ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ ทุคติ ”             ผลการค้นหาพบ  6  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 6
คติ
       1. การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง
       2. ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบการดำเนินชีวิต มี ๕ คือ
           ๑. นิรยะ นรก
           ๒. ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน
           ๓. เปตติวิสัย แดนเปรต
           ๔. มนุษย์ สัตว์มีใจสูงรู้คิดเหตุผล
           ๕. เทพ ชาวสวรรค์ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึงอกนิฏฐพรหม
       (ท่านว่าในที่นี้ จัดอสูรเข้าในเปตตวิสัยด้วย)
       ๓ คติแรกเป็น ทุคติ (ที่ไปเกิดอันชั่ว หรือแบบดำเนินชีวิตที่ไม่ดี)
       ๒ คติหลังเป็น สุคติ (ที่ไปเกิดอันดี หรือแบบดำเนินชีวิตที่ดี)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 6
ทุคติ คติชั่ว, ภูมิชั่ว, ทางดำเนินที่มีความเดือดร้อน, สถานที่ไปเกิดอันชั่ว,
       ที่เกิดที่ไม่ดีมากไปด้วยความทุกข์ ได้แก่ นรก ดิรัจฉาน เปรต
       (บางทีรวม อสุรกาย ด้วย);
       ตรงข้ามกับ สุคติ;
       ดู คติ, อบาย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 6
บอกวัตร บอกข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เมื่อทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว ภิกษุรูปเดียวเป็นผู้บอก อาจใช้วิธีหมุนเวียนกันไปทีละรูป
       ข้อความที่บอกว่าเป็นภาษาบาลี กล่าวถึง
           ปฏิบัติบูชา
           คาถาโอวาทปาฏิโมกข์
           คุณานิสงส์แห่งขันติธรรม
           คำเตือนให้ใส่ใจในธรรม ในเมื่อได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา
           ความไม่ประมาท
           เร่งเพียรพยายามในทางธรรมเพื่อน้อมไปสู่พระนิพพาน และพ้นจากทุคติ
           แล้วกล่าวถึงพุทธกิจประจำวัน ๕ ประการ
           ลำดับกาลในพระพุทธประวัติ
           สิ่งแทนพระองค์ภายหลังพุทธปรินิพพาน
           ชื่อ วัน เดือน ปี และดาวนักษัตร ๒๗
           จบลงด้วยคำเชื้อเชิญให้ตั้งอยู่ในพระพุทธโอวาท บำเพ็ญปฏิบัติบูชา เพื่อบรรลุสมบัติทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ;
       ธรรมเนียมนี้ บัดนี้เลือนลางไปแล้ว

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 6
สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ ปรีชาหยั่งรู้ทางที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง คือ ทั้งสุคติ ทุคติ และทางแห่งนิพพาน
       (ข้อ ๓ ในทศพลญาณ)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 6
สุคติ คติดี, ทางดำเนินที่ดี, สถานที่ที่ดีที่สัตว์โลกซึ่งทำกรรมดีตามแล้วไปเกิด ได้แก่ มนุษย์และเทพ;
       ตรงข้ามกับ ทุคติ; ดู คติ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 6
อกุศลกรรมบถ ทางแห่งกรรมชั่ว, ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล,
       กรรมชั่วอันเป็นทางนำไปสู่ทุคติ มี ๑๐ อย่าง คือ
       ก. กายกรรม ๓ ได้แก่
           ๑. ปาณาติบาต การทำลายชีวิต
           ๒. อทินนาทาน ถือเอาของที่เขามิได้ให้
           ๓. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม
       ข. วจีกรรม ๔ ได้แก่
           ๔. มุสาวาท พูดเท็จ
           ๕. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด
           ๖. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ
           ๗. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ
       ค. มโนกรรม ๓ ได้แก่
           ๘. อภิชฌา ละโมบคอยจ้องอยากได้ของเขา
           ๙. พยาบาท คิดร้ายเขา
           ๑๐. มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากคลองธรรม;
       เทียบ กุศลกรรมบถ


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=ทุคติ&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%B7%D8%A4%B5%D4&detail=on


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]