ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สคาถวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต]

๓. ตติยวรรค ๑. สัมพหุลสูตร

๓. ตติยวรรค
หมวดที่ ๓
๑. สัมพหุลสูตร
ว่าด้วยภิกษุหลายรูป
[๑๕๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นครศิลาวดี แคว้นสักกะ สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ใกล้พระผู้มี พระภาค ครั้งนั้น มารผู้มีบาปแปลงกายเป็นพราหมณ์ สวมชฎาใหญ่ นุ่งหนังเสือ เป็นคนแก่ หลังโกง หายใจเสียงดังครืดคราด ถือไม้เท้าทำด้วยไม้มะเดื่อ เข้าไปหา ภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่แล้วจึงกล่าวกับภิกษุเหล่านั้นดังนี้ว่า “บรรพชิตผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านเป็นนักบวชที่ยังหนุ่มแน่น มีผมดำสนิท อยู่ในวัยแรกรุ่นอันเจริญ แต่ไม่ เพลิดเพลินในกามคุณทั้งหลาย ขอพวกท่านจงบริโภคกามทั้งหลายอันเป็นของมนุษย์ พวกท่านอย่าละกามที่เห็นเฉพาะหน้าวิ่งไปหากามทิพย์อันมีอยู่ตามกาลเลย” ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า “พราหมณ์ พวกข้าพเจ้ามิได้ละกามที่เห็นเฉพาะหน้า แล้ววิ่งไปหากามทิพย์อันมีอยู่ตามกาลเลย แต่พวกข้าพเจ้าละกามทิพย์อันมีอยู่ตาม กาลแล้ววิ่งไปหาธรรมที่เห็นเฉพาะหน้า พราหมณ์ เพราะว่ากามทั้งหลายอันมีอยู่ ตามกาล พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษ ยิ่งนัก ส่วนธรรมนี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน” เมื่อภิกษุ เหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว มารผู้มีบาปจึงสั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าผากให้ย่น เป็น ๓ รอย ยันไม้เท้าจากไป ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๐๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [๔. มารสังยุต]

๓. ตติยวรรค ๑. สัมพหุลสูตร

พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ อยู่ในที่ใกล้พระองค์ ณ ที่นี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีพราหมณ์คนหนึ่งสวมชฎาใหญ่ นุ่งหนังเสือ เป็นคนแก่ หลังโกง หายใจเสียงดังครืดคราด ถือไม้เท้าทำด้วยไม้มะเดื่อ เข้ามาหาพวกข้าพระองค์ถึงที่อยู่ ได้กล่าวกับพวกข้าพระองค์ดังนี้ว่า ‘บรรพชิต ผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านเป็นนักบวชที่ยังหนุ่มแน่น มีผมดำสนิท อยู่ในวัยแรกรุ่น อันเจริญ แต่ไม่เพลิดเพลินในกามทั้งหลาย ขอพวกท่านจงบริโภคกามทั้งหลาย อันเป็นของมนุษย์ พวกท่านอย่าละกามที่เห็นเฉพาะหน้าแล้ววิ่งไปหากามทิพย์อันมี อยู่ตามกาลเลย’ เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว พวกข้าพระองค์ได้กล่าวกับพราหมณ์นั้นว่า ‘พราหมณ์ พวกข้าพเจ้ามิได้ละกามที่เห็นเฉพาะหน้าแล้ววิ่งไปหากามทิพย์อันมีอยู่ ตามกาลเลย แต่พวกข้าพเจ้าละกามทิพย์อันมีอยู่ตามกาลแล้ววิ่งไปหาธรรมที่เห็น เฉพาะหน้า เพราะว่ากามทั้งหลายอันมีอยู่ตามกาล พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามี ทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก ในกามนี้มีโทษยิ่งนัก ส่วนธรรมนี้เป็นธรรมที่ผู้ปฏิบัติ จะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน’ เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว พราหมณ์นั้นสั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าผากให้ย่นเป็น ๓ รอย ยันไม้เท้าจากไป” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย นั่นมิใช่พราหมณ์ นั่นคือมารผู้มีบาป มาเพื่อลวงพวกเธอให้หลงเข้าใจผิด” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ ในเวลานั้นว่า ผู้ใดเห็นทุกข์มีกามเป็นต้นเหตุแล้ว ผู้นั้นจะพึงน้อมไปในกามได้อย่างไร บุคคลทราบอุปธิว่าเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว พึงศึกษาเพื่อกำจัดอุปธินั้น๑-
สัมพหุลสูตรที่ ๑ จบ
@เชิงอรรถ : @ ดูเทียบคาถาข้อ ๑๕๖ หน้า ๒๐๐ ในเล่มนี้ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๕ หน้า : ๒๐๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๐๑-๒๐๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=15&siri=157              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [คลิกเพื่อฟัง]                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=15&A=3799&Z=3843                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=478              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=15&item=478&items=4              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=11&A=4516              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=15&item=478&items=4              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=11&A=4516                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu15              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/15i478-e.php# https://suttacentral.net/sn4.21/en/sujato https://suttacentral.net/sn4.21/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :