ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑๐. กีฏาคิริสูตร

๑๐. กีฏาคิริสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในกีฏาคีรีนิคม
คุณของการฉันอาหารน้อย
[๑๗๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในแคว้นกาสี พร้อมกับภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่ฉันโภชนะในราตรีเลย เราเมื่อไม่ฉันโภชนะในราตรี ก็รู้สึกว่าสุขภาพมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายก็จงอย่าฉันโภชนะในราตรีเลย เธอทั้งหลาย เมื่อไม่ฉันโภชนะในราตรี ก็จักรู้สึกว่าสุขภาพมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว จากนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไป ในแคว้นกาสีโดยลำดับ จนถึงนิคมของชาวกาสีชื่อกีฏาคีรี ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระผู้มี พระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกาสีชื่อกีฏาคีรี
พระอัสสชิและพระปุนัพพสุกะฉันอาหารในเวลาวิกาล
[๑๗๕] สมัยนั้น ภิกษุชื่ออัสสชิและภิกษุชื่อปุนัพพสุกะ๑- เป็นผู้อยู่ประจำ ในนิคมชื่อกีฏาคีรี ครั้งนั้น ภิกษุจำนวนมากเข้าไปหาภิกษุชื่ออัสสชิและภิกษุชื่อ ปุนัพพสุกะถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวว่า @เชิงอรรถ : @ ท่านทั้งสองเป็นคณาจารย์ในหมู่ภิกษุฉัพพัคคีย์คือท่านพระปัณฑุกะ และท่านพระโลหิตกะปกครอง @บริษัทในกรุงสาวัตถี ท่านพระเมตติยะและท่านพระภุมมชกะปกครองบริษัทอยู่ในกรุงราชคฤห์ @(ม.ม.อ. ๒/๑๗๕/๑๓๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๐๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑๐. กีฏาคิริสูตร

“ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไม่ฉันโภชนะในราตรี พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์เมื่อไม่ฉันโภชนะในราตรี ก็รู้สึกว่าสุขภาพมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ มาเถิด ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ท่านทั้งหลายก็จงอย่าฉันโภชนะในราตรีเลย ท่านทั้งหลายเมื่อไม่ฉันโภชนะในราตรี ก็จักรู้สึกว่าสุขภาพมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ” เมื่อภิกษุทั้งหลายกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุชื่ออัสสชิและภิกษุชื่อปุนัพพสุกะได้ กล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น เวลาเช้า และเวลา วิกาลกลางวัน เราทั้งหลายนั้นเมื่อฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น เวลาเช้า และเวลาวิกาล กลางวัน ก็รู้สึกว่าสุขภาพมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ เราทั้งหลายนั้นจักละคุณที่ตนเห็นเองแล้วไล่ตามผลที่เป็นอนาคตกาล ทำไม เราทั้งหลายจักฉันทั้งเวลาเย็น เวลาเช้า และเวลาวิกาลกลางวัน” เพราะเหตุที่ภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถจะให้ภิกษุชื่ออัสสชิและภิกษุชื่อปุนัพพสุกะ ยินยอมได้ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ข้าพระองค์ทั้งหลายเข้าไปหา ภิกษุชื่ออัสสชิและภิกษุชื่อปุนัพพสุกะถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไม่ฉันโภชนะในราตรี เมื่อพระผู้มีพระภาคและภิกษุ สงฆ์ไม่ฉันโภชนะในราตรี ก็รู้สึกว่าสุขภาพมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ มาเถิด ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ท่านทั้งหลาย ก็จงอย่าฉันโภชนะในราตรีเลย ท่านทั้งหลายเมื่อไม่ฉันโภชนะในราตรีก็จะรู้สึกว่า สุขภาพมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ’ เมื่อข้าพระองค์ทั้งหลายกล่าวอย่างนี้แล้ว ภิกษุชื่ออัสสชิและภิกษุชื่อปุนัพพสุกะ ได้กล่าวว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น เวลาเช้า และเวลาวิกาลกลางวัน เมื่อเราทั้งหลายฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น เวลาเช้า และเวลา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๐๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑๐. กีฏาคิริสูตร

วิกาลกลางวัน ก็รู้สึกว่าสุขภาพมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัย สมบูรณ์ อยู่สำราญ เราทั้งหลายนั้นจักละคุณที่ตนเห็นเองแล้วไล่ตามผลที่เป็น อนาคตกาลทำไม เราทั้งหลายจักฉันทั้งเวลาเย็น เวลาเช้า และเวลาวิกาลกลางวัน’ เพราะเหตุที่ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่สามารถจะให้ภิกษุชื่ออัสสชิและภิกษุชื่อปุนัพพสุกะ ยินยอมได้ จึงมากราบทูลเนื้อความนี้แด่พระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า” [๑๗๖] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษรูปหนึ่งมาตรัสว่า “มาเถิด ภิกษุ เธอจงไปเรียกภิกษุชื่ออัสสชิและภิกษุชื่อปุนัพพสุกะตามคำของเราว่า ‘พระศาสดา ตรัสเรียกท่านทั้งหลาย” ภิกษุนั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาภิกษุชื่ออัสสชิและภิกษุชื่อปุนัพพสุกะ ถึงที่อยู่ แล้วได้กล่าวว่า “พระศาสดาตรัสเรียกท่านทั้งหลาย” ภิกษุชื่ออัสสชิและภิกษุชื่อปุนัพพสุกะรับคำของภิกษุนั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มี พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับ ภิกษุชื่ออัสสชิและภิกษุชื่อปุนัพพสุกะว่า “ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ภิกษุเป็นอันมากเข้าไปหาเธอทั้งสองแล้วกล่าวว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ไม่ฉันโภชนะในราตรี พระผู้มี พระภาคและภิกษุสงฆ์เมื่อไม่ฉันโภชนะในราตรี ก็รู้สึกว่าสุขภาพมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ มาเถิด ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย แม้ท่านทั้งหลายก็จงอย่าฉันโภชนะในราตรีเลย ท่านทั้งหลายเมื่อไม่ฉันโภชนะใน ราตรีก็จะรู้สึกว่าสุขภาพมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ’ ได้ยินว่า เมื่อภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เธอทั้งสองได้กล่าวกับภิกษุ เหล่านั้นอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น เวลา เช้า และเวลาวิกาลกลางวัน เราทั้งหลายเมื่อฉันโภชนะทั้งเวลาเย็น เวลาเช้า และเวลา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๐๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑๐. กีฏาคิริสูตร

วิกาลกลางวัน ก็รู้สึกว่าสุขภาพมีโรคาพาธน้อย กระปรี้กระเปร่า มีพลานามัยสมบูรณ์ อยู่สำราญ เราทั้งหลายนั้นจักละคุณที่ตนเห็นเองแล้วไล่ตามผลที่เป็นอนาคตกาล ทำไม เราทั้งหลายจักฉันทั้งเวลาเย็น เวลาเช้า และเวลาวิกาลกลางวัน’ จริงหรือ” ภิกษุชื่ออัสสชิและภิกษุชื่อปุนัพพสุกะ กราบทูลว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
กุศลธรรมและอกุศลธรรมกับเวทนา ๓
[๑๗๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายรู้ทั่วถึง ธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ว่า ‘บุคคลนี้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา (อุเบกขา) อกุศลธรรมของบุคคลนั้นย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ’ ใช่ไหม” ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้ว อย่างนี้ว่า ‘เมื่อบุคคล บางคนในโลกนี้เสวยสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อม เสื่อม แต่เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อม เสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม แต่เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวย ทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ เมื่อบุคคล บางคนในโลกนี้เสวยอทุกขมสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรม ย่อมเสื่อม แต่เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยอทุกขมสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศล- ธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ ใช่ไหม” “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า” [๑๗๘] “ดีละ ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ ถ้าเราไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่ทำ ให้แจ้ง ไม่สัมผัสด้วยปัญญาว่า ‘เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม’ เราเมื่อไม่รู้อย่างนี้จะพึงกล่าวว่า ‘เธอ ทั้งหลายจงละสุขเวทนาเห็นปานนี้เถิด’ ข้อนี้จักเป็นการสมควรแก่เราหรือไม่” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๐๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑๐. กีฏาคิริสูตร

“ไม่ พระพุทธเจ้าข้า” “เพราะข้อนี้เรารู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว สัมผัสแล้วด้วย ปัญญาว่า ‘เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อม เจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม’ ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลายจงละสุขเวทนาเห็น ปานนี้เถิด’ ข้อนี้ถ้าเราไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่ทำให้แจ้ง ไม่สัมผัสด้วยปัญญาว่า ‘เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศล ธรรมย่อมเจริญ” เราเมื่อไม่รู้อย่างนี้จะพึงกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลายจงเข้าถึงสุขเวทนา เห็นปานนี้อยู่เถิด’ ข้อนี้จักเป็นการสมควรแก่เราหรือไม่” “ไม่ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย เพราะข้อนี้เรารู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว สัมผัสแล้วด้วยปัญญาว่า ‘เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ’ ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลาย จงเข้าถึงสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่เถิด’ [๑๗๙] ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ถ้าเราไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่ทำให้แจ้ง ไม่สัมผัสด้วยปัญญาว่า ‘เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม’ เราเมื่อไม่รู้อย่างนี้ จะพึงกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลายจงละทุกขเวทนาเห็นปานนี้เถิด’ ข้อนี้เป็นการสมควรแก่เราหรือไม่” “ไม่ พระพุทธเจ้าข้า” “เพราะข้อนี้เรารู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว สัมผัสแล้วด้วย ปัญญาว่า ‘เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรม ย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม’ ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลายจงละทุกข- เวทนาเห็นปานนี้เถิด’ ข้อนี้ถ้าเราไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่ทำให้แจ้ง ไม่สัมผัสด้วย ปัญญาว่า ‘เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรม ย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ’ เราเมื่อไม่รู้อย่างนี้ จะพึงกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลาย จงเข้าถึงทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่เถิด’ ข้อนี้จักเป็นการสมควรแก่เราหรือไม่” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๐๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑๐. กีฏาคิริสูตร

“ไม่ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย เพราะข้อนี้เรารู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว สัมผัสแล้วด้วยปัญญาว่า ‘เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ’ ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลาย จงเข้าถึงทุกขเวทนาเห็นปานนี้อยู่เถิด’ [๑๘๐] ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้ถ้าเราไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่ทำให้แจ้ง ไม่สัมผัสแล้วด้วยปัญญาว่า ‘เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยอทุกขมสุขเวทนาเห็น ปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม’ เราเมื่อไม่รู้อย่างนี้ จะพึง กล่าวว่า ‘เธอทั้งหลายจงละอทุกขมสุขเวทนาเห็นปานนี้เถิด’ ข้อนี้เป็นการสมควรแก่ เราหรือไม่” “ไม่ พระพุทธเจ้าข้า” “เพราะข้อนี้เรารู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว สัมผัสแล้วด้วย ปัญญาว่า ‘เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยอทุกขมสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรม ย่อมเจริญ กุศลธรรมย่อมเสื่อม’ ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลายจงละอทุกขม- สุขเวทนาเห็นปานนี้เถิด’ ข้อนี้ถ้าเราไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่ทำให้แจ้ง ไม่สัมผัส ด้วยปัญญาว่า ‘เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยอทุกขมสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ’ เราเมื่อไม่รู้อย่างนี้ จะพึงกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลายจงเข้าถึงอทุกขมสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่เถิด’ ข้อนี้จักเป็นการสมควร แก่เราหรือไม่” “ไม่ พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย เพราะข้อนี้เรารู้แล้ว เห็นแล้ว ทราบแล้ว ทำให้แจ้งแล้ว สัมผัสแล้วด้วยปัญญาว่า ‘เมื่อบุคคลบางคนในโลกนี้เสวยอทุกขมสุขเวทนาเห็น ปานนี้อยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญ’ ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ‘เธอทั้งหลายจงเข้าถึงอทุกขมสุขเวทนาเห็นปานนี้อยู่เถิด’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๐๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑๐. กีฏาคิริสูตร

[๑๘๑] ภิกษุทั้งหลาย เรามิได้กล่าวว่า ‘ภิกษุทั้งหมดจะต้องทำกิจที่ควรทำ ด้วยความไม่ประมาท’ ทั้งมิได้กล่าวว่า ‘ภิกษุทั้งหมดไม่ต้องทำกิจที่ควรทำด้วย ความไม่ประมาท’ ภิกษุเหล่าใดเป็นอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระแล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้น แล้วเพราะรู้โดยชอบ เราย่อมกล่าวว่า ‘ภิกษุเห็นปานนั้นไม่ต้องทำกิจที่ควรทำด้วย ความไม่ประมาท’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นได้ทำกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาทเสร็จแล้ว และภิกษุเหล่านั้น จัดเป็นผู้ไม่ประมาทต่อไป ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดเป็นเสขะยังไม่สำเร็จเป็นอรหันต์ ยังปรารถนาธรรม ที่เป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมอยู่ เรากล่าวว่า ‘ภิกษุเห็นปานนั้น ต้องทำกิจ ที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุเหล่านี้เช่นนี้ว่า ‘จะเป็นการดี ถ้าท่านเหล่านี้ เมื่อใช้สอยเสนาสนะที่สมควร๑- คบหากัลยาณมิตร ปรับอินทรีย์ให้เสมอ จะพึงทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออก จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน ปัจจุบัน’ จึงกล่าวว่า ‘ภิกษุเห็นปานนั้นต้องทำกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท’ @เชิงอรรถ : @ ที่สมควรในที่นี้หมายถึงที่สมควรต่อการปฏิบัติธรรมเหมาะแก่การเจริญกัมมัฏฐาน ภิกษุเมื่ออาศัยอยู่ @อาจบรรลุมรรคผลได้ (ม.ม.อ. ๒/๑๘๑/๑๓๙) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๐๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑๐. กีฏาคิริสูตร

บุคคล ๗ จำพวก
[๑๘๒] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๗ จำพวกนี้๑- มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๗ จำพวก ไหนบ้าง คือ ๑. ท่านผู้เป็นอุภโตภาควิมุต ๒. ท่านผู้เป็นปัญญาวิมุต ๓. ท่านผู้เป็นกายสักขี ๔. ท่านผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ ๕. ท่านผู้เป็นสัทธาวิมุต ๖. ท่านผู้เป็นธัมมานุสารี ๗. ท่านผู้เป็นสัทธานุสารี๒- ท่านผู้เป็นอุภโตภาควิมุต เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ได้สัมผัสสันตวิโมกข์๓- ซึ่งไม่มีรูปเพราะล่วงรูปฌาน ได้ด้วยกาย๔- อยู่ และอาสวะทั้งหลายของผู้นั้นสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้ เราเรียกว่า เป็นอุภโตภาควิมุต เรากล่าวว่า ‘ภิกษุนี้ไม่ต้องทำกิจที่ควรทำด้วยความ ไม่ประมาท’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นได้ทำกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาทเสร็จแล้ว และภิกษุนั้น จัดเป็นผู้ไม่ประมาทต่อไป (๑) @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ ที.ปา. ๑๑/๑๕๐/๙๑, ๓๓๒/๒๒๓, องฺ.สตฺตก. (แปล) ๒๓/๑๔/๒๐, องฺ.ทสก. (แปล) ๒๔/๑๖/๒๙, @อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๕/๑๔๘, ๒๐๘/๒๒๙-๒๓๑ @ ดูเชิงอรรถที่ ๗ ข้อ ๑๓๖ (ภัททาลิสูตร) หน้า ๑๕๓ ในเล่มนี้ @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๗๓ (โคลิสสานิสูตร) หน้า ๑๙๙ ในเล่มนี้ @ กาย ในที่นี้หมายถึงนามกาย คือกองแห่งนามธรรม ได้แก่ เจตสิกทั้งหลาย (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๙/๕๕, @องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๒๖/๘, องฺ.ทุก.ฏีกา ๒/๔๙/๕๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๐๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑๐. กีฏาคิริสูตร

ท่านผู้เป็นปัญญาวิมุต เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ได้สัมผัสสันตวิโมกข์ ซึ่งไม่มีรูปเพราะล่วงรูปฌาน ได้ด้วยกายอยู่ และอาสวะทั้งหลายของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้ เราเรียกว่า เป็นปัญญาวิมุต เรากล่าวว่า ‘ภิกษุแม้นี้ไม่ต้องทำกิจที่ควรทำด้วยความ ไม่ประมาท’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นได้ทำกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาทเสร็จแล้ว และภิกษุนั้น จัดเป็นผู้ไม่ประมาทต่อไป (๒) ท่านผู้เป็นกายสักขี เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ได้สัมผัสสันตวิโมกข์ ซึ่งไม่มีรูป เพราะล่วงรูปฌาน ได้ด้วยกายอยู่ และอาสวะบางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา บุคคลนี้ เราเรียกว่า เป็นกายสักขี เรากล่าวว่า ‘ภิกษุแม้นี้ต้องทำกิจที่ควรทำด้วยความไม่ ประมาท’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า ‘จะเป็นการดี ถ้าท่าน ผู้นี้เมื่อใช้สอยเสนาสนะที่สมควร คบหากัลยาณมิตร ปรับอินทรีย์ให้เสมอจะพึง ทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ จึงกล่าว ว่า ‘ภิกษุนี้ต้องทำกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท’ (๓) ท่านผู้เป็นทิฏฐิปัตตะ เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ได้สัมผัสสันตวิโมกข์ ซึ่งไม่มีรูปเพราะล่วงรูปฌาน ได้ด้วยกายอยู่ แต่อาสวะบางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา อนึ่ง ธรรม {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๐๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑๐. กีฏาคิริสูตร

ทั้งหลายที่ตถาคตประกาศแล้ว เป็นธรรมที่ผู้นั้นเห็นแจ้งด้วยปัญญา ประพฤติดีแล้ว บุคคลนี้เราเรียกว่า เป็นทิฏฐิปัตตะ เรากล่าวว่า ‘ภิกษุนี้ต้องทำกิจที่ควรทำด้วยความ ไม่ประมาท’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า ‘จะเป็นการดี ถ้าท่าน ผู้นี้เมื่อใช้สอยเสนาสนะที่สมควร คบหากัลยาณมิตร ปรับอินทรีย์ให้เสมอ จะพึง ทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ จึงกล่าวว่า ‘ภิกษุนี้ต้องทำกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท’ (๔) ท่านผู้เป็นสัทธาวิมุต เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ได้สัมผัสสันตวิโมกข์ ซึ่งไม่มีรูปเพราะล่วงรูปฌาน ได้ด้วยกายอยู่ แต่อาสวะบางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็นด้วยปัญญา อนึ่ง ความเชื่อในตถาคตของผู้นั้นตั้งมั่นแล้ว มีรากหยั่งลงมั่นคงแล้ว บุคคลนี้เราเรียกว่า เป็นสัทธาวิมุต เรากล่าวว่า ‘ภิกษุแม้นี้ต้องทำกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า ‘จะเป็นการดี ถ้าท่านผู้นี้เมื่อใช้สอยเสนาสนะที่สมควร คบหากัลยาณมิตร ปรับอินทรีย์ให้เสมอ จะพึงทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน ปัจจุบัน’ จึงกล่าวว่า ‘ภิกษุนี้ต้องทำกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท’ (๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๑๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑๐. กีฏาคิริสูตร

ท่านผู้เป็นธัมมานุสารี เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ได้สัมผัสสันตวิโมกข์ ซึ่งไม่มีรูปเพราะล่วงรูปฌาน ได้ด้วยกายอยู่ แต่อาสวะบางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา อนึ่ง ธรรม ทั้งหลายที่ตถาคตประกาศแล้วควรเพื่อพินิจโดยประมาณด้วยปัญญาของผู้นั้น อีกประการหนึ่ง ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์(อินทรีย์คือศรัทธา) วิริยินทรีย์ (อินทรีย์คือวิริยะ) สตินทรีย์(อินทรีย์คือสติ) สมาธินทรีย์(อินทรีย์คือสมาธิ) ปัญญินทรีย์(อินทรีย์คือปัญญา) ย่อมมีแก่ผู้นั้น บุคคลนี้เราเรียกว่า เป็นธัมมานุสารี เรากล่าวว่า ‘ภิกษุแม้นี้ต้องทำกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า ‘จะเป็นการดี ถ้าท่านผู้นี้เมื่อใช้สอยเสนาสนะที่สมควร คบหากัลยาณมิตร ปรับอินทรีย์ให้เสมอ จะพึงทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน ปัจจุบัน’ จึงกล่าวว่า ‘ภิกษุนี้ต้องทำกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท’ (๖) ท่านผู้เป็นสัทธานุสารี เป็นอย่างไร คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ได้สัมผัสสันตวิโมกข์ ซึ่งไม่มีรูปเพราะล่วงรูปฌาน ได้ด้วยกายอยู่ แต่อาสวะบางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไปเพราะเห็นด้วยปัญญา อนึ่ง ผู้นั้นมี แต่เพียงความเชื่อ ความรักในตถาคต อีกประการหนึ่ง ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ย่อมมีแก่ผู้นั้น บุคคลนี้เราเรียกว่า เป็นสัทธานุสารี เรากล่าวว่า ‘ภิกษุแม้นี้ต้องทำกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท’ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๑๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑๐. กีฏาคิริสูตร

ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุนี้เช่นนี้ว่า ‘จะเป็นการดี ถ้าท่านผู้นี้เมื่อใช้สอยเสนาสนะที่สมควร คบหากัลยาณมิตร ปรับอินทรีย์ให้เสมอ จะพึงทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่ากุลบุตรผู้ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน ปัจจุบัน’ จึงกล่าวว่า ‘ภิกษุนี้ต้องทำกิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาท’ (๗)
การดำรงอยู่ในอรหัตตผล
[๑๘๓] ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าวการบรรลุอรหัตตผลด้วยขั้นเดียวเท่านั้น แต่การบรรลุอรหัตตผล ย่อมมีได้ด้วยการบำเพ็ญสิกขา๑- โดยลำดับ ด้วยการบำเพ็ญ กิริยาโดยลำดับ ด้วยการบำเพ็ญปฏิปทาโดยลำดับ การบรรลุอรหัตตผล ย่อมมีได้ด้วยการบำเพ็ญสิกขาโดยลำดับ ด้วยการ บำเพ็ญกิริยาโดยลำดับ ด้วยการบำเพ็ญปฏิปทาโดยลำดับ เป็นอย่างไร คือ กุลบุตรในศาสนานี้ เกิดศรัทธาแล้วย่อมเข้าไปหา เมื่อเข้าไปหาย่อม นั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลงสดับ เงี่ยโสตลงสดับแล้วย่อมฟังธรรม ครั้นฟัง ธรรมแล้วย่อมทรงจำไว้ ย่อมพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้แล้ว เมื่อพิจารณา เนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมควรเพ่งพินิจ เมื่อมีการเพ่งพินิจธรรมอยู่ ฉันทะ ย่อมเกิด กุลบุตรนั้นเกิดฉันทะแล้ว ย่อมอุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้ว ย่อมไตร่ตรอง ครั้นไตร่ตรองแล้ว ย่อมอุทิศกายและใจ เมื่ออุทิศกายและใจแล้ว ย่อมทำให้แจ้ง สัจจะอันยอดเยี่ยม๒- ด้วยนามกาย และเห็นแจ่มแจ้งสัจจะอันยอดเยี่ยมนั้นด้วย ปัญญา๓- @เชิงอรรถ : @ ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๓๔ (ภัททาลิสูตร) หน้า ๑๕๑ ในเล่มนี้ @ สัจจะอันยอดเยี่ยม ในที่นี้หมายถึงนิพพานสัจจะ (ม.ม.อ. ๒/๑๘๓/๑๔๒) @ ปัญญา ในที่นี้หมายถึงมรรคปัญญา (ม.ม.อ. ๒/๑๘๓/๑๔๒) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๑๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

๑๐. กีฏาคิริสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าศรัทธาไม่มี การเข้าไปหา การนั่งใกล้ การเงี่ยโสตลงสดับ การฟังธรรม การทรงจำธรรม การพิจารณาเนื้อความ ความเพ่งพินิจธรรม ฉันทะ อุตสาหะ การไตร่ตรอง และการอุทิศกายและใจก็ไม่มี เธอทั้งหลายเป็นผู้ปฏิบัติพลาด เป็นผู้ปฏิบัติผิด โมฆบุรุษเหล่านี้ได้ก้าวออกไปจากธรรมวินัยนี้ไกลเท่าไร [๑๘๔] ภิกษุทั้งหลาย คำอธิบายสัจจะ ๔ ประการมีอยู่ เมื่อยกคำอธิบาย ดังกล่าวขึ้นมาแสดง วิญญูชนพึงเข้าใจเนื้อความได้ด้วยปัญญาในไม่ช้า เราจักแสดง แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจักเข้าใจถึงเนื้อความได้” ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นคน เช่นไร และผู้เข้าใจถึงธรรมได้ เป็นคนเช่นไร” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ศาสดาใดเป็นผู้หนักในอามิส รับแต่ อามิสอยู่ ข้องอยู่ด้วยอามิส แม้ศาสดานั้นก็ยังไม่ต่อรองเลยว่า ‘เมื่อสิ่งเช่นนี้พึง มีแก่เรา เราพึงทำสิ่งนั้น เมื่อสิ่งเช่นนี้ไม่พึงมีแก่เรา เราก็ไม่พึงทำสิ่งนั้น’ ตถาคต ไม่ข้องอยู่ด้วยอามิสโดยประการทั้งปวงจะสมควรกับการต่อรองหรือ สาวกผู้มีศรัทธา ผู้ทำตามคำสั่งสอนของศาสดา ย่อมมีหลักปฏิบัติว่า ‘พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดา เราเป็นสาวก พระผู้มีพระภาคทรงรู้ เราไม่รู้’ คำสอนของศาสดาย่อมงอกงามมีโอชาแก่สาวกผู้มีศรัทธา ผู้ทำตามคำสั่งสอน ของศาสดา สาวกผู้มีศรัทธา ผู้ทำตามคำสั่งสอนของศาสดา ย่อมมีหลักปฏิบัติว่า ‘หนัง เอ็น และกระดูกจงเหือดแห้งไปเถิด เนื้อและเลือดในสรีระของเรา จงเหือดแห้ง ไปก็ตามที เมื่อเรายังไม่บรรลุผลที่พึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของ บุรุษด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียรนั้น๑-’ @เชิงอรรถ : @ ดูเทียบ องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๕/๖๑, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๙๖/๕๗๕ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๑๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๒. ภิกขุวรรค]

รวมพระสูตรที่มีในวรรค

ภิกษุทั้งหลาย สาวกผู้มีศรัทธา ผู้ทำตามคำสั่งสอนของศาสดา จะพึงหวังได้ ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ (๑) อรหัตตผลในปัจจุบัน (๒) เมื่อมีอุปาทานเหลืออยู่ ก็จะเป็นอนาคามี” พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
กีฏาคิริสูตรที่ ๑๐ จบ ภิกขุวรรคที่ ๒ จบ รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. จูฬราหุโลวาทสูตร ๒. มหาราหุโลวาทสูตร ๓. จูฬมาลุงกยสูตร ๔. มหามาลุงกยสูตร ๕. ภัททาลิสูตร ๖. ลฏุกิโกปมสูตร ๗. จาตุมสูตร ๘. นฬกปานสูตร ๙. โคลิสสานิสูตร ๑๐. กีฏาคิริสูตร {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๒๑๔}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๒๐๑-๒๑๔. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=13&siri=20              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=13&A=3981&Z=4234                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=222              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=222&items=18              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=3465              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=222&items=18              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=3465                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i222-e1.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.070.than.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/majjhima/mn070.html https://suttacentral.net/mn70/en/sujato https://suttacentral.net/mn70/en/horner https://suttacentral.net/mn70/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :