ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในอัสสปุรนิคม สูตรเล็ก
การบวชเหมือนมีดสองคม
[๔๓๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัสสปุรนิคมของพระราชกุมาร ชาวอังคะ ในแคว้นอังคะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระ ภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย หมู่ชนย่อมรู้จักเธอทั้งหลายว่า ‘สมณะ สมณะ’ ก็เธอ ทั้งหลายเมื่อเขาถามว่า ‘ท่านทั้งหลายเป็นอะไร’ ก็ปฏิญญาว่า ‘เราทั้งหลายเป็น สมณะ’ เมื่อเธอทั้งหลายนั้นผู้มีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้ ก็ควรสำเหนียกว่า ‘เราทั้งหลายจะปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ เมื่อเราทั้งหลายปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ชื่อและปฏิญญานี้ของเราทั้งหลายก็จักเป็นความจริงแท้ ใช่แต่เท่านั้น เราทั้งหลาย ใช้สอยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของทายกเหล่าใด ปัจจัยทั้งหลายนั้นของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลมาก มีอานิสงส์มากเพราะเรา ทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง บรรพชานี้ของเราทั้งหลายก็จักไม่เป็นหมัน จักมีผล มี ความเจริญ’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้แล [๔๓๖] ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ เป็น อย่างไร คือ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมีอภิชฌามาก ยังละอภิชฌาไม่ได้ มีจิตพยาบาท ยัง ละพยาบาทไม่ได้ เป็นผู้มักโกรธ ยังละความมักโกรธไม่ได้ มีความผูกโกรธ ยังละ ความผูกโกรธไม่ได้ มีความลบหลู่ ยังละความลบหลู่ไม่ได้ มีความตีเสมอ ยังละ ความตีเสมอไม่ได้ มีความริษยา ยังละความริษยาไม่ได้ มีความตระหนี่ ยังละ ความตระหนี่ไม่ได้ มีความโอ้อวด ยังละความโอ้อวดไม่ได้ มีมารยา ยังละมารยา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๖๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

ไม่ได้ มีความปรารถนาที่เป็นบาป ยังละความปรารถนาที่เป็นบาปไม่ได้ มีความ เห็นผิด ยังละความเห็นผิดไม่ได้ เพราะยังละกิเลสที่เป็นมลทินของสมณะ เป็นโทษของสมณะ เป็นดุจน้ำฝาด ของสมณะ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดในอบาย และมีวิบากที่จะพึงเสวยในทุคติเหล่านี้ไม่ได้ เราจึงกล่าวว่า ‘ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ’ ภิกษุทั้งหลาย อุปมาเหมือนอาวุธที่ชื่อมตชะ๑- มีคม ๒ ข้าง ทั้งชุบและ ลับดีแล้ว สอดไว้ในฝัก แม้ฉันใด เรากล่าวว่าบรรพชาของภิกษุนี้ก็มีอุปมาฉันนั้น
มิใช่สมณะด้วยเครื่องแบบและวัตร
[๔๓๗] ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้นุ่งห่มผ้าซ้อน๒- มีความเป็นสมณะ๓- ด้วยอาการเพียงการนุ่งห่มผ้าซ้อน เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้ถือเพศเปลือยกายมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการ เปลือยกาย เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้หมักหมมด้วยธุลีมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการ หมักหมมด้วยธุลี เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้อาบน้ำมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการลงอาบน้ำ เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตรมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการ อยู่โคนไม้เป็นวัตร @เชิงอรรถ : @ อาวุธที่ชื่อมตชะ หมายถึงอาวุธที่ทำจากผงตะไบเหล็กกล้าซึ่งช่างเหล็กคลุกเนื้อให้นกกระเรียนกินแล้วถ่าย @ไม่ได้ตายเองหรือฆ่าให้ตายแล้วนำผงนั้นมาล้างน้ำ คลุกเนื้อให้นกกระเรียนอื่นๆ กินอีกทำอย่างนี้จนครบ @๗ ครั้ง ชื่อว่ามตชะ เพราะเกิดจากนกที่ตายแล้ว อาวุธนั้นเป็นอาวุธคมกล้ายิ่งนัก (ม.มู.อ. ๒/๔๓๖/๒๓๓) @ ผ้าซ้อน ในที่นี้แปลจากคำว่า สังฆาฏิ หมายถึงผ้าที่ใช้ผ้าเก่าฉีกเป็นชิ้นๆ เย็บซ้อนกันใช้เป็นผ้านุ่งและห่ม @เป็นข้อวัตรของลัทธินอกศาสนา มิได้หมายถึงสังฆาฏิที่เป็นเครื่องบริขารของภิกษุในธรรมวินัยนี้ @(ม.มู.อ. ๒/๔๓๗/๒๓๓, ม.มู.ฏีกา ๒/๔๓๗/๒๙๓) @ ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๔๑๖ (มหาอัสสปุรสูตร) หน้า ๔๕๒ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๖๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้อยู่ในที่แจ้งเป็นวัตรมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียง การอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้ยืนแหงนหน้ามีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการ ยืนแหงนหน้า เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้บริโภคภัตตามวาระมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียง การบริโภคภัตตามวาระ เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้ท่องมนตร์มีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการท่องมนตร์ เราไม่กล่าวว่าบุคคลผู้ขมวดผมมีความเป็นสมณะ ด้วยอาการเพียงการขมวดผม หากบุคคลนุ่งห่มผ้าซ้อน มีอภิชฌามาก จะพึงละอภิชฌาได้ด้วยอาการเพียง การนุ่งห่มผ้าซ้อน มีจิตพยาบาท จะพึงละพยาบาทได้ มีความมักโกรธ จะพึงละ ความมักโกรธได้ มีความผูกโกรธ จะพึงละความผูกโกรธได้ มีความลบหลู่ จะพึงละ ความลบหลู่ได้ มีความตีเสมอ จะพึงละความตีเสมอได้ มีความริษยา จะพึงละ ความริษยาได้ มีความตระหนี่ จะพึงละความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวดจะพึงละ ความโอ้อวดได้ มีมารยา จะพึงละมารยาได้ มีความปรารถนาที่เป็นบาป จะพึงละ ความปรารถนาที่เป็นบาปได้ มีความเห็นผิด จะพึงละความเห็นผิดได้ ด้วยอาการ เพียงการนุ่งห่มผ้าซ้อนไซร้ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตก็จะพึงให้บุคคลนั้นนุ่งห่ม ผ้าซ้อนตั้งแต่เกิดทีเดียว พึงชักชวนผู้นั้นให้นุ่งห่มผ้าซ้อนอย่างเดียวว่า ‘ท่านผู้มี หน้าอิ่มเอิบ มาเถิด ท่านจงนุ่งห่มผ้าซ้อน ท่านผู้นุ่งห่มผ้าซ้อนอยู่ มีอภิชฌามาก ก็จักละอภิชฌาได้ด้วยอาการเพียงนุ่งห่มผ้าซ้อน มีจิตพยาบาทก็จักละพยาบาทได้ มีความมักโกรธก็จักละความมักโกรธได้ มีความผูกโกรธก็จักละความผูกโกรธได้ มีความลบหลู่ก็จักละความลบหลู่ได้ มีความริษยาก็จักละความริษยาได้ มีความตระหนี่ ก็จักละความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวดก็จักละความโอ้อวดได้ มีมารยาก็จักละ มารยาได้ มีความปรารถนาที่เป็นบาปก็จักละความปรารถนาที่เป็นบาปได้ มีความ เห็นผิดก็จักละความเห็นผิดได้ ด้วยอาการเพียงการนุ่งห่มผ้าซ้อน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๖๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเราเห็นบุคคลบางคนในโลกนี้แม้นุ่งห่มผ้าซ้อนอยู่ยังมี อภิชฌามาก มีจิตพยาบาท มีความมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีความลบหลู่ มีความตีเสมอ มีความริษยา มีความตระหนี่ มีความโอ้อวด มีมารยา มีความ ปรารถนาที่เป็นบาป มีความเห็นผิด ฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่าบุคคลที่นุ่งห่มผ้าซ้อน มีความเป็นสมณะด้วยอาการเพียงนุ่งห่มผ้าซ้อน หากบุคคลถือเพศเปลือยกาย ฯลฯ หากบุคคลหมักหมมด้วยธุลี ... หาก บุคคลอาบน้ำ ... หากบุคคลอยู่โคนไม้ ... หากบุคคลอยู่ในที่แจ้ง ... หากบุคคล ยืนแหงนหน้า ... หากบุคคลบริโภคภัตตามวาระ ... หากบุคคลท่องมนตร์ ... หาก บุคคลขมวดผม มีอภิชฌามาก จะพึงละอภิชฌาได้ด้วยอาการเพียงการขมวดผม มีจิตพยาบาท จะพึงละพยาบาทได้ มีความมักโกรธ จะพึงละความมักโกรธได้ มี ความผูกโกรธ จะพึงละความผูกโกรธได้ มีความลบหลู่ จะพึงละความลบหลู่ได้ มี ความตีเสมอ จะพึงละความตีเสมอได้ มีความริษยา จะพึงละความริษยาได้ มีความ ตระหนี่ จะพึงละความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวด จะพึงละความโอ้อวดได้ มีมารยา จะพึงละมารยาได้ มีความปรารถนาที่เป็นบาป จะพึงละความปรารถนาที่เป็นบาปได้ มีความเห็นผิด จะพึงละความเห็นผิดได้ด้วยอาการเพียงการขมวดผมไซร้ มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิตก็จะพึงให้บุคคลนั้นขมวดผมตั้งแต่เกิดทีเดียว พึงชักชวนผู้นั้นให้ขมวด ผมอย่างเดียวว่า ‘ท่านผู้มีหน้าอิ่มเอิบ มาเถิด ท่านจงเป็นผู้ขมวดผม ท่านผู้ ขมวดผมอยู่ มีอภิชฌามากก็จักละอภิชฌาได้ด้วยอาการเพียงการขมวดผม มีจิต พยาบาทก็จักละพยาบาทได้ มีความมักโกรธก็จักละความมักโกรธได้ มีความผูก โกรธก็จักละความผูกโกรธได้ มีความลบหลู่ก็จักละความลบหลู่ได้ มีความตีเสมอ ก็จักละความตีเสมอได้ มีความริษยาก็จักละความริษยาได้ มีความตระหนี่ก็จักละ ความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวดก็จักละความโอ้อวดได้ มีมารยาก็จักละมารยาได้ มีความปรารถนาที่เป็นบาปก็จักละความปรารถนาที่เป็นบาปได้ มีความเห็นผิดก็ จักละความเห็นผิดได้ ด้วยอาการเพียงการขมวดผม’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๖๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเราเห็นบุคคลบางคนในโลกนี้แม้ขมวดผมอยู่ ก็ยังมี อภิชฌามาก มีจิตพยาบาท มีความมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีความลบหลู่ มีความตีเสมอ มีความริษยา มีความตระหนี่ มีความโอ้อวด มีมารยา มีความ ปรารถนาที่เป็นบาป มีความเห็นผิด ฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวว่าบุคคลผู้ขมวดผมมี ความเป็นสมณะด้วยอาการเพียงการขมวดผม
ข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ
[๔๓๘] ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ เป็นอย่างไร คือ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งมีอภิชฌามากก็ละอภิชฌาได้ มีจิตพยาบาทก็ละพยาบาทได้ มีความมักโกรธก็ละความมักโกรธได้ มีความผูกโกรธก็ละความผูกโกรธได้ มีความ ลบหลู่ก็ละความลบหลู่ได้ มีความตีเสมอก็ละความตีเสมอได้ มีความริษยาก็ละความ ริษยาได้ มีความตระหนี่ก็ละความตระหนี่ได้ มีความโอ้อวดก็ละความโอ้อวดได้ มี มารยาก็ละมารยาได้ มีความปรารถนาที่เป็นบาปก็ละความปรารถนาที่เป็นบาปได้ มีความเห็นผิดก็ละความเห็นผิดได้ เพราะละกิเลสที่เป็นมลทิน เป็นโทษ เป็นดุจ น้ำฝาดของสมณะ เป็นเหตุให้เกิดในอบาย และมีวิบากที่ตนจะพึงเสวยในทุคติ เหล่านี้ได้ เราจึงกล่าวว่า ‘ภิกษุนั้นเป็นผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่สมณะ’ ภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ หลุดพ้นแล้วจากบาปอกุศลธรรมทั้งปวงนี้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นตนบริสุทธิ์ หลุดพ้นแล้วจากบาปอกุศลธรรมทั้งปวงนี้ ความ ปราโมทย์จึงเกิด เมื่อมีความปราโมทย์ปีติจึงเกิด เมื่อใจมีปีติกายจึงสงบ เมื่อมี กายสงบเธอจึงเสวยสุข เมื่อเธอมีสุขจิตจึงตั้งมั่น เธอมีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีกรุณาจิต ... มีมุทิตาจิต ... มีอุเบกขาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ ... ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๖๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร

เหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ภิกษุทั้งหลาย สระโบกขรณี มีน้ำใสบริสุทธิ์ เย็นสะอาด มีท่าดี น่ารื่นรมย์ ถ้าบุรุษมาจากทิศตะวันออก ถูกความร้อนแผดเผา ร้อน ลำบาก กระหาย อยากดื่มน้ำ เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้วก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำ และความ กระวนกระวายเพราะความร้อนได้ ถ้าบุรุษมาจากทิศตะวันตก ... ถ้าบุรุษมาจาก ทิศเหนือ ... ถ้าบุรุษมาจากทิศใต้ ... ถ้าบุรุษจะมาจากที่ไหนๆ ก็ตามถูกความร้อน แผดเผา ร้อน ลำบาก กระหาย อยากดื่มน้ำ เขามาถึงสระโบกขรณีนั้นแล้ว ก็บรรเทาความอยากดื่มน้ำและความกระวนกระวายเพราะความร้อนได้ แม้ฉันใด ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลกษัตริย์มาบวชเป็นบรรพชิต เธอมาถึงธรรมวินัยที่ ตถาคตประกาศแล้วเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาอย่างนั้น ย่อมได้ ความสงบระงับในภายใน เรากล่าวว่า ‘เป็นผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ สมณะ’ เพราะความสงบระงับในภายในนั้น ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลพราหมณ์ ... ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลแพศย์ ... ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลศูทร ... ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลไหนๆ ก็ตามมาบวชเป็นบรรพชิต เธอมาถึง ธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เจริญเมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขาอย่างนั้น ได้ความสงบระงับในภายใน เรากล่าวว่า ‘เป็นผู้ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่สมควรแก่ สมณะ’ เพราะความสงบระงับในภายในนั้น ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลกษัตริย์มาบวชเป็นบรรพชิต เธอทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ ในปัจจุบัน กุลบุตรนี้ชื่อว่าสมณะ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป’ ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลพราหมณ์ ... {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๖๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [๔. มหายมกวรรค]

รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลแพศย์ ... ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลศูทร ... ถ้ากุลบุตรออกจากตระกูลไหนๆ ก็ตาม มาบวชเป็นบรรพชิต เธอทำให้ แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน กุลบุตรนี้ชื่อว่าสมณะ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ฉันนั้น เหมือนกันแล” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
จูฬอัสสปุรสูตรที่ ๑๐ จบ
มหายมกวรรคที่ ๔ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. จูฬโคสิงคสูตร ๒. มหาโคสิงคสูตร ๓. มหาโคปาลสูตร ๔. จูฬโคปาลสูตร ๕. จูฬสัจจกสูตร ๖. มหาสัจจกสูตร ๗. จูฬตัณหาสังขยสูตร ๘. มหาตัณหาสังขยสูตร ๙. มหาอัสสปุรสูตร ๑๐. จูฬอัสสปุรสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๒ หน้า : ๔๗๐}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๔๖๔-๔๗๐. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=12&siri=40              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=12&A=8744&Z=8866                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=12&i=479              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=12&item=479&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=8&A=5960              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=12&item=479&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=8&A=5960                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu12              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/12i479-e1.php# https://suttacentral.net/mn40/en/sujato https://suttacentral.net/mn40/en/horner



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :