ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
๓. ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๖
เรื่องพระฉัพพัคคีย์
[๑๕๓] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่ พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้นถึงคราวทำจีวร พระฉัพพัคคีย์ ขอด้ายเขามาเป็นอันมาก. แม้ทำจีวรเสร็จแล้ว ด้ายก็ยังเหลืออยู่เป็นอันมาก. จึงพระฉัพพัคคีย์ ได้ปรึกษากันว่า อาวุโสทั้งหลาย ผิฉะนั้น พวกเราพากันไปขอด้ายแม้อื่นมาให้ช่างหูกทอจีวรเถิด. ครั้นไปขอด้ายแม้อื่นมาแล้ว ให้ช่างหูกทอจีวร. แม้ทอจีวรแล้ว ด้ายก็ยังเหลืออยู่อีกมากมาย. จึงไปขอด้ายแม้อื่นมา ให้ช่างหูกทอจีวรอีกเป็นครั้งที่สอง. แม้ทอจีวรแล้ว ด้ายก็ยังเหลืออยู่อีก มากมาย. จึงไปขอด้ายแม้อื่นมา ให้ช่างหูกทอจีวรอีกเป็นครั้งที่สาม. ชาวบ้านพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ ขอด้ายเขามาเองแล้ว ยังช่างหูกให้ทอจีวรเล่า?. ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านเหล่านั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่. บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์จึงได้ขอด้ายเขามาเองแล้ว ยังช่างหูกให้ทอจีวรเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่ พระผู้มีพระภาค.
ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ใน เพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอ ขอด้ายเขามาเองแล้ว ยังช่างหูกให้ทอจีวร จริงหรือ? พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนพวกเธอจึงได้ขอด้าย เขามาเองแล้ว ยังช่างหูกให้ทอจีวรเล่า? การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใส ของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว, โดยที่แท้ การ กระทำของพวกเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความ เป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.
ทรงบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระฉัพพัคคีย์โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความ เป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความ คลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความ มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การ ปรารภความเพียรโดยอเนกปริยาย, กระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่เรื่อง นั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัย อำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะ บังเกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ ยังไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระ- *สัทธรรม ๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๔๕. ๖. อนึ่ง ภิกษุใดขอด้ายมาเองแล้ว ยังช่างหูกให้ทอจีวร เป็นนิสสัคคิย- *ปาจิตตีย์.
เรื่องพระฉัพพัคคีย์ จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๑๕๔] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติอย่างใด มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์อย่างใด เป็น เถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม นี้พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า อนึ่ง ... ใด. บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ อรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยวัตร. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว. ชื่อว่า ภิกษุ โดยสมญา. ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นเอหิภิกขุ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็น ผู้เจริญ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่ามีสารธรรม. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นพระเสขะ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นพระอเสขะ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียงกัน อุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบควรแก่ฐานะ. บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุที่สงฆ์ พร้อมเพรียงกัน อุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ นี้ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้. บทว่า เอง คือ ขอเขามาเอง,
ด้ายมี ๖ อย่าง
ที่ชื่อว่า ด้าย นั้นมี ๖ อย่าง คือ ทำด้วยเปลือกไม้ ๑ ทำด้วยฝ้าย ๑ ทำด้วยไหม ๑ ทำด้วยขนสัตว์ ๑ ทำด้วยป่าน ๑ ทำด้วยสัมภาระเจือกันในห้าอย่างนั้น ๑. บทว่า ยังช่างหูก คือ ยังช่างหูกให้ทอ, เป็นทุกกฏในประโยคที่ช่างหูกจัดทำอยู่นั้น, เป็นนิสสัคคีย์ ด้วยได้จีวรมา จำต้องเสียสละแก่สงฆ์ คณะ หรือบุคคล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละจีวรนั้นอย่างนี้:-
วิธีเสียสละ
เสียสละแก่สงฆ์
ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า นั่งกระหย่งประนมมือกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ขอด้ายมาเองแล้วยังช่างหูกให้ทอ เป็นของ จำจะสละ, ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่สงฆ์. ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสียสละ ให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะ สละ เธอสละแล้วแก่สงฆ์ ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์พึงให้จีวรผืนนี้ แก่ภิกษุมีชื่อนี้.
เสียสละแก่คณะ
ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุหลายรูป ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่ พรรษากว่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่านข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ขอด้ายมาเองแล้วยังช่างหูกให้ทอ เป็นของ จำจะสละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่านทั้งหลาย. ครั้นสละแล้ว พึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่ เสียสละให้ด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าดังนี้:- ท่านทั้งหลาย ขอจงฟังข้าพเจ้า จีวรผืนนี้ของภิกษุมีชื่อนี้ เป็นของจำจะสละ เธอสละแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ถ้าความพร้อมพรั่งของท่านทั้งหลายถึงที่แล้ว ท่าน ทั้งหลายพึงให้จีวรผืนนี้แก่ภิกษุมีชื่อนี้.
เสียสละแก่บุคคล
ภิกษุรูปนั้น พึงเข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระหย่งประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า:- ท่าน จีวรผืนนี้ของข้าพเจ้า ขอด้ายมาเองแล้วยังช่างหูกให้ทอ เป็นของจำจะ สละ ข้าพเจ้าสละจีวรผืนนี้แก่ท่าน ครั้นสละแล้ว พึงแสดงอาบัติ. ภิกษุผู้รับเสียสละนั้น พึงรับอาบัติ พึงคืนจีวรที่เสีย สละให้ด้วยคำว่า ข้าพเจ้าให้จีวรผืนนี้แก่ท่าน ดังนี้.
บทภาชนีย์
ติกนิสสัคคิยปาจิตตีย์
[๑๕๕] ให้เขาทอ ภิกษุสำคัญว่าให้เขาทอ, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ให้เขาทอ ภิกษุสงสัย, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์. ให้เขาทอ ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้ให้เขาทอ, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
ทุกกฏ
ไม่ได้ให้เขาทอ ภิกษุสำคัญว่าให้เขาทอ, ต้องอาบัติทุกกฏ. ไม่ได้ให้เขาทอ ภิกษุสงสัย, ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
ไม่ได้ให้เขาทอ ภิกษุสำคัญว่าไม่ได้ให้เขาทอ ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๑๕๖] ภิกษุขอด้ายมาเพื่อเย็บจีวร ๑ ภิกษุขอด้ายมาทำผ้ารัดเข่า ๑ ภิกษุขอด้ายมาทำ ประคตเอว ๑ ภิกษุขอด้ายมาทำผ้าอังสะ ๑ ภิกษุขอด้ายมาทำถุงบาตร ๑ ภิกษุขอด้ายมาทำผ้า กรองน้ำ ๑ ภิกษุขอต่อญาติ ๑ ภิกษุขอต่อคนปวารณา ๑ ภิกษุขอเพื่อประโยชน์ของภิกษุอื่น ๑ ภิกษุจ่ายมาด้วยทรัพย์ของตน ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.
ปัตตวรรค สิกขาบทที่ ๖ จบ.
-----------------------------------------------------

             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ บรรทัดที่ ๓๘๙๕-๔๐๐๔ หน้าที่ ๑๖๒-๑๖๖. https://84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=2&A=3895&Z=4004&pagebreak=0              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2]              อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ :- https://84000.org/tipitaka/pitaka1/m_siri.php?B=2&siri=26              ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=2&i=153              ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- [153-156] https://84000.org/tipitaka/pali/pali_item_s.php?book=2&item=153&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=2&A=5691              The Pali Tipitaka in Roman :- [153-156] https://84000.org/tipitaka/pali/roman_item_s.php?book=2&item=153&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- https://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=2&A=5691              สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒ https://84000.org/tipitaka/read/?index_2              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://suttacentral.net/pli-tv-bu-vb-np26/en/brahmali

อ่านหน้า[ต่าง] แรกอ่านหน้า[ต่าง] ที่แล้วแสดงหมายเลขหน้า
ในกรณี :- 
   บรรทัดแรกของแต่ละหน้าอ่านหน้า[ต่าง] ถัดไปอ่านหน้า[ต่าง] สุดท้าย

บันทึก ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :