ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก  หนังสือธรรมะ
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
มิลินทปัญหา
ฉัททันตโชติปาลอารัพภปัญหา ที่ ๕
             สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากรจึงตรัสถามอรรถปัญหาอื่นสืบไปว่า ภนฺเต นาคเสน ข้าแต่นาคเสนผู้ปรีชา สมเด็จพระบรมศาสดามีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ภิกฺขเว ดูรานะภิกษุ ทั้งหลาย เมื่อพระตถาคตเสวยพระชาติเป็นพระยาคชสารชื่อว่าฉัททันต์นั้น ยังมีพรานคนหนึ่ง เห็นพระยาฉัททันต์นั้นกับบริวารนมัสการพระสมณะนุ่งห่มกาสาวพัสตร์ โดยเคารพนับถือยิ่ง นักหนา พรานป่านั้นจึงเอาผ้ากาสาวพัสตร์ย้อมฝาดนุ่งห่มเข้าแล้ว ก็ปลอมเป็นสมณะนั่งอยู่ที่ร่มไม้ ส่วนว่าหมู่ช้างบริวารกับพระยาฉัททันต์ก็อภิวันท์ไหว้พรานนั้น ด้วยสำคัญว่าเป็นสมณะ ยกงวง จบแล้วพากันไป พรานนั้นจึงยิงช้างตัวหลังที่ล้าๆ อยู่นั้น คราวละตัวๆ จนบริวารพระยาฉัท- ทันต์น้อยไป พระยาฉัททันต์ประกอบด้วยปัญญา จึงคิดคุมบริวารตามมาต่อภายหลัง ก็เห็น นายพรานกระทำดังนั้น พระยาฉัททันต์จึงเอางวงฉวยจับพรานนั้นได้ คิดว่าจะฆ่าพรานนั้นให้ ตายแต่ได้เห็นกาสาวพัสตร์พันกายพรายอยู่ ก็มิได้ฆ่าพรานนั้นด้วยจิตสำคัญว่าผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นธงชัยพระอรหันต์อันเลิศ สมเด็จพระสัพพัญญูผู้ประเสริฐตรัสเทศนาฉะนี้แล้วมาภายหลัง สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าตรัสพระสัทธรรมเทศนาว่า เมื่อตถาคตเสวยพระชาติเป็นโชติปาล- มาณพนั้น บริภาษกล่าววาจาหยาบช้าต่อพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยถ้อยคำว่าสมณะ ศีรษะโล้น นี่แหละ คำเดิมตรัสว่าเมื่อตถาคตเป็นพระโพธิสัตว์นี้ มีจิตเคารพกาสาวพัสตร์ คำ ภายหลังตรัสว่ากล่าวคำหยาบช้าในพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทำไมสมเด็จพระกัสสปสัม- มาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงกาสาวพัสตร์ธงชัยพระอรหัตหรือ พระโพธิสัตว์จึงไม่เคารพยำเกรงต่อผ้า กาสาวพัสตร์ กลับบริภาษหยาบช้า นี่แหละจะถือเอาถ้อยคำภายหลัง คำเดิมจะผิดพลั้ง ครั้น จะเชื่อคำเดิม คำภายหลังก็จะผิด หารู้ที่จะฟังเป็นเที่ยงไม่ ปัญหานี้จัดในอุภโตโกฏิเป็นสอง เงื่อนเนื้อความต่างกัน นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาปัญหานี้ให้แจ้งก่อน              พระนาคเสนผู้ทรงอริยสังวรวิสัชนาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร สมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาจารย์ตรัสว่า เมื่อครั้งตถาคตเป็นพระยาฉัททันต์ จิตนั้น เคารพนบนอบในกาสาวพัสตร์ ครั้นแล้วพระองค์ตรัสว่า เมื่อตถาคตเป็นโชติปาลมาณพนั้น บริภาษเป็นผรุสาวาทแก่สมเด็จพระพุทธกัสสปเจ้า ด้วยมุณฑกวาทะนั้นจริง แต่ทว่าเป็นด้วย โชติปาลมาณพนั้นเกิดในสกุลเป็นมิจฉาทิฐิไม่มีศรัทธา มารดาบิดาพี่ป้าน้าอาตลอดถึงทาสกรรมกร ทั้งหลาย ย่อมนัยถือพราหมณ์ว่าอุดมว่าประเสริฐ พากันติเตียนพระภิกษุในพระพุทธศาสนา สมเด็จพระกัสสปทศพลญาณว่าไม่ประเสริฐ เหมือนพราหมณ์ที่ตนนับถือไหว้นบเคารพสักการบูชา โชติปาลมาณพนั้น เป็นมิตรสหายกับช่างหม้อ ฝ่ายช่างหม้อเป็นสัมมาทิฐิ จึงชวนโชติปาล มาณพว่า เราจะพาท่านไปสู่สำนักสมเด็จพระพุทธกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า โชติปาลมาณพจึงว่า ดูกรสหาย ท่านจะพาเราไปสู่สำนักสมณะศรีษะโล้น ธุระทำวนอะไรจงบอกให้รู้ โชติปาลมาณพ พูดดังนี้ด้วยสามารถสำเหนียกเรียกตามพวกมิจฉาทิฐิ จะได้กล่าววาจาด้วยสามารถใจโกรธหา มิได้ ว่าตามปรกติ ได้ยินเขาว่าตัวก็ว่าบ้าง มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้ ประเสริฐ อมตํ วิสมาปชฺชต ติตฺติกํ โหติ ธรรมดาว่าน้ำอมฤตอันหวาน เมื่อเจือจานกับด้วย ยาพิษอันขมเฝื่อนมากกว่ามาก ก็พลอยขมเฝื่อนไป ถ้ายาพิษน้อย น้ำอมฤตมาก ยาพิษก็ กลายเป็นรสหวาน เมื่อข้างไหนมาก็พาข้างน้อยให้ถอยรสไป ประการหนึ่ง เหมือนน้ำกับไฟ น้ำมากไฟก็แพ้น้ำ ไฟมากน้ำก็กลับแพ้ไฟ ปาโป กลฺยาณมิตฺตํ คนใจบาปเสพมิตรเป็นบัณฑิต ก็พลอยเป็นใจกุศลไป กลฺยาโณ ปาปมิตฺตํ คนที่มีจิตเป็นกุศลเล่า ถ้าว่าเสพกับคนใจบาปก็กลาย เป็นบาปไป โชติปาลมาณพเกิดในตระกูลมิจฉาทิฐิไม่มีศรัทธาก็พลอยหาศรัทธามิได้ และเจรจา หยาบคายไปตามบิดามารด มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ อคฺคิกฺ ขนฺโธ อันว่ากองเพลิงอันใหญ่มีรัศมีสว่างไสวรุ่งเรืองงดงาม ครั้นมีบุคคลเอาน้ำโปรยให้ดับลง ก็ดับหมด รัศมีมีแต่ถ่านดำ ปริปกฺกนิคฺคณฺฑิผลสทิโส เปรียบดุจผลไม้ที่หล่นจากขั้วอันงอม เน่าดำไปฉะนั้น ความที่กล่าวนี้ ยถา มีครุวนาฉันใด โชติปาลมาณพนั้นเป็นสัพพัญญูโพธิสัตว์ เจ้าอันประเสริฐ ปุญฺญวนฺโต มีบุญเลิศ ญาณวิปุลปฺปภาโส มีปัญญาอันเห็นสว่างไพบูลย์ มาเกิดในตระกูลอันไม่มีศรัทธา สติปัญญายังอ่อนเป็นทารกอยู่ไม่รู้อะไร ก็ต้องประพฤติเป็นไป ตามเยี่ยงตามอย่างบิดามารดา อันเจรจาเป็นถ้อยคำหยาบช้าก็หยาบช้าด้วย เหตุดังนั้น โชติ- ปาลกุมาร จะได้มีจิตสันดานเคียดแค้นชิงชังในสมเด็จพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าหามิได้ ครั้น นานมาปัญญาแก่กล้าพิจารณาเห็นพระพุทธคุณของกัสสปเจ้า ก็มีเมตตาจิตรักใคร่ เข้าไป ขอบรรพชาในสำนักสมเด็จพระมหากรุณากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงพระอนุเคราะห์ ประทานบรรพชาให้ ชินสาสเน ปพฺพชิตฺวา ครั้นโชติปาลมาณพหน่อพุทธางกูรนั้น บรรพชาเข้า ในพระบวรพุทธศาสนา มีอุตสาหะเล่าเรียนพระกรรมฐานไปมิได้นาน ก็ได้ฌานอภิญญา ครั้น กระทำกาลกิริยาแล้ว ก็ได้อุปัชนาการบังเกิดในพรหมโลก นี่แหละบพิตรพระราชสมภาร อัน องค์พระบรมโพธิสัตว์เจ้าแล้วจะเกิดในชาติอันใด ที่ว่าจะไม่เคารพในพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ หามิได้ ขอถวายพระพร              สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีได้ทรงฟังพระนาคเสนแก้ปัญหาก็ปรีดาปราโมทย์ ออกพระโอษฐ์ซ้องสาธุการดุจนัยหนหลัง
ฉัททันตโชติปาลอารัพภปัญหา คำรบ ๕ จบเท่านี้

             เนื้อความมิลินทปัญหา หน้าที่ ๓๕๔ - ๓๕๕. http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=149              สารบัญมิลินทปัญหา http://84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=0#item_149

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]