ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖. มหาลิสูตร]

เรื่องพราหมณทูต

๖. มหาลิสูตร
ว่าด้วยเจ้าลิจฉวีชื่อมหาลิ
เรื่องพราหมณทูต
[๓๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตกรุง เวสาลี เวลานั้น พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธจำนวนมากมีธุระพักอยู่ในกรุง เวสาลี พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธเหล่านั้นได้ฟังข่าวว่า “ท่านพระสมณ- โคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ฯลฯ๑- การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้ เป็นความดีอย่างแท้จริง” [๓๖๐] ต่อมา พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธเหล่านั้น เข้าไปยัง กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน สมัยนั้นท่านพระนาคิตะเป็นพระพุทธอุปัฏฐาก๒- พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธเหล่านั้น เข้าไปหาท่านพระนาคิตะแล้วเรียนถาม ว่า “ท่านพระนาคิตะ เวลานี้ท่านพระโคดมนั้นประทับอยู่ที่ไหน พวกเราต้องการ เข้าเฝ้าท่านพระโคดมนั้น” ท่านพระนาคิตะตอบว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เวลานี้ไม่ใช่เวลาเข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาค เพราะพระผู้มีพระภาคประทับหลีกเร้นอยู่” พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธเหล่านั้นจึงนั่ง(รอ) ณ ที่สมควรที่พระวิหาร นั้นเองด้วยหวังว่า ‘พวกเราได้เข้าเฝ้าท่านพระโคดมก่อนจึงจะไป’ @เชิงอรรถ : @ ความเต็มเหมือนในอัมพัฏฐสูตร ข้อ ๒๕๕ @ ครั้งปฐมโพธิกาลไม่มีพระพุทธอุปัฏฐากประจำ ฉะนั้น บางคราวท่านพระนาคสมาละทำหน้าที่ บางคราว @ท่านพระนาคิตะทำหน้าที่ บางคราวท่านพระอุปวาณะทำหน้าที่ บางคราวท่านพระสุนักขัตตะทำหน้าที่ @บางคราว สามเณรจุนทะทำหน้าที่ บางคราวท่านพระสาคตะทำหน้าที่ บางคราวท่านพระเมฆิยะทำ @หน้าที่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๕๑}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖. มหาลิสูตร]

เรื่องเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวี

เรื่องเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวี
[๓๖๑] ฝ่ายเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีผู้เป็นบริวารหมู่ใหญ่เสด็จ เข้าไปหาท่านพระนาคิตะที่กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน ทรงกราบท่านพระนาคิตะ แล้วประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควร ทรงถามว่า “ท่านพระนาคิตะ เวลานี้พระผู้มี พระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ที่ไหน โยมต้องการเข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น” ท่านพระนาคิตะตอบว่า “ถวายพระพร มหาลิ เวลานี้ไม่ใช่เวลาเข้าเฝ้าพระ ผู้มีพระภาค เพราะพระผู้มีพระภาคประทับหลีกเร้นอยู่” เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีจึงประทับนั่ง(รอ) ณ ที่สมควรที่พระวิหารนั้นเองด้วยหวังว่า ‘เราได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนจึงจะไป’ [๓๖๒] ต่อมา สามเณรสีหะ๑- เข้าไปหาท่านพระนาคิตะ กราบท่านพระ นาคิตะแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควรเรียนถามว่า “ข้าแต่ท่านพระกัสสปะผู้เจริญ พวก พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธจำนวนมากเข้ามาที่นี่เพื่อจะขอเข้าเฝ้าพระ ผู้มีพระภาค แม้เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีผู้เป็นบริวารหมู่ใหญ่ก็เสด็จมา ที่นี่เพื่อจะขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอโอกาสเถิด ขอรับ ขอให้หมู่ชนนั้นได้เข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาคบ้าง” ท่านพระนาคิตะตอบว่า “สีหะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ ทรงทราบ” สามเณรสีหะรับคำของท่านพระนาคิตะแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบพระผู้มีพระภาคแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พราหมณทูตชาวโกศลและชาวมคธจำนวนมากเข้ามาที่นี่เพื่อจะขอเข้าเฝ้าพระผู้มี พระภาค แม้เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีผู้เป็นบริวารหมู่ใหญ่ก็เสด็จมา ที่นี่เพื่อจะขอเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอ ให้หมู่ชนนั้นได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเถิด” @เชิงอรรถ : @ สามเณรสีหะเป็นหลานชายของท่านพระนาคิตะ (ที.สี.อ. ๓๖๒/๒๗๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๕๒}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖. มหาลิสูตร]

สมาธิที่ภิกษุเจริญ (บำเพ็ญ) เฉพาะส่วน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สีหะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงปูอาสนะไว้ในร่มเงาวิหาร” สามเณรสีหะทูลรับสนองพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วไปจัดอาสนะใน ร่มเงาพระวิหาร [๓๖๓] ต่อมา พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหาร ไปประทับนั่งบน อาสนะที่สามเณรสีหะจัดไว้ในร่มเงาพระวิหาร ลำดับนั้น พราหมณทูตชาวโกศลและ ชาวมคธเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้สนทนากับพระผู้มีพระภาคพอ คุ้นเคยดีแล้วจึงนั่งลง ณ ที่สมควร [๓๖๔] ฝ่ายเจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีผู้เป็นบริวารหมู่ใหญ่ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทรงกราบพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่งอยู่ ณ ที่สมควร กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อหลายวันมาแล้ว เจ้าสุนักขัตตะลิจฉวีบุตร เข้าไปพบข้าพระองค์แล้วบอกว่า ‘มหาลิ ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่ใกล้ชิดพระผู้มี พระภาคไม่นานเพียง ๓ ปี ได้เห็นรูปทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด แต่ไม่ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดที่เจ้าสุนักขัตตะลิจฉวีบุตรไม่ได้ ยินนั้นมีจริงหรือไม่มีจริง”
สมาธิที่ภิกษุเจริญเฉพาะส่วน
[๓๖๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ เสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ ใคร่ พาใจให้กำหนัดที่เจ้าสุนักขัตตะลิจฉวีบุตรไม่ได้ยินนั้นมีอยู่จริง ไม่ใช่ไม่มี” เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรที่เป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้เจ้าสุนักขัตตะลิจฉวีบุตรไม่ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้ กำหนัด ซึ่งมีอยู่จริง ไม่ใช่ไม่มีนั้น” [๓๖๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสมาธิ เฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศตะวันออก แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด เมื่อเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์ ... ในทิศตะวันออก แต่ไม่เจริญสมาธิ เพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์ ... เธอจึงเห็นแต่รูปทิพย์ ... ในทิศตะวันออก แต่ไม่ได้ยินเสียงทิพย์ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๕๓}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖. มหาลิสูตร]

สมาธิที่ภิกษุเจริญ (บำเพ็ญ) ๒ ส่วน

... ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวน ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศตะวันออก แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้ ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด [๓๖๗] ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวน ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศใต้ ฯลฯ ในทิศตะวันตก ฯลฯ ในทิศเหนือ ฯลฯ ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อัน ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด เมื่อเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์ ... ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์ ... เธอจึงเห็นแต่รูปทิพย์ ... ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่ได้ยินเสียง ทิพย์ ... ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวน ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่ เจริญสมาธิเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด [๓๖๘] มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ยินเสียง ทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้เห็นรูป ทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด เมื่อเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศตะวันออก แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์ ... เธอจึง ได้ยินแต่เสียงทิพย์ ... ในทิศตะวันออก แต่ไม่ได้เห็นรูปทิพย์ ... ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พา ใจให้กำหนัดในทิศตะวันออก แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อเห็นรูปทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ ใคร่ พาใจให้กำหนัด [๓๖๙] ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสมาธิเฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศใต้ ฯลฯ ในทิศตะวันตก ฯลฯ ในทิศเหนือ ฯลฯ ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เจริญสมาธิ เพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด เมื่อเจริญสมาธิ เฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่ เจริญสมาธิเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์ ... เธอจึงได้ยินแต่เสียงทิพย์ ... ในทิศเบื้องบน ทิศ เบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เห็นรูปทิพย์ ... ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๕๔}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖. มหาลิสูตร]

สมาธิที่ภิกษุเจริญ (บำเพ็ญ) ๒ ส่วน

เฉพาะส่วนเพื่อให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศ เบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง แต่ไม่เจริญสมาธิเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์อันชวน ให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด [๓๗๐] มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูป ทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ในทิศตะวันออก เมื่อเจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศ ตะวันออก เธอจึงได้เห็นรูปทิพย์และได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศตะวันออก ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์และให้ได้ ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดในทิศตะวันออก [๓๗๑] ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้ เห็นรูปทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ในทิศใต้ ฯลฯ ในทิศตะวันตก ฯลฯ ในทิศเหนือ ฯลฯ ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง เมื่อเจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้เห็นทั้งรูปทิพย์และได้ยินเสียงทิพย์ ... ในทิศ เบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง เธอจึงได้เห็นรูปทิพย์และได้ยินเสียงทิพย์ ... ใน ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเธอเจริญสมาธิทั้ง ๒ ส่วนเพื่อให้ได้เห็นรูปทิพย์และให้ได้ยินเสียงทิพย์อันชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้ กำหนัด ในทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และทิศเฉียง มหาลิ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สุนักขัตตะลิจฉวีบุตรไม่ได้ยินเสียงทิพย์อัน ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ซึ่งมีอยู่จริง ไม่ใช่ไม่มีนั้น” [๓๗๒] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประพฤติ พรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค๑- คงจะมุ่งบรรลุสมาธิภาวนาทั้งสองนั้นเป็นแน่” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาลิ ไม่ใช่ภิกษุจะประพฤติพรหมจรรย์ในเราเพียง เพื่อบรรลุสมาธิภาวนาทั้งสองนี้เท่านั้น แท้จริง ยังมีธรรมอื่นที่ดีกว่าและประณีต กว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ” @เชิงอรรถ : @ คำว่า ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค หมายถึง การบวชประพฤติธรรมในศาสนาของ @พระผู้มีพระภาค {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๕๕}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖. มหาลิสูตร]

อริยมรรคมีองค์ ๘

อริยผล ๔
[๓๗๓] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมที่ดีกว่า และประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคมุ่งจะบรรลุนั้นคือ อะไร” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นโสดาบัน เพราะ ละสังโยชน์๑- ได้ ๓ อย่าง ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ๒- ในวันข้าง หน้า ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุเป็นสกทาคามี เพราะละสังโยชน์ได้ ๓ อย่าง บรรเทา ราคะโทสะและโมหะให้เบาบางได้ มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ ธรรมนี้แลดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุไปบังเกิดเป็นโอปปาติกะ๓- เพราะละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ ๕ อย่าง ปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก ธรรมนี้แลดีกว่าและ ประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ ยังมีอีก มหาลิ ภิกษุทำให้แจ้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ธรรมนี้แลดีกว่าและ ประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ในเรามุ่งจะบรรลุ มหาลิ ธรรมเหล่านี้แลทั้งดีกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์ใน เรามุ่งจะบรรลุ”
อริยมรรคมีองค์ ๘
[๓๗๔] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีทาง มีข้อ ปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมเหล่านั้นอยู่หรือ” @เชิงอรรถ : @ สังโยชน์หมายถึง กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ อย่างคือ สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, @สีลัพพตปรามาส, กามฉันทะหรือกามราคะ, พยาบาทหรือปฏิฆะ, รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจะ, @อวิชชา [องฺ.ทสก. ๒๔/๑๓/๑๔] @ สัมโพธิ ในที่นี้หมายเอา มรรค ๓ เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรคและอรหัตตมรรค) @[ที.สี.อ. ๓๗๓/๒๘๑] @ เป็นโอปปาติกะ ในที่นี้หมายถึงไปเกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่ง {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๕๖}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖. มหาลิสูตร]

เรื่องนักบวช ๒ รูป

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มหาลิ มีทาง มีข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม เหล่านั้นอยู่” [๓๗๕] เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทางเป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมเหล่านั้นเป็นอย่างไร” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐเหล่านี้คือ สัมมา ทิฏฐิ(เห็นชอบ), สัมมาสังกัปปะ(ดำริชอบ), สัมมาวาจา(เจรจาชอบ), สัมมา กัมมันตะ(กระทำชอบ), สัมมาอาชีวะ(เลี้ยงชีพชอบ), สัมมาวายามะ(พยายามชอบ), สัมมาสติ(ระลึกชอบ) และสัมมาสมาธิ(ตั้งจิตมั่นชอบ) นี้แลคือทาง นี้คือข้อปฏิบัติ เพื่อบรรลุธรรมเหล่านั้น
เรื่องนักบวช ๒ รูป
[๓๗๖] มหาลิ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี มีนักบวช ๒ รูป คือ มัณฑิยปริพาชกและชาลิยปริพาชก ซึ่งเป็นศิษย์ของพวกทารุปัตติกะ (นักบวชผู้นิยมใช้บาตรไม้) เข้าไปหาเรา สนทนากับเราพอคุ้นเคยดีแล้วยืนอยู่ ณ ที่ สมควร ถามเราว่า ‘ท่านพระโคดม ชีวะ๑- กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะ กับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’ [๓๗๗] เราตอบว่า ‘ผู้มีอายุ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงตั้งใจให้ดี เราจะบอก’ นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นรับคำของเราแล้ว เราจึงกล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ ตถาคตอุบัติขึ้นมา ในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ ฯลฯ๒- (พึงนำข้อความเต็มใน สามัญญผลสูตรมาใส่ไว้ในที่นี้) ผู้มีอายุ ภิกษุชื่อว่าสมบูรณ์ด้วยศีลเป็นอย่างนี้แล ฯลฯ บรรลุปฐมฌานอยู่ ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะ กล่าวว่า ‘ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’ นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นตอบว่า ‘ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ยังควรที่จะกล่าวว่า ชีวะ กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’ @เชิงอรรถ : @ ชีวะ ในที่นี้หมายถึง วิญญาณอมตะหรือ อาตมัน (Soul) [อภิ.ปญฺจ.อ. ๑/๑/๑๒๙] @ ความเต็มเหมือนในสามัญญผลสูตร ข้อ ๑๙๔-๒๑๒ และควรดูเทียบต่อไปจนถึงข้อ ๒๔๘ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๕๗}

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค [๖. มหาลิสูตร]

เรื่องนักบวช ๒ รูป

เรากล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็น อย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ฯลฯ บรรลุทุติยฌานอยู่ บรรลุตติยฌานอยู่ บรรลุจตุตถฌานอยู่ ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือ ว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’ นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นตอบว่า ‘ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ยังควรที่จะกล่าวว่า ชีวะ กับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’ เรากล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็น อย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ฯลฯ น้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือ ที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’ นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นตอบว่า ‘ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ไม่ควรที่จะกล่าวว่า ชีวะกับ สรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’๑- เรากล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ แต่ก็ไม่กล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็น อย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน ฯลฯ รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ผู้มีอายุ ภิกษุผู้รู้ ผู้เห็นอย่างนี้ ควรละหรือที่จะกล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะ กับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’ นักบวชทั้ง ๒ รูปนั้นตอบว่า ‘ภิกษุผู้รู้ผู้เห็นอย่างนี้ไม่ควรที่จะกล่าวว่า ชีวะกับ สรีระเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’ เรากล่าวว่า ‘ผู้มีอายุ เรารู้เราเห็นอย่างนี้ จึงไม่กล่าวว่า ชีวะกับสรีระเป็นอย่าง เดียวกัน หรือว่าชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน’ดังนี้” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ เจ้าโอฏฐัทธลิจฉวีมีใจยินดีชื่นชมภาษิตของ พระผู้มีพระภาคแล้วแล
มหาลิสูตรที่ ๖ จบ
@เชิงอรรถ : @ คำตอบตรงนี้ น่าจะไม่มี น (ไม่) เหมือนกับที่ไม่มีในสูตรถัดไป {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๙ หน้า : ๑๕๘}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๙ หน้าที่ ๑๕๑-๑๕๘. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=9&siri=6              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=9&A=4399&Z=4960                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=9&i=239              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=9&item=239&items=17              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=4&A=7282              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=9&item=239&items=17              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=4&A=7282                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu9              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/09i239-e.php# https://suttacentral.net/dn6/en/sujato https://suttacentral.net/dn6/en/tw_rhysdavids



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :