ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๙ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
๗. ขัชชนียสูตร
ว่าด้วยผู้ถูกเคี้ยวกิน
[๗๙] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด เหล่าหนึ่ง เมื่อระลึกก็ระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ทั้งหมดระลึกถึงอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ประการ หรืออุปาทานขันธ์ประการใดประการหนึ่ง อุปาทานขันธ์ ๕ ประการ เป็นอย่างไร คือ เมื่อระลึกก็ระลึกถึงรูปอย่างนี้ว่า ‘ในอดีตกาล เรามีรูปอย่างนี้’ เมื่อระลึก ก็ระลึกถึงเวทนาอย่างนี้ว่า ‘ในอดีตกาล เรามีเวทนาอย่างนี้’ เมื่อระลึกก็ระลึกถึง @เชิงอรรถ : @ หาบุคคลเปรียบเทียบมิได้ หมายถึงไม่มีคู่แข่ง คือไม่มีใครอื่นที่จะกล้าปฏิญญาว่า ‘เราเป็นพระพุทธเจ้า @ได้เหมือนพระตถาคต’ (องฺ.เอกก.อ. ๑/๑๗๔/๑๐๔) @ ธรรมจักร หมายถึงญาณ ๒ ประการ คือ (๑) ปฏิเวธญาณ คือญาณที่เป็นเหตุให้พระองค์ทรง @แทงตลอดอริยสัจ ๔ (๒) เทสนาญาณ คือญาณที่เป็นเหตุให้พระองค์ทรงประกาศธรรมจักร @(สํ.ข.อ. ๒/๗๘/๓๑๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๒๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. ขัชชนียวรรค ๗. ขัชชนียสูตร

สัญญาอย่างนี้ว่า ‘ในอดีตกาล เรามีสัญญาอย่างนี้’ เมื่อระลึกก็ระลึกถึงสังขาร อย่างนี้ว่า ‘ในอดีตกาล เรามีสังขารอย่างนี้’ เมื่อระลึกก็ระลึกถึงวิญญาณอย่างนี้ว่า ‘ในอดีตกาล เรามีวิญญาณอย่างนี้’ ภิกษุทั้งหลาย เพราะอะไรจึงเรียกว่ารูป เพราะสลายไปจึงเรียกว่า ‘รูป’ สลายไปเพราะอะไร สลายไปเพราะหนาวบ้าง ร้อนบ้าง หิวบ้าง กระหายบ้าง เพราะสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง เพราะสลายไป จึงเรียกว่า ‘รูป’ เพราะอะไรจึงเรียกว่าเวทนา เพราะเสวยจึงเรียกว่า ‘เวทนา’ เสวยอะไร เสวย อารมณ์สุขบ้าง ทุกข์บ้าง มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง เพราะเสวยจึงเรียกว่า ‘เวทนา’ เพราะอะไรจึงเรียกว่าสัญญา เพราะจำได้หมายรู้จึงเรียกว่า ‘สัญญา’ จำได้ หมายรู้อะไร จำได้หมายรู้สีเขียวบ้าง สีเหลืองบ้าง สีแดงบ้าง สีขาวบ้าง เพราะ จำได้หมายรู้จึงเรียกว่า ‘สัญญา’ เพราะอะไรจึงเรียกว่าสังขาร เพราะปรุงแต่งสังขตธรรมจึงเรียกว่า ‘สังขาร’ ปรุงแต่งสังขตธรรมอะไร ปรุงแต่งสังขตธรรม คือ รูปโดยความเป็นรูป เวทนา โดยความเป็นเวทนา สัญญาโดยความเป็นสัญญา สังขารโดยความเป็นสังขาร วิญญาณโดยความเป็นวิญญาณ เพราะปรุงแต่งสังขตธรรมจึงเรียกว่า ‘สังขาร’ เพราะอะไรจึงเรียกว่าวิญญาณ เพราะรู้แจ้งจึงเรียกว่า ‘วิญญาณ’ รู้แจ้งอะไร รู้แจ้งรสเปรี้ยวบ้าง รสขมบ้าง รสเผ็ดบ้าง รสหวานบ้าง รสขื่นบ้าง รสไม่ขื่นบ้าง รสเค็มบ้าง รสไม่เค็มบ้าง เพราะรู้แจ้งจึงเรียกว่า ‘วิญญาณ’ ภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น อริยสาวกผู้ได้สดับพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ เราถูกรูปเคี้ยวกินอยู่ แม้ในอดีตกาล เราก็ถูกรูปเคี้ยวกินแล้ว เหมือนกับที่ถูกรูป ที่เป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในเวลานี้ ก็เราเองพึงชื่นชมรูปที่เป็นอนาคต แม้ใน อนาคตกาล เราก็พึงถูกรูปเคี้ยวกิน เหมือนกับที่ถูกรูปที่เป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ใน เวลานี้ เธอพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ไม่มีความอาลัยในรูปที่เป็นอดีต ไม่ชื่นชมรูป ที่เป็นอนาคต ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับรูปที่เป็นปัจจุบัน {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๒๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. ขัชชนียวรรค ๗. ขัชชนียสูตร

บัดนี้ เราถูกเวทนาเคี้ยวกินอยู่ แม้ในอดีตกาล เราก็ถูกเวทนาเคี้ยวกินแล้ว เหมือนกับที่ถูกเวทนาที่เป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในเวลานี้ ก็เราเองพึงชื่นชมเวทนาที่ เป็นอนาคต แม้ในอนาคตกาล เราก็พึงถูกเวทนาเคี้ยวกิน เหมือนกับที่ถูกเวทนา ที่เป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในเวลานี้ เธอพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ไม่มีความอาลัย ในเวทนาที่เป็นอดีต ไม่ชื่นชมเวทนาที่เป็นอนาคต ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับเวทนาที่เป็นปัจจุบัน บัดนี้ เราถูกสัญญาเคี้ยวกินอยู่ ฯลฯ บัดนี้ เราถูกสังขารเคี้ยวกินอยู่ แม้ในอดีตกาล เราก็ถูกสังขารเคี้ยวกินแล้ว เหมือนกับที่ถูกสังขารที่เป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในเวลานี้ ก็เราเองพึงชื่นชมสังขารที่ เป็นอนาคต แม้ในอนาคตกาล เราก็พึงถูกสังขารเคี้ยวกิน เหมือนกับที่ถูกสังขาร ที่เป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในเวลานี้ เธอพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ไม่มีความอาลัย ในสังขารที่เป็นอดีต ไม่ชื่นชมสังขารที่เป็นอนาคต ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสังขารที่เป็นปัจจุบัน บัดนี้ เราถูกวิญญาณเคี้ยวกินอยู่ แม้ในอดีตกาล เราก็ถูกวิญญาณเคี้ยวกิน แล้ว เหมือนกับที่ถูกวิญญาณที่เป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในเวลานี้ ก็เราเองพึงชื่นชม วิญญาณที่เป็นอนาคต แม้ในอนาคตกาล เราก็พึงถูกวิญญาณเคี้ยวกิน เหมือน กับที่ถูกวิญญาณที่เป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในเวลานี้ เธอพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ไม่มีความอาลัยในวิญญาณที่เป็นอดีต ไม่ชื่นชมวิญญาณที่เป็นอนาคต ปฏิบัติเพื่อ ความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับวิญญาณที่เป็นปัจจุบัน ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือ ไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๒๒}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. ขัชชนียวรรค ๗. ขัชชนียสูตร

“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง” “ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข” “เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า” “ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะ พิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา” “ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า” “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือ ใกล้ก็ตาม รูปทั้งหมดนั้นเธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ... สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ... วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ ไกล หรือใกล้ก็ตาม วิญญาณทั้งหมดนั้นเธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตาม ความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกนี้ เราเรียกว่า ทำให้พินาศ ไม่ก่อ ละทิ้ง ไม่ถือมั่น เรี่ยราย ไม่รวบรวมไว้ ทำให้มอด ไม่ก่อให้ลุกโพลงขึ้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๒๓}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. ขัชชนียวรรค ๗. ขัชชนียสูตร

อริยสาวกทำอะไรให้พินาศ ไม่ก่ออะไร คือ ทำรูปให้พินาศ ไม่ก่อรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... ทำ วิญญาณให้พินาศ ไม่ก่อวิญญาณ ละทิ้งอะไร ไม่ถือมั่นอะไร คือ ละทิ้งรูป ไม่ถือมั่นรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... ละทิ้งวิญญาณ ไม่ถือมั่นวิญญาณ เรี่ยรายอะไร ไม่รวบรวมอะไรไว้ คือ เรี่ยรายรูป ไม่รวบรวมรูปไว้ ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... เรี่ยรายวิญญาณ ไม่รวบรวมวิญญาณไว้ ทำอะไรให้มอด ไม่ก่ออะไรให้ลุกโพลงขึ้น คือ ทำรูปให้มอด ไม่ก่อวิญญาณให้ลุกโพลงขึ้น ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... ทำวิญญาณให้มอด ไม่ก่อวิญญาณให้ลุกโพลงขึ้น ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ... แม้ในเวทนา ... แม้ในสัญญา ... แม้ในสังขาร ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิต หลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ เราเรียกว่า ไม่ก่อ ไม่ทำให้พินาศ แต่เป็นผู้ทำให้ พินาศได้แล้วดำรงอยู่ ไม่ละทิ้ง ไม่ถือมั่น แต่เป็นผู้ละทิ้งได้แล้วดำรงอยู่ ไม่เรี่ยราย ไม่รวบรวมไว้ แต่เป็นผู้เรี่ยรายได้แล้วดำรงอยู่ ไม่ทำให้มอด ไม่ก่อให้ลุกโพลงขึ้น แต่เป็นผู้ทำให้มอดได้แล้วดำรงอยู่ อริยสาวกไม่ก่ออะไร ไม่ทำอะไรให้พินาศ แต่เป็นผู้ทำให้พินาศได้แล้ว ดำรงอยู่ คือ ไม่ก่อรูป ไม่ทำรูปให้พินาศ แต่เป็นผู้ทำให้พินาศได้แล้วดำรงอยู่ ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... ไม่ก่อวิญญาณ ไม่ทำวิญญาณให้พินาศ แต่เป็นผู้ ทำให้พินาศได้แล้วดำรงอยู่ {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๗ หน้า : ๑๒๔}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [๑. ขันธสังยุต]

มัชฌิมปัณณาสก์ ๓. ขัชชนียวรรค ๘.ปิณโฑลยสูตร

ไม่ละทิ้ง ไม่ถือมั่นอะไร แต่เป็นผู้ละทิ้งได้แล้วดำรงอยู่ คือ ไม่ละทิ้งรูป ไม่ถือมั่นรูป แต่เป็นผู้ละทิ้งได้แล้วดำรงอยู่ ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... ไม่ละทิ้งวิญญาณ ไม่ถือมั่นวิญญาณ แต่เป็นผู้ละทิ้งได้ แล้วดำรงอยู่ ไม่เรี่ยรายอะไร ไม่รวบรวมอะไรไว้ แต่เป็นผู้เรี่ยรายได้แล้วดำรงอยู่ คือ ไม่เรี่ยรายรูป ไม่รวบรวมรูปไว้ แต่เป็นผู้เรี่ยรายได้แล้วดำรงอยู่ ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... ไม่เรี่ยรายวิญญาณ ไม่รวบรวมวิญญาณไว้ แต่เป็นผู้ เรี่ยรายได้แล้วดำรงอยู่ ไม่ทำอะไรให้มอด ไม่ก่ออะไรให้ลุกโพลงขึ้น แต่เป็นผู้ทำให้มอดได้ แล้วดำรงอยู่ คือ ไม่ทำรูปให้มอด ไม่ก่อรูปให้ลุกโพลงขึ้น แต่เป็นผู้ทำให้มอดได้แล้วดำรงอยู่ ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... ไม่ทำวิญญาณให้มอด ไม่ก่อวิญญาณให้ ลุกโพลงขึ้น แต่เป็นผู้ทำให้มอดได้แล้วดำรงอยู่ ภิกษุทั้งหลาย เทพทั้งหลายพร้อมทั้งอินทร์ พรหม และท้าวปชาบดี ย่อมนมัสการภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ แต่ที่ไกลทีเดียวว่า ‘ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษสูงสุด ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน ที่พวกเราไม่รู้ว่า ท่านอาศัยอารมณ์อะไรเล่า ถึงเข้าฌานอยู่”
ขัชชนียสูตรที่ ๗ จบ


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๗ หน้าที่ ๑๒๐-๑๒๕. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=17&siri=79              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=17&A=1955&Z=2041                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=158              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=17&item=158&items=7              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=12&A=6992              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=17&item=158&items=7              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=12&A=6992                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๗ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu17              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/17i149-e.php#sutta7 https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn22/sn22.079.than.html http://www.buddha-vacana.org/sutta/samyutta/khandha/sn22-079.html https://suttacentral.net/sn22.79/en/sujato https://suttacentral.net/sn22.79/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :