ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
๗. ธนัญชานิสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อธนัญชานิ
[๔๔๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเที่ยวจาริกไปในทักขิณาคีรีชนบท พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่ในกรุงราชคฤห์ ได้เข้าไป หาท่านพระสารีบุตรถึงทักขิณาคีรีชนบท ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระสารีบุตรได้ถามภิกษุนั้นว่า “ท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงประชวร และยังทรงมีพระกำลังอยู่หรือ” ภิกษุนั้นกล่าวตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงประชวร และยัง ทรงมีพระกำลังอยู่ ขอรับ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๕๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๗. ธนัญชานิสูตร

“ภิกษุสงฆ์ไม่ป่วยไข้และยังมีกำลังอยู่หรือ” “แม้ภิกษุสงฆ์ก็ไม่ป่วยไข้และยังมีกำลังอยู่ ขอรับ” “พราหมณ์ชื่อธนัญชานิอยู่ใกล้ประตูตัณฑุลปาลิ๑- ในกรุงราชคฤห์นั้น เขาไม่ ป่วยไข้และยังมีกำลังอยู่หรือ” “แม้ธนัญชานิพราหมณ์ก็ไม่ป่วยไข้และยังมีกำลังอยู่ ขอรับ” “ธนัญชานิพราหมณ์ยังเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่หรือ” ภิกษุนั้นกราบเรียนว่า “ท่านผู้มีอายุ ธนัญชานิพราหมณ์ของเราจะไม่ประมาท ที่ไหนได้ เขาอาศัยพระราชาเที่ยวเบียดบัง(เอาผลประโยชน์ของ)พราหมณ์และคหบดี อาศัยพวกพราหมณ์และคหบดีเบียดบัง(เอาผลประโยชน์)ของรัฐ แม้ภรรยาของเขา ผู้มีศรัทธา ที่ขอมาจากตระกูลมีศรัทธา ก็ตายไปเสียแล้ว ภรรยาคนใหม่ของเขา ไม่มีศรัทธา เขาขอมาจากตระกูลไม่มีศรัทธา” ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ท่านผู้มีอายุ การที่เราได้ฟังว่าธนัญชานิพราหมณ์ เป็นผู้ประมาท เป็นข่าวไม่ดีเลย ถ้ากระไร เราจะได้พบกับธนัญชานิพราหมณ์นั้น สักครั้งหนึ่ง ทำอย่างไร เราจึงจะได้สนทนาปราศัยบ้าง” [๔๔๖] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรอยู่ในทักขิณาคีรีชนบทตามอัธยาศัยแล้ว จึงจาริกไปทางกรุงราชคฤห์ เที่ยวจาริกไปตามลำดับ จนถึงกรุงราชคฤห์แล้ว ได้ยิน ว่า สมัยนั้นท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระเวฬุวันสถานที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุง ราชคฤห์ ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตรครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป บิณฑบาตยังกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ธนัญชานิพราหมณ์ใช้คนให้รีดนมโคซึ่งอยู่ที่คอก โคนอกกรุง ท่านพระสารีบุตรเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ กลับจากบิณฑบาต @เชิงอรรถ : @ ประตูตัณฑุลปาลิในที่นี้หมายถึงประตูเล็กประตูหนึ่ง เพราะกรุงราชคฤห์มีประตูใหญ่ ๓๒ ประตูประตูเล็ก @๖๔ ประตู (ม.ม.อ. ๒/๔๔๕/๓๐๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๕๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๗. ธนัญชานิสูตร

ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เข้าไปหาธนัญชานิพราหมณ์ถึงที่อยู่ ธนัญชานิ- พราหมณ์ได้เห็นท่านพระสารีบุตรกำลังเดินมาแต่ไกล จึงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “นิมนต์ดื่มนมสดทางนี้เถิด พระคุณเจ้าสารีบุตร ยังพอมีเวลา สำหรับฉันภัตตาหาร” ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “อย่าเลย พราหมณ์ วันนี้อาตมภาพทำภัตกิจ เสร็จแล้ว อาตมภาพจักพักกลางวันที่โคนไม้โน้น ท่านควรจะมาพบอาตมภาพที่ โคนไม้นั้น” ธนัญชานิพราหมณ์รับคำแล้ว ต่อมา ธนัญชานิพราหมณ์บริโภคอาหารเช้า เสร็จแล้วภายหลังเวลาอาหาร ได้เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้สนทนา ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควร
การประพฤติไม่ชอบธรรม
ท่านพระสารีบุตรได้ถามธนัญชานิพราหมณ์ว่า “ธนัญชานิ ท่านเป็นผู้ไม่ ประมาทอยู่หรือ” ธนัญชานิพราหมณ์ได้ตอบว่า “พระคุณเจ้าสารีบุตร โยมจะไม่ประมาทได้ อย่างไร เพราะโยมต้องเลี้ยงมารดาบิดา ต้องเลี้ยงบุตรและภรรยา ต้องเลี้ยงพวก ทาสกรรมกรและคนรับใช้ ต้องทำกิจที่ควรทำแก่มิตรและอำมาตย์ ต้องทำกิจที่ควร ทำแก่ญาติสาโลหิต ต้องทำกิจที่ควรทำแก่แขก ต้องทำบุญที่ควรแก่บุรพเปตชน ต้องทำการบวงสรวงที่ควรทำแก่เทวดา ต้องสนองพระราชกรณียกิจของพระราชา แม้กายนี้ก็ต้องบำรุงบำเรอ” [๔๔๗] ท่านพระสารีบุตรถามว่า “ธนัญชานิ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่า อย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม๑- ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุ แห่งมารดาบิดา นายนิรยบาลพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติ @เชิงอรรถ : @ ประพฤติอธรรม หมายถึงประพฤติกรรมคือความทุศีล ๕ ประการ หรือกรรมคือความทุศีล ๑๐ ประการ @(ม.ม.อ. ๒/๔๔๗/๓๐๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๕๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๗. ธนัญชานิสูตร

อธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ข้ออ้างหรือว่า ‘ข้าพเจ้าเองประพฤติ อธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ขอนายนิรยบาลอย่า ฉุดคร่าข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือมารดาบิดาของผู้นั้นจะพึงได้ข้ออ้างหรือว่า ‘คนนี้ ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอเพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนาย นิรยบาลอย่าฉุดคร่าเขาไปยังนรกเลย” ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า “พระคุณเจ้าสารีบุตร ไม่ใช่ ที่แท้คนนั้นถึงจะ คร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาลก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งบุตรและภรรยา นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติอธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ข้ออ้างหรือว่า ‘ข้าพเจ้าเองประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งบุตรและภรรยา ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือบุตรและภรรยาของผู้นั้นจะ พึงได้ข้ออ้างหรือว่า ‘คนนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่ง ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าเขาไปยังนรกเลย” “ไม่ใช่ พระคุณเจ้าสารีบุตร ที่แท้คนนั้นถึงจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาล ก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งทาสกรรมกรและคนรับใช้ นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขา ไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติอธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ ข้ออ้างหรือว่า ‘ข้าพเจ้าประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่ง ทาสกรรมกรและคนรับใช้ ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือพวก ทาสกรรมกรและคนรับใช้ของผู้นั้นจะพึงได้ข้ออ้างหรือว่า ‘คนนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าเขาไปยัง นรกเลย” “ไม่ใช่ พระคุณเจ้าสารีบุตร ที่แท้คนนั้นถึงจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาล ก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๖๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๗. ธนัญชานิสูตร

“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยัง นรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติอธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ข้ออ้าง หรือว่า ‘ข้าพเจ้าประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งมิตรอำมาตย์ ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือมิตรและอำมาตย์ของผู้นั้นจะ พึงได้ข้ออ้างหรือว่า ‘คนนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่ง ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าเขาไปยังนรกเลย” “ไม่ใช่ พระคุณเจ้าสารีบุตร ที่แท้คนนั้นถึงจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาล ก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติอธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ข้ออ้างหรือ ว่า ‘ข้าพเจ้าประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือญาติสาโลหิตของผู้นั้นจะพึง ได้ข้ออ้างหรือว่า ‘คนนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่ง ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าเขาไปยังนรกเลย” “ไม่ใช่ พระคุณเจ้าสารีบุตร ที่แท้คนนั้นถึงจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาล ก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งแขก นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก เพราะเหตุ แห่งการประพฤติอธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ข้ออ้างหรือว่า ‘ข้าพเจ้า ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งแขก ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่า ข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือแขกของผู้นั้นจะพึงได้ข้ออ้างหรือว่า ‘คนนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่า เขาไปยังนรกเลย” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๖๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๗. ธนัญชานิสูตร

“ไม่ใช่ พระคุณเจ้าสารีบุตร ที่แท้คนนั้นถึงจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาลก็ ต้องโยนเขาลงนรกจนได้” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งบุรพเปตชน นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติอธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ข้ออ้างหรือ ว่า ‘ข้าพเจ้าประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งบุรพเปตชน ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือบุรพเปตชนของผู้นั้นจะพึงได้ ข้ออ้างหรือว่า ‘คนนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้า ทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าเขาไปนรกเลย” “ไม่ใช่ พระคุณเจ้าสารีบุตร ที่แท้คนนั้นถึงจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาล ก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งเทวดา นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก เพราะเหตุ แห่งการประพฤติอธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ข้ออ้างหรือว่า ‘ข้าพเจ้า ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งเทวดา ขอนายนิรยบาลอย่า ฉุดคร่าข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือเทวดาของผู้นั้นจะพึงได้ข้ออ้างหรือว่า ‘คนนี้ ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอนาย นิรยบาลอย่าฉุดคร่าเขาไปยังนรกเลย” “ไม่ใช่ พระคุณเจ้าสารีบุตร ที่แท้คนนั้นถึงจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาล ก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติ ไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งพระราชา นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติอธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ข้ออ้าง หรือว่า ‘ข้าพเจ้าประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งพระราชา {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๖๒}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๗. ธนัญชานิสูตร

ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือพระราชาของผู้นั้นจะพึงได้ข้อ อ้างหรือว่า ‘คนนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งข้าพเจ้า ทั้งหลาย ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่าเขาไปยังนรกเลย” “ไม่ใช่ พระคุณเจ้าสารีบุตร ที่แท้คนนั้นถึงจะคร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาล ก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้” ท่านพระสารีบุตรถามว่า “ธนัญชานิท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคล บางคนในโลกนี้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งการบำรุง บำเรอกาย นายนิรยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติ อธรรมและประพฤติไม่สม่ำเสมอ เขาควรได้ข้ออ้างหรือว่า ‘ข้าพเจ้าประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งการบำรุงบำเรอกาย ขอนายนิรยบาลอย่าฉุดคร่า ข้าพเจ้าไปยังนรกเลย’ หรือชนเหล่าอื่นของผู้นั้นจะพึงได้ข้ออ้างหรือว่า ‘คนนี้ ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งการบำรุงบำเรอกาย ขอนาย นิรยบาลอย่าฉุดคร่าเขาไปยังนรกเลย” ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า “พระคุณเจ้าสารีบุตร ไม่ใช่ ที่แท้คนนั้นถึงจะ คร่ำครวญมากมาย นายนิรยบาลก็ต้องโยนเขาลงนรกจนได้” [๔๔๘] ท่านพระสารีบุตรถามว่า “ธนัญชานิ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งมารดาบิดากับบุคคล ผู้ประพฤติธรรม๑- ประพฤติสม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา บุคคลไหนจะประเสริฐ กว่ากัน” ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า “พระคุณเจ้าสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ประเสริฐกว่า แท้จริง การประพฤติธรรมและการประพฤติสม่ำเสมอ ประเสริฐกว่าการประพฤติ อธรรมและการประพฤติไม่สม่ำเสมอ” @เชิงอรรถ : @ ประพฤติธรรม หมายถึงการกระทำกสิกรรมและวาณิชยกรรมเป็นต้นที่ชอบธรรม (ม.ม.อ. ๒/๔๔๘/๓๐๘) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๖๓}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๗. ธนัญชานิสูตร

“การงานที่มีเหตุประกอบด้วยธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลสามารถเลี้ยงมารดา บิดา ไม่ทำบาปกรรม และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เป็นบุญได้ ก็มีอยู่ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งบุตรและภรรยา กับบุคคลผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งบุตรและภรรยา บุคคลไหนจะประเสริฐกว่ากัน” “พระคุณเจ้าสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งบุตรและภรรยา ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติธรรม ประพฤติ สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งบุตรและภรรยา ประเสริฐกว่า แท้จริง การประพฤติธรรม และการประพฤติสม่ำเสมอ ประเสริฐกว่าการประพฤติอธรรม และการประพฤติไม่ สม่ำเสมอ” “การงานที่มีเหตุประกอบด้วยธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลสามารถเลี้ยงบุตร และภรรยา ไม่ทำบาปกรรม และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เป็นบุญได้ ก็มีอยู่ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งทาสกรรมกรและคนรับใช้ กับบุคคลผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งทาสกรรมกรและคนรับใช้ บุคคลไหนจะประเสริฐกว่ากัน” “พระคุณเจ้าสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุ แห่งทาสกรรมกรและคนรับใช้ ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติธรรม ประพฤติ สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งทาสกรรมกรและคนรับใช้ ประเสริฐกว่า แท้จริง การประพฤติ ธรรมและการประพฤติสม่ำเสมอประเสริฐกว่าการประพฤติอธรรมและการประพฤติ ไม่สม่ำเสมอ” “การงานที่มีเหตุประกอบด้วยธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลสามารถเลี้ยงทาส กรรมกรและคนรับใช้ ไม่ทำบาปกรรม และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เป็นบุญได้ ก็มีอยู่ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ กับบุคคลผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ บุคคลไหนจะประเสริฐกว่ากัน” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๖๔}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๗. ธนัญชานิสูตร

“พระคุณเจ้าสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะ เหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติธรรม ประพฤติ สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์ ประเสริฐกว่า แท้จริง การประพฤติ ธรรมและการประพฤติสม่ำเสมอ ประเสริฐกว่าการประพฤติอธรรมและการประพฤติ ไม่สม่ำเสมอ” “การงานที่มีเหตุประกอบด้วยธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลสามารถทำกรณียกิจ แก่มิตรและอำมาตย์ ไม่ทำบาปกรรม และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เป็นบุญได้ ก็มีอยู่ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต กับบุคคลผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ เพราะ เหตุแห่งญาติสาโลหิต บุคคลไหนจะประเสริฐกว่ากัน” “พระคุณเจ้าสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะ เหตุแห่งญาติสาโลหิต ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิตประเสริฐกว่า แท้จริง การประพฤติธรรมและการประพฤติ สม่ำเสมอ ประเสริฐกว่าการประพฤติอธรรม และการประพฤติไม่สม่ำเสมอ” “การงานที่มีเหตุประกอบด้วยธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลสามารถทำกรณียกิจ แก่ญาติสาโลหิต ไม่ทำบาปกรรม และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เป็นบุญได้ ก็มีอยู่ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งแขก กับบุคคลผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ เพราะเหตุ แห่งแขก บุคคลไหนจะประเสริฐกว่ากัน” “พระคุณเจ้าสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะ เหตุแห่งแขกไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอเพราะเหตุ แห่งแขก ประเสริฐกว่า แท้จริง การประพฤติธรรมและการประพฤติสม่ำเสมอ ประเสริฐกว่าการประพฤติอธรรมและการประพฤติไม่สม่ำเสมอ” “การงานที่มีเหตุประกอบด้วยธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลสามารถทำกรณียกิจ แก่แขก ไม่ทำบาปกรรม และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เป็นบุญได้ ก็มีอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๖๕}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๗. ธนัญชานิสูตร

ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งบุรพเปตชน กับบุคคลผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ เพราะ เหตุแห่งบุรพเปตชน บุคคลไหนจะประเสริฐกว่ากัน” “พระคุณเจ้าสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะ เหตุแห่งบุรพเปตชน ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งบุรพเปตชนประเสริฐกว่า แท้จริง การประพฤติธรรมและการประพฤติ สม่ำเสมอ ประเสริฐกว่าการประพฤติอธรรม และการประพฤติไม่สม่ำเสมอ” “การงานที่มีเหตุประกอบด้วยธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลสามารถทำกรณียกิจ แก่บุรพเปตชน ไม่ทำบาปกรรม และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เป็นบุญได้ ก็มีอยู่ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งเทวดา กับบุคคลผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่ง เทวดา บุคคลไหนจะประเสริฐกว่ากัน” “พระคุณเจ้าสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะ เหตุแห่งเทวดาไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ เพราะ เหตุแห่งเทวดาประเสริฐกว่า แท้จริง การประพฤติธรรมและการประพฤติสม่ำเสมอ ประเสริฐกว่าการประพฤติอธรรม และการประพฤติไม่สม่ำเสมอ” “การงานที่มีเหตุประกอบด้วยธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลสามารถทำกรณียกิจ แก่เทวดา ไม่ทำบาปกรรม และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เป็นบุญได้ ก็มีอยู่ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งพระราชา กับบุคคลผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ เพราะเหตุ แห่งพระราชา บุคคลไหนจะประเสริฐกว่ากัน” “พระคุณเจ้าสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะ เหตุแห่งพระราชาไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคลผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งพระราชาประเสริฐกว่า แท้จริง การประพฤติธรรมและการประพฤติ สม่ำเสมอ ประเสริฐกว่าการประพฤติอธรรมและการประพฤติไม่สม่ำเสมอ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๖๖}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๗. ธนัญชานิสูตร

“การงานที่มีเหตุประกอบด้วยธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลสามารถทำกรณียกิจ แก่พระราชา ไม่ทำบาปกรรม และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่เป็นบุญได้ ก็มีอยู่ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งการบำรุงบำเรอกาย กับบุคคลผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งการบำรุงบำเรอกาย บุคคลไหนจะประเสริฐกว่ากัน” ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า “พระคุณเจ้าสารีบุตร บุคคลผู้ประพฤติอธรรม ประพฤติไม่สม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งการบำรุงบำเรอกาย ไม่ประเสริฐ ส่วนบุคคล ผู้ประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมอ เพราะเหตุแห่งการบำรุงบำเรอกาย ประเสริฐกว่า แท้จริง การประพฤติธรรมและการประพฤติสม่ำเสมอ ประเสริฐกว่าการประพฤติอธรรม และการประพฤติไม่สม่ำเสมอ” ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า “ธนัญชานิ การงานที่มีเหตุประกอบด้วยธรรม ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลสามารถบำรุงบำเรอกาย ไม่ทำบาปกรรม และปฏิบัติตามข้อ ปฏิบัติที่เป็นบุญได้ ก็มีอยู่”
ธนัญชานิพราหมณ์ป่วยหนัก
[๔๔๙] ครั้งนั้น ธนัญชานิพราหมณ์ชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตร ลุกจากที่นั่งแล้วจากไป สมัยต่อมา ธนัญชานิพราหมณ์ป่วย มีทุกข์ เป็นไข้หนัก จึงเรียกบุรุษคนหนึ่งมากล่าวว่า “มานี่เถิดพ่อคุณ ท่านจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ จงถวาย อภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าตามคำของเราว่า ‘ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ธนัญชานิพราหมณ์ป่วย มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ขอถวายอภิวาท พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า’ และจงเข้าไปหาท่านพระสารีบุตร ถึงที่อยู่ แล้วไหว้เท้าของพระคุณเจ้าพระสารีบุตรด้วยเศียรเกล้าตามคำของเราว่า ‘พระคุณเจ้าผู้เจริญ ธนัญชานิพราหมณ์ป่วย มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ขอไหว้เท้าของ พระคุณเจ้าสารีบุตรด้วยเศียรเกล้า’ และจงกราบเรียนอย่างนี้ว่า ‘พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอโอกาส ขอพระคุณเจ้าสารีบุตรจงอาศัยความอนุเคราะห์โปรดเข้าไปยังนิเวศน์ของ ธนัญชานิพราหมณ์ด้วยเถิด” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๖๗}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๗. ธนัญชานิสูตร

บุรุษนั้นรับคำแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธนัญชานิพราหมณ์ป่วย มีทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาขอ ถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า’ และได้เข้าไปหาท่าน พระสารีบุตรถึงที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบเรียนว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ ธนัญชานิพราหมณ์ป่วย มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ขอไหว้เท้าของพระคุณเจ้าสารีบุตรด้วย เศียรเกล้า และสั่งมาอย่างนี้ว่า ‘พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอโอกาส ขอพระคุณเจ้า พระสารีบุตรจงอาศัยความอนุเคราะห์โปรดเข้าไปยังนิเวศน์ของธนัญชานิพราหมณ์ ด้วยเถิด” ท่านพระสารีบุตรรับนิมนต์โดยอาการดุษณีภาพ
พระสารีบุตรเข้าเยี่ยมธนัญชานิพราหมณ์
[๔๕๐] ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร เข้าไปยังนิเวศน์ของธนัญชานิพราหมณ์ นั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้แล้ว ได้กล่าวกับ ธนัญชานิพราหมณ์ว่า “ธนัญชานิ ท่านยังพอทนได้หรือ(สบายดีหรือ) พอจะยัง อัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาค่อยลดลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ อาการค่อย คลายลง ไม่รุนแรงขึ้นหรือ” ธนัญชานิพราหมณ์กราบเรียนว่า “พระคุณเจ้าสารีบุตร โยมแทบทนไม่ไหว จะยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้แล้ว ทุกขเวทนาของโยมกล้ายิ่งนัก มีแต่กำเริบ ไม่ลด ลงเลย อาการมีแต่ยิ่งรุนแรงขึ้น ไม่คลายลงเลย คนที่แข็งแรงใช้เหล็กที่แหลมคมแทง ที่ศีรษะ แม้ฉันใด โยมก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกลมที่แรงกล้าเสียดแทงศีรษะเหลือกำลัง โยมแทบทนไม่ไหว จะยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้แล้ว ทุกขเวทนาของโยมกล้ายิ่งนัก มีแต่กำเริบ ไม่ลดลงเลย อาการมีแต่ยิ่งรุนแรงขึ้น ไม่คลายลงเลย คนที่แข็งแรงใช้เชือกหนังที่เหนียวขันที่ศีรษะ แม้ฉันใด โยมก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกเวทนาที่มีประมาณยิ่งบีบคั้นที่ศีรษะ โยมแทบทนไม่ไหว จะยังอัตภาพให้เป็นไป ไม่ได้แล้ว ทุกขเวทนาของโยมกล้ายิ่งนัก มีแต่กำเริบ ไม่ลดลงเลย อาการมีแต่ยิ่ง รุนแรงขึ้น ไม่คลายลงเลย {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๖๘}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๗. ธนัญชานิสูตร

คนฆ่าโคหรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ชำนาญ ใช้มีดแล่เนื้อที่คมกรีดท้อง แม้ฉันใด โยมก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถูกลมที่มีประมาณยิ่งเสียดแทงท้องอยู่ โยมแทบทนไม่ไหว จะยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้แล้ว ทุกขเวทนาของโยมกล้ายิ่งนัก มีแต่กำเริบ ไม่คลาย ลงเลย อาการมีแต่ยิ่งรุนแรงขึ้น ไม่คลายลงเลย พระคุณเจ้าสารีบุตร คนที่แข็งแรง ๒ คนช่วยกันจับคนที่อ่อนแอกว่าที่แขน คนละข้างย่างไว้ที่หลุมถ่านเพลิง แม้ฉันใด โยมก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีกายถูกความ เร่าร้อนมีประมาณยิ่งเผาลนอยู่ โยมแทบทนไม่ไหว จะยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้แล้ว ทุกขเวทนาของโยมกล้ายิ่งนัก มีแต่กำเริบ ไม่ลดลงเลย อาการมีแต่ยิ่งรุนแรงขึ้น ไม่คลายลงเลย”
ทุคติภูมิ-สุคติภูมิ
[๔๕๑] ท่านพระสารีบุตรถามว่า “ธนัญชานิ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร นรกกับกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน” ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า “พระคุณเจ้าสารีบุตร กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานประเสริฐ กว่านรก ขอรับ” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานกับเปรตวิสัย อย่างไหน จะประเสริฐกว่ากัน” “เปรตวิสัยประเสริฐกว่ากำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ขอรับ” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เปรตวิสัยกับมนุษย์ อย่างไหนจะประเสริฐ กว่ากัน” “มนุษย์ประเสริฐกว่าเปรตวิสัย ขอรับ” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร มนุษย์กับเทพชั้นจาตุมหาราช อย่างไหน จะประเสริฐกว่ากัน” “เทพชั้นจาตุมหาราชประเสริฐกว่ามนุษย์ ขอรับ” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๖๙}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๗. ธนัญชานิสูตร

“ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เทพชั้นจาตุมหาราชกับเทพชั้นดาวดึงส์ อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน” “เทพชั้นดาวดึงส์ประเสริฐกว่ากว่าเทพชั้นจาตุมหาราช ขอรับ” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เทพชั้นดาวดึงส์กับเทพชั้นยามา อย่างไหน จะประเสริฐกว่ากัน” “เทพชั้นยามาประเสริฐกว่าเทพชั้นดาวดึงส์ ขอรับ” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เทพชั้นยามากับเทพชั้นดุสิต อย่างไหนจะ ประเสริฐกว่ากัน” “เทพชั้นดุสิตประเสริฐกว่าเทพชั้นยามา ขอรับ” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เทพชั้นดุสิตกับเทพชั้นนิมมานรดี อย่างไหน จะประเสริฐกว่ากัน” “เทพชั้นนิมมานรดีประเสริฐกว่าเทพชั้นดุสิต ขอรับ” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เทพชั้นนิมมานรดีกับเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน” “เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีประเสริฐกว่าเทพชั้นนิมมานรดี ขอรับ” “ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดีกับพรหมโลก อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน” ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า “พระคุณเจ้าสารีบุตรกล่าวว่า ‘พรหมโลก’ พระคุณเจ้าสารีบุตรกล่าวว่า ‘พรหมโลก” ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรมีความคิดว่า “พราหมณ์เหล่านี้น้อมใจไปใน พรหมโลก ทางที่ดี เราควรแสดงทางเพื่อเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมแก่ ธนัญชานิพราหมณ์” จึงกล่าวว่า “ธนัญชานิ เราจักแสดงทางเพื่อเข้าถึงความเป็น ผู้อยู่ร่วมกับพรหม ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๗๐}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๗. ธนัญชานิสูตร

ธนัญชานิพราหมณ์รับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า “ธนัญชานิ ทางเพื่อเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม เป็นอย่างไร คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ มีเมตตาจิตแผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุก หมู่เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยเมตตาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ นี้เป็นทางเพื่อเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม [๔๕๒] ธนัญชานิ อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีกรุณาจิต ฯลฯ มีมุทิตาจิต ฯลฯ มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ ๑ อยู่ ทิศที่ ๒ ... ทิศที่ ๓ ... ทิศที่ ๔ ... ทิศ เบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ นี้เป็นทางเพื่อเข้าถึงความเป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหม” ธนัญชานิพราหมณ์กล่าวว่า “พระคุณเจ้าสารีบุตร ถ้าเช่นนั้น ขอพระคุณท่าน จงถวายอภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า ตามคำของโยมว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธนัญชานิพราหมณ์ป่วย มีทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาขอถวาย อภิวาทพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า” ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรทำให้ธนัญชานิพราหมณ์ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นต่ำ ในเมื่อมีกิจที่จะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไป ลุกจากอาสนะแล้วจากไป ลำดับนั้น เมื่อท่านพระ สารีบุตรจากไปไม่นาน ธนัญชานิพราหมณ์ก็ตายไปบังเกิดในพรหมโลก [๔๕๓] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ ทั้งหลาย สารีบุตรนี้ทำให้ธนัญชานิพราหมณ์ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นต่ำ ในเมื่อ มีกิจที่จะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไป ลุกจากอาสนะแล้วจากไป” ต่อมา ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ธนัญชานิพราหมณ์ป่วย มีทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาขอถวายอภิวาทพระยุคลบาท ของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๓ หน้า : ๕๗๑}

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [๕. พราหมณวรรค]

๘. วาเสฏฐสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร ทำไม เธอจึงทำให้ธนัญชานิพราหมณ์ ดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นต่ำในเมื่อมีกิจที่จะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไป แล้วลุกจากอาสนะจากไป เสียเล่า” ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดอย่างนี้ว่า ‘พราหมณ์เหล่านี้น้อมใจไปในพรหมโลก ทางที่ดี เราควรแสดงทางเพื่อเข้าถึงความ เป็นผู้อยู่ร่วมกับพรหมเถิด” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร ธนัญชานิพราหมณ์ตายไปบังเกิดในพรหม- โลกแล้ว” ดังนี้แล
ธนัญชานิสูตรที่ ๗ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๕๕๗-๕๗๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=13&siri=47              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3], [4], [5].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=13&A=10725&Z=11069                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=672              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=672&items=32              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=9&A=7753              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=672&items=32              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=9&A=7753                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu13              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/13i672-e1.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/mn/mn.097.than.html https://suttacentral.net/mn97/en/sujato



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :