ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
            การค้นหาคำว่า “ โภชน ”             ผลการค้นหาพบ  23  ตำแหน่ง ดังนี้ :-

แสดงผลการค้น ลำดับที่  1 / 23
ข้าวสุก ในโภชนะ ๕ อย่างคือ ข้าวสุก ๑ ขนมสด ๑ ขนมแห้ง ๑ ปลา ๑ เนื้อ ๑
       ข้าวสุกในที่นี้ หมายถึงธัญญชาติทุกชนิด ที่หุงให้สุกแล้ว เช่นข้าวเจ้าข้าวเหนียว หรือที่ตกแต่งเป็นของต่างชนิด เช่น ข้าวมัน ข้าวผัด เป็นต้น

แสดงผลการค้น ลำดับที่  2 / 23
คณโภชน ฉันเป็นหมู่ คือ ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป รับนิมนต์ออกชื่อโภชนะ แล้วฉัน;
       อีกนัยหนึ่งว่า นั่งล้อมโภชนะฉัน หรือฉันเข้าวง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  3 / 23
จำพรรษา อยู่ประจำวัด ๓ เดือนในฤดูฝน คือ
       ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (อย่างนี้เรียก ปุริมพรรษา แปลว่า “พรรษาต้น”) หรือ
       ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (อย่างนี้เรียก ปัจฉิมพรรษา แปลว่า “พรรษาหลัง”);
       วันเข้าพรรษาต้น คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เรียกว่า ปุริมิกา วัสสูปนายิกา,
       วันเข้าพรรษาหลัง คือ แรม ๑ ค่ำเดือน ๙ เรียกว่า ปัจฉิมิกา วัสสูปนายิกา ;
       คำอธิษฐานพรรษา ว่า
           “อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ;
           ทุติยมฺปี อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ;
           ตติยมฺปิ อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ”
       แปลว่า “ข้าพเจ้าเข้าอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนในวัดนี้” (วิหาเร จะเปลี่ยนเป็น อาวาเส ก็ได้);
       อานิสงส์การจำพรรษามี ๕ อย่าง คือ
           ๑. เที่ยวไปไม่ต้องบอกลา
           ๒. จาริกไปไม่ต้องเอาไตรจีวรไปครบสำรับ
           ๓. ฉันคณโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้
           ๔. เก็บอดิเรกจีวรได้ตามปรารถนา
           ๕. จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอ
       อานิสงส์ทั้ง ๕ นี้ได้ชั่วเวลาเดือนหนึ่ง นับแต่ออกพรรษาแล้ว คือ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒
       นอกจากนั้นยังได้สิทธิที่จะกรานกฐิน และได้รับอานิสงส์ ๕ นั้น ต่อออกไปอีก ๔ เดือน
       (ภิกษุผู้เข้าพรรษาแล้วหลัง ไม่ได้อานิสงส์หรือสิทธิพิเศษเหล่านี้)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  4 / 23
ปรัมปรโภชน โภชนะทีหลัง คือ ภิกษุรับนิมนต์ในที่แห่งหนึ่งด้วยโภชนะทั้ง ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วไม่ไปฉันในที่นิมนต์นั้น ไปฉันเสียในที่อื่นที่เขานิมนต์ทีหลังซึ่งพ้องเวลากัน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  5 / 23
ปลา ในโภชนะ ๕ อย่างคือ
       ๑. ข้าวสุก
       ๒. ขนมสด
       ๓. ขนมแห้ง
       ๔. ปลา
       ๕. เนื้อ
           ปลาในที่นี้หมายความรวมไปถึง หอย กุ้ง และสัตว์น้ำเหล่าอื่นที่ใช้เป็นอาหาร

แสดงผลการค้น ลำดับที่  6 / 23
ภัตตัคควัตร ข้อควรปฏิบัติในหอฉัน,
       ธรรมเนียมในโรงอาหาร ท่านจัดเข้าเป็นกิจวัตรประเภทหนึ่ง กล่าวย่อ มี ๑๑ ข้อ คือ
           นุ่งห่มให้เรียบร้อย,
           รู้จักอาสนะอันสมควรแก่ตน,
           ไม่นั่งทับผ้าสังฆาฏิในบ้าน,
           รับน้ำและโภชนะของถวายจากทายกโดยเอื้อเฟื้อ และคอยระวังให้ได้รับทั่วถึงกัน,
           ถ้าพอจะแลเห็นทั่วกัน พระสังฆเถระพึงลงมือฉัน เมื่อภิกษุทั้งหมดได้รับโภชนะทั่วกันแล้ว,
           ฉันด้วยอาการเรียบร้อยตามหลักเสขิยวัตร,
           อิ่มพร้อมกัน (หัวหน้ารอยังไม่บ้วนปากและล้างมือ),
           บ้วนปากและล้างมือระวังไม่ให้น้ำกระเซ็น,
           ฉันในที่มีทายกจัดถวาย เสร็จแล้วอนุโมทนา,
           เมื่อกลับอย่าเบียดเสียดกันออกมา,
           ไม่เทน้ำล้างบาตรมีเมล็ดข้าว หรือของเป็นเดนในบ้านเขา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  7 / 23
โภชน ของฉัน, ของกิน, โภชนะทั้ง ๕ ได้แก่ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  8 / 23
โภชนปฏิสังยุต ธรรมเนียมที่เกี่ยวกับโภชนะ,
       ข้อที่ภิกษุสามเณรควรประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับการรับบิณฑบาตและฉันอาหาร,
       เป็นหมวดที่ ๒ แห่งเสขิยวัตร มี ๓๐ สิกขาบท

แสดงผลการค้น ลำดับที่  9 / 23
โภชนวรรค หมวดที่ว่าด้วยเรื่องอาหารเป็นวรรคที่ ๔ แห่งปาจิตติยกัณฑ์ในมหาวิภังค์ แห่งพระวินัยปิฎก

แสดงผลการค้น ลำดับที่  10 / 23
โภชนะทีหลัง ดู ปรัมปรโภชน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  11 / 23
โภชนะเป็นของสมณะ (ในสิกขาบทที่ ๒ แห่งโภชนวรรค)
       พวกสมณะด้วยกันนิมนต์ฉัน (ฉันเป็นหมู่ได้ ไม่ต้องอาบัติปาจิตตีย์)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  12 / 23
โภชนะอันประณีต เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ปลา เนื้อ นมสด นมส้ม

แสดงผลการค้น ลำดับที่  13 / 23
โภชนาหาร อาหารคือของกิน

แสดงผลการค้น ลำดับที่  14 / 23
โภชนียะ ของควรบริโภค, ของสำหรับฉัน ได้แก่ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  15 / 23
วัตถุ ๑๐ เรื่องที่เป็นต้นเหตุ, ข้อซึ่งเป็นที่ตั้งหรือเป็นจุดเริ่มเรื่อง,
       ข้อปฏิบัติ ๑๐ ประการของพวกภิกษุวัชชีบุตร ชาวเมืองเวสาลี ที่ผิดเพี้ยนย่อหย่อนทางพระวินัย แปลกจากสงฆ์พวกอื่น เป็นเหตุปรารภให้มีการสังคายนาครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๑๐๐ มีดังนี้
           ๑. สิงคิโลณกัปปะ เรื่องเกลือเขนง
               ถือว่า เกลือที่เก็บไว้ในเขนง (ครั้งนั้นภิกษุเก็บเกลือไว้ในเขนง ความหมายคือ รับประเคนไว้ค้างคืนแล้ว) เอาออกผสมอาหารฉันได้
           ๒. ทวังคุลกัปปะ เรื่องสองนิ้ว
               ถือว่า เงาแดดบ่ายเลยเที่ยงเพียง ๒ นิ้ว ฉันอาหารได้
           ๓. คามันตรกัปปะ เรื่องเข้าละแวกบ้าน
               ถือว่า ภิกษุฉันแล้ว ห้ามอาหารแล้ว ปรารภว่าจะเข้าละแวกบ้านเดี๋ยวนั้น ฉันโภชนะเป็นอนติริตตะได้
           ๔. อาวาสกัปปะ เรื่องอาวาส
               ถือว่า ภิกษุในหลายอาวาสที่มีสีมาเดียวกัน แยกทำอุโบสถต่างหากกันได้
           ๕. อนุมติกัปปะ เรื่องอนุมัติ
               ถือว่า ภิกษุยังมาไม่พร้อม ทำสังฆกรรมไปพลาง ภิกษุที่มาหลังจึงขออนุมัติก็ได้
           ๖. อาจิณณกัปปะ เรื่องเคยประพฤติมา
               ถือว่า ธรรมเนียมใดอุปัชฌาย์อาจารย์เคยประพฤติมาแล้ว ควรประพฤติตามอย่างนั้น
           ๗. อมถิตกัปปะ เรื่องไม่กวน
               ถือว่า น้ำนมสดแปรไปแล้วแต่ยังไม่เป็นทธิคือนมส้ม ภิกษุฉันแล้ว ห้ามอาหารแล้ว ดื่มน้ำนมอย่างนั้น อันเป็นอนติริตตะได้
           ๘. ชโลคิง ปาตุง ถือว่า สุราอย่างอ่อน ไม่ให้เมา ดื่มได้
           ๙. อทสกัง นิสีทนัง ถือว่า ผ้านิสีทนะไม่มีชายก็ใช้ได้
           ๑๐. ชาตรูปรชตัง ถือว่า ทองและเงินเป็นของควร รับได้
       กรณีวัตถุ ๑๐ ประการนี้ จัดเป็นวิวาทาธิกรณ์ใหญ่เรื่องหนึ่ง

แสดงผลการค้น ลำดับที่  16 / 23
วิกาล ผิดเวลา,
       ในวิกาลโภชนสิกขาบท (ห้ามฉันอาหารในเวลาวิกาล) หมายถึง ตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงก่อนอรุณวันใหม่;
       ส่วนในอันธการวรรค สิกขาบทที่ ๗ ในภิกขุนีวิภังค์ (ห้ามภิกษุณีเข้าสู่ตระกูลในเวลาวิกาล เอาที่นอนปูลาดนั่งนอนทับโดยไม่บอกกล่าวขออนุญาตเจ้าบ้าน) หมายถึง ตั้งแต่พระอาทิตย์ตกจนถึงก่อนอรุณวันใหม่;
       ในสิงคาลกสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สุตตันตปิฎก กล่าวถึงการเที่ยวซอกแซกในเวลาวิกาลว่าเป็นอบายมุขนั้น ก็หมายถึงเวลาค่ำ

วิกาลโภชน การกินอาหารในเวลาวิกาล, การฉันอาหารผิดเวลา
       ดู วิกาล

แสดงผลการค้น ลำดับที่  17 / 23
วุฏฐานสมมติ มติอนุญาตให้ออกจากความเป็นสิกขมานาเพื่ออุปสมบทเป็นภิกษุณี,
       นางสิกขมานาผู้สมาทานสิกขาบท ๖ ข้อ ตั้งแต่ปาณาติปาตา เวรมณี ถึงวิกาลโภชนา เวรมณี โดยมิได้ขาด ครบเวลา ๒ ปีแล้ว จึงมีสิทธิขอวุฏฐานสมมติ เพื่ออุปสมบทเป็นภิกษุณีต่อไป

แสดงผลการค้น ลำดับที่  18 / 23
ศีล ๘ สำหรับฝึกตนให้ยิ่งขึ้นไปโดยรักษาในบางโอกาส หรือมีศรัทธาจะรักษาประจำก็ได้ เช่น แม่ชีมักรักษาประจำ หัวข้อเหมือนศีล ๕ แต่เปลี่ยนข้อ ๓ และเติมข้อ ๖-๗-๘ คือ
       ๓. เว้นจากประพฤติผิดพรหมจรรย์ คือเว้นจากร่วมประเวณี
       ๖. เว้นจากบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือเที่ยงแล้วไป
       ๗. เว้นจากฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ การทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ ซึ่งใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง
       ๘. เว้นจากที่นอนอันสูงใหญ่ หรูหราฟุ่มเฟือย;
       คำสมาทาน (เฉพาะที่ต่างจากศีล ๕) ว่า
           ๓. อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
           ๖. วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
           ๗. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
           ๘. อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ;
       ดู อาราธนาศีล ด้วย

แสดงผลการค้น ลำดับที่  19 / 23
โภชนสกุล สกุลที่กำลังบริโภคอาหารอยู่, ครอบครัวที่กำลังบริโภคอาหารอยู่
       (ห้ามไม่ให้ภิกษุไปนั่งแทรกแซง ตามสิกขาบทที่ ๓ แห่งอเจลกวรรค ปาจิตติยกัณฑ์)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  20 / 23
สันนิธิ การสั่งสม, ของที่สั่งสมไว้
       หมายถึง ของเคี้ยวของฉันที่รับประเคนแล้วเก็บไว้ค้างคืนเพื่อจะฉันในวันรุ่งขึ้น ภิกษุฉันของนั้น เป็นปาจิตตีย์ทุกคำกลืน
       (สิกขาบทที่ ๘ แห่งโภชนวรรค ปาจิตติยกัณฑ์)

แสดงผลการค้น ลำดับที่  21 / 23
สัปปายะ สิ่ง สถาน หรือบุคคล ซึ่งเป็นที่สบาย เหมาะกัน เกื้อกูล หรือเอื้ออำนวยโดยเฉพาะที่ช่วยเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญและประคับประคองรักษาสมาธิ
       ท่านแสดงไว้ ๗ อย่าง คือ
           อาวาส (ที่อยู่)
           โคจร (ที่บิณฑบาตหรือแหล่งอาหาร)
           ภัสสะ (เรื่องพูดคุยที่เสริมการปฏิบัติ)
           บุคคล (ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยแล้วช่วยให้จิตผ่องใสสงบมั่นคง)
           โภชน (อาหาร)
           อุตุ (สภาพแวดล้อมและอุณหภูมิ)
           อิริยาบถ;
       ทั้ง ๗ นี้ที่เหมาะกันเป็นสัปปายะ ที่ไม่สบายเป็นอสัปปายะ

แสดงผลการค้น ลำดับที่  22 / 23
สิกขมานา นางผู้กำลังศึกษา,
       สามเณรีผู้มีอายุถึง ๑๘ ปีแล้ว อีก ๒ ปีจะครบบวชเป็นภิกษุณี ภิกษุณีสงฆ์สวดให้สิกขาสมมติ คือ ตกลงให้สมาทานสิกขาบท ๖ ประการ ตั้งแต่ปาณาติปาตา เวรมณี จนถึง วิกาลโภชนา เวรมณี ให้รักษาอย่างเคร่งครัดไม่ขาดเลย ตลอดเวลา ๒ ปีเต็ม (ถ้าล่วงข้อใดข้อหนึ่ง ต้องสมาทานตั้งแต่ต้นไปใหม่อีก ๒ ปี)
       ครบ ๒ ปี ภิกษุณีสงฆ์จึงทำพิธีอุปสมบทให้
       ขณะที่สมาทานสิกขาบท ๖ ประการอย่างเคร่งครัดนี้ เรียกว่า นางสิกขมานา

แสดงผลการค้น ลำดับที่  23 / 23
เสขิยวัตร วัตรที่ภิกษุจะต้องศึกษา,
       ธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาทที่ภิกษุพึงสำเหนียก หรือพึงฝึกฝนปฏิบัติ
       มี ๗๕ สิกขาบท จำแนกเป็น
           สารูป ๒๖,
           โภชนปฏิสังยุต ๓๐,
           ธัมมเทสนาปฏิสังยุต ๑๖ และปกิรณะคือเบ็ดเตล็ด ๓,
       เป็นหมวดที่ ๗ แห่งสิกขาบท ในบรรดาสิกขาบท ๒๒๗ ของพระภิกษุ
       ท่านให้สามเณรถือปฏิบัติด้วย


พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=โภชน&detail=on
http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%E2%C0%AA%B9&detail=on


บันทึก  ๒, ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐. พ.ศ. ๒๕๔๖ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]