ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มหาวรรค ภาค ๑
๘๗. ปาริสุทธิทานกถา
ว่าด้วยการมอบปาริสุทธิ
เรื่องภิกษุไข้มอบปาริสุทธิ
[๑๖๔] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงประชุมกัน สงฆ์จักทำอุโบสถ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๔๕}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๘๗. ปาริสุทธิทานกถา

เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “มีภิกษุเป็นไข้อยู่ พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุไข้นั้นมาไม่ได้” พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุไข้มอบปาริสุทธิ” ภิกษุทั้งหลาย ก็แล ภิกษุไข้พึงมอบปาริสุทธิอย่างนี้ ภิกษุไข้นั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง กระโหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าขอมอบปาริสุทธิ ท่านจงนำ ปาริสุทธิของข้าพเจ้าไป จงบอกปาริสุทธิของข้าพเจ้า” ภิกษุผู้มอบปาริสุทธิให้ภิกษุผู้นำปาริสุทธิรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้ ด้วยกายและวาจา ปาริสุทธิเป็นอันมอบให้แล้ว ภิกษุผู้มอบปาริสุทธิไม่ให้ภิกษุผู้นำ ปาริสุทธิรู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้ด้วยวาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกายและวาจา ปาริสุทธิ เป็นอันยังมิได้มอบ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงใช้ เตียงหรือตั่งหามภิกษุไข้มาในท่ามกลางสงฆ์แล้วทำอุโบสถ ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ได้ปรึกษากัน ดังนี้ว่า ถ้าพวก เราจักย้ายภิกษุไข้ อาการไข้จักกำเริบหนักขึ้นหรือภิกษุไข้จักถึงแก่มรณภาพ ไม่พึง ย้ายภิกษุไข้ สงฆ์พึงไปทำอุโบสถในสำนักภิกษุไข้นั้น แต่สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวกกันทำ อุโบสถ ถ้าแบ่งพวกกันทำ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิหลบไป เสียจากที่นั้น ภิกษุไข้พึงมอบปาริสุทธิแก่ภิกษุรูปอื่น ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิสึกเสีย ณ ที่นั้นแหละ ... มรณภาพ ... ปฏิญญาเป็นสามเณร ... ปฏิญญาเป็นผู้บอก คืนสิกขา ... ปฏิญญาเป็นผู้ต้องอันติมวัตถุ๑- ... ปฏิญญาเป็นผู้วิกลจริต ... ปฏิญญา เป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน ... ปฏิญญาเป็นผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ... ปฏิญญาเป็นผู้ ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ ... ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลง @เชิงอรรถ : @ อันติมวัตถุ หมายถึงอาบัติปาราชิก {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๔๖}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๘๗. ปาริสุทธิทานกถา

อุกเขปนียกรรมเพราะไม่ทำคืนอาบัติ ... ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม เพราะไม่สละทิฏฐิบาป ... ปฏิญญาเป็นบัณเฑาะก์ ... ปฏิญญาเป็นไถยสังวาส๑- ... ปฏิญญาเป็นผู้เข้ารีตเดียรถีย์ ... ปฏิญญาเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่า มารดา ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าบิดา ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์ ... ปฏิญญา เป็นผู้ประทุษร้ายภิกษุณี ... ปฏิญญาเป็นผู้ทำลายสงฆ์ ... ปฏิญญาเป็นผู้ทำร้ายพระ ศาสดาจนห้อพระโลหิต ... ปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนก๒- ภิกษุไข้พึงมอบปาริสุทธิแก่ ภิกษุรูปอื่น ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิหลบไป เสียในระหว่างทาง ปาริสุทธิเป็นอันยังมิได้นำมา ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิสึกเสียใน ระหว่างทาง ฯลฯ ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ปาริสุทธิเป็นอันยังมิได้นำมา ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิเข้าที่ ประชุมสงฆ์แล้วหลบไป ปาริสุทธิเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิเข้าที่ ประชุมสงฆ์แล้วสึกเสีย ฯลฯ ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ปาริสุทธิเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิเข้า ที่ประชุมสงฆ์แล้วหลับเสียไม่ได้บอก เผลอไปไม่ได้บอก เข้าสมาบัติไม่ได้บอก ปาริสุทธิเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุผู้นำปาริสุทธิไม่ต้องอาบัติ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบปาริสุทธิแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำปาริสุทธิเข้าที่ ประชุมสงฆ์แล้ว จงใจไม่บอก ปาริสุทธิเป็นอันนำมาแล้ว แต่ภิกษุผู้นำปาริสุทธิต้อง อาบัติทุกกฏ” @เชิงอรรถ : @ ไถยสังวาส แปลว่า คนลักเพศ คือ ไม่ใช่ภิกษุ แต่ปลอมบวชเป็นภิกษุ @(วิ.อ. ๓/๑๑๐/๘๒, ดูรายละเอียดในเล่มนี้ข้อ ๑๑๐ หน้า ๑๗๔-๑๗๕) @ อุภโตพยัญชนก แปลว่า คน ๒ เพศ คือ มีสัญลักษณ์เพศชาย และเพศหญิง (วิ.อ. ๒/๒๘๕/๓๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๔๗}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๘๘. ฉันททานกถา

๘๘. ฉันททานกถา
ว่าด้วยการมอบฉันทะ
เรื่องทำกรรมที่จะต้องทำ
[๑๖๕] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงประชุมกัน สงฆ์จักทำกรรม” เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “มีภิกษุเป็นไข้อยู่ พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุไข้นั้นมาไม่ได้” พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุไข้มอบฉันทะ
วิธีมอบฉันทะ
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุไข้พึงมอบฉันทะอย่างนี้ ภิกษุไข้นั้นพึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง นั่ง กระโหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าขอมอบฉันทะ ท่านจงนำฉันทะของ ข้าพเจ้าไป จงบอกฉันทะของข้าพเจ้า ภิกษุผู้มอบฉันทะให้ภิกษุผู้นำฉันทะรู้ด้วยกาย ให้รู้ด้วยวาจา หรือให้รู้ด้วย กายและวาจา ฉันทะเป็นอันมอบให้แล้ว ภิกษุผู้มอบฉันทะไม่ให้ภิกษุผู้นำฉันทะ รู้ด้วยกาย ไม่ให้รู้ด้วยวาจา หรือไม่ให้รู้ด้วยกายและวาจา ฉันทะเป็นอันยัง มิได้มอบ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงใช้เตียงหรือ ตั่งหามภิกษุไข้มาในท่ามกลางสงฆ์แล้วทำกรรม ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกภิกษุผู้พยาบาลภิกษุไข้ได้ปรึกษากัน ดังนี้ว่า ถ้าพวก เราจักย้ายภิกษุไข้ อาการไข้จักกำเริบหนักขึ้นหรือภิกษุไข้จักถึงแก่มรณภาพ ไม่พึง ย้ายภิกษุไข้ สงฆ์พึงไปทำกรรมในสำนักภิกษุไข้นั้น แต่สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวกกันทำ กรรม ถ้าแบ่งพวกกันทำ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะหลบไปเสีย จากที่นั้น ภิกษุไข้พึงมอบฉันทะแก่ภิกษุรูปอื่น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๔๘}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๘๘. ฉันททานกถา

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะสึกเสีย ณ ที่นั้นแหละ ... มรณภาพ ... ปฏิญญาเป็นสามเณร ... ปฏิญญาเป็นผู้บอกลาสิกขา ... ปฏิญญาเป็นผู้ต้องอันติมวัตถุ ... ปฏิญญาเป็นผู้วิกลจริต ... ปฏิญญาเป็นผู้มี จิตฟุ้งซ่าน ... ปฏิญญาเป็นผู้กระสับกระส่ายเพราะเวทนา ... ปฏิญญาเป็นผู้ถูก สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่เห็นอาบัติ ... ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม เพราะไม่ทำคืนอาบัติ ... ปฏิญญาเป็นผู้ถูกสงฆ์ลงอุกเขปนียกรรมเพราะไม่สละ ทิฏฐิบาป ... ปฏิญญาเป็นบัณเฑาะก์ ... ปฏิญญาเป็นไถยสังวาส ... ปฏิญญาเป็น ผู้เข้ารีตเดียรถีย์ ... ปฏิญญาเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่ามารดา ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าบิดา ... ปฏิญญาเป็นผู้ฆ่าพระอรหันต์ ... ปฏิญญาเป็นผู้ประทุษ ร้ายภิกษุณี ... ปฏิญญาเป็นผู้ทำลายสงฆ์ ... ปฏิญญาเป็นผู้ทำร้ายพระศาสดาจน ห้อพระโลหิต ... ปฏิญญาเป็นอุภโตพยัญชนก ภิกษุไข้พึงมอบฉันทะแก่ภิกษุรูปอื่น ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะหลบไปเสียใน ระหว่างทาง ฉันทะเป็นอันยังมิได้นำมา ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะสึกเสียใน ระหว่างทาง ฯลฯ ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ฉันทะเป็นอันยังมิได้นำมา ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะเข้าที่ประชุม สงฆ์แล้วหลบไป ฉันทะเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะเข้าที่ประชุม สงฆ์แล้วสึกเสีย ฯลฯ ปฏิญาณเป็นอุภโตพยัญชนก ฉันทะเป็นอันนำมาแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะเข้าที่ประชุม สงฆ์แล้วหลับเสียไม่ได้บอก เผลอไปไม่ได้บอก เข้าสมาบัติไม่ได้บอก ฉันทะเป็น อันนำมาแล้ว ภิกษุผู้นำฉันทะไม่ต้องอาบัติ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไข้ได้มอบฉันทะแล้ว ถ้าภิกษุผู้นำฉันทะเข้าที่ประชุม สงฆ์แล้ว จงใจไม่บอก ฉันทะเป็นอันนำมาแล้ว แต่ภิกษุผู้นำฉันทะต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ เราอนุญาตให้ภิกษุผู้มอบปาริสุทธิให้มอบฉันทะ ด้วย เรื่องเหล่านี้เป็นกิจที่สงฆ์ต้องทำ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๔๙}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๘๙. ญาตกาทิคหณกถา

๘๙. ญาตกาทิคหณกถา
ว่าด้วยพวกญาติเป็นต้นจับภิกษุ
เรื่องภิกษุถูกพวกญาติเป็นต้นจับไว้
[๑๖๖] สมัยนั้น ในวันอุโบสถนั้น หมู่ญาติได้จับภิกษุรูปหนึ่งไว้ ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็ในกรณีนี้ ในวันอุโบสถนั้น หมู่ญาติ ได้จับภิกษุไว้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับหมู่ญาตินั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่าน ทั้งหลาย กรุณาปล่อยภิกษุนี้ไว้สักครู่ จนกว่าภิกษุนี้จะทำอุโบสถเสร็จเถิด’ ถ้าได้ อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับญาติเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย กรุณารอ ณ ที่สมควรสักครู่จนกว่าภิกษุนี้จะมอบปาริสุทธิ เสร็จเถิด’ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับญาติ เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย กรุณานำภิกษุนี้ไปไว้นอกสีมาสักครู่จนกว่า สงฆ์จะทำอุโบสถเสร็จเถิด’ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้อย่างนั้น สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวกกันทำอุโบสถ ถ้าแบ่งพวกกันทำ ต้องอาบัติทุกกฏ ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ในกรณีนี้ ในวันอุโบสถนั้น พระราชาทั้งหลายทรงจับ ภิกษุไว้ ... พวกโจรจับไว้ ... พวกนักเลงจับไว้ ... พวกภิกษุที่เป็นศัตรูกันจับไว้ ภิกษุทั้งหลาย พึงกล่าวกับพวกภิกษุที่เป็นศัตรูกันนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย กรุณาปล่อยภิกษุนี้ไว้สักครู่จนกว่าภิกษุนี้จะทำอุโบสถเสร็จเถิด ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าวกับพวกภิกษุที่เป็นศัตรูกันนั้น อย่างนี้ว่า “ท่านทั้งหลาย กรุณารอ ณ ที่สมควรสักครู่จนกว่าภิกษุนี้จะมอบ ปาริสุทธิเสร็จเถิด’ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายพึงกล่าว กับพวกภิกษุที่เป็นศัตรูกันนั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลาย กรุณานำภิกษุนี้ไปไว้นอกสี มาสักครู่จนกว่าสงฆ์จะทำอุโบสถเสร็จเถิด’ ถ้าได้อย่างนั้น นั่นเป็นการดี ถ้าไม่ได้ อย่างนั้น สงฆ์ไม่พึงแบ่งพวกกันทำอุโบสถ ถ้าแบ่งพวกกันทำ ต้องอาบัติทุกกฏ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๕๐}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๙๐. อุมมัตตกสมมติ

๙๐. อุมมัตตกสมมติ
ว่าด้วยการสมมติภิกษุวิกลจริต
[๑๖๗] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงประชุมกัน สงฆ์มีกิจต้องทำ” เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนี้ ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า “มีภิกษุวิกลจริตชื่อว่าคัคคะอยู่ พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุคัคคะนั้นมาไม่ได้” พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุวิกลจริตนี้มี ๒ ประเภท คือ ๑. ภิกษุวิกลจริต ระลึกอุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรม ได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกไม่ได้เลยบ้าง ๒. ภิกษุวิกลจริตมาอุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง ไม่มาเลยบ้าง ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุวิกลจริต ๒ ประเภทนั้น รูปใดที่ยังระลึก อุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุมมัตตก สมมติแก่ภิกษุวิกลจริตเห็นปานนั้น
วิธีให้อุมมัตตกสมมติและกรรมวาจาให้อุมมัตตกสมมติ
ภิกษุทั้งหลาย ก็แลพึงให้อุมมัตตกสมมติอย่างนี้ ภิกษุผู้ฉลาดสามารถพึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาว่า ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุคัคคะเป็นผู้วิกลจริต ระลึกอุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงให้อุมมัตตกสมมติแก่ ภิกษุคัคคะ ผู้วิกลจริต คือ ภิกษุคัคคะระลึกอุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึก สังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง สงฆ์พร้อมภิกษุคัคคะหรือเว้นภิกษุคัคคะ ทำอุโบสถก็ได้ ทำสังฆกรรม ก็ได้ นี้เป็นญัตติ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๔ หน้า : ๒๕๑}

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [๒. อุโปสถขันธกะ]

๙๑. สังฆุโปสถาทิปเภท

ท่านผู้เจริญ ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ภิกษุคัคคะเป็นผู้วิกลจริต ระลึกอุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง ไม่มา บ้าง มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง ถ้าสงฆ์พร้อมกันแล้ว สงฆ์พึงให้อุมมัตตก สมมติแก่ภิกษุคัคคะผู้วิกลจริต คือ ภิกษุคัคคะระลึกอุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้ บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสังฆ กรรมบ้าง ไม่มาบ้าง สงฆ์พร้อมภิกษุคัคคะหรือเว้นภิกษุคัคคะ ทำอุโบสถก็ได้ ทำสังฆกรรมก็ได้ ท่านรูปใดเห็นด้วยกับการให้อุมมัตตกสมมติแก่ภิกษุคัคคะ ผู้วิกลจริต ท่านรูปนั้นพึงนิ่ง ท่านรูปใดไม่เห็นด้วย ท่านรูปนั้นพึงทักท้วง อุมมัตตกสมมติสงฆ์ได้ให้แล้วแก่ภิกษุคัคคะผู้วิกลจริต คือ ภิกษุคัคคะระลึก อุโบสถได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง ระลึกสังฆกรรมได้บ้าง ระลึกไม่ได้บ้าง มาอุโบสถบ้าง ไม่มาบ้าง มาสังฆกรรมบ้าง ไม่มาบ้าง สงฆ์พร้อมภิกษุคัคคะหรือเว้นภิกษุคัคคะ ทำอุโบสถก็ได้ ทำสังฆกรรมก็ได้ สงฆ์เห็นด้วย เพราะฉะนั้นจึงนิ่ง ข้าพเจ้าขอถือ ความนิ่งนั้นเป็นมติอย่างนี้


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๒๔๕-๒๕๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka1/m_siri.php?B=4&siri=61              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=4&A=4729&Z=4872                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=4&i=181              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=4&item=181&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=3&A=3129              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=4&item=181&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=3&A=3129                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu4              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/04i147-e.php#topic22 https://suttacentral.net/pli-tv-kd2/en/brahmali#pli-tv-kd2:22.1.0 https://suttacentral.net/pli-tv-kd2/en/horner-brahmali#Kd.2.2



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :