่าย คือ ศากยะและโกลิยะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 14
อุปฐาก ดู อุปัฏฐาก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 14
อุปวาณะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลพราหมณ์ผู้มั่งคั่ง ในนครสาวัตถี
       ได้เห็นพระพุทธองค์ในพิธีถวายวัดพระเชตวัน เกิดความเลื่อมใส จึงได้มาบวชในพระศาสนา และได้บรรลุอรหัตตผล
       ท่านเคยเป็นอุปัฏฐากของพระพุทธองค์ แม้ในวันปรินิพพาน พระอุปวาณะก็ถวายงานพัดอยู่เฉพาะพระพักตร์
       เรื่องราวเกี่ยวกับท่านปรากฏในพระไตรปิฎก ๔-๕ แห่ง
       เช่น เรื่องที่ท่านสนทนากับพระสารีบุตร เกี่ยวกับโพชฌงค์ ๗ ประการ เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 14
อุปัฏฐาก ผู้บำรุง, ผู้รับใช้, ผู้ดูแลความเป็นอยู่, ผู้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสามเณร;
       อุปฐาก ก็เขียน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 14
อุปัฏฐายิกา อุปัฏฐากที่เป็นผู้หญิง


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=อุปัฏฐาก&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%D8%BB%D1%AF%B0%D2%A1&detail=on


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]