หมวดหนังสือธรรมะ
  สมุดภาพพระพุทธประวัติ
ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา โดย ครูเหม เวชกร
ภาพที่ ๒๗
พอรุ่งอรุณก็ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เทวดาฝ่ายฟ้อนร่อนรำถวายเป็นพุทธบูชา

	เมื่อพระมหาบุรุษทรงชนะมารแล้วนั้น   พระอาทิตย์กำลังจะอัสดง  ราตรีเริ่มย่างเข้ามา  พระ
มหาบุรุษยังคงประทับนั่งไม่หวั่นไหวที่โพธิบัลลังก์  ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์  ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดใน
พระทัยด้วยวิธีที่เรียกว่าเข้าฌาน  แล้วทรงบรรลุญาณ

	ฌาน  คือ วิธีทำจิตให้เป็นสมาธิ  คือ ให้จิตแน่วแน่  ไม่ฟุ้งซ่านคิดโน่นคิดนี่อย่างปุถุชนธรรมดา  
ส่วนญาณคือปัญญาความรู้แจ้ง  เปรียบให้เห็นความง่ายเข้าก็คือ  แสงเทียนที่นิ่งไม่มีลมพัด  คือ 'ฌาน'  แสง
สว่างอันเกิดจากแสงเทียนเท่ากับปัญญา  (ญาณ)

	พระมหาบุรุษทรงบรรลุญาณที่หนึ่งในตอนปฐมยาม (ประมาณ ๓  ทุ่ม)  ญาณที่หนึ่งนี้เรียกว่า 
'บุพเพนิวาสานุสติญาณ'   หมายถึง   ความรู้แจ้งถึงอดีตชาติหนหลังทั้งของตนและของคนอื่น  พอถึงมัชฌิม
ยาม  (ประมาณเที่ยงคืน)  ทรงบรรลุญาณที่สอง  ที่เรียกว่า 'จุตูปปาตญาณ'  หมายถึงความรู้แจ้งถึงความจุติ  
คือ  ดับและเกิดของสัตวโลก ตลอดถึงความแตกต่างกันที่เรียกว่า 'กรรม' พอถึงปัจฉิมยาม (หลังเที่ยงคืนล่วง
แล้ว) ทรงบรรลุญาณที่สามคือ 'อาสวักขยญาณ'  หมายถึงความรู้แจ้งถึงความสิ้นไปของกิเลส  และอริยสัจ ๔  
คือ  ความทุกข์  เหตุเกิดของความทุกข์  ความดับทุกข์  และวิธีดับทุกข์

	การได้บรรลุญาณทั้งสามของพระมหาบุรุษนั้นเรียกว่า   ตรัสรู้ความเป็นพระพุทธเจ้า   ซึ่งเกิด
ขึ้นในคืนวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เดือน  ๖  หลังจากนั้น  พระนามว่า สิทธัตถะก็ดี  พระโพธิสัตว์ก็ดี  ที่เกิดใหม่  ตอน
ก่อนตรัสรู้ว่าพระมหาบุรุษก็ดี  ได้กลายเป็นพระนามในอดีตหนหลัง  เพราะตั้งแต่นี้ต่อไปทรงมีพระนามใหม่
ว่า  'อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า'  แปลว่าพระผู้ตรัสรู้ธรรมเครื่องหลุดพ้นจากกิเลสโดยชอบด้วยพระองค์เอง

	เหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นที่มหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง  กวีจึงแต่งความเป็นปุคคลาธิษฐานเฉลิมพระ
เกียรติพระพุทธเจ้าว่า   นำสัตว์   มนุษย์นิกร   และทวยเทพในหมื่นโลกธาตุ  หายทุกข์  หายโศก  สิ้นวิปโยค
จากผองภัย  สัตว์ทั้งหลายต่างมีเมตตาจิตต่อกันทุกถ้วนหน้า  เว้นจากเวรานุเวร  อาฆาตมาดร้ายแก่กัน

	ทวยเทพต่างบรรเลงดนตรีสวรรค์  ร่ายรำ  ขับร้อง  แซ่ซ้องถวายเป็นพุทธบูชาและกล่าวสรร
เสริญพระพุทธคุณกันทั่วหน้า
_________________________________________
บันทึก  ๒๘  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๕
ติดต่อ : [email protected]