ขอนอบน้อมแด่
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
                      พระองค์นั้น
บทนำ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ค้นพระไตรปิฎก ชาดก หนังสือธรรมะ
     ฉบับหลวง   ฉบับมหาจุฬาฯ   บาลีอักษรไทย   PaliRoman 
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑๐. อัพยากตสังยุต]

๑. เขมาสูตร

๑๐. อัพยากตสังยุต
๑. เขมาสูตร
ว่าด้วยเขมาภิกษุณี
[๔๑๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น เขมาภิกษุณีเที่ยวจาริกไปในแคว้น โกศล เข้าไปพักอยู่ที่โตรณวัตถุ (ค่ายเสาระเนียด) ระหว่างกรุงสาวัตถีกับเมืองสาเกต ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จจากเมืองสาเกตไปยังกรุงสาวัตถี ได้เข้าประทับ แรมราตรีหนึ่งที่โตรณวัตถุระหว่างกรุงสาวัตถีกับเมืองสาเกต รับสั่งเรียกราชบุรุษ คนหนึ่งมาตรัสถามดังนี้ว่า “บุรุษผู้เจริญ ท่านจงไปดูให้รู้ว่าที่โตรณวัตถุมีสมณะหรือ พราหมณ์ผู้ที่เราควรเข้าไปหาในวันนี้หรือไม่” ราชบุรุษนั้นทูลรับสนองพระดำรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้วตรวจดูโตรณวัตถุ จนทั่วก็ไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ผู้ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลควรเสด็จเข้าไปหา ราชบุรุษนั้นได้พบเขมาภิกษุณีซึ่งเข้าไปพักอยู่ที่โตรณวัตถุ จึงเข้าไปเฝ้าพระเจ้า ปเสนทิโกศลถึงที่ประทับ ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ที่โตรณวัตถุไม่มีสมณะหรือพราหมณ์ผู้ที่พระองค์ควรเสด็จเข้าไปหาเลย มีแต่ภิกษุณี ชื่อว่าเขมา ผู้เป็นสาวิกาของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น และพระแม่เจ้ารูปนั้นมีกิตติศัพท์อันงามฟุ้งขจรไปอย่างนี้ว่า ‘พระแม่เจ้าเขมา ภิกษุณีเป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา เป็นพหูสูต๑- พูดเพราะ มีปฏิภาณดี’ ขอกราบทูลเชิญพระองค์เสด็จเข้าไปหาพระแม่เจ้ารูปนั้นเถิด”
พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามปัญหาเขมาภิกษุณี
ต่อมา พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปหาเขมาภิกษุณีถึงที่อยู่ ทรงไหว้แล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้ตรัสถามดังนี้ว่า “พระแม่เจ้า หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกหรือ” @เชิงอรรถ : @ พหูสูต ในที่นี้ได้แก่ผู้ประกอบด้วยความเป็นพหูสูต ทั้งทางปริยัติและปฏิเวธ (สํ.สฬา.อ. ๓/๔๑๐/๑๗๕) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๖๖}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑๐. อัพยากตสังยุต]

๑. เขมาสูตร

เขมาภิกษุณีถวายพระพรว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตร ปัญหาว่า ‘หลัง จากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ นี้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์” “ก็หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีกหรือ” “แม้ปัญหาว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก’ นี้พระผู้มีพระภาคก็ไม่ ทรงพยากรณ์” “หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีกหรือ” “ปัญหาว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก’ นี้พระผู้มีพระภาค ไม่ทรงพยากรณ์” “หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่หรือ” “แม้ปัญหาว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีก ก็มิใช่’ นี้พระผู้มีพระภาคก็ไม่ทรงพยากรณ์” “ท่านถูกข้าพเจ้าถามว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกหรือ’ ก็ตอบว่า ‘ปัญหาว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ นี้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์’ ท่านถูกข้าพเจ้าถามว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีกหรือ’ ก็ตอบว่า ‘แม้ปัญหาว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก’ นี้พระผู้มีพระภาคก็ไม่ทรง พยากรณ์’ ท่านถูกข้าพเจ้าถามว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีกหรือ’ ก็ตอบว่า ‘ปัญหาว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก’ นี้พระ ผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์’ ท่านถูกข้าพเจ้าถามว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่า ไม่เกิดอีกก็มิใช่หรือ’ ก็ตอบว่า ‘แม้ปัญหาว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่า เกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ นี้พระผู้มีพระภาคก็ไม่ทรงพยากรณ์’ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ปัญหานั้น” {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๖๗}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑๐. อัพยากตสังยุต]

๑. เขมาสูตร

“ขอถวายพระพร มหาบพิตร ถ้าเช่นนั้น หม่อมฉันขอย้อนถามมหาบพิตรใน เรื่องนี้บ้าง ขอพระองค์พึงตอบตามที่ทรงพอพระทัยเถิด พระองค์จะทรงเข้าพระทัย ความข้อนั้นว่าอย่างไร นักคำนวณ๑- นักประเมิน๒- หรือนักประมวล๓- บางคนของพระองค์ ผู้สามารถคำนวณทรายในแม่น้ำคงคาว่า ‘ทรายเท่านี้เม็ด เท่านี้ ๑๐๐ เม็ด เท่านี้ ๑,๐๐๐ เม็ด หรือเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ เม็ด’ มีอยู่หรือ” “ไม่มี พระแม่เจ้า” “อนึ่ง นักคำนวณ นักประเมิน หรือนักประมวลบางคนของพระองค์ ผู้ สามารถคำนวณน้ำในมหาสมุทรว่า ‘น้ำเท่านี้อาฬหกะ๔- เท่านี้ ๑๐๐ อาฬหกะ เท่านี้ ๑,๐๐๐ อาฬหกะ หรือเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ อาฬหกะ’ มีอยู่หรือ” “ไม่มี พระแม่เจ้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะมหาสมุทรลึกล้ำ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ยาก” @เชิงอรรถ : @ นักคำนวณ หมายถึงผู้ฉลาดในการนับติดต่อกันไปไม่ขาดสาย (สํ.สฬา.อ. ๓/๔๑๐/๑๗๕, @สํ.ฏีกา ๒/๔๑๐/๔๕๙) @ นักประเมิน หมายถึงผู้ฉลาดในการนับด้วยนิ้วมือ (สํ.สฬา.อ. ๓/๔๑๐/๑๗๕, สํ.ฏีกา ๒/๔๑๐/๔๕๙) @ นักประมวล หมายถึงผู้ฉลาดในการนับประมวล (สํ.สฬา.อ. ๓/๔๑๐/๑๗๕, สํ.ฏีกา ๒/๔๑๐/๔๕๙) @ อาฬหกะ คือ มาตราตวงอย่างหนึ่งที่ใช้ในสมัยพุทธกาล ได้แก่ @๔ กุฑุวะ หรือปสตะ (ฟายมือ) เป็น ๑ ปัตถะ @๔ ปัตถะ เป็น ๑ อาฬหกะ @๔ อาฬหกะ เป็น ๑ โทณะ @๔ โทณะ เป็น ๑ มาณิกา @๔ มาณิกา เป็น ๑ ขารี @๒๐ ขารี เป็น ๑ วาหะ @๒๐ วาหะ เป็น ๑ ธารณะ @๑๐ ธารณะ เป็น ๑ ปละ @๑๐๐ ปละ เป็น ๑๒ ตุลา @๒๐ ตุลา เป็น ๑ ภาระ @(ดู อภิธา.ฏี.คาถา ๔๘๐-๔๘๔) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๖๘}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑๐. อัพยากตสังยุต]

๑. เขมาสูตร

“เรื่องนี้ก็เหมือนกัน บุคคลเมื่อจะบัญญัติตถาคต พึงบัญญัติด้วยรูปใด รูปนั้น พระตถาคตละได้แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ พระตถาคตพ้นแล้วจากการบัญญัติ ว่ารูป ลึกล้ำ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ยาก ดุจมหาสมุทรฉะนั้น คำว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคต ไม่เกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจาก ตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ ก็ดี นี้ย่อมไม่ถูก บุคคลเมื่อจะบัญญัติตถาคต พึงบัญญัติด้วยเวทนาใด เวทนานั้นพระตถาคต ละได้แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ พระตถาคตพ้นแล้วจากการบัญญัติว่าเวทนา ลึกล้ำ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ยาก ดุจมหาสมุทรฉะนั้น คำว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่ เกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ ก็ดี นี้ย่อมไม่ถูก บุคคลเมื่อจะบัญญัติตถาคต พึงบัญญัติด้วยสัญญาใด ฯลฯ บุคคลเมื่อจะบัญญัติตถาคต พึงบัญญัติด้วยสังขารเหล่าใด สังขารเหล่านั้น พระตถาคตละได้แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ พระตถาคตพ้นแล้วจากการบัญญัติ ว่าสังขาร ลึกล้ำ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ยาก ดุจมหาสมุทรฉะนั้น คำว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคต ไม่เกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจาก ตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ ก็ดี นี้ย่อมไม่ถูก บุคคลเมื่อจะบัญญัติตถาคต พึงบัญญัติด้วยวิญญาณใด วิญญาณนั้นพระ ตถาคตละได้แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ พระตถาคตพ้นแล้วจากการบัญญัติว่า วิญญาณ ลึกล้ำ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ยาก ดุจมหาสมุทรฉะนั้น {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๖๙}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑๐. อัพยากตสังยุต]

๑. เขมาสูตร

คำว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคต ไม่เกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดและไม่เกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ ก็ดี นี้ย่อมไม่ถูก” ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงชื่นชมยินดีภาษิตของเขมาภิกษุณี เสด็จ ลุกขึ้นจากที่ประทับ ทรงไหว้เขมาภิกษุณี กระทำประทักษิณแล้วเสด็จจากไป
พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาค
ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรง ถวายอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกหรือ” พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตร ปัญหาว่า ‘หลัง จากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ นี้อาตมภาพไม่พยากรณ์” “หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีกหรือ” “แม้ปัญหาว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก’ นี้อาตมภาพก็ไม่พยากรณ์” “หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีกหรือ” “ปัญหาว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก’ นี้อาตมภาพ ไม่พยากรณ์” “หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่หรือ” “แม้ปัญหาว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีก ก็มิใช่’ นี้อาตมภาพก็ไม่พยากรณ์ ๋ “พระองค์ถูกข้าพระองค์ทูลถามว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกหรือ’ ก็ตรัสตอบว่า ‘ปัญหาว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ นี้อาตมภาพไม่พยากรณ์’ ฯลฯ พระองค์ถูกข้าพระองค์ทูลถามว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่หรือ’ ก็ตรัสตอบว่า ‘แม้ปัญหาว่า หลังจากตายแล้ว ตถาคต {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๗๐}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑๐. อัพยากตสังยุต]

๑. เขมาสูตร

จะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ นี้อาตมภาพก็ไม่พยากรณ์’ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ปัญหานั้น” “ขอถวายพระพร มหาบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักย้อนถามมหาบพิตร ในเรื่องนี้บ้าง ขอพระองค์พึงตรัสตอบตามที่ทรงพอพระทัยเถิด พระองค์ทรงเข้า พระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร นักคำนวณ นักประเมิน หรือนักประมวลบางคน ของพระองค์ผู้สามารถคำนวณเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาว่า ‘ทรายเท่านี้เม็ด ฯลฯ หรือทรายเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ เม็ด’ มีอยู่หรือ” “ไม่มี พระพุทธเจ้าข้า” “อนึ่ง นักคำนวณ นักประเมิน หรือนักประมวลบางคนของพระองค์ผู้สามารถ คำนวณน้ำในมหาสมุทรว่า ‘น้ำเท่านี้อาฬหกะ ฯลฯ หรือน้ำเท่านี้ ๑๐๐,๐๐๐ อาฬหกะ’ มีอยู่หรือ” “ไม่มี พระพุทธเจ้าข้า” “ข้อนั้นเพราะเหตุไร” “เพราะมหาสมุทรลึกล้ำ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ยาก พระพุทธเจ้าข้า” “เรื่องนี้ก็เหมือนกัน บุคคลเมื่อจะบัญญัติตถาคต พึงบัญญัติด้วยรูปใด รูป นั้นตถาคต(เรา)ละได้แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ตถาคต (เรา) พ้นแล้วจากการ บัญญัติว่ารูป ลึกล้ำ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ยาก ดุจมหาสมุทรฉะนั้น คำว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคต ไม่เกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจาก ตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ ก็ดีย่อมไม่ถูก บุคคลเมื่อจะบัญญัติตถาคต พึงบัญญัติด้วยเวทนาใด ... ด้วยสัญญาใด ... ด้วยสังขารเหล่าใด ... {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๗๑}

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [๑๐. อัพยากตสังยุต]

๑. เขมาสูตร

บุคคลเมื่อจะบัญญัติตถาคต พึงบัญญัติด้วยวิญญาณใด วิญญาณนั้น ตถาคต(เรา)ละได้แล้ว ตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ตถาคต(เรา)พ้นแล้วจากการบัญญัติ ว่าวิญญาณ ลึกล้ำ ประมาณไม่ได้ หยั่งถึงได้ยาก ดุจมหาสมุทรฉะนั้น คำว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคต ไม่เกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก’ ก็ดี ‘หลังจาก ตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’ ก็ดีย่อมไม่ถูก” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะของพระศาสดากับของพระสาวิกาเทียบเคียงกันได้ เหมือนกัน ไม่ผิดเพี้ยนในบทที่สำคัญ๑- ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่ง ข้าพระองค์เข้าไปหา นางเขมาภิกษุณีได้ถามเรื่องนี้ แม้พระแม่เจ้ารูปนั้นก็ได้ตอบเรื่องนี้ด้วยบทและ พยัญชนะเหล่านี้แก่ข้าพระองค์เหมือนพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ที่อรรถกับอรรถ พยัญชนะกับพยัญชนะของพระศาสดากับของพระสาวิกาเทียบเคียงกันได้ เหมือน กันไม่ผิดเพี้ยนในบทที่สำคัญ ถ้าเช่นนั้น บัดนี้หม่อมฉันขอทูลลากลับ เพราะมีกิจ มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ขอพระองค์จงทรงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด” ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค แล้วได้เสด็จลุกขึ้นจากที่ประทับ ทรงถวายอภิวาท กระทำประทักษิณแล้วเสด็จจากไป
เขมาสูตรที่ ๑ จบ
@เชิงอรรถ : @ บทที่สำคัญ ในที่นี้หมายถึงเทศนา (สํ.สฬา.อ. ๓/๔๑๐/๑๗๖) {ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๔๗๒}


                  เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๘ หน้าที่ ๔๖๖-๔๗๒. http://84000.org/tipitaka/pitaka2/m_siri.php?B=18&siri=282              ฟังเนื้อความพระไตรปิฎก : [1], [2], [3].                   อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :- http://84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=18&A=9328&Z=9475                   ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :- http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=752              พระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=18&item=752&items=10              อ่านอรรถกถาภาษาบาลีอักษรไทย :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_th.php?B=13&A=3815              The Pali Tipitaka in Roman :- http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=18&item=752&items=10              The Pali Atthakatha in Roman :- http://84000.org/tipitaka/atthapali/read_rm.php?B=13&A=3815                   สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ http://84000.org/tipitaka/read/?index_mcu18              อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :- https://84000.org/tipitaka/english/metta.lk/18i752-e.php# https://accesstoinsight.org/tipitaka/sn/sn44/sn44.001.than.html https://suttacentral.net/sn44.1/en/sujato https://suttacentral.net/sn44.1/en/bodhi



บันทึก ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ บันทึกล่าสุด ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ การแสดงผลนี้อ้างอิงข้อมูลจากพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หากพบข้อผิดพลาด กรุณาแจ้งได้ที่ [email protected]

สีพื้นหลัง :