หมวดหนังสือธรรมะ
  สมุดภาพพระพุทธประวัติ
ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา โดย ครูเหม เวชกร
ภาพที่ ๓๖
สำแดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดเบญจวัคคีย์ ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม

	วันที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรม   'ปฐมเทศนา'   ดังที่เห็นอยู่ในภาพนั้น   คือ   วันขึ้น  
๑๕  ค่ำ  เดือน  ๘  เป็นรุ่งขึ้นหลังจากเสด็จมาถึงและพบเบญจวัคคีย์  คือ  วันอาสาฬหบูชานั่นเอง

	ผู้ฟังธรรมมี  ๕  คน  ที่เรียกว่า 'เบญจวัคคีย์'  เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ
ทรงปฏิเสธสิ่งที่คนคือนักบวชสมัยนั้นนิยมทำกัน  คือ  เรื่องทรมานตนให้ลำบาก   และการปล่อยชีวิตไปตาม
ความใคร่  ทรงปฏิเสธว่าทั้งสองทางนั้น  พระองค์เคยทรงผ่านและทรงทดลองมาแล้ว  ไม่ใช่ทางตรัสรู้เลย  
แล้วทรงแนะนำทางทางสายกลางที่เรียกว่า  'มัชฌิมาปฏิปทา'  คือปฏิบัติดีปฏิบัติตามมรรค  ๘  ที่กล่าวโดย
ย่อคือ  ศีล  สมาธิ  และปัญญา

	เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว  พระสาวกรุ่นทำสังคายนาตั้งชื่อเรื่องเทศน์กัณฑ์ที่พระพุทธเจ้า
ทรงแสดงครั้งแรกนี้ว่า  'ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร'   หรือเรียกโดยย่อว่าธรรมจักร  โดยเปรียบเทียบการแสดง
ธรรมของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ว่า       เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิทรงขับจักรหรือรถศึกแผ่พระบรมเดชานุภาพ  
ต่างแต่จักรหรือรถศึกของพระพุทธเจ้าเป็นธรรม  หรือธรรมจักร

	พอแสดงธรรมกัณฑ์นี้จบลง   โกณฑัญญะ  ผู้หัวหน้าเบญจวัคคีย์ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม   คือ  
ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน  พระพุทธเจ้าจึงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระทัย   เมื่อเห็นโกณฑัญญะได้ฟัง
ธรรมแล้วสำเร็จมรรคผลที่แม้จะเป็นขั้นต่ำ  "อัญญาสิ  วตโก  โกณฑัญโญ  ฯลฯ"  แปลว่า "โอ!  โกณฑัญญะ
ได้รู้แล้ว  ได้สำเร็จแล้ว"  ตั้งแต่นั้นมา  ท่านโกณฑัญญะจึงมีคำหน้าชื่อเพิ่มขึ้นว่า  'อัญญาโกณฑัญญะ'

	โกณฑัญญะฟังธรรมจบแล้ว ได้ทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ  พระพุทธเจ้าจึงทรงประทานอนุญาต
ให้ท่านบวช  ด้วยพระดำรัสรับรองเพียงว่า  "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด  ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว  เธอจงประพฤติ
พรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด"  พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่าน  ส่วนอีก  ๔   ที่เหลือ
นอกนั้น   ต่อมาได้สำเร็จและได้บวชเช่นเดียวกับพระโกณฑัญญะ
_________________________________________
บันทึก  ๒๘  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๔๕
ติดต่อ : [email protected]